Skip to main content
sharethis


อ.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอ บททดลองเสนอ: มอง "พอเพียงนิยม" แล้วย้อนดูวัฒนธรรมกระฎุมพีไทย ในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่องเหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550 กรณี "เศรษฐกิจพอเพียง: ความรู้และความไม่รู้" ที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2550 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ดร.นฤมล ทับชุมพล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความเห็น "ประชาไท" เรียบเรียงนำเสนอ


 


0 0 0


 


"การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เราพบว่า


เราไม่สามารถยืนอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าภายใต้ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้


เราจึงกลับไปถวิลหาอดีต


และกลับไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมที่มีมูลนายไว้คอยปกป้องคุ้มครองมากขึ้น"


 


 


ถ้าเรามอง"เศรษฐกิจพอเพียง" ในบริบทที่ถูกนำเสนอในสื่อมวลชน การอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น มีข้อจำกัดถ้าใช้แต่ทฤษฎีสื่อสารมวลชน เช่น การอธิบายว่า ข่าวสารเข้าถึงผู้รับสารได้เหมือนเข็มฉีดยา เศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมือนเข็มฉีดยา มันมีวิธีการและอำนาจอย่างอื่น ทำให้เราคิดว่ามันมีคุณค่า หรือถ้าใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเพื่อใช้ประโยชน์ในการครอบงำทางอุดมการณ์ ก็อาจอธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมดในแง่การนำเสนอของสื่อ จึงพยายามหาคำอธิบายใหม่ๆ คือ คนธรรมดาสามัญมีส่วนสำคัญในการสร้างความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นล่าง คนชั้นกลาง หรือผู้บริโภคข่าวสาร


 


ก่อนอื่น เราจะเข้าใจโครงสร้างสังคมไทยที่เปลี่ยนไปอย่างไร เราพูดกันมากว่า สังคมกำลังเคลื่อนตัวสู่โลกาภิวัตน์ หรือยุคข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่อธิบายได้ดีที่สุด คือ พื้นที่ที่คนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึง ปี 2500 กว่าๆ ที่พื้นที่การแลกเปลี่ยนอยู่ที่วัด กลายมาเป็นสื่อในยุคปัจจุบัน สื่อทำให้เรารู้สึกว่า เราอยู่ในชุมชนเดียวกัน มีจินตนาการเดียวกันว่า เราเป็นคนไทยเหมือนกัน ดังนั้น สื่อจึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ให้ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของสังคมไทย


 


มีงานวิจัยของ อ.สมพงษ์ จิตระดับ จากจุฬาฯ พบว่ารายการโทรทัศน์เผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงสู่เยาวชนได้มากที่สุด คือ 31.14% รองลงมาคือ ครูอาจารย์ 26.35% อินเตอร์เน็ต 10.78% พ่อแม่ และคนในครอบครัว 9.58% สถิตินี้มีนัยยะบอกว่า โทรทัศน์กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของคนไทย ไม่เฉพาะแค่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


 


ประเด็นที่จะนำเสนอคือ การนำเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอในสื่อ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายเดิม เป็นแบบเดิมตามที่ในหลวงทรงตรัสไว้ มันทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างอื่น บางส่วนก็เป็นแบบเดิม แต่บางส่วนก็มีนัยยะแตกต่างไปจากเดิม ในที่นี้จะเรียกกระแสการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในสื่อต่างๆ ว่า "พอเพียงนิยม" ซึ่งคือ การตีความ/ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคมได้ ไม่ใช่เพียงกลุ่มเป้าหมายใดกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง "พอเพียงนิยม"คือภาพแทนความจริงของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น จึงมีทั้งด้านที่เหมือนและด้านที่แตกต่างออกไป


 


พอเพียงนิยมต่างจากเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เศรษฐกิจพอเพียงเน้นความรอบรู้ ใช้สติปัญญาตรึกตรองว่าจะประพฤติปฏิบัติให้ดีอย่างไร ในขณะที่พอเพียงนิยมเน้นกระตุ้นการรับรู้ ความอยากรู้อยากเห็น ความเร้าใจ โดยไม่เน้นการใช้ปัญญา พอเพียงนิยมจึงมีรูปแบบที่พยายามดึงดูดความสนใจ เช่น รายการยุทธการพอเพียง ทางช่อง 5 ซึ่งใช้รูปแบบ reality show


 


เศรษฐกิจพอเพียงเน้นความเป็นเหตุเป็นผล ในขณะที่พอเพียงนิยมเน้นอารมณ์ ความรู้สึกนำหน้าเหตุผล ใช้อารมณ์ความรู้สึกหว่านล้อม ชักจูงให้คนที่ดูสามารถคิดอย่างใช้เหตุผล เช่น โฆษณาสำนึกรักบ้านเกิด ของ DTAC ที่กระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม วัตถุนิยมทำลายความเป็นชาติของไทย วิถีชีวิตที่พอเพียงจะช่วยให้ชาติไทยรอดพ้นไปจากปัญหาต่างๆ


 


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติได้ ในขณะที่พอเพียงนิยมเน้นไปที่การสื่อสารกับคนชั้นกลางหรือคนรุ่นใหม่ ในฐานะกลุ่มเป้าหมายของการบริโภคข่าวสาร เพื่อหว่านล้อมให้คนเหล่านั้นหันมาปฏิบัติตาม การนำเสนอในสื่อของพอเพียงนิยมจึงถูกปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยนำเสนอตัวอย่างของการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง คมช.(คุณแม่ช่วย)พอเพียง โดยลอร่า ศศิธร วัฒนกุล นำเสนอการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระดับครอบครัวแบบคนชั้นกลาง เลี้ยงลูกอย่างพอเพียง ทำกับข้าวอย่างพอเพียง ออกกำลังกายอย่างพอเพียง ฯลฯ


 


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่เน้นให้คนนำไปปฏิบัติตาม เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ ในขณะที่พอเพียงนิยมเน้นการปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับแนวคิด DIY[do it yourself] ซึ่งเป็นกระแสหนึ่งของยุคสมัยนี้ว่า อะไรเราก็ทำเองได้ ซ่อมบ้านเอง ทำเฟอร์นิเจอร์เอง พอเพียงนิยมสอดคล้องกับ DIY บนพื้นฐานของการมองมนุษย์เป็นปัจเจกชนหรือเสรีชน ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ตัวอย่างของสื่อในแง่นี้ เช่น ป้ายของนายก อบจ.ศรีสะเกษ มีข้อความว่า "เศรษฐกิจพอเพียง"เลี้ยงชีวา สุขประสาเสรีชนคนบ้านเรา ป้ายนี้ไม่ได้บ่งบอกความประหยัด ความมีเหตุผล แต่บอกว่า เราจงเป็นเสรีชนเถิด แล้วจะมีเศรษฐกิจพอเพียงได้ การเป็น"เสรีชน"บ่งบอกนัยยะของการเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรี กำกับ ควบคุมตัวเองได้ โดยไม่ตั้งคำถามกับโครงสร้างสังคม หรือโฆษณาของธนาคารทหารไทย ที่กล่าวถึงคนขายปาท่องโก๋ และชี้ให้เห็นว่า คนธรรมดาสามัญก็มีความสุขได้ โดยการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังนั้น คำขวัญที่สำคัญของพอเพียงนิยมคือ "ฉันทำ ฉันจึงมีอยู่"


 


รสนิยมการบริโภคของคนชั้นกลางเป็นตัวผลักดันการนำเสนอข่าวสารของสื่อ หรือกำกับควบคุมตรรกะในการผลิตสื่อ ขณะที่คนชั้นสูงหรือคนชั้นล่างก็ล้วนเสพข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ ดังนั้น รสนิยมของคนชั้นกลางจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับคนชั้นกลางเท่านั้น มันมีพลังอำนาจ หรืออีกนัยหนึ่งมันมี"อำนาจทางวัฒนธรรม"ในการสร้างค่านิยมและวิถีการบริโภคขึ้นมาในสังคม กลายเป็น"วัฒนธรรมกระฎุมพี"ซึ่งมีลักษณะผสมผสานและหยิบยืมทางวัฒนธรรม ดังนั้น คนรวยหรือคนจนก็มีวัฒนธรรมกระฏุมพีได้ เช่น มีโทรศัพท์มือถือ ดูทีวี เดินห้างสรรพสินค้า ซื้อหามาบริโภค การตีความเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมกระฎุมพีไทย เพื่อให้เข้าถึงทุกชนชั้นและมีอำนาจในการสร้างค่านิยมขึ้นมานี้เองที่สร้าง "พอเพียงนิยม"ขึ้นมาในโลกแห่งการสื่อสาร ในอีกด้าน การที่"วัฒนธรรมกระฎุมพี" และ"พอเพียงนิยม"แพร่กระจายไปยังสังคมวงกว้างได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากระบบคุณค่าของความเป็นคนชั้นกลางไทยอันมีลักษณะของการสร้างสรรค์ที่ดำรงอยู่ในสังคม


 


จากการมองพอเพียงนิยม ทำให้เห็นว่า พอเพียงนิยมเกิดขึ้นบนตรรกะเดียวกับจตุคามรามเทพ ที่ว่า เรากำลังพยายามหาความสมดุลระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นสากล ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เราพบว่า เราไม่สามารถยืนอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าภายใต้ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ เราจึงกลับไปถวิลหาอดีตและกลับไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมที่มีมูลนายไว้คอยปกป้องคุ้มครองมากขึ้น


 


กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทการนำเสนอของสื่อมีแง่มุมดังนี้


1.การเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในสื่อ เป็นความพยายามยึดพื้นที่ข่าวสาร/ข้อมูลของสังคมให้กลับมาสู่ความดีงามมากขึ้น


 


2.พอเพียงนิยมเป็นการสร้างชุมชนเสมือนรูปแบบใหม่ ของคนที่เท่าทันภาวะทันสมัย มีภูมิคุ้มกันปัญหา


 


3.พอเพียงนิยมมีข้อจำกัดในตัวเองคือ 1) พอเพียงนิยมไม่อาจทัดเทียมกับข้อมูล/ข่าวสารกระแสหลักที่กระตุ้นเร้าการบริโภคได้ 2) พอเพียงนิยมทำให้เศรษฐกิจพอเพียงถูกสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเนื้อหา และถูกตีความไปมากมาย ทำให้ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงสับสนมากขึ้น


 


4.พอเพียงนิยมซึ่งผลิต/สร้างความหมายภายใต้วัฒนธรรมกระฎุมพีไทย ได้เบียดขับการตีความเศรษฐกิจพอเพียงโดยคนกลุ่มอื่นๆ หรือเปล่า เช่น การพยายามโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับฐานทรัพยากรของชุมชน หรือธัมมิกสังคมนิยม เป็นต้น


 


5.พอเพียงนิยมเป็นอำนาจที่เกิดจากการสื่อสารในสังคมภายใต้วัฒนธรรมกระฎุมพีไทย ด้วยการใช้รูปแบบการสื่อสารสร้างกระบวนการรับรู้ของสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากอำนาจแบบครอบครองความเป็นใหญ่หรืออำนาจนำซึ่งมาจากข้างบนอย่างเดียว แต่อำนาจในการสื่อสาร ผู้บริโภค หรือคนในสังคมมีอำนาจในการกำหนด/ควบคุมตัวเอง รวมถึงกำหนดรูปแบบสื่อด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมกระฎุมพีไทยมีอิทธิพลต่อการสื่อสารในสังคม รวมทั้งกำหนดพอเพียงนิยมด้วย แต่วัฒนธรรมกระฎุมพีมีความฉาบฉวย เปลี่ยนง่าย เมื่อพ้นวิกฤติกลับสู่ภาวะปกติแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงและพอเพียงนิยมจะมีความหมายอย่างไรต่อไปในสังคมไทย


 


0 0 0


 


"สิ่งที่กระแสพอเพียงนิยมทำ คือทำให้คนพึงพอใจกับความยากจน


และตรึงให้อยู่กับชนชั้นทางสังคมที่ตนเองดำรงอยู่


โดยไม่ต้องตั้งคำถามเชิงโครงสร้างว่าความยากจนมาจากไหน"


 


 


ดร.นฤมล ทับชุมพล :     อ.สุรสมได้พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นการแข่งขันกันให้ความหมายว่าอะไรคือความพอเพียง คำถามที่เกิดขึ้นคือ เวลาเราได้ยินคำว่า"พอเพียง"หรือดูรายการที่พูดถึงความพอเพียง เราอาจต้องตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนให้นิยาม แล้วใครเป็นผู้มีชัยชนะในการให้นิยาม เราอาจต้องกลับไปดูแนวคิดเรื่องชนชั้นว่า นัยยะของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของสังคมไทยอยู่ตรงไหน หรือแนวคิดเรื่องการสร้างอุดมการณ์รัฐในสังคมแบบสื่อสมัยใหม่ของฮาเบอร์มาส มันทำให้เราคิดยังไง


 


ปัจจุบัน กระแสเศรษฐกิจพอเพียงอาจแบ่งได้ 3 ส่วน คือ เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นแนวคิด, ในฐานะที่เป็นแนวปฏิบัติที่รัฐไทยหรือคนอื่นๆ เอามาใช้, และในบริบทที่สังคมไทยกำลังพูดถึง หรือสื่อนำมาแสดงกลายเป็นกระแสหลัก


 


เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวคิด ไม่ใช่หนึ่งเดียวในประเทศไทย มันมีกลุ่มอื่นๆ มากมายในหลายๆ ประเทศพูดเรื่องนี้ เช่น กลุ่มมอร์มอลในอเมริกา แม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชนไทยก็พูดเรื่องนี้ก่อนปี 2540 พุดถึงแนวคิดที่เราจะต้องมีระยะห่างกับระบบตลาด เพื่อไม่ให้ระบบตลาดครอบงำเราในแง่วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจจนเกินไป แต่ในการพัฒนาประเทศ เราใช้ระบบตลาดเสรีนิยมมาโดยตลอดแม้ในปัจจุบัน


 


การพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกในปี 2540 เป็นปฏิกิริยาที่จะช่วยตอบคำถามโต้กลับกับความล้มเหลวของสังคมไทยในระบบเศรษฐกิจโลก 10 ปีต่อมา หลังรัฐประหาร กระแสเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาพูดถึงอีก แต่ในฐานะเป็นปฏิกิริยาโต้กลับกับประชานิยมแบบทักษิณ ซึ่งเน้นให้คนจนเป็นหนี้ เพื่ออธิบายวิกฤติการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา


 


ปรัชญาเบื้องหลังเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร อ.สุรสมพูดถึงแต่ไม่ได้ให้น้ำหนัก การพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงแนวคิดนั้น ในระบบรัฐไทยเราไม่ได้ตั้งคำถามเรื่องโครงสร้างการผลิต การพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ชาวนาต้องมีที่ดินเพียงพอ แต่ในอีสานมีชาวนากี่คนที่เป็นเจ้าของที่ดิน มีกี่คนที่ไม่ต้องอาศัยเข้าไปยึดที่ในป่าสงวน และในระบบการผลิตแบบพืชเชิงเดี่ยวของไทย เราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราก็กลุ้มใจว่าข้าวเวียตนามกำลังมาเป็นที่หนึ่งแทนข้าวไทย แปลว่าวิธีคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยไม่ได้คิดทั้งระบบ


 


เศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติหรือนโยบายสาธารณะ ในปี 2540 เราพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ได้ทำอะไร ที่มีคือโครงการเกษตรนำร่องทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกิดจากการเรียกร้องของสมัชชาคนจนและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในสมัยรัฐบาลชวน


 


ปี 2549 ภายใต้นโยบายของพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ลอกแผนฯ 10 มามากมาย ประกาศชัดเจนว่าจะทำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะมีงบประมาณ แต่ไม่มีรูปธรรมในแง่มาตรการของการปฏิบัติและการบริหารราชการแผ่นดิน มีแต่โครงการหมู่บ้านคุณธรรม ดื่มน้ำสาบาน มีงบประมาณของหน่วยงานราชการที่เปลี่ยนจากงบประชาสัมพันธ์เป็นงบสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมรณรงค์ มีงบประมาณส่งเสริม มีโครงการให้นักเรียนทำอะไรต่างๆ เช่น ปลูกผัก หรือส่งเสริมกลุ่มที่มีการทำอยู่แล้ว เช่น เกษตรอินทรีย์ แต่คนที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่อาจบอกได้ว่า มันมีรูปธรรมจริงหรือเปล่า


 


สิ่งที่พบ คือสิ่งที่ อ.สุรสมเสนอ เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของสังคมไทยกลับกลายเป็นการใช้วาทกรรม อ.สุรสมใช้คำว่า"พอเพียงนิยม" คือเป็นกระแสฟีเว่อร์ แต่ในที่นี้เรียกว่าเป็นพอเพียงแบบสำเร็จรูปกระแสหลัก รูปธรรมคือ คุณอาจใช้ชีวิตปกติที่ทำลายทรัพยากร หรือทำธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ ขอเพียงมีการบอกว่าจะทำอะไรบางอย่าง เช่น คนชั้นกลางอาจไปเดินสยามพารากอน แต่หิ้วถุงผ้า ซื้อกับข้าวที่เป็นโฮมเมด แปลว่าเราพอเพียงแล้ว แต่นี่ไม่ใช่คำตอบ


 


นี่เป็นภาพสะท้อน 2 เรื่อง คือ 1)สะท้อนความล้มเหลวในแง่ความเข้าใจต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในแง่วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและวิธีคิด สิ่งที่ทำเป็นแค่การสร้างวาทกรรมอันใหม่แทนวาทกรรมแบบที่มีอยู่เดิมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2)สะท้อนความล้มเหลวของสื่อไทย สื่อไทยแค่สะท้อนความฉาบฉวย เนื่องจากสื่อที่พูดถึงเรื่องพอเพียงเองก็ไม่พอเพียง เพราะเป็นสื่ออิเลคโทรนิคส์ และเป็นแอดเวอร์ไทซิ่งของบริษัทโฆษณา บอกว่าคุณจะใช้ชีวิตปกติก็ได้ ขอเพียงทำอะไรบางอย่าง


 


ปัญหาอีกอันหนึ่ง คือ กระแสเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำไปผูกติดกับโครงการพระราชดำริ และกระแสพระราชดำรัส ทำให้ไม่มีใครกล้าวิจารณ์หรือตั้งคำถาม ซึ่งเป็นปัญหา เพราะทุกแนวคิดมีข้อจำกัด เมื่อวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แนวคิดนั้นก็จะมีปัญหา ต่อให้เห็นด้วยแล้วอยากพัฒนาให้ดีขึ้นก็ไม่เกิด สิ่งที่สื่อทำได้ คือพูดในแง่ที่เป็นแค่รูปธรรม มีภาษาเพราะๆ แล้วก็โฆษณา


 


สรุปก็คือ สิ่งที่สื่อทำ อ.สุรสมใช้คำว่าสร้างวัฒนธรรมกระฎุมพี แต่สิ่งที่กระแสพอเพียงนิยมทำคือ ทำให้คนพึงพอใจกับความยากจน และตรึงให้อยู่กับชนชั้นทางสังคมที่ตนเองดำรงอยู่ โดยไม่ต้องตั้งคำถามเชิงโครงสร้างว่าความยากจนมาจากไหน เมื่อก่อนเราบอกว่า เราจนเพราะชาติที่แล้วเราทำบาป ตอนนี้ เราอธิบายว่าเราจนเพราะเราสุรุ่ยสุร่าย กินเหล้า ลืมทำบัญชีครัวเรือน เราไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่า โครงสร้างสังคมไทยมีปัญหาอะไร ควรจะแก้เรื่องภาษีมรดกมั้ย ทำไมจึงมีบางคนสะสมทุนมากกว่าอีกคน


 


แน่นอนสังคมไทยมีปัญหาเรื่องหนี้สินครัวเรือน และการสะสมทุน แต่วิธีคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำตอบหรือเปล่า ที่สำคัญคือมันทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจชนิดใหม่ ทำให้คนมีความสุขและไม่รู้สึกว่าอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน แต่รู้สึกว่าเป็นปัญหาปัจเจก และค่อยๆแก้กันไปแบบสังคมไทยที่ดีงาม ซึ่งมันไม่จริง ถ้าจริงคนจะไม่ออกมาโวยวายเรื่องราคาน้ำมัน ต้องปรับพฤติกรรมและปรับวิถีการผลิตใหม่


 


ถ้าเราคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีประโยชน์ในฐานะวิธีคิดทางเศรษฐกิจ เราก็ต้องคิดทั้งระบบ ตั้งแต่โครงสร้างของวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจ การบริหาร หรือนโยบายสาธารณะที่จะมาสัมพันธ์กับมัน ถ้าไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นแค่การช่วงชิงการนิยามทางวาทกรรม เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ และทำให้คนพึงพอใจกับสภาพชีวิตในขณะนั้น และคนที่ได้ประโยชน์จากวาทกรรมคือ คนที่ไม่มีปัญหาความยากจน มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และไม่มีปัญหากับความไม่เพียงพอที่มีอยู่ตอนนี้


 


 

เอกสารประกอบ

บททดลองเสนอ : มอง "พอเพียงนิยม" แล้วย้อนดูวัฒนธรรมกระฎุมพีไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net