Skip to main content
sharethis

เนื่องจากสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นสหภาพแรงงานในประเภทกิจการเดียวกันหรือเฉพาะในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการถูกแทรกแซงในระยะยาว ส่วนการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเภทอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศไทยนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจึงอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่สหภาพแรงงานประเภทกิจการเดียวกันหรือเฉพาะในสถานประกอบการเดียวกันยังไม่สามารถครอบคลุมถึงคนงานเหล่านี้ได้มากนัก


 


การรณรงค์เรื่องการยกเลิกการจ้างเหมาค่าแรงที่นักสหภาพแรงงานช่วยกันดำเนินการมาหลายปีแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับบริษัทจ้างเหมาค่าแรงข้ามชาติ แนวทางในวันนี้การณรงค์เรื่องการยกเลิกการจ้างเหมาค่าแรงเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่แนวทางที่น่าสนใจคือทำอย่างไรที่จะดึงคนงานจ้างเหมาค่าแรงเหล่านั้นมาเป็นพวกของเราให้ได้เพราะนั่นน่าจะเป็นคำตอบของทุกสิ่งที่เรามองหากันอยู่ ประสบการณ์การสร้างสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเกาหลีจึงเป็นข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับขบวนการแรงงานไทย โดยข้อมูลที่นำมาถ่ายทอดต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนที่สรุปโดยย่อเท่านั้น


 



 


 


ประวัติความเป็นมาของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลี


จุดเริ่มต้นก็ไม่แตกต่างจากสหภาพแรงงานในประเทศไทยมากนักคือการเป็นสหภาพแรงงานเดี่ยวในเฉพาะแต่ละโรงพยาบาลมาก่อน ในราว ค.ศ. 1987 เป็นการจัดตั้งในโรงพยาบาลหนึ่งแล้วเข้าไปให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆเป็นเครือข่ายที่ค่อยๆ เติบโต จากระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด สู่ระดับเขตและขยายตัวสู่เขตอื่นๆต่อไป


 


โดยขบวนการจะมีการจัดประชุมและพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงการจัดฝึกอบรมสัมมนา ของแกนนำระหว่างโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงกัน จากสองกลายเป็นสาม จากสามเพิ่มเป็นสี่และขยายตัวออกสู่วงกว้างเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ


 


จากนั้นเริ่มมีการนำสมาชิกมาเข้าร่วมประชุมและพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับแกนนำระหว่างโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงการจัดฝึกอบรมสัมมนา การให้การศึกษาแก่สมาชิก แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆจากสองกลายเป็นสาม จากสามเพิ่มเป็นสี่และขยายตัวออกสู่วงกว้างเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ


 


รวมถึงมีการจัดและทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างแกนนำ และขยายการทำกิจกรรมร่วมกันสู่สมาชิก เช่นกิจกรรมเพื่อสังคมหรือกิจกรรมส่วนบุคคลหรือกิจกรรมของกลุ่มบุคคล โดยให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการช่วยเหลือกันเอง โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการรวบรวมหรือบริจาคเงินเพื่อทำกิจกรรมนั้นๆ จากนั้นจึงขยายการดำเนินกิจกรรมสู่กิจกรรมด้านแรงงานและการเมืองเช่นการรณรงค์ช่วยเหลือคนงานที่ประสบปัญหา เป็นต้น


 


หลังจากเวลาผ่านไปราว 10 ปี จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกมาเข้าร่วมประชุมจากทุกๆโรงพยาบาลของสมาชิก และมีมติเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ให้มีการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานของโรงพยาบาล หลังจากนั้นการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมเดียวกันจึงเริ่มต้นขึ้น


 


ปัจจุบันสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลีมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 140 แห่งและมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 40000 คน


 


 


โครงสร้างของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลี


โครงสร้างปัจจุบันของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลีเป็นดังนี้..


 



 


 


การบริหารของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลี


สมาชิกในสถานประกอบการแต่ละแห่งที่มีทั้งหมดมากกว่า 140 แห่ง เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในสถานประกอบการของตนเอง ซึ่งก็เหมือนกับการบริหารของสหภาพแรงงานในสถานประกอบการเดียวกันในประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริหารในแต่ละสถานประกอบการมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสมาชิกในสถานประกอบการของตัวเอง


 


คณะกรรมการบริหารในแต่ละสถานประกอบการที่ขึ้นกับเขตหรือในแต่ละภูมิภาค เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือภูมิภาค โดยคัดเลือกจากผู้นำแรงงานในคณะกรรมการบริหารของสถานประกอบการแต่ละแห่งในเขตหรือภูมิภาคที่ตนสังกัดอยู่ ซึ่งคณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาคนี้มีทั้งหมด 9 คณะ ในแต่ละคณะก็จะแบ่งจำนวนสถานประกอบการในการดูแลรับผิดชอบตามพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันหรือตามแต่จะกำหนดกัน  ซึ่งคล้ายกันกับการบริหารของสหพันธ์แรงงานในประเทศไทย


 


คณะกรรมการบริหารสหภาพฯมีเพียงคณะเดียวรวม 24 ท่าน มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่โดยคัดเลือกมาจากคณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาคทั้ง 9 คณะ  ดูแลรับผิดชอบเรื่องนโยบายเป็นหลัก รวมถึงการเจรจาต่อรองด้วย มีตำแหน่งต่างๆเหมือนสหภาพแรงงานทั่วๆไปเช่น ประธาน-รองประธาน-เลขาธิการ เป็นต้น


 


 


การดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานโรงพยาบาลในประเทศเกาหลี


1. การจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาชิกทั้งหมดจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง


2. การจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพฯ จัดขึ้นทุกๆ 3 เดือน


3. การจัดประชุมคณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาค จัดขึ้นทุกๆสัปดาห์ โดยจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปจัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารในระดับสถานประกอบการที่สังกัดอยู่กับเขตหรือภูมิภาคของตัวเองโดยไม่ซ้ำกันจนกว่าจะครบทุกสถานประกอบการแล้วจึงหมุนเวียนมาเริ่มต้นใหม่ โดยในการประชุมแต่ละครั้งนั้นจะมีผู้แทนจากคณะกรรมการบริหารของสหภาพไปเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง และการประชุมในแต่ละครั้งก็เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วย


4. การเจรจาต่อรอง เป็นการเจรจาต่อรองกับองค์กรของนายจ้างที่รวมตัวกันทั้งหมดเพื่อหวังผลในค่าจ้างและสวัสดิการที่เท่าเทียมกันในทุกสถานประกอบการ


5. การสื่อสาร มีการติดต่อกันระหว่างแกนนำด้วยกันเอง ส่วนการติดต่อกับสมาชิกนอกจากการประชุม(ในทุกสัปดาห์แล้ว)ที่สำคัญคือมีการส่งข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซท์ของสหภาพฯ ถ้าฉุกเฉินจะมีการประกาศผ่านสื่ออื่นๆด้วย


6. การจัดเก็บค่าบำรุง


- ปัจจุบันมีการจัดเก็บ 1 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างของสมาชิกต่อคนต่อเดือน


- คณะกรรมการบริหารในแต่ละสถานประกอบการเป็นผู้จัดเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกในสถานประกอบการของตน


- เงินที่เก็บได้ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ดังนี้ เงินที่เก็บได้ 50 เปอร์เซ็นต์ หักเก็บไว้ใช้ในการบริหารของสถานประกอบการตนเอง, อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งไปให้คณะกรรมการสหภาพฯ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสหภาพฯ ทั้งหมด, คณะกรรมการบริหารสหภาพฯเมื่อได้รับเงินแล้ว จะส่งมอบเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ (เก็บไว้ 40 เปอร์เซ็นต์) มาที่คณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาคเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินกิจการในระดับเขตหรือระดับภูมิภาค


7. การจัดเก็บเงินกองทุนพิเศษ(คล้ายกับเงินกองทุนนัดหยุดงานของสหภาพฯในประเทศไทย)


- ปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินกองทุนพิเศษ 1 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างของสมาชิกต่อคนต่อเดือน


- เงินทั้งหมดถูกส่งไปที่คณะกรรมการสหภาพฯ


- การนำเงินจำนวนนี้มาใช้ต้องได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ โดยมีจุดประสงค์หลักคือจะนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะหรือกรณีฉุกเฉิน การช่วยเหลือสังคม การเคลื่อนไหวใหญ่ เป็นต้น


8. การเจรจาต่อรอง


- โดยใช้หลักการออกแบบสอบถามถึงสมาชิกทั้งหมด (มากกว่า 40,000 คน) แล้วนำแบบสอบถามนั้นมาวิเคราะห์ โดยในแต่ละสถานประกอบการจัดการสำรวจและคณะกรรมการในแต่ละสถานประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาค จากนั้นกรรมการบริหารในระดับเขตหรือระดับภูมิภาคก็จะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสหภาพฯเพื่อนำไปเขียนเป็นข้อเรียกร้องต่อไป


- การเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้นระหว่างผู้แทนจากกรรมการบริหารสหภาพฯกับผู้แทนขององค์กรนายจ้าง


- ข้อตกลงสภาพการจ้างมีผลบังคับใช้ 1 ปีและมีผลกับสมาชิกทั้งหมด


9. หลักการในการดำเนินกิจการของสหภาพฯคือ สมาชิกในทุกระดับต้องมีความเข้าใจและมีจิตสำนึกถึงความเป็นเจ้าของในสหภาพฯ ข่าวสารของสหภาพฯต้องให้สมาชิกได้มีส่วนรับรู้ การเคลื่อนไหวต่างๆต้องให้สมาชิกมีส่วนในการตัดสินใจ ปัญหาของสมาชิกคือปัญหาของสหภาพฯ การเงินต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ การทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกต้องมีอย่างต่อเนื่อง กรรมการบริหารของสหภาพฯต้องพบปะเยี่ยมเยียนสมาชิกในทุกระดับ


 


สิ่งที่นำมาถ่ายทอดทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าจากประสบการณ์ของตัวแทนแรงงาน จาก ICEM ประเทศเกาหลี  ซึ่งยังมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาในการพบปะพูดคุยกันมีไม่มากนัก จึงยังไม่สามารถถ่ายทอดให้รับรู้ได้ทั้งหมด แต่หวังว่าสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมดอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำแรงงานในประเทศไทยที่อาจจะกำลังมองหาแนวทางใหม่ๆสำหรับสหภาพแรงงานของตนเองหรือสหภาพแรงงานอื่นๆในอนาคต หรือนำเรื่องราวถ่ายทอดสู่นักสหภาพแรงงานท่านอื่นๆต่อไป อย่างน้อยที่สุดความสำเร็จของสหภาพแรงงานในประเภทอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีก็น่าจะสร้างความหวังของนักสหภาพแรงงานในไทยได้บ้าง


 


ที่มาข้อมูล :


ผู้ประสานงาน ICEM ประเทศไทย


ฉัตรชัย  ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net