Skip to main content
sharethis




บทความตอนที่แล้ว
สุรชาติ บำรุงสุข [1]: ทั้งรักทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น : ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
สุรชาติ บำรุงสุข [2]: การเมืองเรื่องมรดกโลก: วิกฤตการณ์เขาพระวิหาร


 


 


 

"ฉันไม่ประสงค์จะได้อะไรจากเขมร


นอกจากเกียรติยศชื่อเสียงที่จะมีสืบไปในภายภาคหน้าว่า


ได้กอบกู้ชาติเขมรไว้  ไม่ให้พระบวรพุทธศาสนาในเขมร


ต้องเป็นอันเสื่อมสลายไป"


                                   


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


                                    รับสั่งกับนักองค์ด้วงเมื่อ พ.ศ. 2383


 


สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากำลังเข้าสู่สภาวะของความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ความพยายามของกัมพูชาในการยกฐานะให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น อาจจะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยมเก่าในไทย โดยผูกโยงกับแนวคิดเรื่องของการเสียดินแดน เพราะในการเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารนั้น อาจจะทำให้ต้องนำเอาพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นเขตอธิปไตยของรัฐไทยเข้าไปรวมอยู่ด้วย



ในขณะเดียวกัน ในการเสนอของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยมิใช่การ "เสนอร่วม" ทั้งกัมพูชาและไทย ทำให้ฝ่ายไทยคัดค้านในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ผ่านมา (2550) จนต้องเลื่อนการเสนอดังกล่าวออกไป ซึ่งก็จะครบวาระของการเสนอขอใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551



ดังนั้นในการเสนอของกัมพูชาครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คงจะเป็นการยากที่ฝ่ายไทยจะสามารถทัดทานได้ เพราะคณะกรรมการมรดกโลกได้ให้เวลาหนึ่งปีเพื่อให้ไทยและกัมพูชาหาข้อยุติจากทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ ซึ่งหากไทยจะดำเนินการในลักษณะทัดทานต่อเรื่องดังกล่าวอีก ก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีการประชุมดูไม่ดี เพราะดูเหมือนว่า เราได้ปล่อยให้ระยะเวลาผ่านเลยมาโดยไม่ได้ทำอะไรเท่าใดนัก ในขณะที่ทางฝ่ายกัมพูชาได้โน้มน้าวมหาอำนาจและประเทศหลักๆ ในคณะกรรมการมรดกโลกให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเรียกร้องของกัมพูชา



ฉะนั้นจึงประเมินได้ไม่ยากนักว่า โอกาสที่เราจะใช้วิธี "ซื้อเวลา" ด้วยการประวิงเวลาการประชุมไปอีกรอบ (1 ปี) ก็คงจะเป็นไปได้ยาก และในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นถึงโอกาสที่คณะกรรมการมรดกโลกในช่วงประมาณกลางปี 2551 ซึ่งประมาณว่าคำตัดสินในกรณีนี้น่าจะอยู่ในช่วงราวมิถุนายนหรือกรกฎาคมของปีนี้



ผลจากแนวโน้มเช่นที่กล่าวแล้ว ทำให้สังคมไทยควรจะตอบคำถามด้วยตัวเองให้ได้จริงๆ ว่า ถ้าปราสาทเขาพระวิหารถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้ว สังคมไทยจะยอมรับได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยบางทีเราอาจจะต้องเริ่ม "ถามใจตัวเอง" ในฐานะของความเป็นปัจเจกบุคคลแต่ละคนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เราพร้อมที่จะยอมรับกับกรณีเช่นนี้ได้มากน้อยเพียงใด



ในอีกด้านหนึ่งของปัญหา หากต้องตอบด้วยเรื่องที่ใหญ่มากกว่าความเห็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลแล้ว ปัญหา "การเมืองเรื่องโบราณสถาน" ของกรณีปราสาทเขาพระวิหารเช่นนี้ตอบอะไรแก่สังคมไทยบ้าง



หากเราลองพิจารณาปัญหาข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ในปี 2505 จนถึงแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะเริ่มขึ้นในอนาคต รวมกับกรณีของการสิ้นสุดยุคสมัยของโลกความมั่นคงในอดีต อันได้แก่การยุติของสงครามเย็นแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนของข้อสังเกตประการสำคัญว่า ในยุคสงครามเย็น ปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการมองปัญหาของรัฐ



ดังนั้นแม้นว่าในปี 2505 ไทยจะต้องพ่ายแพ้ในการนำเอาความขัดแย้งในกรณีปราสาทเขาพระวิหารเข้าสู่กระบวนการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและกลายเป็น "ประเด็นร้อน" ในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามาโดยตลอดก็ตาม



แต่ในระยะต่อมา ความรู้สึกชาตินิยมกับการต้องสูญเสีย (แพ้คดี) ปราสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชาก็เริ่มค่อย ๆ ถูกกลบลงด้วยพัฒนาการของสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ที่ทำให้รัฐและสังคมไทยต้องกังวลอยู่กับเรื่องของคอมมิวนิสต์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชามากกว่าเรื่องของความรู้สึกที่ต้องสูญเสียปราสาทเขาพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการยึดอำนาจของกลุ่มขวาและคณะทหารในกัมพูชาที่ทำให้เจ้าสีหนุต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น รัฐบาลทหารในกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อรองรับต่อยุทธศาสตร์ของการทำสงครามอินโดจีน ผลเช่นนี้อย่างน้อยก็อาจทำให้ผู้นำไทยสบายใจขึ้นสักนิดว่า กัมพูชามีรัฐบาลนิยมตะวันตกเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้าง "รัฐกันชน" เพื่อขัดขวางต่อการขยายอิทธิพลของเวียดนามเข้ามาสู่พื้นที่ราบลุ่มของแม่น้ำโขง และเข้าประชิดต่อแนวชายแดนของไทยได้



หากย้อนเวลาได้ เรื่องราวดังกล่าวในช่วงระยะเวลานั้นดูจะทำให้ต้องรำลึกถึงอดีตของสงครามระหว่างสยามกับญวนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี  2376  และมาสิ้นสุดในช่วงกลางปี  2389 [ผู้สนใจอาจหาอ่านได้จากหนังสือประวัติศาสตร์เรื่องอานามสยามยุทธ ซึ่งเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์) ได้แต่งขึ้นไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตีพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 122 และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2514]



ว่าที่จริงแล้ว สงครามระหว่างสยามกับญวนเหนือพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของเขมรก็คือ กระบวนการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางภูมิภาครัฐศาสตร์ของรัฐในอดีตที่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือ ซึ่งในบริบททางประวัติศาสตร์ก็คือ ทั้งสยามและญวนต่างก็พยายามขยายอิทธิพลเข้าครอบครองที่ราบลุ่มของแม่น้ำโขง อันเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ



ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงของสยามอีกครั้ง เมื่อสยามจำเป็นต้องทำความตกลงกับผู้แทนของรัฐมหาอำนาจอาณานิคมในการกำหนดเขตอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ (อันเป็นผลจากการพัฒนาความเป็นรัฐประชาชาติที่เกิดขึ้นในการเมืองโลกยุคใหม่) ตลอดรวมถึงการต้องทำความยินยอมที่จะยกพื้นที่บางส่วนในแนวลำน้ำโขงให้กับเจ้าอาณานิคมตะวันตก เพื่อแลกกับการลดแรงกดดันของความต้องการผนวกสยามเข้าเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น



ผลจากการนี้จึงไม่แต่เพียงการสิ้นสุดของการแข่งขันเชิงอำนาจระหว่างสยามกับญวนเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงอาณาเขตของรัฐสยามอยู่ติดตลอดแนวพรมแดนกับรัฐอาณานิคมของตะวันตกจากเหนือจดใต้ จากตะวันออกจดตะวันตก ในสภาพเช่นนี้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศสำคัญประการหนึ่งของรัฐสยามในยุคนั้นจึงได้แก่ การแบ่งเขตอธิปไตยของรัฐด้วยการปักปันเขตแดน



ปัญหาไม่ใช่การทำเขตแดนกับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร หรือพม่า หากแต่เป็นการแบ่งเขตอธิปไตยกับรัฐมหาอำนาจที่บ่งบอกว่า อาณาเขตของสยามสิ้นสุดลงที่ใดในทางภูมิรัฐศาสตร์ และเขตอำนาจของเจ้าอาณานิคมมาถึงจุดใดเช่นเดียวกัน ซึ่งความตกลงเช่นนี้ปรากฏอยู่ในรูปของสนธิสัญญาที่สยามกระทำกับประเทศตะวันตกที่เป็นผู้ปกครองเพื่อนบ้าน



จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงพร้อมกับความอ่อนแอของเจ้าอาณานิคม จึงได้นำไปสู่จุดสำคัญของการเมืองในภูมิภาคก็คือ การที่บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น เริ่มทยอยได้รับเอกราชและเป็นสิ่งที่ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า "ประเทศใหม่" (New Nations)



ประเทศใหม่เหล่านี้ดำรงอยู่ในการเป็น "ผู้สืบสิทธิ์" จากประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นผู้รับมรดกดินแดนที่เจ้าอาณานิคมได้ทำความตกลงไว้กับสยามแต่เดิม และในขณะเดียวกันสยามก็ได้ยอมรับสถานะของเส้นเขตแดนเช่นนี้มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์



แม้จะมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเช่นใดก็ตาม ก็ใช่ว่าสยามจะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์ของตนได้ตามอำเภอใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ ก็จะต้องได้รับการยอมรับจากประเทศที่มีแนวชายแดนติดกันในรูปของการทำสนธิสัญญาใหม่ ซึ่งก็คงไม่มีประเทศผู้สืบสิทธิ์ใดกระทำเช่นนั้นเพื่อให้ตนต้องเสียดินแดนไป



ผลพวงจากระบบอาณานิคมเช่นนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มรดกของปัญหาเส้นเขตแดนที่ถูกกำหนดจากเจ้าอาณานิคมก็ยังคงตกทอดจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เส้นเขตแดนจีน-อินเดีย หรือเส้นเขตแดนเอธิโอเปีย-โซมาเลีย เป็นต้น



ในกรณีเช่นนี้เส้นเขตแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากเส้นแบ่งเขตระหว่างสยามกับพื้นที่ในปกครองของเจ้าอาณานิคม ก็เป็นปัญหาเช่นในกรณีอื่น ๆ ของโลก เพราะเส้นเขตแดนหลายส่วนถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม หรือในบางกรณีสิ่งที่ใช้เป็นปัจจัยของการกำหนดทางภูมิศาสตร์ในอดีต ได้กลายเป็นความไม่ชัดเจนของสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของสันปันน้ำ หรือร่องน้ำ เป็นต้น



แต่ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดที่ไม่เป็นธรรม หรือการกำหนดที่ไม่ชัดเจน ก็มิได้หมายความอย่างง่ายๆ ว่า ไทยสามารถเปลี่ยนเส้นเขตแดนของตนเองจากความตกลงที่ทำกับมหาอำนาจในยุคอาณานิคมได้ และเมื่อมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และยอมที่จะนำเอาความเห็นที่แตกต่างกันเข้าสู่การประชุมของศาลระหว่างประเทศแล้ว ก็ปรากฏว่าไทยต้องพ่ายแพ้มาแล้ว เช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหารในปี 2505



ดังนั้น เมื่อมีแนวโน้มในสถานการณ์ปัจจุบันที่กัมพูชาต้องการให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้นก็หวนกลับมาให้ต้องขบคิดกันอีก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาย่อมหลีกหนีไม่พ้นจากกรณีพิพาทเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยตรง



ในโลกของการเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่ หนึ่งในแนวทางที่ถูกใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดน ไม่ใช่สงคราม หากแต่มักจะออกในรูปของการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทร่วมกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เจดีเอ" (Joint Development Areas - JDA)



ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ความเป็นมรดกโลกกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว การทำปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง โดยอาจจะเรียกเฉพาะลงไปว่า "พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม" (Joint Cultural Development Area) หรือ "JCDA" หรืออาจจะทำเป็น "พื้นที่ท่องเที่ยวร่วม" (Joint Tourism Areas) หรือ "JTA" เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งสอง



ข้อเสนอไม่ว่าจะเป็น "JCDA" หรือ "JTA" ก็เพื่อหวังว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจะก้าวจาก "วิกฤตสู่โอกาส" และในขณะเดียวกันก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดสถานการณ์จาก "โอกาสสู่วิกฤต" ที่จะนำไปสู่ความบาดหมางในระหว่างพี่น้องและผองญาติของคนในไทยและกัมพูชากับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของปราสาทเขาพระวิหาร !


 



หมายเหตุ : บทความนี้คัดมาจากจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 38 (เมษายน 2551)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net