Skip to main content
sharethis

 



 



 


 


18 ธันวาคม 2550 เวลา 10.00 น.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ ราว 70 คนร่วมเดินขบวนเรียกร้อง เพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล พร้อมด้วยป้ายข้อความ "แรงงานข้ามชาติพม่า มอญ กะเหรี่ยง ลาว เขมร คือ คน คนควรปฏิบัติต่อคนอย่างเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"


 


วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการต้องการแต่เพียงแรงงานอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นคนของเขาที่เหมือนกับเราเลย รัฐบาลควรที่สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ภาพรวมในเรื่องการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติยังเป็นไปได้ยาก การบังคับใช้กฎหมายกับแรงงานข้ามชาติการที่จะให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ ยังเป็นเพียงนโยบายยังไม่มีการปฏิบัติจริง


 


โดยเฉพาะในเรื่องการส่งแรงงานข้าติหญิงเมื่อตั้งครรภ์กลับประเทศ เรามองว่ารัฐควรที่จะมีนโยบายดูแลแทนที่จะส่งกลับ เพราะแรงงานเหล่านั้นมีความทุกข์ยากอยู่แล้ว ไม่ควรไปซ้ำเติมพวกเขา และควรรณรงค์ ให้ความรู้ ควบคุมไม่ให้มีการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และรวมไปถึงในเรื่องของสวัสดิการก็เช่นกัน รัฐควรที่จะมีการพูดคุย ตกลงกับนายจ้างให้มาดูแลในส่วนนี้ด้วย และควรที่จะมีศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างปฏิบัติงานด้วย


 


อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมาหลายปีนั้นถูกละเมิดสิทธิมาโดยตลอดอยู่แล้ว ในปีนี้นโยบายของรัฐบาลไทยได้นำมาเน้นในเรื่องของความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาลมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่แต่เดิมไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้วยิ่งไม่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ในประเด็นปัญหาเรื่องการส่งแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์กลับประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าไทยจะมีนโยบายแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่าจะมาตามแก้ทุกๆปี


 


ด้านนายอาทิตย์ อิสโม ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ ได้ออกมารับข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี 2550 พร้อมทั้งกล่าวว่า จะขอรับข้อเสนอนำไปพิจารณา และจะดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าต่อไป


 


Brahm Press ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลและผู้ที่เป็นนายจ้างทุกคนให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติ ให้สิทธิและเสรีภาพ ปฏิบัติกับพวกเราเสมือนคนไทยคนหนึ่ง และอยากให้ขบวนการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาตินั้นง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินการ


 


เวลาประมาณ 11.30 ขบวนได้ตั้งขึ้นและเริ่มออกเดินทางจากบริเวณหน้าทำเนียบไปยังสหประชาชาติ นำโดยวิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นตัวแทนมอบหนังสือให้กับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) โดยมี Mr.JiYuan Wang รองผู้อำนวยการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เป็นผู้รับมอบ ขณะการเดินขบวนมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆกล่าวปราศรัยตลอดการเดินขบวน


 


ทั้งนี้ Mr.JiYuan Wang ได้กล่าวว่า ทาง ILO ก็ได้ให้ความสำคัญกับวันแรงงานสากลและให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติทุกคน ทาง ILO เองก็จะพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ และจะพยายามทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ


 


 


 


 


 


 


 






 


ที่ คสรท.๑๕๔/๒๕๕๐


 


18 ธันวาคม 2550


 


เรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


สำเนาเรียน          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


                        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน


                        ประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.)


สิ่งที่ส่งมาด้วย      ข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี ๒๕๕๐


           


เนื่องจากในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrant Day) ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานอพยพในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และในฐานะที่เป็นแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็มักจะถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากการเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม ขาดโอกาสในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในฐานะทั้งประเทศที่ส่งออกและประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือระดับล่างและต้องเผชิญกับปัญหาหลัก คือ การไม่ได้รับการคุ้มครองและยังไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยได้


           


โดยในรอบปีที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ พบว่ารัฐบาลไทยได้นำนโยบายที่เน้นความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยมาใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติแนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแรงงานข้ามชาติมากกว่าการมองแนวทางการจัดการระยะยาว เพื่อสร้างสังคมสมานฉันท์ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา


           


ในแง่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ พบว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่าเดิม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพ การศึกษา เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะเดียวกันกลไกที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงานกลับไม่เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีที่แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง รวมทั้งการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติยังไม่สามารถเข้าถึงได้มากนัก และหลายครั้งที่กลไกการคุ้มครองใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้เครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆจึงมีความกังวลใจต่อสถานการณ์ด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยดังนี้


           


1) รัฐต้องจัดระบบการบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม ง่ายต่อการเข้าถึง และ เคารพในหลักสิทธิมนุษชนของแรงงานข้ามชาติ ครอบครัว และผู้ติดตาม รวมทั้งยุติแนวคิดที่จะส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ


           


2) รัฐต้องมีนโยบายการคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติรวมทั้งต้องสร้างกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม


           


3) รัฐบาลต้องมีนโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาวที่มีความยั่งยืน และมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ยุติการมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในทุกเรื่อง


           


4) รัฐบาลต้องให้การับรองและปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ


           


5) รัฐต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของแรงงานข้ามชาติ (Hotline) โดยแรงงานมีส่วนร่วมในการจัดการ


           


ซึ่งมีรายละเอียดข้อเรียกร้องตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้


 


จึงเรียนมาเพื่อเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการสร้างแนวทางการคุ้มครองตามข้อเรียกร้องต่อไป


 


 


 


ขอแสดงความนับถือ


 


 


ผู้ลงนามในหนังสือประกอบด้วย


วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์


สนาน บุญงอก ประธานคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย


บุญสรวง สุคันธรัตน์ รองประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย


ระวัย ภู่ผะกา เลขาธิการสหพันธ์แรงงาน เคมี พลังงาน เหมืองแร่ ทั่วไป ประจำประเทศไทย


สุนทร คมขำ รองประธานสหพันธ์แรงงานกิจการสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย


อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net