Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 51 ในงานรำลึก 4 ปีทนายสมชายถูกบังคับให้หายตัวไป มีวงเสวนาในช่วงบ่าย หัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า ทิศทางประเทศไทยกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้"


 


ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ว่า เราได้ผ่านระยะก่อตัว ระยะก่อการ กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 ตอนต้น คือ ระยะเบ่งบาน ซึ่งถือเป็นระยะของสงครามกลางเมือง การควบคุมบังคับบัญชาจากส่วนกลางจะทำได้ยากขึ้น ชาวบ้านหลายฝ่ายจับอาวุธสู้กัน เป็นสภาวะสงครามกลางเมืองสมัยใหม่ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างในอินโดนีเซียไปแล้ว หากสกัดไม่ได้จะเข้าสู่ระยะที่สี่ คือ ระยะลุกลาม จะเริ่มส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน และเข้าสู่ระยะสุดท้าย คือระยะบานปลาย


 


เขากล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา โดยยกตัวอย่างแนวทางของอินโดนีเซีย ว่าเป็นที่รู้กันว่าอินโดนีเซียเป็นแหล่งต้นตอของการก่อการร้ายสมัยใหม่ มีการวางระเบิดอย่างมาก มีปัญหาต่อความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย เมื่อหกปีก่อนที่มีการระเบิดรุนแรงมาก และจับผู้ก่อการซึ่งยอมสารภาพว่าเป็นผู้ก่อการ ซึ่งอินโดนีเซียเห็นแล้วว่า ถึงจะลงโทษ ทำร้าย ก็ไม่มีทางหมด ไม่มีทางจัดการคนเหล่านี้ได้ มีแต่จะเพิ่มจำนวน เมื่อไม่สำเร็จ จึงลองวิธีการใหม่ โดยให้เข้าสู่กระบวนการลดโทษ จากนั้นให้เขาเข้าไปโน้มน้าวคนอื่นๆ ว่าการโจมตีประชาชนคนธรรมดาเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา อธิบายถึงหลักสันติวิธี อีกทั้งใช้ประโยชน์จากความแตกแยกของกระบวนการซึ่งก็มีปัญหาอยู่แล้ว เอาคนที่กลับตัวกลับใจมาออกทีวีโน้มน้าว


 


ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของอินโดนีเซีย มีการประสานความร่วมมือจากต่างประเทศ ปัจจุบัน คนเหล่านี้เป็นหัวหอก เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งพวกเขายอมรับว่าการฆ่าคนบริสุทธิ์เป็นการผิดหลักศาสนา และที่สุดแล้วก็สร้างความเกลียดชังต่อชุมชน ซึ่งจะทำให้กลุ่มอยู่ไม่ได้ หลังจากนั้น หลายประเทศก็ถือเอาวิธีการนี้เป็นแม่แบบ


 


"การจัดโครงสร้างใหม่ของฝ่ายความมั่นคง จำเป็นต้องเกิดขึ้นในเมืองไทย เราจะใช้กำลังต่อไปก็ได้ เราจะทำงานในลักษณะที่ไม่บูรณาการก็ได้ แต่ประสบการณ์หลายประเทศบอกเราว่ามันไม่สำเร็จ" ดร.ปณิธานกล่าว และเสริมว่า ปัญหาใหญ่สุดของเราคือ เราไม่มีหน่วยงานกลางที่มีความสามารถในการทำงานในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง


 


นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องโครงสร้างการทำงาน แต่ละหน่วยงานที่ทำงานภาคใต้ไม่ร่วมทำงานกับองค์กรอื่น ไม่แบ่งปันข้อมูล ไม่แบ่งงบประมาณ ไม่แบ่งบุคลากร แต่ละองค์กรล้วนอยากมีงบประมาณทำงานด้วยตัวเอง ซึ่ง ดร.ปณิธานคิดว่าจำเป็นต้องออกแบบองค์กรกลางใหม่ขึ้นมาทำงาน เขาเห็นว่า ขณะนี้มี กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร) เป็นองค์กรกลาง และอาจจะแก้ปัญหาได้ เพราะตามมาตรา 3 วรรค 1 ของพ.ร.บ.มั่นคงฯ กำหนดให้มีที่ปรึกษามาจากภาคเอกชนพลเรือนเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในแง่ประเมินภัยคุกคาม เฝ้าระวังสถานการณ์


 


"เราหวังว่าในอนาคตจะแปลงกอ.รมน.ให้เป็นองค์กรพลเรือนมากขึ้น" ปณิธานกล่าว และเสริมว่า โครงสร้างของกอ.รมน. ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผอ.รมน. มีผบ.ทบ.เป็นรองผอ.รมน. และมีคณะกรรมกาจากหลากหลายฝ่าย และมีภาคเอกชนพลเรือนเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ผลสุดท้าย ความสำเร็จของกอ.รมน. จะไม่ใช่หน่วยงานกลางอย่างภาครัฐ แต่เป็นของภาคเอกชนที่เข้าไปทำงาน โครงการต่างๆ จะมารวมที่ศูนย์นี้ รวมถึงศอ.บต. ด้วย


เขาอธิบายว่า เวลานี้มีหลายระบบ ทั้ง พ.ร.บ.มั่นคง กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งถ้าให้ดีต้องแก้ทั้งระบบกฎหมายแล้วมารวมกันโดยใช้พ.ร.บ.มั่นคงเป็นหลัก แต่ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างแยก ต่างฝ่ายต่างใช้พ.ร.บ. ที่ตัวเองถนัด มันถึงได้วนเวียนพูดอยู่ 3-4 ปี ไม่มีการปันอำนาจ ปันความรับผิดชอบ มันก็ไม่มีการปันความมั่นคง


 


"ผมไม่ชอบที่เขาเรียก กอ.รมน. แค่ฟังก็ขนหัวลุกแล้ว ทั้งที่มันเป็นองค์กรของพลเรือน ขึ้นตรงสำนักนายกฯ" เขากล่าวพร้อมกับยืนยันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง อนาคตขึ้นอยู่ที่ว่าโครงสร้างนี้เขาจะเอาจริงไหม ไม่เช่นนั้น ต่างฝ่ายก็ต่างทำงานแล้วไม่มีการรับผิดชอบจริง แล้วจะไปเรียกความรับผิดอบจากใคร เอาผิดใคร ก็ยากมาก


 


ข่าวประชาไทเกี่ยวเนื่อง


ย้อนรอย เดินตามทาง "ทนายสมชาย" 4 ปีที่แล้วเขา (หาย) ไปไหน, ประชาไท, 31/3/2551


ปณิธานวาดหวัง กอ.รมน. เป็นองค์กรพลเรือน, ประชาไท, 31/3/2551


อังคณา นีละไพจิตร : 4 ปีผ่าน ยุติธรรมไม่พัฒนา ความเกลียดชังพอกพูน, ประชาไท, 31/3/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net