Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติ "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย" ลดภาวะวิกฤตน้ำมันแพง โดยคาดว่ารัฐจะต้องยอมสูญรายได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มมาตาการแรกลดภาษีน้ำมันดีเซล 2.30 บาทต่อลิตร ลดภาษีแก๊สโซฮอล์ 91และ 95 ลง 3.30 บาทต่อลิตร มีผล 25 ก.ค. ส่วนอีก 5 มาตรการ เริ่มใช้ 1 ส.ค.นี้


 


คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย" เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนในภาวะราคาน้ำมันแพง ประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาษีน้ำสรรพสามิตน้ำมันทั้งดีเซล ก๊าซโซฮอลล์ ทั้ง 91 และ 95 2.มาตรการชะลอปรับราคาก๊าซหุงต้ม 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน 4.ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน 5.มาตรการลดค่าเดินทางรถโดยสารประจำทาง และ6.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3 โดยมาตรการดังกล่าวจะมีระยะเวลา 6 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม ยกเว้นในส่วนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25กรกฎาคม เป็นต้นไป


 


น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ปรับลดการจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลง 3.30 บาทต่อลิตร เมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ จะลดลง 3.88 บาทต่อลิตร ส่งผลให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 มีส่วนต่างราคาห่างจากเบนซินประมาณ 8 บาทต่อลิตร


 


ส่วนดีเซลจะปรับลด 2.30 บาทต่อลิตร เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการกลั่นจะลดลง2.47-2.71 บาทต่อลิตร โดยการปรับลดภาษีน้ำมันจะมีผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ รวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันครั้งนี้จะทำให้รัฐสูญเสียเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมารัฐมีการจัดเก็บภาษีเกินเป้าที่วางไว้ถึง 10,000 ล้านบาท จึงคาดว่ารัฐจะสูญเสียเงินเพียง 20,000 ล้านบาท


 


โดยเศรษฐกิจไทยยังเติบโตไปได้อีกการอุดหนุนราคาน้ำมันจะช่วยให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูกต่ำกว่าทุน เป็นการบรรเทาปัญหาระยะสั้นที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 9,800,000 ครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากสาธารณูปโภครวมค่าเดินทางได้ประมาณ 1,000 บาทต่อครัวเรือน พร้อมเชื่อว่าจะทำให้ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 6-7 ต่อปี


 


สำหรับมาตรการดังกล่าวได้เตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาช่วงไตรมาสหลัง นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายและโครงการอื่น เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟรางคู่ ระบบน้ำชลประทาน ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะยิ่งประสบผลสำเร็จ


 


ทั้ง 6 มาตรการจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐ 4.9 หมื่นล้านบาท และในส่วนของกระทรวงการคลังจะกระทบในส่วนภาษีสรรพสามิต 3.2 หมื่นล้านบาท แต่ในเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังได้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกินเป้า จึงคาดว่าจะสามารถชดเชยผลกระทบในส่วนของกระทรวงการคลังได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้แล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็จะชดเชยให้มีผลกระทบต่อภาษีสรรพสามิตประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น


คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 1 พันบาท ต่อ ครัวเรือน ต่อ เดือน โดยในส่วนนี้แบ่งเป็น 300-400 บาท จากการประหยัดค่าน้ำประปา และค่าไฟ ที่รัฐบาลจ่ายให้ฟรีที่เหลือก็เป็นในส่วนของค่าโดยสารรถร้อน รวมไปถึงรถไฟชั้น 3 และยังเชื่อว่า การออกมาตรการดังกล่าวยังจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้ไม่น่าจะเกิน 6-7% จากที่มีการคาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อปีนี้อาจแตะระดับ 2 หลัก


 


นอกจากนี้ ทั้ง 6 มาตรการจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี) เติบโตขึ้นจากปกติอีก 0.3-0.5% จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 5-6% นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 6-7% ตามเป้าหมายที่วางไว้


 


รายละเอียดของ 6 มาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ประกอบด้วยมาตรการที่ 1 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ประกอบด้วยภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91และ 95 ลง 3.30 บาท/ลิตร เหลือ 0.0165 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91และ 95 มีช่วงห่างของราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 มากขึ้น


 


ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 95(E10) เทียบกับราคาน้ำมันวันที่ 15 ก.ค.อยู่ที่ 38.19บาท หากมีการลดภาษีสรรพสามิต 3.30 บาทและรวมการลดภาษีอื่นๆ และค่าการตลาด 0.58 บาท/ลิตร จะทำให้ราคาใหม่อยู่ที่ 34.71 บาท/ลิตร และทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันใหม่ลดลง 3.88 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91(E10) ราคาวันที่ 15 ก.ค.อยู่ที่ 37.39 บาทหากรวมราคาส่วนลดสรรพสามิต 3.30 บาท และส่วนลดภาษีอื่นๆ และค่าการตลาด 0.53บาท จะทำให้ราคาใหม่อยู่ที่ 33.41 บาท/ลิตร และมีส่วนลดโดยรวม 3.83 บาท


 


ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95(E20) ราคา 15 ก.ค.อยู่ที่ 36.89 บาท ส่วนลดภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.30 บาท ส่วนลดภาษีอื่นๆ และค่าการตลาด 0.58 บาท ทำให้ราคาใหม่อยู่ที่33.51 บาท และส่วนลดรวม 3.88 บาท ด้านดีเซลหมุนเร็ว (HSD) ราคา 15 ก.ค.อยู่ที่ 44.24 บาท ส่วนลดภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 2.30 บาท


 


ส่วนลดภาษีอื่นๆ และค่าการตลาดอยู่ที่ 0.41 บาท ราคาใหม่จะอยู่ที่ 41.53 บาทส่วนลดจะที่ 2.71 บาท และดีเซลหมุนเร็วบี 5(HSD-D5) ราคาวันที่ 15 ก.ค.อยู่ที่ 43.54บาท ส่วนลดภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 2.10 บาท ส่วนลดภาษีอื่นๆ และค่าการตลาด 0.37 บาททำให้ราคาใหม่อยู่ที่ 41.04 บาท/ลิตร โดยมีส่วนลด 2.47 บาท โดยราคาน้ำมันใหม่นี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันม่วงลดลง 2.70 บาท/ลิตรด้วย และในส่วนของผลกระทบจากการลดภาษีสรรพสามิตนี้จะทำให้รายได้จากภาษีสรรพสามิตลดลงประมาณ 32,000 ล้านบาท


 


มาตรการที่ 2 การชะลอปรับราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ในภาคครัวเรือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการที่ 3 ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือนสำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตร/เดือน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายค่าน้ำประปาให้ประชาชน ผลกระทบจะทำให้การประปาส่วนภูมิภาคมีผลกระทบ 2,400 ล้านบาท และการประปานครหลวงมีผลกระทบ 1,530 ล้านบาท


 


มาตรการที่ 4 ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือนโดยผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย/เดือน ภาครัฐจะจ่ายให้ทั้งหมด ส่วนกรณีที่ใช้ระหว่าง 80 หน่วยแต่ไม่เกิน 150 หน่วยภาครัฐจะจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง โดยมาตรการนี้จะส่งผลกระทบให้รายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงลดลง 12,000 ล้านบาท


 


มาตรการที่ 5 ลดค่าเดินทางรถโดยสารประจำทาง โดยจะจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาของ ขสมก. 800 คัน จากทั้งหมด 1,600 คันใน 73 เส้นทางในเขตกทม.และปริมณฑล ซึ่งมาตรการนี้จะส่งผลกระทบรายได้ของ ขสมก. 1,244 ล้านบาท และมาตรการที่ 6 ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3 โดยให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟชั้น 3 ไม่เสียค่าใช้จ่ายนาน 6 เดือน ซึ่งมาตรการนี้จะส่งผลกระทบรายได้ของ รฟท. 250 ล้านบาท


 


ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดจากหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐจะมีการจัดสรรงบกลางชดเชย ซึ่งเป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนกรณีที่จะมีการต่ออายุมาตรการหลังจากครบระยะเวลา 6 เดือนแล้วหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคตยังไม่มีการพูดถึง


 


สำหรับทั้ง 6 มาตรการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ยกเว้นในส่วนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นต้นไป หลังจากออกกฎกระทรวงการคลังเพื่ออบังคับใช้ มาตรการที่ออกมานี้จะช่วยประชาชนที่มีรายได้ต่ำ และแบ่งเบาภาระคนจนได้


 


ส่วนโครงการแจกคูปองคนจนก็ถือว่ายกเลิกไป เพราะยอมรับว่าหาสมมติฐานได้ยากว่าระดับไหนถึงจะเป็นคนจน อีกทั้งมาตรการนี้ก็ถือว่าทดแทนได้แล้ว


 


สศค.ชี้ใช้แทนคูปองคนจน


นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การออก 6 มาตรการ 6 เดือน เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยรัฐบาลจะช่วยลดค่าสาธารณูปโภคให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เนื่องจากการใช้นโยบายคูปองคนจนซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดที่จะใช้ช่วยเหลือประชาชนยังไม่มีความชัดเจน และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาของ สศค. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อจัดทำทะเบียนคนจนให้มีความชัดเจน โปร่งใสและเป็นระบบ โดยจะแจกคูปองคนจน 1 ใบต่อครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 6,200 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที รัฐบาลจึงใช้มาตรการดังกล่าวทดแทนไปก่อน


 



นักวิชาการชี้รัฐใช้เงินซื้อประชาชน



รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงษกร คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวรัฐบาลได้คิดและทำไวรีบร้อนมาก ไม่มีใครรู้เลย แม้แต่เลขาธิการสภาพัฒน์เองยังไม่ทราบเลย ซึ่งมาตรการดังกล่าวคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลเจอวิกฤติทางการเมืองและถูกโจมตีอย่างหนัก แต่กลับเปิดกรุสมบัตินำเงินมาซื้อประชาชน เป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอด ซึ่งไม่ช้าไม่เร็วตนคิดว่าไม่รอด เพราะการจะทำอะไรนั้นรัฐบาลต้องคิดหน้าคิดหลัง ทั้งที่เรื่องวิกฤติค่าครองชีพ เช่น ปัญหาราคาข้าว ปัญหาราคาสินค้า ปัญหาราคาน้ำมัน เกิดขึ้นมานานแล้วแสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้คิดจะทำอะไรเลย การจะมาไม่เก็บค่ารถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำ ค่าไฟ นั้นส่งผลกระทบต่อระบบรัฐวิสาหกิจในอนาคตอย่างร้ายแรงแน่


 



 "รัฐบาลสมควรที่จะทำให้ระบบการบริการของรัฐวิสาหกิจอยู่ในรูปแบบที่ให้บริการประชาชน ในราคาถูกและมีคุณภาพหรือระบบมาตั้งนานแล้ว ต้องทำการตกลงวิจัยถึงขั้นตอนการบริหารงานทั้งหมด และปล่อยให้เป็นธุรกิจตามระบบปกติ แต่นี่กลับมาควบคุมราคา มีแต่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเจ๊ง ล้มแน่นอน" รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว


 



ด้านนายวิทยากร เชียงกูล คณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลใช้แนวคิดในการบริหารปัญหาเศรษฐกิจเหมือนยุคทักษิณ คือใช้ประชานิยมเป็นตัวนำโดยไม่มองปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะแก้ในระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน การออกมาตรการเช่นนี้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือฝ่ายการเมืองใช้หาเสียง ส่วนคนจนจริงๆ แม้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ และจะแก้ไม่ได้โดยทั่วถึง


 



 "มาตรการช่วยคนจนที่มาในช่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมือง รัฐมนตรีหลายคนถูกออกเพราะทำผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มจะเลือกตั้งใหม่สูงมาก ทำให้มาตรการนี้กลายเป็นการหาเสียงมากกว่าที่จะแก้ปัญหาคนจนอย่างแท้จริง" นายวิทยากร กล่าว


 



ส่วน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่ดี แม้มาตรการทั้ง 6 จะใช้ระยะสั้นๆ แต่จะช่วยให้จีดีพี ขยายตัวได้ 5-6% ตามกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้


 



ฟันธงแค่บรรเทาความเดือดร้อน


ในส่วนของภาคธุรกิจ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน 6 มาตรการนั้น ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยภาพรวม เพราะเป็นแค่มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนระยะสั้น ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคงแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขณะนี้ได้ แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะบรรลุวัตถุประสงค์หลักที่รัฐบาลต้องการช่วยคนมีรายได้น้อย และแบ่งเบาภาระได้ระดับหนึ่ง


 



 "เราไม่ได้โต้แย้งที่รัฐบาลใช้ 6 มาตรการช่วยเหลือประชาชน แม้จะแฝงไปด้วยประชานิยม เพราะขณะนี้คนมีรายได้น้อยเดือดร้อน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเสริม ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเสนอมาตรการอะไร เพราะต้องรอดูทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะปรับ ครม.เร็วๆ นี้ รวมถึงนโยบายใหม่ๆ ที่จะออกมา" นายประมนต์ กล่าว


 



ด้านนายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลสามารถดูแลเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเพราะมูลค่าของมาตรการนี้ไม่สูงมาก แต่ก็มีข้อดีในแง่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ซื้ออาหาร แม้จะไม่สามารถดูแลเงินเฟ้อได้ เพราะปัญหาหลักของเงินเฟ้อคือราคาน้ำมันสูง ซึ่งหนึ่งในมาตรการได้ลดราคาน้ำมันแต่ก็เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลกสูงต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ


 



คาดรถเมล์ฟรีคันเว้นคันก่อปัญหา



นายบุญมา ปังมา รองประธานสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ขสมก.คือให้ประชาชนขึ้นรถโดยสารแบบร้อนฟรีคันเว้นคันนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการจะออกนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วจริงๆ ก็น่าจะให้ฟรีทั้งหมด ก่อนออกนโยบายรัฐบาลไม่เคยหารือกับผู้ปฏิบัติเลยว่าทำได้หรือไม่ เพราะการให้มีรถฟรีแบบคันเว้นคันเช่นนี้ทำให้มีปัญหาในการปล่อยรถแน่ ที่สำคัญคือทุกวันนี้พนักงานเก็บค่าโดยสารยังมีรายรับจากการได้เปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสาร ตรงนี้รัฐจะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปอย่างไร เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่มีรายได้เดือนละ 8,000 บาท แทบไม่พอใช้อยู่แล้ว


 



"หากรัฐบาลยังยืนว่าจะเก็บค่าโดยสารในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความโกลาหลแน่ และเชื่อว่าเป็นความพยายามบ่ายเบี่ยงปัญหาเรื่องการจัดซื้อรถโดยสาร 6,000 คัน ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และ สร.ขสมก.ทำหนังสือเสนอแนะไปว่าให้มีการประมูลอย่างโปร่งใสและควรมีรถร้อนไม่น้อยกว่า 2,000 คัน เพื่อเป็นที่พึ่งของคนจน" นายบุญมา กล่าว


 



ระบุไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ


นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า แม้จะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์บ้าง แต่รวมๆ แล้วไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เพราะเมื่อรัฐบาลลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ภาษีน้ำมัน ในที่สุดก็ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยภาษีของรัฐ หรือรัฐต้องไปหาเก็บภาษีจากส่วนอื่นเพิ่ม เพื่อไม่ให้หลุดเป้าหมายการจัดเก็บภาษี หรือหากกรณีจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย รัฐบาลก็ต้องกู้เงินหรือออกพันธบัตรมาแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเงินของประชาชนนำมาแก้ปัญหาอยู่ดี


 



นายเทียนไชยกล่าวต่อว่า ในกรณีการลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล ยิ่งเป็นแนวทางที่คนจนไม่ได้ประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่คนจนไม่ได้มีรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง การลดภาษีน้ำมันเป็นการลดที่เอาใจคนเมือง คนที่มีรายได้ระดับกลางไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งมากกว่า ซึ่งต่อไปนี้คงจะต้องดูว่าผู้ประกอบการขนส่งจะลดหรือตรึงค่าโดยสาร หรือลดค่าขนส่งสินค้า จนทำให้ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ร่วมหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาสินค้าได้บวกกับค่าขนส่งไปแล้ว


 



ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการที่ประกาศออกมาเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำได้แค่การซื้อเวลาเท่านั้น และการลดภาษีน้ำมันก็คงช่วยลดภาระลงได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะราคาน้ำมันยังต้องขึ้นกับราคาในตลาดโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยการลดภาษีนั้นจะต้องระมัดระวังและสร้างความชัดเจนว่าจะอุดหนุนในระยะเวลาเท่าใด เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคไม่เกิดการปรับตัวและประหยัดพลังงานเหมือนที่เคยอุดหนุนในปี 2548


 



ส่วนนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการลดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งในขณะนี้ถือว่าสามารถบรรเทาปัญหาได้เล็กน้อยเท่านั้น เพราะผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อกระจายวงกว้างมากขึ้นแล้ว และมาตรการดังกล่าวออกมาช้าเกินไป


 



ครม.เห็นจัดงบหลักประกันสุขภาพ  


วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เรื่องการจัดทำงบประมาณในงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2552 โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.อัตราเหมาจ่ายรายหัว สำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2552  เป็น 2,317 บาทต่อประชากร ซึ่งประชากรกว่า 47 ล้านคน รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 1 แสนล้านบาท 2.งบประมาณสำหรับให้บริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประมาณ 1 แสนราย จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท 3.งบประมาณสำหรับให้บริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง กว่า 1,000 ล้านบาท และ  4.งบประมาณบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท


 


หมายเหตุ ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวหุ้นและคมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net