Skip to main content
sharethis


สืบเนื่องจากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยพล.อ.สนธิ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว ความตอนหนึ่งว่า "หลังจากนี้เป็นต้นไปแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์จะต้องกลับไปคลอดบุตรในประเทศบ้านเกิด จะไม่อนุญาตให้คลอดบุตรในประเทศไทย รวมถึงห้ามเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย" นั้น


 


คณะทำงาน Burma Peace Group เพื่อนไร้พรมแดน ศูนย์ข่าวสาละวินและสาละวินโพสต์ (Salween News) กลุ่มสายสัมพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อนกะเหรี่ยง มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Burma Issues) และ ภัทรมน สุวพันธุ์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง ให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เปลี่ยนท่าทีและนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน บนพื้นฐานความมั่นคงของมนุษย์และเศรษฐกิจโดยทันที


 


ทั้งนี้ พวกเขาได้แสดงความห่วงใยต่อแนวคิดการส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ ว่า การส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ คือความพยายามจะเข้าไปแทรกแซงควบคุมร่างกายแรงงานข้ามชาติหญิง เพื่อให้รัฐมั่นใจว่าจะได้ "แรงงานราคาถูก"ที่มีศักยภาพในการผลิต โดยไม่ได้มองบุคคลเหล่านี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซ้ำยังเป็นการพรากครอบครัวออกจากกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงยังขัดกับหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้เคารพในความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ


 


นอกจากนี้ การส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ ยังเป็นการขัดต่อปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ร่วมเป็นภาคี และจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่กล้ามาปรากฏตัวเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินมาตรการความปลอดภัยทางสังคมและสุขภาพได้ตามแนวทางของรัฐที่กำลังมีนโยบายที่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้นด้วย


 


 


แถลงการณ์ต่อท่าทีของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
เรื่องการส่งแรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์
กลับไปคลอดที่ประเทศต้นทาง


 


สืบเนื่องจากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา โดยพล.อ.สนธิ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว ความตอนหนึ่งว่า "หลังจากนี้เป็นต้นไปแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์จะต้องกลับไปคลอดบุตรในประเทศบ้านเกิด จะไม่อนุญาตให้คลอดบุตรในประเทศไทย รวมถึงห้ามเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย" (อ้างจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก, แนวหน้า, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550)


 


ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2547 ที่มีการประชุมรายงานผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวต่อคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (คบร.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ประเด็นหนึ่งที่มีถกเถียงกันอย่างมาก คือ มีแรงงานต่างด้าว (สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา) ตั้งครรภ์มาลงทะเบียนจำนวน 9,383 ราย หรือร้อยละ 3.05 ของแรงงานหญิงที่มาตรวจสุขภาพทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ควรส่งแรงงานเหล่านี้กลับประเทศต้นทางเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา อย่างไรก็ดีหลังจากตกเป็นข่าว นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี อธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กบร.ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดยระบุว่า "สิ่งที่ได้คำนึงถึงมาโดยตลอดคือมนุษยธรรม เพราะถึงอย่างไรต้องให้แรงงานสตรีเหล่านี้ได้คลอดก่อน ส่วนจะส่งกลับหรือไม่ต้องถามความสมัครใจด้วย และไม่สามารถที่จะไปพรากครอบครัวแรงงานเหล่านี้ออกจากกันได้"  หลังจากนั้นวิธีคิดดังกล่าวก็ไม่ปรากฏในนโยบายการจัดแรงงานข้ามชาติในปีต่อๆมาจนกระทั่งถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550


 


ด้วยเหตุที่ให้ความสำคัญกับ "ความมั่นคงแห่งชาติ" เป็นหลัก นับตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา รัฐบาลชุด พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ได้ออก (1) ประกาศจังหวัดภูเก็ต ระนอง ระยอง พังงา ว่าหลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย ,ห้ามขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์, ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ,ห้ามเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (2) การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ในเทศกาลและงานต่างๆที่จัดขึ้นเป็นการไม่เหมาะสม และไม่ควรให้การสนับสนุน เพราะอาจเกิดปัญหาในด้านความมั่นคงและเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของทางรัฐบาล และล่าสุดคือท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ที่สะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติและอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะนำไปสู่ความความรุนแรงในสังคม อันขัดแย้งกับนโยบายปรองดองสมานฉันท์ เพื่อสันติสุขท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ตามที่รัฐบาลประกาศมา


 


ในการนี้พวกเราตามรายนามข้างท้าย มีความห่วงใยต่อแนวคิดการส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ ดังนี้


 


1. การส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ คือความพยายามจะเข้าไปแทรกแซงควบคุมร่างกายแรงงานข้ามชาติหญิง เพื่อให้รัฐมั่นใจว่าจะได้ "แรงงานราคาถูก"ที่มีศักยภาพในการผลิต ตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยไม่ได้มองบุคคลเหล่านี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง


 


2. การส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ เป็นการพรากครอบครัวออกจากกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงยังขัดกับหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้เคารพในความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ


 


3. การส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ เป็นการขัดต่อปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ร่วมเป็นภาคี อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นต้น


 


4. แผนการส่งแรงงานข้ามชาติหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์จะไม่กล้าที่จะมาปรากฏตัวเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินมาตรการความปลอดภัยทางสังคมและสุขภาพได้ตามแนวทางของรัฐที่กำลังมีนโยบายที่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น


 


ด้วยความห่วงใยข้างต้น เราจึงขอเรียกร้อง ให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนท่าทีและนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน บนพื้นฐานความมั่นคงของมนุษย์และเศรษฐกิจโดยทันที


 


 


            แถลงเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2550


 


            คณะทำงาน Burma Peace Group


            เพื่อนไร้พรมแดน


ศูนย์ข่าวสาละวินและสาละวินโพสต์ (Salween News)


กลุ่มสายสัมพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อนกะเหรี่ยง


มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues)


ภัทรมน สุวพันธุ์


 


 


Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า


 


burmapeacegroup@gmail.com


 


Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน


 


คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี


                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net