Skip to main content
sharethis


 


เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 18 กันยายน 2551 สมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) จำนวนประมาณ 300 คน ในพื้นที่จังหวัดตรัง 6 อำเภอ ได้แก่ ห้วยยอด, รัษฎา, นาโยง, เมือง, ย่านตาขาว และปะเหลียน รวมทั้งจังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ ได้แก่ ศรีบรรพต และศรีนครินทร์ ได้รวมตัวที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เพื่อเตรียมเดินขบวนรณรงค์ไปยังย่านชุมชนและตลาด


 


ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ครท.ได้เริ่มเคลื่อนตัว โดยถือธงเครือข่ายและธงชาติ ตลอดจนป้ายผ้า และบอร์ดนิทรรศการ รวมทั้งรถเครื่องเสียง และรถบรรทุกผัก ผ่านถนนพัทลุง, สถานีตำรวจ, ศาลากลางหลังเก่า, ตลาดสดเทศบาลนครตรัง, สถานีรถไฟ, ถนนพระราม 9, หอนาฬิกา, ศาลากลางหลังใหม่ และเดินทางกลับอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างทางได้ทะยอยขายผักพื้นบ้านมากกว่า 40 ชนิด ได้แก่ ผักกูด, ลำเพ็ง, หน่อไม้, คะน้าภูเขา, หมากหมก, กล้วยเถื่อน, ส้มเม่า, เหมียง, ส้มมวง, ยอดฟักทอง, เอาะดิบ, ข่า, หมุย, ตะไคร้, มะเดื่อ, เนียง, สะตอ, มะละกอ, สามแร้งสามกา, บักดำ เป็นต้น


 


นายบุญ แซ่จุ่ง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า วันนี้เรามาติดตามการแก้ไขปัญหาการจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง และการคุกคามตลอดจนการทำลายพืชผลทางการเกษตรในที่ดินเดิมของสมาชิกเครือข่าย โดยที่ผ่านมาได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับส่วนราชการหลายฉบับ แต่ส่วนราชการไม่จริงใจในการแก้ปัญหา และดูเหมือนว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการที่ผู้ว่าฯ ออกหนังสือคำสั่งทางปกครองให้ทำลายอาสินและเรียกค่าชดใช้ แก่สมาชิกที่ถูกดำเนินคดีอาญา รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551


 


และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ได้มีคำสั่งศาลฟ้องแพ่งแก่นายเสิด แท่นมาก จำนวน 1.8 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา มาก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินคดีแก่สมาชิกของเราอีกหลายสิบราย ทั้งๆ ที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหากับส่วนราชการจังหวัดตรัง ตามบันทึกข้อตกลงวันที่ 26 เมษายน 2551 และคำสั่งจังหวัดตรังที่ 0681/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดขอให้แก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน และทำตามข้อตกลง


 


"ส่วนในระดับนโยบายก็ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้คนจน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ความมั่นคงในที่ดินของเรา คือความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ ในอีกด้านหนึ่งกลับนำร่องให้คนรวยเช่าอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง ซึ่งอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพียงเพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว สร้างรีสอร์ท โรงแรมเพื่อทำกำไร แน่นอนว่าที่ดินบางส่วนเคยเป็นที่ดินของชุมชนดั้งเดิมที่ถูกแย่งยึดไป หรือส่งเสริมให้มีการแย่งยึดที่ดินจากคนจนมากขึ้น" นายบุญกล่าว


 


นายบุญกล่าวอีกว่า จะเดินหน้าแก้ปัญหาให้แก่สมาชิก โดยในวันนี้ตัวแทนของเรากำลังนำข้อมูลตามความเป็นจริง มายืนยันความชอบธรรมในการทำกินในที่ดินเดิม และผลักดันให้ส่วนราชการทำตามข้อตกลง นอกจากนี้ เราจะเดินหน้าผลิตอาหาร รวมทั้งรักษาความหลากหลายทางอาหารและทรัพยากรดินน้ำป่า ตามแผนการจัดการและกติกาขององค์กรชุมชนเพื่อสังคมต่อไป สิ่งเหล่านี้จักพิสูจน์ให้เห็นว่าสมาชิกชุมชนดั้งเดิมอย่างเราสามารถสืบทอดและคิดค้นภูมิปัญญาในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกหลานของเราได้ พร้อมกันนี้เราได้นำอาหารปลอดสารพิษ จากผืนดินและผืนป่าของเรามาแบ่งปันให้คนในเมืองด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านการประชุมร่วมระหว่างกรรมการฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายราชการตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่ายวันนี้ เพื่อสรุปผลการตรวจสอบที่ดิน 13 แปลง ซึ่งถูกดำเนินคดี ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากกรรมการฝ่ายราชการยังไม่ได้สรุปข้อมูล จึงนัดสรุปข้อมูลกันใหม่ ในวันที่ 25 กันยายน 2551


 


 


 


 


 


สถานการณ์เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด


 


สมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เมื่อ พ.ศ.2518, เขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า เมื่อ พ.ศ.2525 และเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จึงรวมตัวแก้ปัญหามาโดยตลอด ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นดังนี้


 


1.การจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง


 


(1.1)กรณีจังหวัดตรัง


 


เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดและส่วนราชการจังหวัดตรัง ได้ร่วมกันแก้ปัญหาตามบันทึกข้อตกลง วันที่ 26 เมษายน 2551 โดยแต่งตั้งกรรมการร่วมตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีและถูกกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางชะลอการให้ทุนสงเคราะห์จำนวน 13 ราย หากตรวจสอบพบว่ามีสภาพการใช้ประโยชน์ ทำมาหากินก่อนปี 2541 ให้ทำกินได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามส่วนราชการไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหาคนจนเท่าที่ควร


 


ในช่วงระหว่างการแก้ปัญหาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้มีคำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ให้เกษตรกรจำนวน 5 รายดำเนินการรื้อถอน, ทำลายต้นยางพารา และพืชผลเกษตร รวมทั้งได้ตรวจยึดสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกแทนบ้านเก่าที่ชำรุด และให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมประมาณ 11 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้เดือนร้อนรายหนึ่งอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง


 


ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2551 เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เรื่องขอให้มีคำสั่งยุติการบังคับคำสั่งทางปกครอง และให้ส่วนราชการปฏิบัติตามข้อตกลง แต่ผู้ว่าฯ ปรับเปลี่ยนเจตนารมณ์ของเครือข่ายฯ เป็นการอุทธรณ์ให้ชะลอการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองไปจนวันที่ 20 สิงหาคม 2551


 


สำหรับความคืบหน้ากรณีการแก้ปัญหาตามบันทึกข้อตกลง วันที่ 26 เมษายน 2551 จำนวน 13 ราย คณะกรรมการร่วมได้สรุปข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ที่ประชุมมีมติให้แต่ละฝ่ายสรุปข้อมูลส่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดตรังเพื่อประสานการจัดประชุมร่วมโดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานการประชุม


 


หลังจากนั้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 เครือข่ายฯ ได้ส่งสรุปข้อมูลไปยัง ทสจ.ตรัง และได้ติดตามเรื่องอีก 2 ครั้ง แต่ ทสจ.ตรังไม่ได้ติดต่อกลับมาตามที่รับปาก ดังนั้น วันที่ 1 กันยายน 2551 เครือข่ายฯ จึงได้เข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อติดตามการแก้ปัญหา ผลปรากฏว่าผู้ว่าฯ รับปากว่าจะรับดำเนินการแก้ปัญหาให้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติแต่อย่างใด


 


(1.2)กรณีจังหวัดพัทลุง


 


เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดและส่วนราชการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันแก้ปัญหาตามบันทึกข้อตกลง วันที่ 19 กันยายน 2550 โดยแต่งตั้งกรรมการร่วมตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีจำนวน 13 ราย ในพื้นที่ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต และตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ หากตรวจสอบพบว่ามีสภาพการใช้ประโยชน์ ทำมาหากินก่อนปี 2541 ให้ทำกินได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด


 


หลังจากแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีอาญา 9 ราย และคดีแพ่ง 4 รายจำนวน 13.7 ล้านบาท กรรมการได้ตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานแวดล้อมที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 13 ราย ได้ทำกินอยู่ก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ กรรมการจึงได้ทำสรุปรายงานจังหวัดพัทลุง หลังจากนั้นได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้ว่าฯ ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด


 


ในส่วนการแก้ปัญหาร่วมกับสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 สมัชชาคนจนได้ติดตามการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลตามที่ได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ผลปรากฏว่าสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ให้สมัชชาคนจนประสานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อให้เจรจาแก้ไขปัญหา และหากปัญหาใดตกลงกันไม่ได้ให้สรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเป็นกรณี


 


2.การผลักดันให้พิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541


 


 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ผลักดันให้เกษตรกรในเขตอนุรักษ์พิสูจน์สิทธิตามมติ ครม.30 มิถุนายน 2541 โดยแต่งตั้งฝ่ายปกครองในระดับอำเภอและผู้นำฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นคณะกรรมการเอื้ออำนวยให้สามารถพิสูจน์สิทธิลุล่วงตามโครงการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net