Skip to main content
sharethis

ออสเตรเลีย อังกฤษ และไต้หวัน เตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังเวลาเดินทางไปฮ่องกง หลังจากที่มีการผ่านร่างกฎหมายมาตรา 23 หรือ "กฎหมายพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติ" เพราะกฎหมายดังกล่าวมีการนิยาม "กำกวม" ตีความ "ได้กว้าง" และมีโทษหนัก ด้านฮ่องกง ตอบโต้เป็นการ "ปล่อยข่าวสร้างความตื่นกลัว"


สืบเนื่องจากไม่นานมานี้ ทางการฮ่องกงออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ มาตรา 23 ที่แยกต่างหากจากกฎหมายความมั่นคงของจีน ซึ่งเป็นการเน้นให้อำนาจในการคุมขังก่อนการดำเนินคดีต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่า เป็นกบฏ, ก่อจลาจล, บ่อนทำลายรัฐ, แทรกแซงจากต่างชาติ, ยุยงปลุกปั่น และจารกรรมความลับทางราชการ

ก่อนหน้านี้กฎหมายความมั่นคงที่ร่างเองจากฮ่องกง หรือมาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐานฮ่องกง เคยถูกต่อต้านอย่างหนักในการประท้วงเมื่อปี 2546 จนทำให้พับไป และกลายเป็นร่างกฎหมายต้องห้ามมาจนกระทั่งถึงปี 2567 ถึงได้มีการเร่งกระบวนการผ่านร่างในสำเร็จในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงชุดปัจจุบันที่ไร้ฝ่ายค้าน และเป็นสภาที่ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลจีน

กฎหมายดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศตะวันตก และสหประชาชาติ ว่าเป็นกฎหมายที่มีความกำกวม กินความได้กว้าง และมีลักษณะ "กดขี่ปราบปราม" แต่ทางการฮ่องกง อ้างว่ามีการแทรกแซงจากต่างชาติอย่างเห็นได้ชัด และอ้างเรื่องอำนาจหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญในการที่จะ "อุดช่องโหว่" หลังจากที่มีการประท้วงและความวุ่นวายเกิดขึ้นในปี 2562

หลังมีการผ่านกฎหมายมาตรา 23 หลายประเทศก็ออกประกาศเตือนประชาชนที่จะเดินทางไปยังฮ่องกง แต่เจ้าหน้าที่ทางการฮ่องกงก็แถลงประณามประเทศที่ออกประกาศเหล่านี้ โดยอ้างว่าประกาศเตือนดังกล่าวเป็น "อุบายทางการเมือง" และเป็น "การปล่อยข่าวสร้างความตื่นกลัว"

ประเทศที่ทำการประกาศเตือนดังกล่าว คือ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ พวกเขาระบุว่า ผู้ที่จะเดินทางไปที่ฮ่องกงหลังจากที่มี "กฎหมายพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติ" หรือมาตรา 23 ออกมาบังคับใช้ อาจจะทำให้ผู้เดินทางเยือนฮ่องกงมีความเสี่ยงมากขึ้นและอาจจะเผลอฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้ "โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ"

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางการออสเตรเลียได้ปรับข้อมูลคำแนะนำการเดินทางไปยังฮ่องกงว่าควรจะต้องใช้ "ความระมัดระวังอย่างมาก" คำเตือนระบุว่า ฮ่องกงมี "กฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวด" ซึ่งอาจจะ "ถูกตีความได้อย่างกว้าง"

คำเตือนจากทางการออสเตรเลีย ระบุว่า "คุณอาจจะเผลอฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ และถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา และถูกปฏิเสธไม่ให้พบกับทนายได้"

ทางการอังกฤษ เตือนว่า กฎหมายดังกล่าวของฮ่องกง "อาจจะถูกตีความได้อย่างกว้าง และข้อกล่าวหาบางข้ออาจจะนำไปสู่การลงโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิตได้ ทั้งปัจเจกบุคคลและองค์กรต่างก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งได้ทั้งสิ้น"

ทูตไต้หวัน ไช่หมิงเอี้ยน ก็กล่าวเตือนประชาชนของตนเอง ให้คอยระมัดระวังความปลอดภัยของตนเองเวลาที่เดินทางในฮ่องกง และเตือนให้พวกเขาคอยเช็กตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า พวกเขาได้พูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนหรือไม่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทางการไต้หวัน ยังเตือนอีกว่า ข้อหากบฏและข้อหาจารกรรมมีโทษ "หนักมาก" และนิยามคำว่ากิจกรรมที่ผิดกฎหมายในกฎหมายฉบับใหม่นั้น "มีความคลุมเครือมาก"

โฆษกของรัฐบาลฮ่องกง กล่าวปกป้องกฎหมายภายใต้มาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐานฮ่องกงว่ามีการวางเงื่อนไขอย่างแม่นยำและมีบทลงโทษที่นิยามอย่างชัดเจน นักเดินทางโดยทั่วไปจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการกระทำและกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอยู่แล้ว และจะไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ "โดยไม่ได้ตั้งใจ"

รัฐบาลฮ่องกง ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาเป็นภาษาอังกฤษว่า "ทางรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ขอประณามอย่างหนักต่ออุบายทางการเมืองที่บิดเบี้ยว, บิดเบือนข้อเท็จจริง, ปล่อยข่าวสร้างความตื่นกลัว และแสดงความคิดเห็นในแบบที่แพร่กระจายความตื่นตระหนก"

ทางการฮ่องกง ระบุอีกว่า การจำกัดไม่ให้สามารถเข้าถึงทนายความได้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปตามหลักกฎหมายของสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และสหภาพยุโรป รวมถึงอ้างว่าการจำกัดการเข้าถึงทนายความจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมของจำเลย

รัฐบาลฮ่องกง ระบุอีกว่า กฎหมายใหม่ของพวกเขาให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ละเลยตัวบทกฎหมายเหล่านี้ "แสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ถึงเจตนาร้ายที่ต้องการทำลายฮ่องกง"

"มีเพียงผู้รุกรานที่ต้องการบุกรุกเข้ามาในบ้านของพวกเราแล้วปล้มสะดมพวกเราเท่านั้นที่จะไม่ต้องการให้ฮ่องกงออกกฎหมายพิทักษ์ประเทศของตัวเอง"

 

เรียบเรียงจาก

Security law: Australia, UK, Taiwan urge travellers to exercise caution in Hong Kong, as gov’t blasts ‘scaremongering, Hong Kong Free Press, 25-03-2024
https://hongkongfp.com/2024/03/25/security-law-australia-uk-taiwan-urge-travellers-to-exercise-caution-in-hong-kong-as-govt-blasts-scaremongering/

ARTICLE 23: HONG KONG’S HOMEGROWN SECURITY LAW, Hong Kong Free Press,
https://hongkongfp.com/article23-security-law/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net