Skip to main content
sharethis

ประมวลกิจกรรม "วันเด็กไร้สัญชาติ" ที่หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการหลายกลุ่ม จัดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ "แม่ฮ่องสอน-พะเยา-เชียงราย" หวังให้สังคมหันมาสนใจเด็กไร้สัญชาติ ผลักดันการขับเคลื่อนเชิงนโยบายไปสู่สาธาณะ "ครูแดง" ชี้ การมี "พ.ร.บ.สัญชาติ และ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร" จะทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยทุกคนมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย เพราะจะได้ใบรับรองการเกิด-สูติบัตร


 



ระหว่างวันที่ 8-12 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการหลายกลุ่ม ได้จัดงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ขึ้นในหลายพื้นที่ ได้แก่ ที่ลายทรายขอบแม่น้ำสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค. และที่โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) อ.แม่จัน จ.เชียงราย ในวันที่ 10-12 ม.ค. นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน "วันเด็กชนเผ่า" ที่ สนามกีฬากลาง ม.8 ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา ในวันที่ 11 ม.ค. โดยต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประเด็นปัญหากรณีเด็กไร้สัญชาติ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในประเด็นดังกล่าวไปสู่สาธารณะทั้งในระดับชาติและนานาชาติ


 


 



 



 



 


 


วันเด็กไร้สัญชาติที่ ที่ลายทรายขอบแม่น้ำสาละวิน บ้านแม่สามแลบ 9 ม.ค. 51


(ที่มาของภาพ: กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์)




 


สัญจรสู่ชุมชนไร้สัญชาติที่ แม่ฮ่องสอน


โดยที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนคนไร้สัญชาติ โรงเรียนบ้านแม่สามแลบและเครือข่ายและองค์กรพันธมิตร 27 องค์กร เช่น สภาทนายความ มูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูง มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) ฯลฯ ได้ร่วมกันงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ครั้งที่ 6 ตอน "การรับแจ้งเกิดเด็กไร้สัญชาติ" ขึ้น ณ ลานหาดทรายขอบสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน


 


โดยกิจกรรมที่สำคัญในวันที่ 8 ม.ค. คือการ "สัญจรสู่หมู่บ้านเด็กไร้สัญชาติ" 2 แห่ง กลางป่าริมแม่น้ำสาละวิน คือบ้านโพซอ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และบ้านแม่ดึ๊ ต.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมสำรวจโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธาน กมธ. วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการไร้สถานะทางกฏหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สนช. และ รศ.ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ในวันเดียวกันที่ที่บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการจัดกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษา ตอน "การจดทะเบียนการแจ้งเกิดของเด็กไร้สัญชาติ" โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ


 


ส่วนกิจกรรมในวันที่ 9 ม.ค. ในช่วงเช้ามีการจัดงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ที่ ลานหาดทรายขอบสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งนอกจากจะมีซุ้มเกม การละเล่น การแจกของรางวัลให้กับเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมแล้ว ยังมีการเปิด "ศูนย์ปรึกษากฎหมายสถานะบุคคลและสัญชาติ" บ้านแม่สามแลบ โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช.


 


 


วันเด็กชนเผ่าที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา


ขณะที่เครือข่ายสิทธิชุมชน จ.พะเยา และเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงาน "วันเด็กชนเผ่า" ในวันที่ 11 ม.ค. 2551 ที่ สนามกีฬากลาง ม.8 ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยนอกจากงานวันเด็กชนเผ่าแล้ว ยังจะมีงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบพระชนมายุ 80 พรรษาและการปฏิญาณตนสำหรับชนเผ่าที่ได้สัญชาติไทย ตั้งแต่ปี 48 - 50 มีพิธีกรรมของชนเผ่า 3 ชนเผ่า คือ ชาวม้ง, ชนถิ่น, ชาวไทลื้อ และงานประเพณีใหม่ชนเผ่าม้งปี 2551


 



 




กิจกรรมห้องเรียนสถานะและสิทธิบุคคลของบุคคลไร้สัญชาติ และไม่มีสถานะบุคคล


ที่ ร.ร.บ้านแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อ 10-11 ม.ค. 51 (ที่มาของภาพ: ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล)


 



 


 


เปิดงานวันเด็กไร้สัญชาติ 12 ม.ค. 51 ที่ ร.ร.บ้านแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย และ


พิธีเปิด "คลินิกกฎหมายบุคคลบนพื้นที่สูง" อ.แม่จัน จ.เชียงราย (ที่มาของภาพ: พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ)


 


 


ห้องเรียนและคลินิกกฎหมายบุคคลบนพื้นที่สูง ที่แม่จัน เชียงราย


ขณะที่ จ.เชียงราย องค์การแพลนประเทศไทย (PLAN) สำนักงานภาคเหนือร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ 36 องค์เช่น ได้ร่วมกันจัดงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2551 ที่โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) อ.แม่จัน จ.เชียงราย เช่นกัน โดยกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 10-11 ม.ค. คือการเปิดห้องเรียนสถานะและสิทธิบุคคลของบุคคลไร้สัญชาติ และไม่มีสถานะบุคคล ซึ่งมีเยาวชนและผู้ปกครองในพื้นที่ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก


 


ส่วนในวันที่ 12 ม.ค. มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. กล่าวอวยพรให้เด็กไร้สัญชาติ โดย นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และนางจิราพร บุนนาค เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งกิจกรรมในวันดังกล่าวนอกจากกิจกรรมการแสดง ซุ้มเกม และนิทรรศการเผนแพร่ความรู้จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการต่างๆ แล้ว ยังมีการเปิด "คลินิกกฎหมายบุคคลบนพื้นที่สูง" อ.แม่จัน จ.เชียงราย


 


และภาคบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ "การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติให้กับบุคคลบนพื้นที่สูง" โดย อ.วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล คณะนิติศาสตร์ ม.พายัพ นายฉัตรชัย บางฉวด เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ และอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สนช. และ รศ.ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


 


 


"จดทะเบียนการเกิด" ก้าวแรกที่จะทำให้ "คนไร้สัญชาติ" ได้รับการดูแล


นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่าถึงการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่อสอน ว่า หวังว่าจะทำให้สังคมได้หันมามองกลุ่มคนเหล่านี้ ที่เขาอยู่ในแผ่นดินไทย เกิดในแผ่นดินไทย เติบโตในแผ่นดินไทย แต่ไปที่ไหนไม่ได้ กลับไปพม่าก็ไม่ได้ เพราะไม่มีญาติในพม่าแล้ว คนเหล่านี้ควรได้รับการดูแล แต่ที่ผ่านมาการที่เขาไม่มีหลักฐาน ไม่มีสัญชาติ สิ่งที่ผลกระทบใหญ่สุดของเขาคือไม่มีสิ่งที่จะบอกว่าเขาเป็นบุคคลตามกฎหมายของประเทศนั้นและเขาไม่ได้รับการดูแลจากรัฐนั้นๆ และไม่ได้รับสิทธิใดๆ เลย


 


นายสุรพงษ์กล่าวว่า เหตุผลของการเปิดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องการจดทะเบียนการแจ้งเกิดของเด็กไร้สัญชาตินั้น ก็เพราะกระบวนการแจ้งเกิด จะทำให้รัฐรับรองบุคคลนั้น และมีเอกสารยืนยันว่าเขาเป็นบุคคลชื่อนี้ มีพ่อแม่ชื่อนั้นชื่อนี้ ให้เขามีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย ให้รัฐเข้ามาดูแล ถ้าเขามีสัญชาติไทยก็ต้องให้สัญชาติไทยเขา ถ้าเขาไม่มีสัญชาติไทยก็ต้องบอกว่าไม่มีสัญชาติไทย ให้มีการจำแนกคนให้ถูกต้อง และนี่จะเป็นเหมือนก้าวแรก ที่จะนำให้เขาไปสู่การได้รับสิทธิและการคุ้มครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป


 


 


ขอนิยาม "วันเด็ก" ใหม่ที่ไม่ใช่แค่การเอา "รถถัง" มาให้เด็กปีนเล่น


รศ.ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร กล่าวถึงงานวันเด็กไร้สัญชาติที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า งานวันเด็กไร้สัญชาติที่จัดขึ้นจึงมิใช่งานวันเด็กที่เอารถถังมาให้เด็กปีนเล่น ไม่ใช่การให้ของเล่นกับเด็ก เป้าหมายคือถ่ายทอดความคิดของทนายชาวบ้านที่ทำงานเรื่องบุคคลไร้สัญชาติ จะมีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายที่ทำงานเรื่องกฎหมายสัญชาติ มีการอบรมกฎหมาย เพื่อให้ผู้เข้ามาอบรมรู้ว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้าง โดยสามสี่วันนี้จะเป็นห้องเรียนของประชาชนจริงๆ คนสามร้อยคนที่มีตั้งแต่เด็กหกขวบ จนถึงคนแก่


 


ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธาน กมธ. วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการไร้สถานะทางกฏหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สนช. คาดหวังกับวันเด็กไร้สัญชาติว่า


 


"อยากให้น้องๆ ได้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ ที่จะทำให้เด็กๆ มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง อันจะเป็นบันไดสู่ไปการมีสัญชาติ ถ้าเขามีเหตุปัจจัยที่จะได้รับสัญชาติไทย แต่ถ้าเขาไม่ควรได้สัญชาติ เพราะพ่อแม่ของเขาสามารถกลับไปสู่ประเทศต้นทางได้ เขาก็จะได้สิทธิที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่ถูกกฎหมาย ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งความเป็นมนุษย์ สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย ได้ทำงานที่เหมาะสมกับคุณวุฒิหรือวุฒิบัตรที่มี สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการตั้งครอบครัว"


 


"ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องอย่ามองแต่ความมั่นคงอย่างเดียว ต้องมองถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศักยภาพของเด็กๆ ที่อยู่ในประเทศไทย เขาจะได้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและมีศักยภาพจริงๆ" นางเตือนใจกล่าว


 


 


"พรบ.สัญชาติ-ทะเบียนราษฎร" ใหม่ อีกขั้นหนึ่งของการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ


นางเตือนใจ กล่าวถึงผลของ พ.ร.บ.สัญชาติ และ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร ฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้กับเด็กๆ ที่มาร่วมงานวันเด็กไร้สัญชาติ ที่ ร.ร.บ้านแม่จัน เมื่อ 12 ม.ค. ว่า "พ.ร.บ.สัญชาติ และ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร จะทำให้ลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน มีใบรับรองการเกิด และสูติบัตร ซึ่งก็คือจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยระบบทะเบียนราษฎร จะเป็นผลให้มีการกำหนดสถานะ และพัฒนาระบบสถานะ และได้รับสิทธิอื่นๆ ให้สมกับที่รัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน


 


เมื่อลูกๆ หลานๆ ทุกคนได้รับการสำรวจในระบบงานทะเบียนราษฎรแล้ว เมื่อลูกเข้าโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการก็จะได้รับการสำรวจและมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อทางโรงเรียนส่งรายชื่อของลูกๆ หลานๆ ไปแล้ว ทุกเดือนมิถุนายน กระทรวงศึกษาธิการจะตั้งงบประมาณรายหัวเพื่อให้หนูๆ ได้เรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับวุฒิการศึกษาอย่างสมบูรณ์เหมือนเด็กไทยที่มีสัญชาติไทยแล้ว รวมทั้งสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการทำงานให้เหมาะสมกับวุฒิการศึกษา


 


ก็เป็นของขวัญวันเด็กที่ได้เลย เพราะกำหนดโดยกฎหมาย ซึ่งใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นี่คือความก้าวหน้าของระบบกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อลูกหลานไทยทุกคน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net