Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จริงๆ แล้วพระข้างบ้านเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะเป็นเถรวาทแต่พวกเขาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ มหานิกายและธรรมยุต ซีรีส์ “สาธุ” ได้สะท้อนให้เห็นความแตกต่างและรอยร้าวระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างชัดเจนผ่านตัวละคร “หลวงพี่ดล” ซึ่งภาพความขัดเเย้งรุนเเรงถึงขั้นแสดงความรังเกียจและรุมทำร้ายพระต่างนิกายด้วย การทำความเข้าใจเรื่องนี้จะช่วยให้เราเข้าใจพุทธแบบไทยๆ มากยิ่งขึ้น

เกิดธรรมยุต จึงเกิดมหานิกาย
ซีรีส์ “สาธุ” เลี่ยงที่จะใช้คำว่า มหานิกายกับธรรมยุต แต่ไปใช้คำว่า พระสายบ้านและพระสายป่า แทน “หลวงพี่ดล” พระจากธรรมยุตผู้ห่มจีวรสีน้ำตาลเข้ม เปลี่ยนมาเป็นพระมหานิกายคือห่มจีวรสีส้ม โดยผ่านพิธีกรรมการบวชใหม่ในโบสถ์ของมหานิกายและท่วงทำนองการสวดแบบมหานิกาย เมื่อออกจากโบสถ์ ก็มีคนตั้งเเถวเอาซองปัจจัย (เงิน) ใส่ย่ามให้ นี่เป็นสัญลักษณ์ของมหานิกาย ผู้ที่ถูกพระธรรมยุตมองว่าไม่บริสุทธิ์ ผิดศีล เพราะพระที่ดีแบบที่ธรรมยุตตีความจะต้องไม่จับเงิน (ด้วยตนเอง แต่ไม่มีปัญหาหากมีผู้อื่นรับเเทนให้)

ในอดีตแม้พระไทยจะมีหลายกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้แบ่งชัดเจนแบบนิตินัย จนวชิรญาณภิกขุ (ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ร.4) ได้รับเอาวัตรปฏิบัติแบบมอญในปี พ.ศ. 2368 และตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นในปี 2379 ด้วยเหตุผลว่า พระจำนวนมากไม่เคร่งและพิธีกรรมก็ไม่ตรงกับพระไตรปิฎก เช่น การสวดต้องออกเสียงอักขระตามภาษาบาลี (มคธ) หรือต้องระบุชื่อนาคและอุปัชฌาย์ให้ชัด ฯลฯ เพราะพิธีกรรมไม่สมบูรณ์ พระจำนวนมากจึงไม่ใช่พระที่สมบูรณ์ ฉะนั้น หากพระรูปใดจะเข้าเป็นสมาชิกของธรรมยุต ก็จะได้รับการสวดญัตติ (ทัฬหีกรรม) ใหม่

เมื่อเกิดพระกลุ่มใหม่ขึ้นโดยเรียกตนเองว่าเป็น “ธรรมยุต” ซึ่งหมายถึง “ผู้ประกอบด้วยธรรม หรือดำเนินตามหลักธรรมวินัย” พระอีกกลุ่มซึ่งมีจำนวนมากกว่าและดำรงมาตั้งแต่เดิมจึงถูกเรียกว่า “มหานิกาย” หมายถึง “พระกลุ่มใหญ่”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2559) อธิบายว่า ธรรมยุตไม่ได้ต่างจากมหานิกายเพราะเคร่งครัดเรื่องวินัยเท่านั้น แต่มีการตีความธรรมะที่ต่างออกไปด้วย วชิรญาณภิกขุเองเห็นว่าคำสอนหลายอย่างที่มาจากคัมภีร์รุ่นหลังเน้นแต่นิทาน ถูกเอามาสอนเพื่อลาภสักการะ ท่านจึงให้กลับไปหาพระไตรปิฎกที่มีเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เข้าถึงนิพพานได้ แน่นอนว่า ธรรมยุตในรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วง ร. 5-6 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ อิสรภาพและความก้าวหน้าในการตีความธรรมะที่แตกต่างไปจึงไม่ค่อยปรากฎ

รอยร้าวของพระสองกลุ่ม
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 121 (พ.ศ.2445) ออกแบบให้รวมศูนย์อำนาจการปกครองแบบมหาเถรสมาคม ในสายตาของพระฝ่ายมหานิกายจำนวนมากมองว่า พระธรรมยุตมีอภิสิทธิมากกว่า คือไม่ต้องขึ้นกับเจ้าคณะท้องถิ่นที่เป็นมหานิกาย ให้ขึ้นตรงต่อเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต และหากเกิดคดีความเกี่ยวกับการประพฤติผิดวินัยสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุตให้จัดการกันเอง แต่พระมหานิกายจะถูกพิจารณาผ่านมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสังฆราชเป็นธรรมยุต การเเต่งตั้งเจ้าคณะมณฑลครั้งแรก (2445) จำนวน 15 รูป มีเพียง 5 รูปที่เป็นมหานิกาย อีก 9 รูปเป็นธรรมยุต (พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ, 2561, น. 91-93) ทั้งที่จำนวนพระของมหานิกายมีมากกว่า

ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (2565, น. 1) ระบุว่า วัดไทยมีทั้งหมด 43,305 วัด เป็นมหานิกาย 38,793 และธรรมยุต 4,473 (จีนนิกาย 16 และอนัมนิกาย 23) ทั้งนี้ ในหนังสือ “เเถลงการณ์คณะสงฆ์” (พระยาเมธาธิบดี, 2457, น. 71) ระบุว่า การปกครองของธรรมยุต “ได้รับพรพิเศษ” หรืออภิสิทธิ์ให้ปกครองกันเองมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 (ไม่ใช่เพิ่มมีตอน ร.5) ความไม่พอใจนี้ส่งผลให้พระฝ่ายมหานิกายเรียกร้องให้คณะราษฎรช่วยจัดการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และสุดท้ายก็ได้ พรบ.สงฆ์ 2484 มา  

ตรังเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีธรรมยุตมาจนถึงปี พ.ศ. 2565 เพิ่งมีการรับรองวัดโดยขึ้นตรงกับเจ้าคณะจังหวัดธรรมยุตซึ่งรวมเอาตรัง กระบี่และภูเก็ตเข้าด้วยกัน (มหาเถรสมาคม, 2565) ผมได้ยินจากพระหลายรูปมาตั้งเเต่บวชเณรตอนปี 2543 ว่า เพราะจังหวัดนี้มีพระผู้ใหญ่ของมหานิกายที่เข้มเเข็งอย่างมากในการปฏิเสธไม่ให้มีธรรมยุต เพราะมองว่า ธรรมเนียมการปฏิบัติของธรรมยุตจะสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ

ไม่ใช่พระฝ่ายธรรมยุตเท่านั้นที่ดูจะได้เปรียบในด้านการปกครองเพราะใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในต่างจังหวัด พระฝ่ายมหานิกายก็มีวิธีต่อสู้หรือกีดกันธรรมยุตเช่นกัน นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่ได้ราบรื่นมา แต่หลักๆ แล้วพวกเขาเเค่แยกกันอยู่ จะร่วมกันทำงานบ้างก็เรื่องการเรียนบาลี นักธรรม การปกครองส่วนบนในฐานะกรรมการมหาเถรฯ และงานพระราชพิธี

พระสองรูปอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
สมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามมีความพยายามหลอมรวมทั้งสองนิกายเข้าด้วยกัน ด้วยการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) ขึ้นในปี 2483 ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” และงานอุปสมบทของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2484 มีการนิมนต์พระสงฆ์ร่วมสังฆกรรมจากทั้งสองนิกาย (ศิลปวัฒนธรรม, 2565) ทั้งยังมีการนิมนต์พระ 24 รูป จากทั้งสองฝ่ายมาจำพรรษาที่วัดใหม่นี้ เเต่น่าเสียดายที่ต่อมาพระมหานิกายก็ย้ายออกไป เหลือแต่พระธรรมยุตและวัดก็กลายเป็นของธรรมยุตจนปัจจุบัน

ภาวะที่พระสองนิกายนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ พบได้ในหลายที่ เช่น ช่วงปี 2512 มีการส่งพระธรรมทูตไทยไปช่วยงานที่อินโดนีเซีย ตอนนั้นสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตเป็นการจัดโครงการร่วมกันของทั้งสองนิกาย พระ 4 รูป ที่เดินทางไปอินโดฯ ก็เป็นธรรมยุตและมหานิกายอย่างละ 2 รูป แต่สักพักพระฝ่ายมหานิกายก็กลับไทยหมด จึงเหลือแต่ธรรมยุต ปัจจุบันพระธรรมทูตไทยในอินโดฯ จึงมีแต่ธรรมยุต เราไม่ทราบชัดว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร แต่สันนิษฐานได้ว่า เพราะพระมหานิกายถูกมองว่าไม่เคร่ง สิ่งนี้พบได้บ่อยในไทย ที่ธรรมยุตมักไม่อนุญาตให้มหานิกายเข้าร่วมสังฆกรรม เช่น ฟังปาฏิโมกข์

ปี 2556 ผมเป็นพระมหานิกาย ไปขอปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำผาปล่อง (เชียงดาว) ทางวัดให้การต้อนรับดีเหมือนพระธรรมยุตรูปอื่นๆ นั่งฉันอาหารก็เรียงตามลำดับพรรษาโดยไม่รังเกียจเรื่องนิกาย (เพื่อนหลายคนเล่าว่า บางที่เขาให้ไปนั่งลำดับสุดท้าย ถือว่าต่ำกว่าพระธรรมยุตทั้งหมด แต่สูงกว่าเณร) อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงพิธีฟังปาฏิโมกข์ พระหัวหน้าบอกให้ผมรออยู่ข้างนอก เมื่อพิธีกรรมเสร็จก็ให้ผมมาบอกบริสุทธิ์ (คือกล่าวคำบาลีสั้นๆ ว่าผมไม่ได้ทำผิดศีลข้อไหน)

ในต่างประเทศอาจเปิดกว้างเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ผมทำวิจัยในอินโดฯ และอยู่ร่วมกับพระธรรมยุตในปี 2559 ผมได้รับอนุญาตให้ปลงอาบัติแบบธรรมยุตและนั่งฟังปาฏิโมกข์ด้วยกันได้ อาจเพราะในต่างประเทศห่างไกลสายตาและอำนาจของธรรมยุตส่วนกลาง และเพราะต้องเคารพหัวหน้าคณะสงฆ์ เมื่อหัวหน้าไม่มีปัญหา พระรูปอื่นๆ จึงไม่ได้ว่าอะไรด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพระที่ไม่สบายใจกับการที่ผมเข้าร่วม ท่านเข้ามาคุยกับผมเรื่องนิกายและชี้ให้เห็นข้อดีของธรรมยุต ท่านไม่ได้พูดตรงๆ แต่ผมก็รู้สึกไปว่า ท่านคงปรารถนาให้ผมญัตติใหม่ในธรรมยุต เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันเวลาทำสังฆกรรม

หลวงพี่ยอด อดีตนักศึกษา ม.ฮ่องกง เห็นว่า ถ้าประเทศไหนที่พระธรรมยุตไปเติบโตก่อน พระมหานิกายอาจเติบโตยาก เพราะชาวบ้านเขาจะมีมาตรฐานวินัยที่ใช้วัดพระ เช่น พระตัดหญ้าไม่ได้ จับเงินไม่ได้ กลายเป็นว่าพระมหานิกายที่ตัดหญ้า จัดสวน รับเงินก็จะถูกมองในแง่ลบและไม่น่าศรัทธา

แม้พระเคร่งจะเข้าไปทีหลังก็ส่งผลกระทบอยู่ เช่นกรณีของวัด Mahasampatti สุมาตราเหนือ ซึ่งก่อในปี 2537 โดยพระสงฆ์เถรวาทอินโดฯ (STI) ต้นกำเนิดของพวกเขาเป็นธรรมยุตจากวัดบวรฯ ก็ไม่ได้เคร่งมาก มีการรับเงินเป็นปกติ แต่ช่วงปี 2559 มีพระอินโดฯ ที่บวชจากพม่ากับสายที่เคร่งวินัยมากเข้าไปอยู่ ทำให้พระวัดข้างๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย คือชาวบ้านเปรียบเทียบว่าทำไมพระวัดอื่นๆ รับเงิน ขณะที่พระวัด Mahasampatti ทำตามวินัยพระอย่างสมบูรณ์

ซีรีส์ “สาธุ” เผยให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองนิกายนี้อย่างชัด แต่ในความเป็นจริงคือ คงไม่ถึงขั้นที่พระธรรมยุตต้องให้เด็กวัดรุมซ้อมพระมหานิกาย พวกเขาอาจจะเเค่ต่างคนต่างอยู่ หรือหากต้องมีปฏิสัมพันธ์กันก็มีได้เท่าที่จำเป็น เพื่อนที่เป็นธรรมยุตเล่าว่า พวกเขาไม่สามารถไปร่วมงานปริวาสกรรมกับมหานิกายได้ ปัญหาไม่ใช่เพราะทำพิธีกรรมต่างกัน แต่เพราะมีการลงทะเบียนและตรวจหนังสือสุทธิของพระ ซึ่งพระฝ่ายมหานิกายอาจไม่มีปัญหา แต่หากผู้ปกครองฝ่ายธรรมยุตรับทราบเข้า เขาอาจถูกตัดเตือนหรือลงโทษ  

หากพยายามจะทำความเข้าใจความรู้สึกของหลวงพ่อคนใต้ในซีรีส์ ก็เข้าใจได้ว่า ท่านคงผิดหวังที่พระดลเคยเป็นธรรมยุตมาก่อน เป็นตัวแทนของนิกาย โด่งดังในการสอนธรรมะ แต่วันหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นมหานิกาย ไม่ใช่เเค่นิกายที่ธรรมยุตดูหมิ่นว่าต่ำต้อยกว่า แต่การที่คนดังๆ ทำแบบนั้นเท่ากับทำลายภาพลักษณ์ของธรรมยุตด้วยว่าอาจไม่ดีพอ คงคล้ายกับการที่คนเก่งเปลี่ยนศาสนาและยังมีบทบาทตามสื่อ ก็เหมือนทำลายภาพลักษณ์ศาสนาเดิมของเขาไปด้วย

 

ขอบคุณ พระมหาสุดสาคร สุมุรยญาโณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับธรรมยุต
และขอบคุณภาพจาก https://www.gqthailand.com

 


อ้างอิง
ธรรมยุต. (2024). การก่อตั้ง. เข้าถึงจาก https://dhammayut.org/history/.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2559). ธรรมยุตของธรรมยุต. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559. เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_12431.

พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับคณะสงฆ์มหานิกายในสังคมไทยยุคต้นกำเนิดประชาธิปไตย (พ.ศ. 2475-2484). วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 1(2): 89-102. เข้าถึงจาก https://t.ly/fd7vz.

พระยาเมธาธิบดี. (2457). เเถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ 2 พ.ศ. 2457. รวบรวมโดยรับสั่งสมเด็จพระมหาสมณะ. เข้าถึงจาก https://t.ly/iPaXJ.

มหาเถรสมาคม. (2565). มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 23/2565 เรื่อง ขออนุมัติแบ่งเขตปกครองคณะสงฆ์คณะธรรมยุต ระดับจังหวัด. เข้าถึงจาก https://www.mahathera.org/index.php?url=mati&id=11643.

ศิลปวัฒนธรรม. (2565). ผ่างานอุปสมบท พระยาพหลพลพยุหเสนา การ “หลอมนิกาย” งานสงฆ์ครั้งใหญ่ยุคคณะราษฎร. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40979.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2565). ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา 2565
https://www.onab.go.th/th/ebook/category/detail/id/4/iid/164.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net