Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ รายงานชิ้นนี้เรียบเรียงจากตอนหนึ่งของวงเสวนา "สถานการณ์การต่อสู้ของขบวนคนจนภายใต้บริบทสังคมไทยในอนาคต" ในงานรำลึก 100 วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ 15 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี


 


"ปัญหาตอนนี้คือ เครือข่ายที่มันปรากฏตัวให้เห็นแล้วในประวัติศาสตร์อันใกล้ แล้วมีพลังพอสมควรจนผลักให้มีการปฏิรูปการเมือง มันจะก่อตัวขึ้นมาใหม่ได้ไหม ในสถานการณ์ใหม่ที่อยู่ภายใต้การต่อสู้ระหว่างเครือข่ายอำนาจราชการของผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ กับเครือข่ายอำนาจธุรกิจของคุณทักษิณ"


 


000


ในการต่อสู้ทางการเมือง การหาแนวร่วมหรือพันธมิตรไม่ใช่สิ่งที่ต้องปฏิเสธ เพียงแต่ในสังคมไทยที่เราอยู่กับวัฒนธรรมศักดินาบนหลังมานาน เวลาเราหาพันธมิตรหรือแนวร่วมก็จะเจอแนวร่วมที่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งมันอดไม่ได้ที่ความสัมพันธ์จะออกมาในลักษณะอุปถัมภ์ หรืออยู่ภายใต้การนำของเขา คำถามก็คือ มันไม่น่าจะเหลือทางเลือกแค่ เนื่องจากเราไปสัมพันธ์กับเขาแล้วมักจะอยู่ใต้การอุปถัมภ์หรือการนำของเขา ดังนั้น เราไม่เอาพันธมิตรเลย เราจะสู้คนเดียว เป็นไปได้ไหมถ้าจะต่อสู้ทางการเมืองโดยมีพันธมิตร แล้วคบกับพันธมิตรแบบเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำไมต้องปล่อยให้เขานำเราเสมอ เราสามารถจะนำเขาได้ไหม ถ้าเรามีความเข้มแข็งขององค์กรและแนวทางของเราที่มั่นคงพอ


ผมคิดว่า การแสดงออกของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างมีพลังที่สุด คือ เครือข่ายปฏิรูปการเมือง ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้วหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ได้ดึงเอาหลายกลุ่ม ตั้งแต่ปีกเสรีนิยมที่เน้นการลงทุนอย่างเสรี เช่น คุณอานันท์ (ปันยารชุน) ปีกชุมชนหมู่บ้าน ปีกเศรษฐกิจพอเพียง เช่น หมอประเวศ คุณไพบูลย์ (วัฒนศิริธรรม) รวมทั้ง NGO แล้วก็มีปีกซ้ายหน่อยอย่างสมัชชาคนจน ปัญญาชนที่มีความรู้สึกว่าทุนนิยมมีปัญหา มันเป็นแนวร่วมที่กว้างมาก


ในสังคมไทยไม่ใช่มีแต่เครือข่ายอำนาจข้าราชการ หรือเครือข่ายอำนาจธุรกิจเท่านั้น มันเคยมีเครือข่ายอย่างนี้ที่ก่อตัวขึ้นมา แล้วผลักสู้จนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งบังเอิญประจวบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ปีกเสรีนิยมยอมรับได้ในบางระดับถึงขีดจำกัดหรือปัญหาของการพัฒนาของทุนนิยม ทำให้เสียงของฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์การพัฒนา ทุนนิยม บริโภคนิยม เช่น สมัชชาคนจน แข็งขึ้นและร่วมกันไปได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีทั้งเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ มีทั้งให้สิทธิชุมชน มีทั้งให้สิทธิเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร เนื่องจากมีพลังเข้าไปร่วมหลายกลุ่ม จึงออกมาผสมผสานกัน ไม่ใช่เสรีนิยมสุดๆ ไม่ใช่ชุมชนสุดๆ หรือไม่ใช่พลังของประชาชนสุดๆ เครือข่ายนี้พังลงไปเพราะการเมืองในรอบหลายปีหลังนี้ บางส่วนแตกไปร่วมกับคุณทักษิณ บางส่วนรับทักษิณไม่ได้แตกไปร่วมกับคุณสุรยุทธ์


ปัญหาตอนนี้คือ เครือข่ายที่มันปรากฏตัวให้เห็นแล้วในประวัติศาสตร์อันใกล้ แล้วมีพลังพอสมควรจนผลักให้มีการปฏิรูปการเมือง มันจะก่อตัวขึ้นมาใหม่ได้ไหม ในสถานการณ์ใหม่ที่อยู่ภายใต้การต่อสู้ระหว่างเครือข่ายอำนาจราชการของผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ กับเครือข่ายอำนาจธุรกิจของคุณทักษิณ อ.สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) บอกว่า มันมีแนวร่วมที่เป็นไปได้จำนวนมากที่คุณจะเข้าไปอิงเขาแล้วดึงให้เข้ามาร่วมการต่อสู้ ถ้าคุณรู้จักขยายประเด็น เชื่อมโยงประเด็นการต่อสู้ของคุณกับประเด็นของคนกลุ่มอื่น ซึ่งผมคิดว่าในระยะอันใกล้ มีเรื่องที่จะต้องคิดใหญ่ 3 เรื่อง คือ 1) รัฐสวัสดิการ เพื่อแย่งแฟนทักษิณ 2) สังคมประชาธิปไตย เพื่อแย่งพลังแรงงาน 3) นิเวศประชาธรรม เพื่อแย่งคนชั้นกลางที่ห่วงเรื่องสภาพแวดล้อม


ในเรื่องรัฐสวัสดิการ แฟนคุณทักษิณมีเป็น 10 ล้านคน ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเลือกคุณทักษิณ ไม่ใช่เพราะคุณทักษิณรวย หรือเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล แต่เป็นเพราะมีนโยบายบางอย่างของทักษิณที่เขาพบว่าใช้อาศัยพึ่งพาได้ ในท่ามกลางนโยบายที่ชนชั้นปกครองไทยเดินมาเป็นสิบๆ ปี อัญเชิญพ่อแม่พี่น้องลงทะเลเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ ให้ว่ายกันไปเอง ใครจมก็เจ๊งตายไป ใครว่ายแข็งก็รอด แต่ไม่มีการช่วยเหลือแบบสวัสดิการ แบบพึ่งพาชุมชน ประชานิยมคือห่วงชูชีพที่โยนลงไปในทะเลทุนนิยมที่ไม่เห็นฝั่งเลย เป็นใครก็คว้าไว้ก่อน 10 กว่าล้านคนเป็นคนที่คว้าห่วงชูชีพของทักษิณ แล้วคุณไม่สามารถแย่ง 10 กว่าล้านคนจากทักษิณได้ ถ้าคุณไม่มีนโยบายที่ดีกว่า คุณสุรยุทธ์ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่หรือ มันไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะเอายังไงกับประชาชนที่ลอยคออยู่ในทะเล


ดังนั้น ถ้าคุณอยากสร้างเครือข่ายแล้วชิงคนจากทักษิณ คุณจะต้องมีนโยบายที่ดีกว่าประชานิยม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสนใจนโยบายรัฐสวัสดิการ เพื่อวางหลักประกันพื้นฐานให้คนไทยที่เกิดในเมืองไทยมีชีวิตที่ไม่ต่ำไปกว่านี้ ให้คนที่จนที่สุด แย่ที่สุด มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องอดแล้วยกมือไหว้ขอข้าวคนอื่นกิน ถ้าคนไทยมีศักดิ์ศรีนี้เป็นพื้นฐาน มีหลักประกันสวัสดิการเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะตกงาน กำพร้า หรือล้มเหลวมาจากตลาดเสรี ฟองสบู่แตก ชีวิตคุณจะไม่แย่ไปกว่านี้ อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นไปพึ่งแต่ห่วงชูชีพของทักษิณ หรือคนอื่นๆ


เรื่องต่อมา สังคมประชาธิปไตย เป็นแนวนโยบายที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลก ในหลายประเทศที่มีขบวนการแรงงานเข้มแข็ง มีการประกันสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ประกันสิทธิในการตั้งสหภาพ ประกันสิทธิในการนัดหยุดงาน ซึ่งในเมืองไทยทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ มีการไล่ออกบรรดาคนงานที่เข้าไปร่วมตั้งสหภาพแรงงาน อันนี้เป็นประเด็นที่พี่น้องคนงานเดือดร้อน ทำอย่างไรจะดึงประเด็นเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องได้ พลังที่เข้มแข็งที่สุดของแนวนโยบายสังคมประชาธิปไตยในประเทศทุนนิยม เป็นเรื่องสวัสดิการน้อยกว่าการประกันสิทธิการต่อสู้ของคนงาน เขาให้หลักประกันว่าคนงานสามารถจัดตั้งสหภาพแล้วต่อสู้ต่อรองกับนายทุนได้ กฎหมายคุ้มครอง หลังจากนั้นไปว่ากันเอาเองว่าค่าแรงควรเป็นเท่าไร สวัสดิการควรเป็นเท่าไร


เรื่องที่ 3 เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่คนทุกชั้นเดือดร้อน แม้แต่คนชั้นกลางที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าพี่น้องคนจนก็รับรู้ได้ว่า ตอนนี้อากาศแปรปรวน กรุงเทพฯ ทำท่าจะแผ่นดินทรุด น้ำท่วม ทำอย่างไรจะผนวกเอาข้อเรียกร้องเหล่านี้เข้ามาเป็นธงในเครือข่ายใหม่ เพื่อแย่งแฟนของทักษิณ แฟนของเครือข่ายอื่น ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถขยายเครือข่ายได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net