Skip to main content
sharethis


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


 


 


ความเป็นจริงที่ประชาชนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้ เพราะถูกปกปิดซ่อนเร้นโดยพวกรัฐบาล ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการของไทยที่เป็นผู้วางแผนพัฒนาชาติทั้งหลาย เกี่ยวกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงก็คือ "โครงการนี้จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ถ้าไม่สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง"


 


โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง หรือ Hydroshield ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช แถลงทางโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นปี พ.ศ.2551 ได้โกหกหลอกลวงประชาชนเอาไว้ว่า "จะผันน้ำโขงเข้ามาในช่วงฤดูน้ำหลากท่วม" เพื่อพัฒนาการเกษตรในภาคอีสาน แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เดินทางไปเยือนลาวและทำการตกลงสร้างเขื่อนบ้านกุ่มร่วมกับรัฐบาลลาว เพื่อปิดกั้นแม่น้ำโขงช่วงที่เป็นชายแดนระหว่างประเทศบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี


 


การกระทำครั้งนี้เป็นการพยายามจะให้ประชาชนไทยเข้าใจว่าเรื่อง "อุโมงค์ผันน้ำโขง" กับ "การสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง" เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน แต่แท้ที่จริงแล้วโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ถ้าไม่สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการโขงชีมูลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว


 


นับตั้งแต่บทเริ่มต้นของนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" เมื่อประมาณปี พ.ศ.2531 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ทำการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้านขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากภาวะความขัดแย้งทางลัทธิการเมืองการปกครองที่ผ่านมาสงบลงแล้ว ข้อตกลงและความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ถูกปัดฝุ่นเพื่อรื้อฟื้นโครงการพัฒนาต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ โดยเขื่อนผามองและเขื่อนเชียงคานบนเป็นโครงการอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงและรัฐบาลไทย


 


โครงการโขงชีมูลจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยคาดหวังว่าเขื่อนยักษ์สองตัวนี้จะปิดกั้นแม่น้ำโขงในระดับสูงมากพอที่จะผันน้ำโขงเข้ามาตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่เรื่องราวกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเขื่อนทั้งสองถูกต่อต้านอย่างหนักในเรื่องผลกระทบรุนแรงมหาศาล โดยเฉพาะเขื่อนผามองที่ประชาชนทั้งฝั่งลาวและไทยเป็นเรือนแสนคนต้องถูกอพยพโยกย้ายหากมีการสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมาจริง ๆ ในที่สุดโครงการเขื่อนทั้งสองก็ถูกชะลอการก่อสร้างเอาไว้ก่อน แต่โครงการโขงชีมูลก็ยังดื้อรั้นไม่ยอมล้มพับตามไปด้วย โดยทำการปรับโครงการด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำโขงเข้ามาแทน แต่จนถึงบัดนี้โครงการโขงชีมูลในส่วนที่ต้องใช้น้ำโขงเข้ามาพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในภาคอีสานก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เพราะเหตุผลทางด้าน "ราคาค่าสูบน้ำ" ที่แพงมหาศาลจากเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า


 


ดังนั้นเอง การที่รัฐบาลไทยประกาศว่าจะผันน้ำโขงเข้ามาใช้พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในภาคอีสาน จะต้องพูดให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศและประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดเข้าใจว่าโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง นั่นหมายถึงว่า "โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงเป็นองค์ประกอบย่อยของโครงการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง" ไม่ใช่โครงการที่แยกเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดจากโครงการที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลไทยจะผลักดันพัฒนาโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงก็จะต้องทำการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมแยกเป็นอิสระจากโครงการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงไม่ได้ องค์ประกอบของโครงการทั้งหมดนับตั้งแต่โครงการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงและโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงจะต้องทำการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน เสมือนเป็นโครงการเดียวกัน


 


หรือจะต้องทำการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ของแม่น้ำโขงทั้งสาย เพื่อดูผลประโยชน์และผลกระทบในภาพรวมของลุ่มน้ำโขงทั้งหมด ไม่ใช่แบ่งแยกและทำลายแม่น้ำโขงด้วยการแยกส่วนโครงการแต่ละโครงการออกจากกัน ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ว่าแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงล้วนผลักดันโครงการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในพรมแดนของตัวเองโดยไม่สนใจผลกระทบภาพรวมที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยและพึ่งพิงแม่น้ำโขงร่วมกันเลย


 


 


 


 


อ่านย้อนหลัง


 


รายงาน : อุโมงค์ผันน้ำโขง รากหญ้าอีสานจะได้ใช้น้ำ-ต้องเสียค่าน้ำหรือไม่


 


รายงานพิเศษ: โปรดประเมินความคุ้มค่าโครงการ "โขงชีมูล" ก่อนเดินหน้าอุโมงค์ผันน้ำโขง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net