Skip to main content
sharethis


2 ธ.ค.51  ที่สมาคมนักข่าวฯ มีการแถลงข่าวเปิดตัว เครือข่ายพลเมืองสื่ออินเตอร์เน็ต (Thai Netizen Network) และเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "สิทธิพลเมืองเน็ต และ เสรีภาพสื่อออนไลน์: ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออกที่ควรจะเป็น"


 


สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการและผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต  กล่าวถึงที่มาและจุดประสงค์ของเครือข่ายดังกล่าว่า คือการรวมตัวกันของเครือข่ายพลเมืองผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ที่มีความเชื่อร่วมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร  การแสดงออก การปกป้องสิทธิพลเมือง เสรีภาพของสื่อออนไลน์ และสนับสนุนการเติบโตเชิงคุณภาพของสื่อพลเมือง ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในขั้วการเมืองหากแต่ต้องการปกป้องสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมการแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบของพลเมืองอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งจะผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้มีความชัดเจนในเรื่องการจำแนก อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ออกจากเสรีภาพในการสื่อสาร และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล หลักสิทธิมนุษยชน (อ่านรายละเอียดที่มาและวัตถุประสงค์ของ Netizen ในล้อมกรอบด้านล่าง)


 


สฤนี อาชวานันทกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ในภาวะที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก ผู้คนจะเข้าหาแหล่งแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในอินเทอร์เน็ต ยิ่งสังคมมีความขัดแย้ง คนก็ยิ่งอยากใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แสดงความคิดเห็น แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ยังมีความล่อแหลมที่จะถูกลิดรอน กดขี่โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต จึงอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาจุดร่วมว่าควรมองสังคมออนไลน์อย่างไร คาบเกี่ยวกับสังคมจริงอย่างไร เป็นไปได้ไหมในการหาทางสายกลางไปสู่สังคมอุดมปัญญา มีสิทธิเสรีภาพพร้อมไปกับความรับผิดชอบด้วย


 


จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า  ระยะหลังมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเสวนากันในโลกออนไลน์ ที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่าต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจริงจัง ทุกคนเป็นหน่วยอิสระ แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งบรรยากาศทางสังคม และบรรยากาศในโลกเสมือน อินเตอร์เน็ตถูกพูดถึงทั้งบวกลบ และโลกเสมือนก็เริ่มจะจริงขึ้นเรื่อยๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้มันจริงคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีน่าจะผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ในช่วงเริ่มต้นคนจะมองกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินกิจการเว็บไซต์มากกว่า  แต่ในความเป็นจริงมันกลับกระทบประชาชนที่อาจไม่เท่าทันกับข้อกฎหมาย หรือเมื่อเกิดความผิดทางกฎหมายแล้วก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เราจึงต้องรวมตัวกันที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปไม่ได้มีกลไกใดๆ ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ยกเว้นในส่วนของสมาคมผู้ดูแลเว็บที่เน้นในกลุ่มผู้ประกอบการ


 


จีรนุชกล่าวด้วยว่า เครือข่ายนี้มีคณะกรรมการชั่วคราวอยู่  7 คน แต่หวังว่าเครือข่ายพลเมืองเน็ตควรจะสามารถพัฒนาสู่สังคมประชาธิปไตย มีการเลือกผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายเข้ามาทำงาน ร่วมกันจัดทำแผน และกิจกรรมต่างๆ เพื่อไปสู่สังคมอุดมปัญญา โดยกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ 6 เดือน เพื่อกระจายแนวคิด และสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาร่วมผลักดันโครงการนี้


 


อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของตนเองเป็นเพียงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตธรรมดา และมีแนวคิดว่าในเมื่อมีสมาคมของผู้ให้บริการต่างๆ แต่ทำไมจึงไม่มีกลุ่มก้อนเครือข่ายของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เวลารัฐเชิญร่วมจัดทำนโยบายก็จะเชิญแต่เครือข่ายของผู้ให้บริการ ซึ่งก็ยังไม่ใช่ตัวแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต


 


ในส่วนของการทำงานของเครือข่าย ไม่ใช่เน้นเพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ อยู่ใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การเข้าถึงข้อมูลอย่างเสมอภาคเท่าเทียม กล่าวคือ เว็บไซต์จำนวนมากไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้มีสภาพพิการ  หรือการไม่ให้เข้าถึงข้อมูลได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญา


 


นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิการแสดงออก ข้อมูลจากตำรวจระบุว่า คดีที่เกี่ยวกับคอมตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มากที่สุดคือคดีหมิ่นประมาท การขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก ซึ่งทำให้คนในเน็ตไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เช่น สินค้าที่โฆษณาเกินจริง


 


เรื่องความเป็นส่วนตัว เวลาสมัครสมาชิกเว็บไซต์ต่างๆ จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวเรา ประเด็นคืออยู่บนเกณฑ์ มาตรฐานอะไร มีความจำเป็นแค่ไหน มีหลักในการเก็บรักษาอย่างไร เผยแพร่ต่อบุคคลที่สามหรือไม่ รวมถึงช่องที่ให้ระบุเพทศที่มีเฉพาะเพศชายและหญิง ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ


 


ประเด็นถัดมา การดูแลรับผิดชอบร่วมกันสำคัญอย่างไร ในมุมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี วัฒนธรรมในอินเทอร์เน็ต วงรอบของมันไม่ใช่รอบปี หรือเดือนแล้วด้วยซ้ำ แต่วงรอบของกฎหมายอยู่ในระดับปี เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จนเเกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัว


 


ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสามารถนำมาผสมรวม สร้างสรรค์เป็นงานใหม่ๆ ได้ แต่กฎหมายหรือรูปแบบทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการสร้างสรรรค์ในเน็ตซึ่งมีพลวัตรสูงมาก ถ้าการมีทรัพย์สินร่วมกันในระบบเน็ตไม่ได้รับการใส่ใจก็ยากที่จะนำไปสู่สังคมอุดมปัญญา


 


สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ชุมชนในอินเทอร์เน็ตก็เป็นเหมือนชุมชนหนึ่ง ชุมชนนี้มีคนเป็นสิบล้านแต่ยังไม่มีการดูแลเท่าที่ควร ไม่ได้มาองแค่เรื่องเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพอย่างสุดโต่งอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพในการไปสร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เรายังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถค่อยๆ เกิดขึ้นได้ เพราะคนในเน็ตก็พยายามจะริเริ่มอะไรดีๆ หลายอย่าง


 


นอกจากนี้เรายังมีจุดยืนในการส่งเสริมบทบาทของสื่อพลเมืองในประเทศไทย ขณะที่เรื่องความรับผิดชอบก็สำคัญที่จะผลักดันให้คนไทยมีวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ ถ้าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายชัดเจนเราให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และจะช่วยดูแลด้วย แต่เรื่องความรับผิดชอบของคนในอินเทอร์เน็ตที่มีการพูดกันมากนั้นต้องต้องชัดเจน ไม่เหมารวม มีความโปร่งใส ที่สำคัญ กฎหมายควรกระทำอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องตามหลักกมาตรฐานสากล และบนฐานความเข้าใจในเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตด้วย เพื่อจะไม่ให้สุดท้ายแล้ว อินเทอร์เน็ตในไทยกลายเป็นอีกสังคมที่อยู่ในความ


 


นอกจากนี้ในช่วงการเสวนา ผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวตอบข้อซักถามกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นำโดย นายพีรพันธ์ ..... เสนอร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้เข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นการหมิ่นสถาบัน ซึ่งขณะนี้ยังบรรจุอยู่ในวาระรอการพิจารณาของสภาว่า ต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลต้องดูแลความสงบเรียบร้อย และในโลกไซเบอร์ไม่ได้มีแต่คนที่กระทำโดยสุจริตใจเท่านั้น อีกทั้งช่วงไม่กี่ปีนี้ การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังเป็นประเด็นใหญ่ เปรียบเหมือนหอกที่ไปทิ่มแทงคนอีกจำนวนมาก กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องความคลุมเครือไม่ชัดเจนก็ต้องว่ากัน แต่อยากอธิบายว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ไม่จำเป็นที่พรรคการเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองต้องไปเซ็นรับรอง ส.ส.มีเอกสิทธิ์เต็มที่ และในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประชาชนก็มีสิทธิเสนอกฎหมายได้ด้วยเช่นกัน


 


เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ผุสดีกล่าวว่า หากไม่ใช่ร่างของรัฐบาลก็เป็นธรรมดาที่จะพิจารณาช้ากว่า อีกทั้งร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่พีรพันธ์เสนอเข้าไปนั้นอยู่ในวาระแล้วเอาออกไม่ได้ และเมื่อมีการไปพูดคุยทำความเข้าใจกัน เราก็ยอมรับว่ามีข้อบกพร่อง จึงได้ประสานกับวิปรัฐบาลว่าอย่าเพิ่งเลื่อนมาหยิบยกพิจารณากฎหมายนี้จนกว่าเราจะทบทวนแก้ไข


 


ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังเสนอด้วยว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ตอาจนำเสนอกับทาง ผบ.ตร. ถึงระเบียบวิธีปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนชัดเจนเกี่ยวกับคดีความผิดทางคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยยังไม่ต้องไปยุ่งกับกฎหมายระดับใหญ่กว่านั้นซึ่งยุ่งยากกว่า


 


 


 


 


 






 


เครือข่ายพลเมืองเน็ต


Thai Netizen Network


 


 


เราคือใคร


 


เราคือ การรวมตัวกันของกลุ่มคนในลักษณะเครือข่ายของพลเมืองผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต  ซึ่งมีความเชื่อมั่นร่วมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น แสดงออก การปกป้องสิทธิพลเมือง เสรีภาพของสื่อออนไลน์ และการสนับสนุนการเติบโตเชิงคุณภาพของสื่อพลเมือง (Civic Journalism)


 


 


จุดยืนของเรา


 


เรารวมตัวเพื่อทำงานรณรงค์เชิงนโยบายในระดับประเทศเพื่อการธำรงและปกป้อง อิสรภาพในโลกไซเบอร์ (Cyber-liberty) ซึ่งหมายถึงสิทธิพลเมืองเน็ต (Netizens' rights) และเสรีภาพสื่อออนไลน์ (Freedom of online media) บนพื้นฐานของหลัก 5 ประการดังนี้ 


 


1. สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึง และ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น สาระบันเทิง  และอื่นๆ (Right to Access)


 


2.สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็น ความรู้สึก ต่อเรื่อง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ชีวิต ฯลฯ (Freedom of Expression)


 


3.สิทธิในการความเป็นส่วนตัว (Right to Privacy) และการได้รับการปกป้องคุ้มครองอันปลอดภัยจากการสอดส่องโดยรัฐและหน่วยงานอื่นๆ (Surveillance)


 


4.ความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชนสื่อออนไลน์ การกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) ไม่ใช่การปิดกั้น (Censorship) โดยไม่มีขอบเขตจากหน่วยงานรัฐ   การสร้างความชัดเจน และ กำหนดเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งแตกต่างจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 


 


5.ความเสมอภาค ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ความเป็นสมบัติสาธารณะ การไม่ผูกขาดทางเศรษฐกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา (Common Property)


 


 


ข้อเสนอต่อรัฐและสังคม ต่อเรื่องการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตและการบังคับใช้กฎหมาย


 


1.รัฐต้องเน้นการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมอิสรภาพการสื่อสารของสื่อออนไลน์มากกว่าการควบคุม โดยต้องสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย 


 


2.รัฐสภา ควรมีการปรับแก้กฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้มีความชัดเจนในการเรื่องการจำแนก อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกจาก เสรีภาพในการสื่อสาร ทั้งนี้ควรมีกระบวนการที่ปกป้องสิทธิพลเมืองเน็ตและเสรีภาพของสื่อออนไลน์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และหลักสิทธิมนุษยชนในการสื่อสาร


 


3.พรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง และ สังคม ไม่ควรคุกคามสิทธิพลเมืองเน็ตและเสรีภาพสื่อออนไลน์ ด้วยวิถีทางการเมืองและมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม  อีกทั้งไม่ควรใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทำลายล้างทางการเมือง โดยปราศจากการเคารพหลักการสากลว่าด้วยเรื่องเสรีภาพการสื่อสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต


 


 


ใครที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มได้บ้าง


 


ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทุกรสนิยมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ การใช้ชีวิต ที่เข้าถึงและใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ด้วยความเชื่อมั่นพื้นฐานเรื่องเสรีภาพอย่างเสมอภาคของปัจเจกบุคคลและสังคมในเรื่องการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการกำกับดูแลบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน 


 


 


จุดยืนทางการเมืองของกลุ่มคือ


 


เครือข่ายพลเมืองเน็ต เคารพรสนิยมและความเชื่อที่แตกต่างทางการเมืองของทุกคน และเราประกาศตัวเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ (Non-partisan) ทั้งนี้ เรามีจุดยืนพื้นฐานร่วมกันคือความเชื่อมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องเพราะสิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และ สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการธำรงอิสรภาพแห่งโลกไซเบอร์


 


 


สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มได้อย่างไรบ้าง


 


เพียงส่ง Email address ของคุณมาที่ freethainetizen@gmail.com 


ทั้งนี้จะสมัครเป็นสมาชิกแบบนิรนาม และ เปิดเผยตัวตน ก็ได้


 


เราจะรวบรวมรายชื่อและที่ติดต่อของท่านไว้เป็นฐานสมาชิกเพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมของกลุ่มต่อไป


 


 


กิจกรรมกลุ่มมีอะไรบ้าง



  1. จัดเวทีเสวนา สัมมนา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิพลเมืองเน็ต และเสรีภาพสื่อออนไลน์
  2. ออกแถลงการณ์ ล่ารายชื่อ แถลงข่าว แสดงจุดยืนของกลุ่มในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
  3. ฝึกอบรม พัฒนาทักษะพลเมืองเน็ต และสื่อพลเมืองในประเด็นต่างๆ
  4. จัดตั้งกองทุนและเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายต่อพลเมืองเน็ตที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายใต้โครงการ Free Thai Netizen !
  5. ติดตาม มีส่วนร่วมในการแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมถึงกฎกระทรวงและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  6. ศึกษา เผยแพร่ พัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองน็ตและเสรีภาพสื่อออนไลน์
  7. จัดเวที แลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศในเรื่องนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต
  8. แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ และสร้างความเข้าใจหลักการของกลุ่มให้ขยายวงกว้างขึ้น

 


 


โครงร้างของกลุ่มเป็นอย่างไร


 


เครือข่ายพลเมืองเน็ตเป็นการรวมตัวหลวมๆ ของพลเมืองเน็ตผู้รักในเสรีภาพ เบื้องต้น ได้มีคณะกรรมการดำเนินงาน จำนวน 7 คน เพื่อดำเนินการจัดตั้งกลุ่มในระยะยาวต่อไป โดยมีโครงการทดลองจัดตั้งโครงการเป็นระยะเวลา 6 เดือน 


 


 


คณะกรรมการดำเนินงาน และที่ปรึกษา มีรายชื่อดังต่อไปนี้


 


ที่ปรึกษา


1. รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์   คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


2. คุณสมชาย  หอมละออ  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


 


 


คณะกรรมการดำเนินงาน เครือข่ายพลเมืองเน็ต


1. สฤณี  อาชวานันทกุล     กรรมการ


2. จีรนุช  เปรมชัยพร         กรรมการ


3. ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล            กรรมการ


4. อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล      กรรมการ


5.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์            กรรมการ


6. สุนิตย์  เชรษฐา                        กรรมการ


7. สุภิญญา กลางณรงค์      กรรมการ และผู้ประสานงาน


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net