Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 



 


ภาพท้องฟ้าสีครามกับฟองคลื่นสีขาวบิดเป็นเกลียวม้วนคลอเคลียไหลกลับเป็นน้ำทะเลสีเขียวมรกตผุดพรายขึ้นในห้วงจินตนาการ หลังใครสักคนเอ่ยถึง "เกาะลันตา" จังหวัดกระบี่


 


พอกางหนังสือท่องเที่ยวและแผนที่ออกดู เห็นเป็นรูปรีๆ ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต้มแต่งทะเลฟากฝั่งอันดามัน คิดถึงลมทะเลเย็นๆ พัดใส่หน้า ฟังเสียงคลื่นซัดหาชายหาดใต้แสงจันทร์นวล จนอยาก "หนีร้อน" หรือไม่ก็ "หนีรัก" เลียนแบบพ่อหนุ่มไข่ย้อยแห่ง "เพื่อนสนิท" ไปพักผ่อนร่างกายและหัวใจบนหาดทรายละเอียดเหยียดยาวแห่งนี้สักครั้ง


 


ว่าแล้วก็รับคำชวนของคณะเดินทางหนุ่มสาวบวกบรรดาคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังจะเดินทางไปเกาะลันตาใหญ่ เพื่อจัดเวทีสัมมนากับชาวประชาคมลันตา เป็นการรับคำชวนที่แทบไม่ต้องตึกตรองคิดมากมาย


 


แต่โชคร้ายไปหน่อย ปักษ์ใต้ยามนี้ตรงกับฤดูกาลที่ฝนตกพรำๆ แทบทั้งวัน ท้องฟ้าสีครามจึงดูขมุกขมัวไปนิด แต่ก็ทำให้ทะเลดูขรึมขึ้นกลายเป็นบรรยากาศอีกชนิดหนึ่ง...


 


แม้ฝนตกทำให้ดูเงียบเหงา แต่ความชุ่มชื้นก็ทำให้สดชื่นมีชีวิตชีวา เป็นความประทับใจแรกเมื่อเดินทางถึงเมืองกระบี่


 


ความรู้สึกนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ความขรึมขลังพลันกลับกลายเป็นขรึมเครียดแทน เมื่อคณะเดินทางต้องเผชิญกับสภาพการ รอ รอ รอ และก็รอ "แพขนานยนต์ข้ามฟาก" ไปเกาะลันตาน้อยด้วยอาการไม่ต่างจากการเดินทางในเมืองกรุง มองไปข้างหน้าเห็นรถติดแหง่กยาวเหยียด กว่าลำดับคิวจะมาถึงใช้เวลานานโข เดินไป เดินมา วน วน วน เข้าห้องน้ำ วนออกมากันแล้วค่อยได้ลงแพ คนลันตาบอกกับเราว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และหากเป็นหน้าไฮ-ซีซั่น หรือฤดูท่องเที่ยวที่จะมาถึงอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ รถจะจอดรอติดไปไกลและเสียเวลาข้ามฟากกันยิ่งกว่านี้


 


เหมาะแก่การใช้ฝึกความอดทนเสียจริงๆ....!


 



 


ผ่านเรื่องนี้ไปได้ แพข้ามฟากพารถตู้ของคณะเดินทางลอยลำอย่างสุขุมแช่มช้า จิตใจแจ่มใสสงบขึ้นมาบ้าง แต่พอทอดตาไปที่ผืนทะเล น้ำสีเขียวมรกตสดใสที่เคยจินตนาการไว้ถูกบดบังไปด้วยคราบน้ำมันแพแผ่ไหลเป็นรอยทางยาวจนกระทั่งเราถึงเกาะลันตาน้อย


 


รถตู้แล่นต่อไปเรื่อยๆ อีกครั้ง พาคณะเดินทางไปข้ามแพอีกรอบหนึ่งสู่เกาะลันตาใหญ่ เมียงมองไปตามรายทาง ถนนขยะเกลื่อนเต็มไปหมด เมื่อข้ามไปถึงเกาะลันตาใหญ่  แม้จะทะเลจะสวยดีไม่ต่างจากภาพที่วาดไว้ในใจ แต่ดูเหมือนสิ่งปลูกสร้างมากมายกำลังขยายตัวลุกลามแน่นไปตามสองข้างทางถนนที่เราผ่าน บางส่วนของป่า ภูเขา และชายหาดกลายสภาพเป็นรีสอร์ทและโรงแรมไปมาก บางแห่งหรูหราและใหญ่โตเสียจนเหมือนจะบดบังภูเขาและทะเลไปทั้งแถบ ในขณะที่อีกหลายแห่งพรึ่บไปด้วยสวนยางพารา


 




 



 



 


จากการเริ่มต้นด้วยความคิดฝันในจินตนาการ การนึกถึงความงดงามตามที่ได้ยินเสียงคนบอกเล่าสู่กันปากต่อปาก จนมาผสมผสานไปกับสิ่งที่พบเห็นผ่านตาในการเดินทางจริง กลับเกิดการกลั่นกลายในห้วงความคิดกลายเป็นผลึกคำถามจริงจังถึง"เกาะลันตา" ณ วันนี้ และอนาคตต้องเผชิญในวันข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรกันหนอ ???


 


เอาเถอะ...ทั้งคำถามและคำตอบเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งของคณะเดินทางจากจุฬาฯ ที่ชวนมาเกาะลันตาเพื่อรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ในการเดินครั้งนี้นั่นเอง


 


 


"ลันตา" ประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลง      


ก่อนจะบอกเล่าเกี่ยวกับการมาของคณะเดินทาง จะขอย้อนความไปถึงสภาพพื้นที่และความเป็นมาว่า-กว่าจะเป็น "เกาะลันตา" ณ วันนี้ ต้องพบพานกับอะไรบ้าง


 


จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ทำให้เรารู้ว่าวันเวลาของเกาะลันตาที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้เลย คนเกาะลันตาเดิมเป็นปัจเจก สันโดษ แต่ก็สัมพันธ์กับชุมชนบนเกาะใกล้เคียงที่เดินทางไปมาหาสู่กันทางทะเลมากกว่าการขึ้นบกเพื่อสัมพันธ์กับคนบนแผ่นดินใหญ่


 


คนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในลันตา ว่ากันว่าเป็นชาวเล "อูรักลาโว้ย" ที่ลอยเรือเร่ร่อนหาปลามาหลบคลื่นลมมรสุม อีกทั้งบริเวณนี้สัตว์น้ำชุกชุม จึงกลายเกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านแถวปลายฝั่งตะวันออกของเกาะ หันเข้าหาแผ่นดินใหญ่


 


ปัจจุบันกลุ่มหมู่บ้านชาวประมงอูรักลาโว้ย คือ บริเวณ บ้านสังกาอู้ บ้านหัวแหลม และ บ้านในไร่ - คลองดาว ต่อมา เมื่อถึงยุคการค้าสำเภารุ่งเรือง ทั้งจีน อาหรับ-มลายู เกาะลันตากลายเป็นเป้าหมายในการแวะพักหลบมรสุม ทำให้ชุมชนในเกาะขยายตัวอย่างมีความหลากหลาย มีทั้งชาวไทยมุสลิม ไทยพุทธและไทยจีนเข้ามาตั้งรกราก โดยจำนวนชาวไทยมุสลิมมีมากที่สุด พ.ศ.2444 เกาะลันตาจึงได้ยกระดับเป็นอำเภอ ที่ว่าการอำเภออยู่ที่บ้านศรีรายา ใกล้ๆ กันกับบ้านหัวแหลม และพื้นที่ตรงนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิมของเกาะด้วย


 


ส่วนฝั่งตะวันตกนั้น แม้จะเต็มไปด้วยชายหาดสวยงาม แต่กลับต้องรับคลื่นลมเต็มที่ จึงไม่ค่อยมีชุมชน และแม้ว่าภายหลัง กลุ่มคนไทยมุสลิมจะเข้ามาอาศัยจนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเกาะก็ตาม แต่ความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนไปนัก ระบบเครือญาติยังคงผูกพันกันไปตามหมู่เกาะต่างๆที่เลาะไปตามชายทะเลอันดามัน


 


ส่วนชาวอูรักลาโว้ยในอดีตมีตำนานเล่าว่าเคยอาศัยบริเวณเทือกเขา "ฆูนุงฌึไร" ชายฝั่งทะเลในรัฐไทรบุรี หรือเคดาห์ซึ่งอยู่ในเขตประเทศสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เป็นชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลไปตามเกาะแก่งต่างๆ มาก่อน แม้ปัจจุบันจะตั้งถิ่นฐานถาวรตามเกาะในหลายพื้นที่ของน่านน้ำไทย แต่ยังดำรงพิธีกรรมลอยเรือเพื่อสะเดาะเคราะห์และระลึกถึงบรรพบุรุษ ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 และในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (ราวเดือนพฤษภาคมและตุลาคม)


 


ความสันโดษสงบไม่ได้คงอยู่อย่างถาวร กระแสที่เรียกว่า "การพัฒนา" จากแผ่นดินใหญ่ดูจะรุกเข้ามาเป็นระลอกๆ ชาวเกาะลันตาก็เปิดตัวเองมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะมีหน่วยราชการเป็นตัวเชื่อมประสาน เช่นในยุคที่รัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน นากุ้ง ชาวเกาะลันตาบางกลุ่มได้รับกระแสที่มาจากภายนอกจึงเริ่มปรับสภาพที่ดิน หรือบางพื้นที่นายทุนได้รับการสัมปทานเผาถ่านจากไม้ในป่าชายเลน แม้แต่ด้านการประมงก็ตาม ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเคยเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อลันตาด้วย ชาวประมงคนเฒ่าคนแก่บอกว่าญี่ปุ่นเป็นกลุ่มแรกที่โฆษณาเทคโนโลยีการจับปลาด้วยอวนลาก อวนรุน ซึ่งสามารถใช้เรือเล็ก บังคับง่าย ใช้คนน้อย แต่จับปลาได้มาก ซึ่งมันมีผลที่ทำให้วิถีการทำประมงของคนลันตาหลายกลุ่มเปลี่ยนไป


 


การเติบโตและสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ที่มากขึ้นทำให้การเดินทางทางบกยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเช่นกันจนกลายเป็นระบบแพขนส่งที่นำรถข้ามฟากไปมาได้ ศูนย์กลางความเจริญจึงเคลื่อนย้ายมาอยู่บริเวณที่บ้านศาลาด่านตอนบนของเกาะลันตาใหญ่แทน ในเวลาต่อมาส่วนราชการแทบทั้งหมดได้ย้ายจากบ้านศรีรายาไปที่ เกาะลันตาน้อย เพราะมีความสะดวกในด้านคมนาคมกับแผ่นดินใหญ่มากกว่า  


 


5-6 ปีหลังๆ มานี้ กระแสจากภายนอก "ระลอกใหม่" เข้ามาที่เกาะลันตาอีกครั้ง และเป็น "ครั้งใหญ่" เพราะหน่วยงานของรัฐ ทั้งระดับท้องถิ่นและภูมิภาค เริ่มมองเกาะลันตาอย่างให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น จนถึงระดับพัฒนาป็น "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" ได้ หลายพื้นที่จึงถูกพัฒนาจนเจริญ ในขณะที่สถานที่ซึ่งไม่มีจุดท่องเที่ยวกลับถูกละเลย ไม่ได้รับการสนใจ จนกลายเป็นช่องว่างในการเข้าถึงบริการของรัฐระหว่างภาคธุรกิจท่องเที่ยวกับชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ  


 


ปลายปี 2548 เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด อย่างรุนแรง จังหวัดกระบี่นอกจากสูญเสียชีวิตผู้คนมากมายแล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมหลายแหล่งก็ยากจะฟื้นตัวในเวลาระยะสั้นๆ แต่เกาะลันตานั้นโชคดีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิไม่มากนัก ทำให้จังหวัดกระบี่มีนโยบายที่จะพัฒนาเกาะลันตาใหญ่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกขึ้นมาทดแทน


 


"การท่องที่ยว" นี่ล่ะคือปัจจัยล่าสุดที่กำลัง "ท้าทายที่สุด" และคนลันตาคงต้องหันมาร่วมคิดกันให้มากที่สุด ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นแบบ เกาะสมุย หรือภูเก็ต ที่เจริญแต่เพียงในแง่ของวัตถุ แต่วิถีเดิมของคนท้องถิ่นกลับถูกเบียดขับให้สูญหายไป


 


 


"ลันตา" บนทางแพร่งครั้งสำคัญ


หลังการโหมกระหน่ำเข้ามาด้วยพายุของการท่องเที่ยว ชาวลันตาไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่การสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แต่ในทิศทางย้อนกลับคือการพัดโหมเข้ามาของทุนเสรีที่พ่วงมากับกระแสนิยมของโลกที่แบนขึ้นแบบ "โลกาภิวัตน์" เกาะลันตากำลังเปลี่ยนไปทั้งโฉมหน้าและวิถีชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าด้านหนึ่งหมายถึงช่องทางการพัฒนาและการยกสถานะทางเศรษฐกิจให้ถีบตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกทางหนึ่งคนลันตาจะมีค่าตอบแทนที่ต้องเสีย หากไม่มีการจัดการหรือการปรับตัวที่ดีแล้วการสูญเสียนั้นอาจกลายเป็นการสูญเสียไปตลอดกาล


 


หากให้เปรียบ "ลันตา" กับ "เกาะพีพี "หรือ "เกาะสมุย" หรือ "ภูเก็ต" ที่การท่องเที่ยวเคยโด่งดังไปทั่วโลกมาก่อนนานแล้ว เกาะลันตาคงเหมือนหญิงวัยสาวแรกรุ่นสะคราญที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เย้ายวนน่าหลงไหล ความน่าสนใจอยู่ที่ความเฉิดฉันและเริ่มรู้จักแต่งแต้มสีสันรัญจวนแต่ไม่หลอกตา ความงดงามผุดผาดตามธรรมชาติยังคงไว้เต็มเปี่ยม ต่างจากสาววัยรุ่นปราดเปรียวหรือผู้ใหญ่กร้านโลกที่หนาเกรอะไปด้วยแป้งสำอางค์ ปากชมพูอมแดงเยิ้มมันประกาย คิ้วโก่งกิ่วดังคันศร สวยสำรวย...แต่ดูกระด้างพิกล


 


แต่เกาะลันตาแม้จะเผชิญกับกระแสภายนอกและเปลี่ยนแปลงมาบ้างแล้วหลายระลอก แต่ชีวิตในเกาะส่วนใหญ่ยังคงดำเนินอย่างผูกพันอยู่กับธรรมชาติและผืนทะเล ไม่ว่าอย่างไร เรือของชาวลันตาจะยังคงลอยลำสู่ท้องน้ำและจับปลาเสมอมา ยามค่ำคืนมองลิบไปทางขอบฟ้าเรายังคงเห็นแสงไฟเรือสีเหลืองเรื่อๆเป็นจุดแต้มเล็กๆลิบๆมากมายประดับตามเส้นของขอบฟ้า ยามเช้าที่เราตื่นมามองทะลและท้องฟ้า "ลันตา"สวยงามชดชื่น เรือหลายลำกลับถึงฝั่งแล้ว ในยามกลางวันแม้แดดจะจ้ากลับทำให้ทะเลยิ่งสดใสและดูกว้างใหญ่ และมันจะกลายเป็นความมืดลึกลับอันน่าลุ่มหลงในยามสนธยา เมื่อกลางคืนวนมาหาเราอีกครั้ง เรายังคงมองมันอย่างไม่รู้เบื่อ  มนต์เสน่ห์เหล่านี้ได้ชักนำผู้คนมากมายให้เริ่มเดินทางเข้ามามากมาย


 



 


ส่วนเกาะพีพี เกาะสมุย หรือภูเก็ต เริ่มกลายเป็นเพียงความทรงจำสีจางๆ วูบวาบฉาบฉวย รวดเร็ว ร้อนแรงคล้ายวัยรุ่นฉกรรจ์ที่ไม่ใส่ใจกับการเติบโตจนทรุดโทรมลงทุกทีๆ บางที...แม้ไม่มีเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 2 ปีก่อน สถานที่เหล่านี้อาจเสื่อมสลายไปเองด้วยการใช้ชีวิตที่ "เปลืองตัว" หรือไม่ก็ถูกครอบครองโดยนายทุนที่มีกำลังซื้อและกลายเป็นที่ดินที่ถูกพัฒนาอย่างมีเจ้าของ


 


บทเรียนจากที่อื่นทำให้เกาะลันตาระวังตัวเองจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้นมากขึ้น ความเป็นห่วงกังวลเริ่มเกิดจากภายในกลายเป็นเครือข่ายชุมชนต่างๆ ในลันตา แต่บางทีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมาเร็วเกินกว่าการรับมือจากภายในอย่างเดียวจะปรับตัวได้ทัน "องค์ความรู้" ในการจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เกิดเป็นการแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับภายนอก และเป็นจุดเริ่มต้นของคณะเดินทางจากจุฬาฯ ที่เลือกมาศึกษา "เกาะลันตา"เมื่อ 2 ปีก่อน


 


หากย้อนกลับไปอีกหนึ่งปีก่อนหน้านั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เสนอตัวอาสาเข้าไปช่วยเหลือในการฟื้นฟูจังหวัดกระบี่ หลังเหตุการณ์สึนามิ เพื่อปฏิบัติการวางแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เนื่องจากจังหวัดกระบี่เคยเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในด้านนี้ แต่การเติบโตจากการท่องเที่ยวที่ไร้การควบคุมได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมไปถึงการทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนลดลงไป มีความไม่สมดุลระหว่างพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาและสร้างผลกระทบต่อเอกลักษณ์ชุมชนภาคชนบท


 


ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มทำการวิจัยเรื่อง "แผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในจังหวัดกระบี่" ขึ้น และได้นำเสนอรูปแบบการพัฒนาต่อชาวกระบี่ 3 แบบได้แก่ การพัฒนากระบี่ให้เป็นสถานพักตากอากาศระดับโลก การพัฒนากระบี่ให้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย และการพัฒนากระบี่ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแบบทางเลือก


 


จากนั้นจึงได้จัดงานสัมมนา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 48 ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน ผลสรุปสุดท้ายเห็นตรงกันว่ากระบี่ควรพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ "การพัฒนากระบี่ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแบบทางเลือก"


 


ต่อมา เมื่อต้องเลือกพื้นที่วิจัยต่อเนื่องในระดับท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม "เกาะลันตาใหญ่" ได้ถูกเลือก เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดการเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงต่อการทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ปีแรกของการลงพื้นที่ในเกาะลันตาได้ผลสรุปออกมาเป็น "แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่" ซึ่งมีข้อค้นพบที่สำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ "การร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ" ตั้งแต่ในส่วนของภาครัฐ อย่าง อบต. หรืออำเภอ ภาคธุรกิจ คือโรงแรม รีสอร์ท เกสเฮาส์ และชุมชนที่รวมตัวกันกลายเป็น "ประชาคมลันตาบ้านเรา" เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน


 


แต่จะเป็นจริงได้อย่างไรนั้น คือสิ่งที่คณะทำงานจากจุฬาฯ และแคลิฟอร์เนียทำงานต่อเนื่องตลอดปี 2550 เพื่อค้นหารูปแบบปฏิบัติการที่เหมาะสมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net