Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งไต้หวันระบุว่า การที่ไลชิงเต๋อจากพรรค DPP เอาชนะได้น่าจะเพราะประชาชนไต้หวันยังคงจุดยืนต่อต้านการคุกคามจากจีน แต่พรรค DPP ที่เป็นรัฐบาลเดิมก็สูญเสียที่นั่งจำนวนมากให้พรรคลำดับที่สาม คือ TPP เรื่องนี้นักวิชาการมองว่าเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่เคยเลือก DPP หันไปเทคะแนนให้กับพรรคใหม่ที่น่าดึงดูดกว่าสำหรับพวกเขา

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ไลชิงเต๋อ ผู้สมัครพรรค DPP ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี ได้ทำการประกาศชัยชนะ ในขณะที่สองพรรคคู่แข่งต่างก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้

"นี่คือค่ำคืนที่เป็นของไต้หวัน พวกเราสามารถทำให้ไต้หวันอยู่บนแผนที่ของโลกเราได้ ... การเลือกตั้งได้แสดงให้โลกเห็นถึงความยึดมั่นของประชาชนชาวไต้หวันที่มีต่อประชาธิปไตย ซึ่งผมหวังว่าจีนจะเข้าใจ" ไลชิงเต๋อกล่าว ในคืนการนับผลคะแนนเลือกตั้ง

สื่อซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ลงคะแนนในไต้หวันมองว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตัวเองและมองว่าควรจะเพิ่มการป้องกันตนเองต่อภัยคุกคามจากจีน และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศประชาธิปไตยด้วยกันถึงแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางเศรษฐกิจหรือถูกคุกคามทางการทหารจากจีน

ทางการจีนโต้ตอบไม่นานนักหลังจากที่มีการเลือกตั้งในไต้หวัน โดยระบุว่า "ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน" ขณะที่สำนักงานกิจการไต้หวันของทางการจีนก็เคยแถลงก่อนหน้านี้ว่าผลการเลือกตั้ง "ไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นกระแสหลักเกี่ยวกับเกาะไต้หวัน"

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนระบุอีกว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในไต้หวันก็ตาม ความจริงพื้นฐานที่ว่ามีจีนเพียงหนึ่งเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง" อีกทั้งยังระบุอีกว่าขอให้ประชาคมโลก "เคารพในหลักการจีนหนึ่งเดียว" และขอให้ต่อต้านเอกราชของไต้หวันซึ่งจีนอ้างว่าเป็น "การแบ่งแยกดินแดน"

พรรค DPP มีจุดยืนว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเองและต่อต้านคำกล่าวอ้างของจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพวกเขา ชัยชนะในครั้งนี้ยังทำให้คู่หูที่ลงสมัครเลือกตั้งร่วมกันกับไลชิงเต๋อคือ เชียว บีคิม (Hsiao Bi-khim) ผู้ที่เพิ่งจะเป็นทูตระดับสูงของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งไต้หวันระบุว่า ไลได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 40 ของทั้งหมด ขณะที่โหวโหย่วอี๋จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้รับตะแนนร้อยละ 33.49 ส่วนผู้แทนจากพรรคที่สามคือ เกอเวิ่นเจ้อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 26.45 โดยที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่า 14 ล้านคน ถือว่ามากกว่าร้อยละ 71 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

นอกจากเรื่องเอกราชของไต้หวันแล้วเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดียังแข่งขันกันในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตัวเองด้วย

คนเริ่มไม่เชื่อ DPP กับ KMT แต่เริ่มเทคะแนนให้พรรคที่สาม?

การเลือกตั้งในครั้งนี้ยังมีเรื่องที่น่าสังเกตอีกว่า มีผู้คนจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 โหวตให้ เกอเวิ่นเจ้อ ผู้แทนจากพรรคอันดับที่สามคือพรรค TPP ทำให้ถึงแม้ว่า TPP จะไม่ได้ชนะอีกสองพรรคแต่ก็มีผู้วิเคราะห์ว่า จำนวนคะแนนเสียงที่มากขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าชาวไต้หวันเริ่มไม่เชื่อใจสองพรรคเดิมที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดคือ DPP และ KMT

เกอเวิ่นเจ้อ (ใส่สูทตรงกลาง) ขณะหาเสียงร่วมกับ หลี่ มูหยาน (กระโปรงสีชมพู) ผู้สมัครสมาชิกสภานิติบัญญัติเขตที่หกเมืองเถาหยวน พรรคประชาชนไต้หวัน

ภาพจาก: เฟซบุ๊ก หลี่ มูหยาน
 

เกอเวิ่นเจ้อ ได้รับคะแนนโหวต 3.69 ล้านเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งนักวิเคราะห์ชาวมาเลเซีย มองว่าเป็นเพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึก "ไม่ไว้ใจ" พรรคใหญ่สองพรรค

Tan Seng Keat (陳承傑) ผู้จัดการฝ่ายวิจัยที่ศูนย์เมอร์เดกาเพื่อการวิจัยความคิดเห็นกล่าวว่า เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับผลการเลือกตั้งไต้หวันในครั้งนี้คือ มีคนรุ่นใหม่มากแค่ไหนที่โหวตสนับสนุนเกอ ซึ่งผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ในไต้หวันจำนวนมากที่โหวตให้เกอ เป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณให้เห็นถึง "ความไม่ไว้ใจที่คนรุ่นใหม่รู้สึกต่อพรรคใหญ่ที่มีมานานสองพรรคในไต้หวัน" เรื่องนี้ควรจะทำให้ทั้ง DPP และ KMT ตระหนักได้บ้าง

Lau Chin Kok (劉振國) สมาชิกอาวุโสของสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองมาเลเซีย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้คล้ายๆ กันว่า ในสายตาของคนรุ่นใหม่แล้ว พรรค TPP กลายเป็นทางเลือกนอกเหนือจากสองพรรคใหญ่เพราะมีวิธีการหาเสียงในแบบที่ "ยืดหยุ่นมากกว่า" ในขณะที่สองพรรคดั้งเดิมอย่าง DPP และ KMT ไม่ได้มียุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการดึงดูดคนรุ่นใหม่เลยและอาศัยวิธีการแบบเดิมๆ

ความคิดเห็นของนักวิเคราะห์สองคนนี้ตรงกับผลโพลก่อนหน้าการเลือกตั้ง ที่ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-40 ปี สนับสนุนเกอมากกว่าไลและโหวอย่างมีนัยสำคัญ

Shen Yu-chung (沈有忠) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยตงไห่ในไถจง กล่าวว่า เกอ ได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เคยโหวตให้กับไช่อิงเหวิน ผู้แทนพรรค DPP ในปี 2563 ด้วย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ล่าย ได่รับคะแนนโหวต 5.58 ล้านเสียงซึ่งน้อยกว่าที่ ไช่ เคยได้รับเมื่อ 4 ปีก่อนคือ 8.17 ล้านเสียง อีกทั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว TPP ได้รับคะแนนโหวตเพียง 1.58 ล้านเสียงเท่านั้น เทียบกับครั้งล่าสุดที่พวกเขาได้รับคือ 3.69 ล้านเสียง

ก่อนหน้านี้สื่อประชาไทก็เคยรายงานเกี่ยวกับเรื่องการที่ เกอเวิ่นเจ้อ มีวิธีการต่างๆ ในการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจ หนึ่งในนั้นคือการแสดงมิวสิกวิดีโอเพลงฮิปฮอป "Do Things Right" หรือ "ทำในสิ่งที่ถูก" ซึ่งในตอนนั้นเขายังดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงไทเปในปี 2562

Ian Chong (莊嘉穎) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของคโปร์กล่าวว่า การที่พรรค TPP ได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงเดิมของพรรค DPP สะท้อนให้เห็น "ความไม่พอใจต่อประเด็นภายในประเทศ" เช่นเรื่องค่าแรงน้อยและราคาที่อยู่อาศัยแพง และ "ไม่ค่อยเกี่ยวกับประเด็นสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่าไหร่"

Chong บอกว่า "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไต้หวันเริ่มรับรู้แล้วว่า การกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่จะเกิดขึ้นโดยตลอดอย่างแน่นอน ไม่ว่าพวกเขา(ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ตามมันก็ส่งผลน้อยมาก ไม่ว่าจะอย่างไรจีนก็จะพยายามบีบบังคับให้ไต้หวันยอมรับการครอบงำของจีนอยู่ดี"

นอกจากนี้ DPP ยังได้รับที่นั่งในสภาลดลงจากเดิม 10 ที่นั่งด้วยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง 4 ปีที่แล้ว ซึ่ง Chong บอกว่าครั้งที่แล้ว DPP ทำได้ดีกว่ามาก อย่างไรก็ตามการที่ในครั้งนี้ไม่มีพรรคใดเลยที่ได้เสียงข้างมากเกินครึ่งในสภา ทำให้ Chong มองว่า พรรค DPP จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการผลักดันประเด็นต่างๆ ที่พรรค TPP อาจจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในสภาได้

ถึงกระนั้นเอง Chong ก็บอกว่าตอนนี้ก็ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า TPP จะทำงานร่วมกับใครเพราะ TPP ยังคงมีจุดยืนไม่ชัดเจนในหลายประเด็น

ได้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกที่เปิดตัวว่าเป็นชาว LGBTQ+

การเลือกตั้งในครั้งนี้ยังทำให้ไต้หวันได้ ส.ส. จากการเลือกตั้งคนแรกที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ คือ หวงเจี๋ย ผู้สมัครอายุ 30 ปีจากพรรค DPP ที่ชนะที่นั่งเขต 6 ของเกาสงได้ ด้วยคะแนน 113,670 เสียง คิดเป็นร้อยละ 51 เทียบกับคู่แข่งของเธอที่ได้คะแนนเสียง 93,750 เสียง คิดเป็นร้อยละ 42

นอกจากหวงเจี๋ยแล้ว มีผู้สมัครอีกรายหนึ่งชื่อเหมียวป๋อหย่าจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่เปิดตัวว่าเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศลงชิงตำแหน่ง ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้

หวงบอกว่าเธอเคยเผชิญกับการถูกโจมตีเพราะเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศมาก่อน ทำให้เธอเล็งเห็นว่าสังคมไต้หวันยังคงต้องการความก้าวหน้ามากขึ้นในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคสำหรับทุกคน และหวังว่าเธอจะใช้การมีส่วนร่วมทางการเมืองในการส่งเสริมเรื่องนี้ได้

"แก่นแท้ของความรักนั้นคือความเข้าใจ มันไม่ใช่อะไรที่คุณจะสามารถควบคุมหรือบังคับกันได้" หวงเจี๋ยกล่าว เธอบอกอีกว่าขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการ "แพร่กระจายความหวาดกลัวและข่าวปลอม"

"การศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่เคยมีเป้าหมายว่าจะปลูกฝังให้คนหันมารักเพศเดียวกัน การสอนเด็กๆ เกี่ยวกับชุมชนความหลากหลายทางเพศไม่ได้จะทำให้ลูกหลานของคุณหลายเป็นคนรักเพศเดียวกัน" หวงเจี๋ยกล่าว

เรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net