Skip to main content
sharethis


ชื่อเดิม : แรงงานข้ามชาติจากพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ : เครือข่ายทางสังคม อำนาจ และการต่อรอง

โดย อดิศร เกิดมงคล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 


 


 


แรงงานข้ามชาติจากพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ


ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญของผู้คนจำนวนมากในสังคม เนื่องจากราคาของโทรศัพท์มือถือถูกลง การซื้อหามาใช้ก็เป็นเรื่องง่าย มีบริษัทให้บริการได้เลือกใช้หลายบริษัท รูปร่างของโทรศัพท์มีขนาดกะทัดรัดพกพาสะดวก ตลอดจนค่าใช้จ่ายก็ไม่สูงมาก นอกจากนั้นแล้วยังมีโปรโมชั่นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยังมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าการใช้โทรศัพท์พื้นฐานตามบ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่โทรศัพท์สาธารณะ ฉะนั้นจึงทำให้มีการใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น


แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมักจะมีโทรศัพท์มือถือใช้ (มีครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติในห้องเรียนภาษาไทย ซึ่งมีผู้เรียนประมาณสามสิบคน ผมได้ถามขึ้นมาว่าใครไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้บ้าง ให้ยกมือขึ้น ปรากฏว่ามีคนยกมือเพียงสองคน คนแรกบอกว่าเคยมีแต่หายไปแล้ว และตอนนี้กำลังจะซื้อ คนที่สองบอกว่าเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นานนัก ทำให้ยังไม่มีเงินซื้อ แต่ในอนาคตจะซื้ออย่างแน่นอน) จากการพูดคุยสอบถามกับแรงงานข้ามชาติหลายคน พวกเขาและเธอให้เหตุผลตรงกันว่ามีความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารมากกว่าการใช้โทรศัพท์สาธารณะรวมถึงยังสะดวกกว่าการติดต่อด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น จดหมาย ที่น่าสนใจคือพบว่า แรงงานข้ามชาติบางคนมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าสองเครื่อง โดยทั้งสองเครื่องจะมีรูปแบบโปรโมชั่นที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องหนึ่งโทรฟรีกลางคืนถูกกว่ากลางวัน อีกเครื่องโทรในกลุ่มผู้ใช้เครือข่ายเดียวกันจะไม่เสียค่าบริการ


สำหรับเหตุผลที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่าส่วนใหญ่แล้วแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครมักจะใช้โทรศัพท์พูดคุยกันในกลุ่มเพื่อน เป็นการโทรศัพท์พูดคุยเรื่องทั่วๆไป เรื่องส่วนตัว บางทีก็เป็นการบ่น/ปรึกษาเรื่องงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน บางกลุ่มที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายเดียวกัน เช่น  DTAC ก็จะเลือกใช้บริการโทรศัพท์แบบโทรฟรีในกลุ่ม โดยเฉพาะในอาชีพผู้ช่วยแม่บ้าน (คนรับใช้ในบ้าน) ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าแรงงานอาชีพอื่นๆในการพูดคุยโทรศัพท์ บางครั้งมีการใช้โทรศัพท์แบบคุยกันหลายๆสายพร้อมกัน (ผมเคยถูกชักชวนให้เข้าไปพูดคุยแบบนี้ในกลุ่มนักเรียนที่เคยเรียนกับผมหลายครั้ง และหลายคนรู้สึกแปลกใจที่ผมซึ่งเป็น "คนไทย" แต่ไม่เข้าใจหรือไม่เคยใช้การพูดคุยโทรศัพท์ในรูปแบบนี้แม้แต่น้อย) การพูดคุยแบบหลายๆสายจะเป็นการพูดคุยพร้อมๆไปกับการทำงานบ้าน สำหรับอาชีพแม่บ้านแล้วการใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันจะมีความสะดวกกว่าการเดินทางไปพบปะเจอกัน เพราะหลายคนก็ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ที่ตรงกันหรือแทบจะไม่มีเลย


นอกจากนั้นแล้วการเดินทางข้ามเขตจังหวัด แม้จะเป็นบริเวณใกล้เคียงกันหรือมีพื้นที่ติดกัน เช่น กรุงเทพฯ กับนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี หรือนครปฐมกับสมุทรสาคร ก็ไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เดินทางข้ามเขตจังหวัดโดยไม่ขออนุญาต รวมถึงยังขออนุญาตได้เฉพาะเรื่องที่กำหนดให้เท่านั้น เช่น เดินทางไปรักษาตัวในกรณีที่โรงพยาบาลในพื้นที่รักษาไม่ได้ เดินทางไปศาล ดังนั้นการเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อพบปะกันโดยทั่วไปจึงเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและส่งกลับประเทศพม่าได้ง่าย


ขณะเดียวกันการใช้โทรศัพท์มือถือนอกจากจะติดต่อพูดคุยกันตามประสาเพื่อนแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องการจ้างงาน เช่น การสอบถามเรื่องค่าจ้างเพื่อเปรียบเทียบกัน การพูดคุยเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ใหม่ การตัดสินใจเปลี่ยนงาน การติดต่อนายหน้าเพื่อให้ช่วยจัดหางานให้


จากการพูดคุยในกลุ่มเพื่อนแบบนี้จึงเป็นการสร้างเครือข่ายเล็กๆที่เชื่อมต่อ/ข้ามเครือข่าย จากกลุ่มเพื่อนไปสู่กลุ่มคนที่มาจากประเทศพม่าในรัฐ/จังหวัด/หมู่บ้านเดียวกัน ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน มีการโยงใยไปมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของ "โย" หนึ่งในอดีตกลุ่มนักเรียนที่สนิทกับผม ที่ผันตัวเองจากอาชีพแม่บ้านมาเป็นลูกจ้างในร้านเสริมสวย และกำลังจะกลับไปทำงานแม่บ้านอีกครั้ง การตัดสินใจเปลี่ยนงานของเธอนั้นจะปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนสนิทผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ตั้งแต่เรื่องของการสอบถามสภาพการจ้างงาน การหางานใหม่ การติดต่อนายหน้า หรือการตัดสินใจลาออก แม้ว่าคนที่มีส่วนสำคัญในการหางานให้จะเป็นนายหน้า แต่นายหน้าก็จะต้องสร้างความเชื่อใจให้แก่เครือข่ายของแรงงานข้ามชาติ เพราะหากนายหน้าจะโกงหรือหลอกแรงงานข้ามชาติแล้ว ข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะถูกส่งผ่านกันต่อๆไปในเครือข่ายเล็กๆเหล่านี้ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ


นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติยังใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับที่บ้านในประเทศพม่า ทั้งการใช้โทรศัพท์สอบถามที่บ้านถึงจำนวนเงินที่ได้รับจากนายหน้าว่าครบจำนวนหรือไม่ การสอบถามสารทุกข์สุกดิบ บางคนอาจจะเดือนละครั้งหรือหลายเดือนครั้งก็ได้ อย่างไรก็ตามค่าโทรศัพท์ติดต่อกับที่บ้านในประเทศพม่าก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แม้ช่วงหลังจะเกิดธุรกิจประเภทการใช้บัตรโทรศัพท์เพื่อโทรกลับไปที่ประเทศพม่าโดยตรง แต่ค่าโทรศัพท์ก็ยังถือว่าแพงเกินกว่าจะโทรศัพท์พูดคุยได้บ่อยครั้ง แต่กรณีนี้จะยกเว้นในบางพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย เช่น เมียวดี ท่าขี้เหล็ก ที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถใช้โทรศัพท์มือถือผ่านระบบสัญญาณมือถือจากฝั่งไทยได้โดยตรง เช่น  DTAC GSM เหมือนกันในทั้งสองประเทศ ค่าใช้จ่ายจึงจะลดลง


นอกจากนั้นสำหรับบางบ้านในประเทศพม่าที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้านใช้งาน แรงงานข้ามชาติจะเลือกใช้วิธีการโทรศัพท์ไปยังบ้านที่มีโทรศัพท์ของคนในหมู่บ้านแทน เพื่อขอร้องให้ไปบอกครอบครัวของตนเองให้มารับโทรศัพท์ในวันเวลาที่ระบุไว้ แต่วิธีการนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินกว่าจะโทรศัพท์พูดคุยกันในเรื่องปกติ 


อย่างไรก็ตามการโทรศัพท์ข้ามประเทศจากไทยไปพม่า ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อโดยตรงและการใช้โทรศัพท์ผ่านคนในหมู่บ้าน ก็ถือได้ว่าเป็นช่องทางสำคัญที่แรงงานข้ามชาติเลือกใช้ในการติดต่อสอบถามข่าวคราวจากประเทศบ้านเกิด กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนตอนที่เกิดสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นในพม่าอย่างน้อยสองครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา คือ การชุมนุมประท้วงของพระสงฆ์และประชาชนในพม่า และเหตุการณ์ภัยธรรมชาติพายุไซโคลนนาร์กิส แรงงานข้ามชาติจากพม่าส่วนใหญ่จะติดต่อที่บ้านของตนเองด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการระดมความช่วยเหลือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย


เรื่องส่งเงินกลับบ้านนั้น ลาทวย หนุ่มพม่า อายุประมาณ 30 ปี อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ใช้ภาษาไทยได้ดี อดีตนักเรียนในห้องเรียนภาษาไทยที่ผมเคยสอน และเป็นเสมือนศูนย์กลางในการติดต่อของแรงงานข้ามชาติจากพม่ากลุ่มหนึ่ง สามารถอธิบายให้เห็นรูปธรรมเรื่องนี้ได้ชัดเจน


เขาได้บอกกับผมว่า ตนเองได้ใช้วิธีการส่งเงินกลับบ้านผ่านระบบนายหน้าคล้ายๆกับแรงงานคนอื่นๆ โดยเขาจะโทรหานายหน้าในเมืองไทยเพื่อแจ้งความต้องการที่จะส่งเงินกลับบ้าน แจ้งรายละเอียดของผู้รับว่าอยู่พื้นที่ไหนในประเทศพม่า ชื่ออะไร และต้องการส่งเงินจำนวนเท่าใด หลังจากนั้นนายหน้าก็จะโทรประสานงานกับทีมนายหน้าที่อยู่ในพื้นที่บ้านของเขา ต่อมาทีมนายหน้าจะนัดครอบครัวของเขาให้มารับเงิน เมื่อนัดเรียบร้อยแล้วนายหน้าในฝั่งพม่าจะจ่ายเงินให้ผู้รับเงินตามจำนวนที่แจ้งไว้ และให้ครอบครัวโทรศัพท์กลับมาบอกเขาว่าได้รับเงินจริง หลังจากนั้นเขาถึงจะจ่ายเงินให้นายหน้าฝั่งไทย


หลังจากเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิส เขาต้องส่งเงินกลับบ้านบ่อยครั้งมาก เพราะต้องสร้างบ้านใหม่แทนหลังเดิมที่เสียหายไปตอนเกิดพายุ รวมทั้งตัวเขาเองยังต้องเป็นคนที่คอยโทรศัพท์ติดต่อกับญาติพี่น้องที่มาทำงานในประเทศไทย เพื่อปรึกษาหารือระดมความช่วยเหลือในการสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมา สำหรับวิธีการโทรศัพท์กลับบ้านนั้น เขาเลือกใช้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศที่เปิดให้บริการในรูปแบบคล้ายๆ  บัตรเติมเงิน ซึ่งจะถูกกว่าการโทรศัพท์แบบทั่วไป


นอกจากยังพบอีกว่าแรงงานข้ามชาติบางคนพบรักและแต่งงานกัน ผ่านการติดต่อกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะทั้งคู่ไม่มีโอกาสเจอหน้ากัน อยู่คนละจังหวัด ดังเช่นกรณีของเอาวิน และสา เอาวินเป็นหนุ่มพม่า อายุประมาณ 35 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายแว่น ย่านดินแดง ส่วนสา เป็นสาวมอญ อายุประมาณ 20 ปี ทำงานเป็นแม่บ้าน อยู่สมุทรปราการ ทั้งคู่เลือกใช้ภาษาไทยในการสื่อสารทางโทรศัพท์ เนื่องจากเอาวินพูดได้แต่ภาษาพม่า ส่วนสาพูดได้แต่ภาษามอญ ภาษาไทยจึงกลายเป็นภาษากลางของพวกเขา


สาได้เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่ทั้งสองคนจะตกลงใจแต่งงานกันว่า "พี่เอาวินเขาเป็นคนดี ตอนแรกเขาก็มาจีบญาติหนูแหล่ะ แต่เขาโทรมาคุยกับหนูมากกว่า แล้วหนูก็ชอบเขา เพราะเขาเป็นคนดี ขยัน เป็นคนรักครอบครัว"  สาบอกต่อว่า"หนูชอบคนที่แก่กว่า มีคนมาจีบเยอะ แต่ดูท่าทางไม่จริงจัง พี่เอาวินเขาดูเป็นผู้ใหญ่จริงจังมาก" เมื่อผมถามว่าก่อนแต่งงานเจอกันบ่อยไหม สาบอกว่าเจอกันน้อยมาก ปีละครั้ง หรือสองครั้งเอง "บางทีคุยกันก็ยังนึกหน้าไม่ออกเลย ต้องถามว่าตัวเองสูงๆใช่ไหม" สาพูดพลางหัวเราะ "ก็คุยโทรกันตลอด เจอกันก็ช่วงสงกรานต์ หนูก็พาพี่เอาวินไปเจอพ่อแม่เลย" พ่อแม่สาทำงานในประเทศไทยเหมือนกัน เมื่อก่อนทำงานในสวนผลไม้ ตอนนี้มาทำร้านอาหารแล้ว "หนูคิดว่าพาไปเจอพ่อแม่เลยจะได้รับรู้กัน ให้ดูเป็นจริงเป็นจังหน่อย ไม่ใช่คบกันเล่นๆเหมือนที่หลายคนชอบทำกัน สักพักก็เลิกกันแบบนั้นหน่ะ" จากนั้นผมก็ถามว่า "โทรคุยกันแบบนี้นานไหม ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกัน" สาบอกว่า "โทรคุยกันแบบนี้เกือบสี่ปี เจอกันบ้างแต่น้อยมาก ก่อนแต่งงานนั่นแหละถึงได้เจอกันแบบจริงๆจังๆ"


 


โทรศัพท์มือถือกับการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ


            นอกจากการใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล ติดต่อกับครอบครัวที่ประเทศพม่าแล้ว พบว่าแรงงานข้ามชาติยังสร้างเครือข่ายทางสังคมผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายที่ใช้ในการหางานทำ เพื่อแจ้งกิจกรรมทางประเพณีต่างๆ เช่น การทำบุญ งานแต่งงาน การช่วยเหลือกันเมื่อเจ็บป่วย หรือมีปัญหาในเรื่องการทำงาน การติดต่อกันทางโทรศัพท์มือถือแบบนี้ได้ช่วยให้เกิดเครือข่ายทางสังคมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่ระดับกลุ่มย่อยๆและขยายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ จากการรู้จักกันเองภายในกลุ่มเพื่อนก็ขยายไปสู่เพื่อนกลุ่มอื่นๆ เมื่อประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน


            กรณีของลาทวย จะเห็นได้ชัดเจนว่าเขาจะเป็นคนที่เชื่อมโยงการสร้างและขยายเครือข่ายกลุ่มเหล่านี้ให้กว้างออกไป ในช่วงเวลาที่ผมได้ทำงานภาคสนามประเด็นนี้ ผมพบว่าลาทวยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการแก้ไขปัญหาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อย่างน้อยสองกรณี ซึ่งทั้งสองกรณีผมพบว่าไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่รู้จักกับตัวลาทวยโดยตรง แต่ได้รับการแนะนำ หรือร้องขอมาจากกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกับกลุ่มที่รู้จักต่อๆกันมาอีกทีหนึ่ง ขณะเดียวกันตัวลาทวยเองก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนคนที่ประสานงานว่า หากกรณีปัญหาแบบนี้ควรจะต้องติดต่อพูดคุยกับใคร เช่น หากเป็นเรื่องกฎหมายเขาต้องโทรศัพท์คุยกับทนายความก่อน แล้วจึงนัดทนายความและคนที่มีปัญหามาเจอกัน หรือให้ไปพูดคุยกันเองในกรณีที่แรงงานข้ามชาติคนนั้นสามารถพูดภาษาไทยได้


ดังนั้นเครือข่ายแบบนี้ก็จะขยายจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยกันเองไปสู่กลุ่มคนไทย หรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น (แม้กระทั่งตอนที่ผมกำลังนั่งเขียนงานเรื่องนี้ก็มีแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่ผมเคยพูดคุยด้วย โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาเรื่องกระบวนการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน)


บางครั้งเครือข่ายดังกล่าวก็จะดึงเอานายจ้างของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในเครือข่ายเหล่านี้ด้วย ตามแต่ประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ ซึ่งในทางกลับกันการดึงนายจ้างเข้ามาอยู่ในเครือข่ายแบบนี้ก็จะเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่ตัวแรงงานข้ามชาติคนนั้นด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของเจ หนุ่มกะเหรี่ยง อายุประมาณ 25 ปี ซึ่งทำงานอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งก็จะใช้วิธีการพูดคุยกับนายจ้าง และเวลามีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เจจะแนะนำนายจ้างให้ปรึกษากับผมในฐานะที่เคยเป็นครูของเขาและทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการสร้างความไว้วางใจให้แก่ตัวนายจ้างว่าตัวเขาเองเป็นคนดี รู้จักและสนิทสนมกับครู เป็นการทำให้พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายจ้างดีขึ้น มีความไว้วางใจกันมากขึ้น


การพัฒนาเครือข่ายทางสังคมจากรูปแบบที่เป็นไปในลักษณะแบบเป็นกันเอง จะสามารถยกระดับไปสู่รูปแบบในลักษณะอื่นๆที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น พัฒนาไปเป็นการจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเองและพัฒนาขึ้นไปเป็นลักษณะขององค์กรแรงงานข้ามชาติ โดยจะทำหน้าที่เป็นกลุ่มที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเกิดการรวมตัว หาทางช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ


จ่อ ยุ้นต์ (เป็นพี่ชายของฮั่น ยุ่นต์ อดีตผู้ประสานกลุ่มแรงงานกะเหรี่ยงที่มาจากประเทศพม่า และสนิทกับผมค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนี้เขาได้ขอลี้ภัยไปประเทศที่สามแล้ว และพี่ชายของเขาได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน) เป็นแกนนำแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งที่พยายามจะรวมกลุ่มและจัดกิจกรรมกับกลุ่มแรงงานกะเหรี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียงอย่างจริงจังมาหลายปี กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวกันของแรงงานข้ามชาติกะเหรี่ยงจากประเทศพม่า โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง ทั้งในเรื่องการช่วยเหลือเมื่อมีเรื่องเดือดร้อน การให้ความรู้แก่สมาชิกในเรื่องที่จำเป็นต่อพวกเขา เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลการขออนุญาตทำงาน การดูแลสุขภาพ รวมถึงการจัดงานประเพณีประจำปี


จากการสอบถามเขาบอกว่ากลุ่มนี้มีสมาชิกไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน (ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะผิดจากความจริงมากนัก เพราะจากการที่ผมเคยไปร่วมกิจกรรมงานประเพณีประจำปีของกลุ่มกะเหรี่ยง พบว่ามีแรงงานที่เป็นสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก มีการจัดแข่งขันฟุตบอลในกลุ่มสมาชิกก็พบว่ามีการแข่งขันกันในหลายทีมจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย เช่น พัทยา หาดใหญ่) ตัวเขาเองมีบทบาทชัดเจนขึ้นหลังจากที่น้องชายของเขาเดินทางไประเทศที่สามแล้ว เขามักจะโทรศัพท์หาผมเมื่อถึงวันสำคัญต่างๆ เช่น วันแรงงาน วันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อถามว่ามีกิจกรรมอะไรหรือไม่ที่กลุ่มเขาจะสามารถมาร่วมด้วยได้ รวมทั้งยังโทรศัพท์มาชวนผมให้ไปร่วมกิจกรรมงานประเพณีประจำปีที่กลุ่มเขาจัดขึ้น เช่น พิธีผูกข้อมือในงานปีใหม่กะเหรี่ยง นอกจากนั้นเขามักจะโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนโยบายหรือกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติอยู่เสมอ


เขาเคยเล่าให้ฟังว่ากลุ่มของเขามีอยู่ในหลายๆจังหวัดและแต่ละพื้นที่ก็จะมีกรรมการประจำกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากเวลาที่จะต้องมีการประชุมร่วมกันทั้งองค์กร เพราะแรงงานข้ามชาติมีข้อห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัดที่ตนเองทำงานอยู่ เวลามีประเด็นอะไรก็มักจะใช้วิธีการโทรศัพท์คุยกันปรึกษาหารือร่วมกัน (ยกเว้นกรณีการประชุมประจำปีที่มีการเดินทางมาประชุมร่วมกันของตัวแทนกรรมการในแต่ละพื้นที่)


นอกจากนั้นแล้วตัวของเขาเองก็มีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานงานกับกลุ่มหรือองค์กรอื่นๆ เขาจะเป็นตัวหลักในการประสานงานกับทนายความ ในกรณีที่เกิดมีข้อพิพาทเรื่องแรงงานทั้งในกลุ่มสมาชิกและไม่ใช่สมาชิก เช่น กรณีของแรงงานข้ามชาติถูกเครื่องจักรตัดมือจนขาด เขาก็จะทำหน้าที่ในการประสานงานกับทนายความอาสาสมัครในการลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับแรงงาน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากอุบัติเหตุจากการทำงาน นอกจากนั้นเขายังทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ทนายความหรือเจ้าหน้าองค์กรพัฒนาเอกชนในกรณีการให้ความช่วยเหลือ  และยังเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


บางครั้งในช่วงที่เกิดสถานการณ์เฉพาะหน้า แรงงานข้ามชาติก็สามารถใช้เครือข่ายทางโทรศัพท์มือถือยกระดับให้กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาได้เช่นกัน เช่น กรณีหลังจากเกิดเหตุการณ์การปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนที่ชุมนุมประท้วงในพม่าเมื่อปี 2550 ก็เกิดการสร้างเครือข่ายแบบหลวมๆ ของแรงงานข้ามชาติ โดยเริ่มจากลุ่มนักเรียนที่เรียนภาษาไทยในวันอาทิตย์ ได้เริ่มพูดคุยและชักชวนให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติหลายๆคนเข้าร่วมรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงดังกล่าว ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรการเมืองพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย มีการรวบรวมเงินกันเพื่อทำสติ๊กเกอร์รณรงค์ การทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพม่าให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง หลายคนก็ออกมาร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า รวมถึงมีการจัดทำบุญให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว


ตอนที่เกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิส เครือข่ายลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นและเป็นระบบมากขึ้น มีการติดต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพฯผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยกันระดมความช่วยเหลือทั้งเป็นเงินและสิ่งของ (การเกิดขึ้นของเครือข่ายเฉพาะหน้าแบบนี้อีกครั้ง พบว่าได้ทำให้ผมได้มีโอกาสพบกับเพื่อนเก่าๆที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และแยกย้ายไปทำงานในที่อื่นๆ จนขาดการติดต่อกันอีกครั้ง) แม้ในช่วงที่หลายคนไม่สามารถติดต่อกับบ้านของตนเองที่ประเทศพม่าได้ ก็ใช้วิธีการติดต่อในเครือข่ายแบบนี้ในการติดตามข่าวสารข้อมูลภายในประเทศพม่า จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมบางส่วนซึ่งเป็นแรงงานวัยรุ่นก็ยังมีการจัดพบปะเจอกัน ทำอาหารเย็นกินร่วมกันเกือบทุกสัปดาห์ และมีความคิดที่จะตั้งวงดนตรีวงเล็กๆของตัวเองขึ้นมาด้วย


ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าลักษณะเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นลักษณะเครือข่ายที่มีพลวัตรสามารถขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น มีลักษณะเครือข่ายที่ซ้อนเครือข่ายเชื่อมโยงกันในกลุ่มที่รู้จักกันเองและขยายต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ เครือข่ายดังกล่าวแม้จะมีการพบปะกันในเชิงกายภาพบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของเครือข่ายเมื่อเทียบกับการสร้างเครือข่ายผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งมีลักษณะข้ามกลุ่มมากกว่า เช่น จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่รู้จักกันเองไปสู่กลุ่มคนไทย  ไม่ว่าจะเป็นทนายความ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือกลุ่มเพื่อนคนงานไทยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้




(โปรดติดตามต่อตอน 3 : แรงงานพม่ากับโทรศัพท์มือถือ : การต่อต้าน ต่อรอง และการสร้างพื้นที่)


 


 


หมายเหตุ : คลิกอ่านย้อนหลัง ตอน 1 :  แรงงานพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net