Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเสนอข้อเรียกร้องในวันแรงงาน 16 ข้อ ต่อรัฐบาลเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมคุณค่าต่อการทำงานและความคุ้มครองคนทำงานทุกสาขาอาชีพ รัฐต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่ศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มอาชีพ เช่น บาริสต้า sex worker ไรเดอร์ แรงงานรับจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 16 ข้อ ให้แก่ตัวแทนหน่วยภาครัฐ อาทิ แรงงานจังหวัด ประกันสังคม จัดหางาน และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

โดย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือชี้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ของคนทำงานยังไม่เข้าใกล้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาทิ ปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ละเมิดสิทธิแรงงานโดยอาศัยวิกฤติโรคระบาดเป็นข้ออ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน, การไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ, การไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดวันลา, ทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจและไม่ได้ค่าตอบแทนตามกฎหมายกำหนด, มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, นายจ้างละเมิดสัญญาจ้างงาน, รวมถึงไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 

ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้เสนอ #ข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล #2566 ดังนี้

1. รัฐต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น และแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน 

2. รัฐต้องกำหนดให้แรงงานที่เป็นลูกจ้างในทุกกิจการต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้น และผู้ประกันตนทุกคนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกข้อได้ทันที โดยปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมอย่างเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้ 

2.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

2.2 ปรับแก้เงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  

2.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

2.4 กำหนดเพิ่มเติมให้แรงงานข้ามชาติสามารถลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และสามารถเป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมได้

3. รัฐต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงาน และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ + 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ 

4. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้

4.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัวจัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน 

4.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ  เพื่อส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองลูกจ้างแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้านที่ทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน

4.3 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยเรื่องการรับงานไปทำที่บ้าน 

5. รัฐต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10 ปีที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ โดยให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนกับประเด็นดังต่อไปนี้ 

5.1 แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานได้ด้วยตนเองได้โดยไม่มีการปิดกั้นและดำเนินการได้ตลอดทั้งปี โดยกำหนดระเบียบขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่ไม่ซับซ้อน ใช้เอกสารและค่าใช้จ่ายน้อย และมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ที่เปิดให้บริการตลอดทั้งปี เพื่อลดการพึ่งพานายจ้างและนายหน้าซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของการขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติได้

5.2 รัฐต้องกำหนดกลไกหรือมาตรการที่ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอาศัยอยู่ในประเทศของแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิและการปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ 

5.3 กำหนดบทลงโทษนายหน้าหรือนายจ้างที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด

5.4 กำหนดระยะเวลาของใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติและการต่อวีซ่าให้สอดคล้องกับอายุของหนังสือเดินทาง หรือเอกสารบุคคลของแรงงานข้ามชาติ 

5.5 ขยายอายุการจ้างแรงงานข้ามชาติจนถึงอายุ 60 ปี และขยายการเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพตามอายุการจ้างงาน

5.6 แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้ตามทักษะความสามารถ และวุฒิการศึกษา การอนุญาตทำงานมีความยืดหยุ่น ไม่จำกัดประเภทงาน และไม่ต้องขึ้นอยู่กับนายจ้างเพียงคนเดียว โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานกับนายจ้างอื่นนอกเวลาทำงานที่ระบุตามใบอนุญาตทำงานได้ เช่น แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรสามารถทำงานไปก่อสร้างในช่วงระหว่างการดูแลรักษาเพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือแรงงานก่อสร้างสามารถไปทำงานเป็นลูกจ้างในตลาดได้ระหว่างที่นายจ้างกำลังหางานก่อสร้างแห่งใหม่

5.7 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ โดยการปรับอัตราค่าประกันสุขภาพผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นอัตรา 365 บาท/ปี/คน เนื่องจากยังมีสถานะเป็นเด็กเยาวชนและไม่มีรายได้ และต้องเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่จำกัดเพียงสถานพยาบาลที่ระบุในบัตรประกันสุขภาพ โดยแรงงานข้ามชาติต้องไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนการรักษา และได้รับการรักษาโดยไม่บ่ายเบี่ยง

5.8 ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางท้องถนนซึ่งสามารถป้องกันได้และเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น โดยกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอใบขับขี่และต่อใบขับขี่ได้อย่างสะดวก ใช้เอกสาร และระยะเวลาดำเนินการสั้น

5.9 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียมและต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนระหว่างประเทศไทย – เมียนมาร์ที่ชัดเจน

5.10 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ถูกจับปรับหรือคุมขังโดยอำเภอใจ และไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน

5.11 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการปรับสถานะบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสร้างมาตรการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาสั้น และโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

6. รัฐต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

7. รัฐต้องส่งเสริมการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานโดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ความพิการ และอายุ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องจัดการอบรม การทดสอบ และออกหนังสือรับรองสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมและผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานทุกคน เพื่อให้แรงงานสามารถนำมาใช้ยื่นขอปรับเพิ่มค่าจ้างจากนายจ้าง และรัฐต้องมีกลไกตรวจสอบว่านายจ้างได้มีการสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานและปรับขึ้นค่าจ้างตามความสามารถตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ความพิการ และอายุ

8. รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับแรงงานทุกภาคส่วน โดยการสร้างระบบบริการพื้นฐานถ้วนหน้า ได้แก่ การจัดให้มีขนส่งสาธารณะพื้นฐาน รถไฟทุกอำเภอ รถเมล์ทุกตำบล ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องแบกรับ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ สำหรับการกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ ที่สามารถเข้าถึงง่าย และครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ และสวัสดิการอื่นๆที่จะทำให้แรงงานทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

9. รัฐต้องส่งเสริมให้นายจ้างและสถานประกอบการให้ความสำคัญกับสวัสดิการแรงงาน โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กในสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่เด็กเยาวชนลูกแรงงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ

10. รัฐต้องกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยของแรงงานแต่ละอาชีพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงานเป็นสำคัญ หน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบต้องไม่เน้นเพียงเฉพาะอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น และต้องมีกลไกการร้องเรียนหากนายจ้างใช้แรงงานนอกเหนือจากสัญญาจ้างแรงงานและกำหนดบทลงโทษ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานทุกภาคส่วนจะได้รับความคุ้มครองและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ  อาชีพแพทย์ต้องทำงานไม่เกิน 60 ชม.ต่อสัปดาห์ แรงงานสร้างสรรค์ต้องได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์หรือ 32 ชั่วโมง แรงงานทำงานบ้านมีเวลาการทำงานและหน้าที่ที่ชัดเจน 

11. รัฐต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 

12. รัฐต้องส่งเสริมสิทธิสุขภาพของแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดสวัสดิการการผ่าตัดแปลงเพศฟรี การลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศถือเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง 

13. รัฐต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากการคุกคาม ทำร้ายร่างกาย หรือถูกกระทำรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) และการเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ (Grooming) และเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด

14. รัฐธรรมนูญต้องระบุคำว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ อาทิ การเข้าถึงกองทุนและการสนับสนุนของรัฐ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 

15. รัฐต้องสนับสนุนพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และยกเลิกระเบียบที่ละเมิดสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยใช้ระบบสมัครใจ การไม่รับบริจาคเลือดจากผู้มีความหลากหลายทางเพศของสภากาชาด

16. รัฐต้องกำหนดมาตรการที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ทำงานประเภทไม่เต็มเวลาหรืออยู่ในระหว่างฝึกงานตามหลักสูตร ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และได้รับความคุ้มครองในฐานะแรงงานโดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
 

 

ก่อนที่ในช่วงเย็นเวลา 17.00 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจะได้จัดกิจกรรม "เราทุกคน=แรงงาน" เนื่องในวันแรงงานสากล (International Workers' Day) หรือวัน May Day ขึ้นที่ลาน Le Dta'Wan market Street Food Chiangmai หรือ ตลาดเลอตะวันมาร์เก็ต (ตรงข้ามพันธ์ทิพย์เชียงใหม่) เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของชนชั้นแรงงาน เริ่มต้นจากการรำลึกถึงเหตุการณ์การนัดหยุดงานที่สหรัฐฯ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1886 ขบวนการแรงงานในอเมริกาได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องต่อชนชั้นนายทุน เรื่องการทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และทำสิ่งที่อยากทำ 8 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า ระบบ 888 ในปัจจุบัน หลังจากนั้นการเฉลิมฉลองถึงการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน จึงเกิดขึ้นในวัน May Day ของทุกๆ ปี 

ภายในงานมีกิจกรรมการเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากลจากตลาดเลอตะวันมาร์เก็ตสถานที่จัดงานไปยังวนรอบคูเมือง ก่อนที่ตัวแทนแรงงาน 4 จากกลุ่มอาชีพ อาทิ แรงงานก่อสร้าง เยาวชนลูกหลานแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ ไรเดอร์ จะขึ้นมาปราศรัยปัญหาในการทำงานแรงงานของตน ต่อด้วย Ted Talk จากเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์ประจำาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ขึ้นมาพูดถึงการตั้งสหภาพแรงงานอาจารย์ที่ไม่เคยขึ้นได้จริงในสังคมไทย และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องของแรงงานเพื่อให้มีรัฐสวัสดิการเกิดขึ้น

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ

หลังจากนั้นมีการยื่นข้อเสนอทั้ง 16 ข้อของแรงงานต่อพรรคพรรคการเมือง พร้อมทั้งอ่านคำประกาศเนื่องในวันกรรมกรสากล 2566 ดังนี้

สวัสดีเพื่อนผองผู้ใช้แรงงานทุกรูปแบบ เป็นเรื่องราวซึ่งดีมาก ที่พวกเรามายืนร่วมกันได้ในพื้นที่นี่ เรามาเพื่อจะประกาศให้โลกรู้ว่า พวกเราทุกคน ทุกคนที่ดู อ่าน หรือเผอิญมาเห็น เราล้วนกำลังเจอปัญหาร่วมกัน ปัญหาเกิดมาจากระบบเศรษฐกิจซึ่งสร้างและมุ่งเน้นชีวิตที่ดีของกลุ่มมนุษย์หนึ่งเปอร์เซ็น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือกลุ่มคนที่มีฐานะการเงินสูงชะลูด พวกเขาเหล่านั้นสร้างปัญหามากมายให้กับพวกเรา กลายเป็นแรงงาน 99% 


พวกเขาที่มีอำนาจทางการเมืองร่วมมือกับพวกเขาที่มีอำนาจทางการเงิน จับมือกันออกกฎหมายเพื่ออวยพรให้พวกเขากันเอง พวกเขาใช้แรงงานของพวกเราและรับกำไรที่พวกเราสร้างขึ้นมา กฎหมายที่สร้างเงื่อนไขต่างๆ ทำให้พวกเรารวมตัวกันได้ยากเย็นแสนเข็ญ กฎหมายที่ปฏิเสธเพื่อนผู้ใช้แรงงานซึ่งมาจากนอกเขตแดนประเทศไทย กฎหมายที่ปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างกับเพื่อนที่ทำงานแต่มีสถานะนักเรียนและนักศึกษา กฎหมายที่ปฏิเสธงานในรูปแบบต่างๆ เช่น ไรเดอร์ sex worker กฎหมายที่ทำให้รายได้ของเราต่ำเตี่ยเรี่ยดิน และกฎหมายจากกลุ่มคนหนึ่งเปอร์เซ็นอีกมากมาย


เรามาในครั้งนี้ ไม่ได้เพื่อจะร้องขอ เรามาเพื่อจะบอกให้รู้ แจ้งให้ทราบ ว่าหลังจากนี้พวกเราจะรวมตัวกัน รวมตัวกันและตะโกนไปพร้อมๆ กัน ว่าเราจะต้องได้ชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีจากสวัสดิการสาธารณะสุข ขนส่งสาธารณะ สวัสดิการการศึกษา และสวัสดิการอื่นๆ ที่พวกเราต้องได้รับโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพวกเราคือผู้สร้างความมั่งคั่ง และต้องได้รับมันร่วมกันอย่างแท้จริง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net