Skip to main content
sharethis

บทความตอนที่แล้ว
สุรชาติ บำรุงสุข [1]: ทั้งรักทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น : ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา


 


 


สุรชาติ บำรุงสุข            


 


            "สันติภาพเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้"


 


Maxim Litrinov (1876-1951)


                                                                                    นักการทูตโซเวียต


 


            หนึ่งในประเด็นปัญหาที่เป็นเรื่องตกค้างในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามาโดยตลอดก็คือ "กรณีเขาพระวิหาร" ซึ่งในอดีตนั้นได้เกิดเป็นกรณีพิพาทในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง จนสุดท้ายรัฐคู่กรณีได้ยินยอมที่จะนำคดีพิพาทนี้ขึ้นพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ศาลโลก"


            ในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้มีคำพิพากษาว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ซึ่งถือได้ว่าเป็น "ความพ่ายแพ้ทางกฎหมาย" ของฝ่ายไทยที่ทำให้ต้องสูญเสียเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา แม้นว่าไทยจะมีท่าทีที่ไม่ยินยอมภายในประเทศ แต่ในเวทีระหว่างประเทศแล้ว ไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลกมาโดยตลอดว่า ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐกัมพูชา


            อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลระหว่างประเทศให้การรับรองต่ออธิปไตยของรัฐกัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหารพร้อมกับพื้นที่บางส่วน แต่ก็มิได้กล่าวถึงพื้นที่โดยรอบส่วนอื่นของปราสาท ซึ่งก็อนุมานได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวยังคงอยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐไทย


            เมื่อกาลเวลาผ่านไป กรณีเรื่องราวของปราสาทเขาพระวิหารค่อยๆ จางหายไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคมไทย พร้อมๆ กับการที่ปัญหาอื่นได้แทรกเข้ามาในแต่ละช่วงของเวลา จนดูเสมือนหนึ่งว่า กรณีปราสาทเขาพระวิหารได้จบสิ้นลงโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะหลังจากการสิ้นสุดของสถานการณ์สงครามกลางเมืองในกัมพูชา พร้อมกับการหวนคืนของสันติภาพตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ปราสาทเขาพระวิหารก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหนึ่งในพื้นที่แนวชายแดนของประเทศทั้งสอง


            ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในประเทศทั้งสอง อีกทั้งปัญหาความมั่นคงก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งได้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับ แม้จะมีกรณีวิกฤตการณ์ "เผาสถานทูต" เข้ามาเป็นตัวแทรกอยู่บ้าง แต่ก็สามารถคลี่คลายไปได้ โดยมิได้ทำให้แนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต้องถอยกลับไปสู่ภาวะของการเผชิญหน้าเช่นในยุคสงครามเย็นอีกแต่อย่างใด


            จนกระทั่งเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ฝ่ายไทยจึงทราบว่า ผู้แทนของกัมพูชาได้หยิบยกเอาเรื่องปราสาทเขาพระวิหารเข้าสู่วาระการประชุม เพื่อขอให้พิจารณารับรองปราสาทดังกล่าวเป็นมรดกโลก ซึ่งก็ได้มีการโต้แย้งจากฝ่ายไทย จึงทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการนี้ต้องเลื่อนออกไป


            อย่างไรก็ตาม วาระที่เลื่อนไปจะเวียนมาถึงอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้ ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมที่ประเทศแคนาดา ในการนี้ก็คาดการณ์ได้ว่าผู้แทนของกัมพูชาจะนำเอากรณีปราสาทเขาพระวิหารเข้าสู่การประชุมอีกครั้งอย่างแน่นอน


            ดังนั้นหากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในช่วงกลางปี 2551 ประกาศให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา หรืออย่างน้อยก็กระทบต่อพื้นที่ที่ถูกถือว่าเป็นของไทย เช่น ส่วนบันไดทางขึ้นปราสาท ตลอดรวมถึงพื้นที่ที่เหลือรอบๆ ซึ่งเป็นเขตอธิปไตยของไทย


            ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ หากปราสาทเขาพระวิหารถูกยกให้เป็นมรดกโลกแล้ว พื้นที่รอบๆ บางส่วนที่เป็นของไทยจะถูกผนวกเข้ากับความเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารเท่าใด และหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อปัญหาเส้นเขตแดนทั้งสองประเทศมากน้อยเพียงใดด้วย


            นอกจากนี้ประเด็นสำคัญก็คือท่าทีของรัฐบาลใหม่ของไทยที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศจะมีนโยบายอย่างไรต่อปัญหาเช่นนี้ โดยปัญหาอาจจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และในขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลใหม่ หรือไม่ เช่น หากประเด็นนี้ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อประโคมว่า รัฐบาลใหม่ของไทยไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชา ตลอดรวมถึงการใช้ประเด็นนี้ในอนาคตเพื่อปลุกระดมในแบบลัทธิชาตินิยมแล้ว รัฐบาลไทยจะแก้ปัญหาอย่างไร อีกทั้งประเด็นดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยกลุ่มทหารหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากคำแถลงของกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 ในลักษณะของการ "โยนเผือกร้อน" ให้รัฐบาลใหม่ต้องรับภาระทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเคลื่อนไหวที่สำคัญของรัฐบาลกัมพูชาเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังดำรงตำแหน่งอยู่


            สำหรับรัฐบาลใหม่ซึ่งกำลังเข้ามารับผิดชอบในการบริหารประเทศนั้น คงจะต้องเริ่มตระหนักว่า พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงที่หนักหน่วงรออยู่ข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่เพียงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดแดนภาคใต้เท่านั้น หากแต่ยังมีวิกฤตการณ์ของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา รออยู่ข้างหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นจากการที่ไทยแสดงท่าทีคัดค้านความพยายามของรัฐบาลกัมพูชาในการนำเอาปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดการปลุกกระแสชาตินิยมต่อต้านไทยขึ้นในกัมพูชา ดังจะเห็นได้จากกรณีเผาสถานทูตในปี 2546 มาแล้ว และหากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ก็จะกลายเป็น "วิกฤตการณ์เขาพระวิหารรอบ 2" ในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาของการตัดสินปัญหานี้ของคณะกรรมการมรดกโลกในประมาณเดือนมิถุนายน/กรกฎาคมนี้ ก็จะเป็นช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งในกัมพูชาด้วย ซึ่งก็อาจจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อาจจะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาใช้ในการหาเสียงด้วย


ดังนั้นในระยะเวลาที่รัฐบาลใหม่ของไทยกำลังเริ่มขึ้นนั้น ปัญหาความพยายามในการผลักดันปราสาทเขาพระวิหารให้กลายเป็นมรดกโลกนั้นได้เดินรุดหน้าไปมากแล้ว จนบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า โอกาสที่จะประวิงเวลาเหมือนเช่นในปี 2550 คงเป็นไปได้ยากในเวทีระหว่างประเทศ


ปัญหาก็คือ รัฐบาลใหม่จะเตรียมตัวรับกับปัญหาเช่นนี้อย่างไร และหากความเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารถูกขยายผลจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ขึ้นมาจริงๆ แล้ว สังคมไทยโดยรวมเองควรจะมีท่าทีต่อปัญหาเช่นนี้อย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาลุกลามจนกลายเป็น "วิกฤตเผาสถานทูตรอบ 2" แล้ว บทบาทของเครื่องมือทางทหารในนโยบายความมั่นคงของไทยต่อปัญหาเช่นนี้ควรจะเป็นเช่นไร


อย่างน้อยบทเรียนจากวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในปี 2544 และปี 2545 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ควรจะต้องพิจารณาด้วยความใคร่ครวญ เมื่อผู้นำทหารตัดสินใจใช้เครื่องมือทางทหารเข้าจัดการกับปัญหาตามแนวชายแดนเอง จนกลายเป็นทั้งวิกฤตการณ์ของความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้าน และในขณะเดียวกันก็เป็นวิกฤตการณ์ของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในบ้านของเราเองด้วย


นอกจากนี้ยิ่งพิจารณาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายกัมพูชา ก็จะเห็นได้ถึงการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องได้แก่


1) การแสวงหาความสนับสนุนจากประเทศสมาชิกหลักในคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านั้นมีท่าทีที่โน้มเอียงไปในทางสนับสนุนข้อเรียกร้องของกัมพูชา


2) ทำการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศในกรอบพหุภาคีเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร


3) ทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากด้านกัมพูชา เพื่อลดการต้องพึ่งพาไทยในการเดินทางไปยังปราสาทเขาพระวิหาร และยังจะเป็นการเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวภายในของกัมพูชาอีกด้วย


การรุกทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ "ล๊อบบี้" ของประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลำบากของฝ่ายไทย และในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่า เวลาจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่เอื้อให้รัฐบาลใหม่ของไทยทำอะไรได้มากนัก เพราะเมื่อปัญหาดังกล่าวถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง และผู้แทนของไทยในเวทีดังกล่าว ได้แสดงท่าทีคัดค้านในทางหนึ่งทางใดแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดความไม่พอใจภายในกัมพูชาได้ง่าย เพราะในช่วงที่ผ่านมา บทบาทของสื่อกัมพูชาก็ได้แสดงท่าทีไม่พอใจไทยในกรณีนี้อยู่แล้ว และถ้าถูกนำไปผนวกกับการหาเสียงของพรรคการเมืองภายในกัมพูชาด้วยแล้ว โอกาสที่จะทำให้ปัญหาเขาพระวิหารกลายเป็น "วิกฤตการณ์" ก็ดูจะไม่อยู่ห่างไกลแต่อย่างใด


ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องยอมรับว่า ไทยอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และความพยายามที่จะทำให้กรณีนี้ไม่ถูกยกฐานะเป็นมรดกโลก ไม่ว่าจะสู้จนประเด็นเขาพระวิหารตกไป (ถูกถอดออกจากการประชุม) หรือสู้ด้วยการซื้อเวลาต่อไปอีก ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองอย่างแน่นอน และขณะเดียวกันก็จะถูกใช้เป็นประโยชน์ทางการเมืองจากกลุ่มการเมืองที่อยู่ในแต่ละประเทศด้วย


ปัญหาการแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าก็คือ ทำอย่างไรที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์จากการเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร ในลักษณะ "ได้ทั้งคู่" (หรือ "win-win-solution") และขณะเดียวกันก็จะต้องทำให้ความเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหาร ไม่กระทบต่อสถานะของเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังคงมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนดำรงอยู่


การแสวงหาคำตอบให้ได้โดยเร็วในกรณีนี้ ก็เพื่อเป็นหลักประกันที่สำคัญแต่เพียงประการเดียวว่า ความเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารไม่ควรจะต้องกลายเป็น วิกฤตการณ์ของประเทศทั้งสอง และขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง "ฉวยโอกาส" ในลักษณะ "over-react" กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น !


 


 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดมาจากจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 38 (เมษายน 2551)


 


 


 อ่านต่อตอนสุดท้าย


สุรชาติ บำรุงสุข: ไทย-กัมพูชา : โอกาสและวิกฤต


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net