Skip to main content
sharethis


ในขณะที่ครู - นักเรียนจำนวนไม่น้อยไปอยู่ที่สนามหลวง เพื่อร่วมต่อต้านพ.ต.ท.ทักฺษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุผลที่เหมือน/คล้าย/ต่างกันไป โดยอาจจะสบายใจว่าการลงจากอำนาจของผู้นำจะหยุดเรื่องราวที่ได้กระทำไปแล้วทั้งหมด


 


แต่กลุ่มเอฟทีเอวอทช์ซึ่งเป็นหัวหอกในการคัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะกับสหรัฐ ยังคงจัดเวทีสัมมนาให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ โดยในวันนี้ (27 ก.พ.) ได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา จัดเวทีให้มูลนิธิผู้บริโภคสากลได้มาพูดคุยถึงผลกระทบจากประเด็นลิขสิทธิ์ที่อยู่ในข้อเรียกร้องในเอฟทีเอไทย-สหรัฐต่อการเข้าถึงความรู้ของคนไทย


 


เหตุผลในการจัดสัมมนาต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน แม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาแล้วเมื่อไม่กี่วันมานี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าเกมส์นี้ไม่จบง่าย เอฟทีเออาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงกว่าตัวพ.ต.ท.ทักษิณ !


 


ไม่ว่าใครจะอยู่ใครจะไป ไม่มีหลักประกันอันใดว่าประเทศไทยจะไม่เดินทางสายนี้ต่อไป ว่าแต่ทางสายนี้อันตรายอย่างไร คราวนี้มีเรื่อง "ลิขสิทธิ์" มาให้พิจารณา


 


เรื่องลิขสิทธิ์ เป็นส่วนหนึ่งของข้อบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งที่ผ่านมามักมีการพูดถึงผลกระทบเรื่องสิทธิบัตรยา และสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตเป็นหลัก เพราะเห็นได้ชัดเจนกว่า


 


นันทน อินทนนท์ ผู้พิพากษาจากศาลฎีกา อธิบายว่า ปรัชญาพื้นฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์คือ การสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของบุคคลผู้คิดค้น-เป็นเจ้าของสิทธิ กับสิทธิของสาธารณะ  


 


โดยลิขสิทธิ์มีระดับความคุ้มครองไม่สูงนัก เป็นการคุ้มครองการแสดงออกทางความคิด ไม่ได้มีลักษณะเป็นเจ้าของเบ็ดเสร็จในตัวความคิดเหมือนกับสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์จะคุ้มครองยาวนาน โดยขอบเขตของการคุ้มครองจะไม่มากนัก และมีข้อยกเว้นสิทธิเพื่อให้สาธารณะเข้าถึงได้ทั้งโดยการทำซ้ำ ดัดแปลงในกรณีที่ไม่แสวงหากำไร เช่น การศึกษา วิจัย


 


นันทนชี้ว่า แต่ในเอฟทีเอ สหรัฐเรียกร้องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ขยายอายุออกไปจาก 50 ปี เป็น70 ปี หลังเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิต


 


มีการกำหนดให้การทำซ้ำชั่วคราวเป็นการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งเท่ากับการเข้าถึงโดยคอมพิวเตอร์ก็เป็นการละเมิดสิทธิ์


 


มีการเพิ่มเติมให้เจ้าของหนังสือมีสิทธิในการให้เช่า ซึ่งนั่นจะทำให้ไม่สามารถมีร้านหนังสือเช่าได้อย่างที่เห็น


 


อีกทั้งยังให้สิทธิในการจำหน่ายแก่เจ้าของสิทธิ และอาจขยายไปถึงให้สิทธิในการนำเข้าด้วย ซึ่งนั่นจะกระทบกับมาตรการนำเข้าซ้อนสินค้าลิขสิทธิ์จากแหล่งที่ถูกกว่ามาเพื่อการศึกษา อันเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายระหว่างประเทศให้กระทำได้


 


นี่คือสิ่งที่เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม และมากไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ไม่ว่าจะเป็น Berne Convention (1886),ข้อตกลงTRIS ขององค์การการค้าโลก (1994) หากแต่ WIPO (1996)ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่จัดทำโดยสหรัฐ มีมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดกว่าเกณฑ์ใดทั้งหมดในโลกนี้ ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี หากแต่ถูกร้องผ่านเอฟทีเอสหรัฐให้เข้าเป็นภาคี  


 


แม้ข้อตกลงของจริงไม่เป็นที่เปิดเผย โดยรัฐบาลอ้างว่าต้องรักษาความลับ (ทั้งที่ในการทำเอฟทีเอระหว่างสหรัฐและประเทศอื่น ไม่ว่าออสเตรเลีย สิงคโปร์ กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือฯ ไม่เคยต้องรักษาความลับเหมือนไทย) แต่เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหน่วยงานที่เจรจากับสหรัฐโดยตรง


 


นุสรา กาญจนกูล หัวหน้ากลุ่มงานเขตการค้าเสรีและองค์การการค้าโลก ให้ข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติมด้วยว่า สหรัฐยังเรียกร้องสูงไปกว่าที่เรียกร้องกับประเทศอื่นด้วย ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในการนำเข้า


 


ที่สำคัญ ยังกำหนดห้ามถ่ายเอกสาร(หนังสือที่มีลิขสิทธิ์)ทั้งเล่ม หรือส่วนใหญ่ของเล่ม แม้ว่าจะทำเพื่อการศึกษาก็ตาม !!!


 


ตลกกว่านั้น คือ ข้อเรียกร้องที่ทำเอานักศึกษาทั้งหลายเสียวไส้ในพฤติกรรมซีร็อกกระจายของตัวเองนี้ ปรากฏห้อยอยู่ในเชิงอรรถของตัวบทข้อตกลง


 


"เรื่องถ่ายเอกสารก็เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ในจุดยืนของผู้เจรจาอะไรที่กระทบกับสาธารณชน คงไม่สามารถยอมได้ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ในระยะยาว ที่ประเทศเราจะได้ประโยชน์เมื่อเข้มแข็งแล้ว ก็ต้องต่อรองว่าอีกกี่ปีก็ว่ากันไป" นุสรากล่าว


 


ไม่ต้องจินตนาการกันไปไกล เอาแค่ทุกวันนี้ท่ามกลางกฎหมายลิขสิทธิ์และสภาพสังคมที่เป็นอยู่ก็ใช่ว่าจะไม่น่าห่วง Rajeswari Kanniah หัวหน้าสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ทำการวิจัยไว้ให้เสร็จสรรพ โดยศึกษากฎหมายลิขสิทธิ์ของ 11 ประเทศที่มีผลต่อการเข้าถึงความรู้ของประชาชน ลงภาคสนาม 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และไทย


 


พบว่าเมื่อเปรียบเทียบค่าหนังสือตำราเรียนต่างประเทศที่มีลิขสิทธิ์แล้ว ทั้งไทยและอินโดนีเซียมีราคาที่แพงกว่าสหรัฐมากเมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีและมาตรฐานการครองชีพของตนเอง


 


ด้านกฎหมาย ประเทศไทยก็มีการคุ้มครองที่มากไปกว่าที่กำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Berne Convention,TRIPS


 


"รัฐบาลที่ฉลาดย่อมสร้างกฎหมายลิขสิทธิ์โดยให้สิทธิไม่มากไปกว่าขั้นต่ำสุดที่กำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องกำหนดข้อยกเว้นให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ" Rajeswari กล่าว


 


ขณะที่องค์กร WIPO ของสหรัฐที่คุ้มครองลิขสิทธิ์เข้มงวดและกว้างเหลือหลาย ก็มักจะมีบทบาทในการให้คำแนะนำกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาทั้งหลายในการสร้างกฎหมายที่มีความเข้มงวดเป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศโลกที่หนึ่ง


 


ท้ายที่สุดเธอเสนอว่าน่าจะมีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาเพื่อพัฒนาการเข้าถึงความรู้ของประชาชน ขณะที่นันทน เสนอว่า ไทยควรมีการศึกษาข้อยกเว้นหรือความยืดหยุ่นที่ปรากฏในกฎหมายระหว่างประเทศให้เป็นระบบ


 


อีกทั้งต้องรู้เขาหรือเรา คือ 1.รู้ว่าสหรัฐ แม้ไม่เรียกร้องบางเรื่องแต่ก็เรียกร้องให้ไทยเข้าเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศบางฉบับ ที่ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีเรื่องที่ไม่ได้พูดในเอฟทีเอนั้นอยู่และบังคับเราไปในตัว


 


2. ต้องรู้ด้วยว่าแม้สหรัฐจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองสิทธิเจ้าของอย่างเข้มงวดมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายคุ้มครองการผูกขาด คุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ขณะที่ไทยไม่มีการรองรับทั้ง 2 อย่าง


 


นันทน ยังกล่าวถึงการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างตรงไปตรงมาว่า มีหลายเรื่องที่กรมฯ ทำได้ดี แต่ก็มีบางส่วนที่น่าตำหนิ เช่น กระบวนการยกร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของกฤษฎีกานั้นไม่ได้เปิดให้มีการมีส่วนร่วมจากผู้รู้อย่างกว้างขวางเพียงพอ และไม่มีการศึกษาที่เป็นระบบมากพอ


 


แน่นอน ทางตัวแทนกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่าศึกษาอย่างดีก่อนร่าง และในร่างกฎหมายดังกล่าวก็เพียงแต่เพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองทางเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์, จัดตั้งองค์กรกลางในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, ปรับเรื่องโทษให้มีความเหมาะสมกับความผิด และทำให้ข้อกฎหมายบางมาตราที่มีความคลุมเครือชัดเจนขึ้น เท่านั้นเอง


 


เรื่องราวที่สลับซับซ้อนนี้ น่าจะจบอย่างง่ายที่สุดที่ข้อสรุปของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ว่า


 


"ทรัพย์สิน" คือสิ่งที่ต้องมีการหวงกันเป็นเจ้าของสิทธิ ขณะที่ "ปัญญา" นั้นตลอดอายธรรมมนุษย์แสดงชัดว่าเป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดสืบต่อ เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ


 


เรื่องยากคือการสร้างสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ ให้ "เหมาะสมกับสภาพของแต่ละสังคม" เพื่อให้ทั้งเจ้าของสิทธิและสังคมนั้นๆ อยู่ได้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net