Skip to main content
sharethis

งานศึกษาในต่างประเทศพบว่ารูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม 9.00-17.00 น. แบบดั้งเดิม ดีต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้การมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอนนำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

การทำงานกะดึกตอนที่ยังอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวอาจดูไม่ใช่เรื่องที่แย่นัก เมื่อวัยหนุ่มสาวและเต็มไปด้วยพลัง แถมช่วงเวลางานยังทำให้เรามีเวลาว่างระหว่างวันอีกเพียบ - มีอะไรจะเสียล่ะ? แต่งานวิจัยใหม่ล่าสุดค้นพบว่า กะดึกและตารางการทำงานที่ไม่แน่นอนเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า  

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กพบว่า "ตารางการทำงานที่ไม่แน่นอน" ในช่วงวัย 20 ปี ของคุณ อาจจะนำไปสู่ปัญหาด้านการนอนหลับ สุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ และปัญหาด้านสุขภาพจิต เมื่ออายุ 50 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น  ยังพบอีกว่ารูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม 9.00-17.00 น. เอื้อต่อสุขภาพมากที่สุดในช่วงชีวิตการทำงาน  เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่ากลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะกลางคืนหรือมีรูปแบบตารางงานที่ไม่แน่นอน จะนอนหลับได้น้อยลงและมีคุณภาพการนอนที่ต่ำกว่าคนที่ทำงานตามตารางเวลาปกติ (จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น.) นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะกลางคืนหรือมีรูปแบบตารางงานที่ไม่แน่นอนยังมีแนวโน้มจะเผชิญภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากผ่านไปเกือบ 30 ปี

ตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน นำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

เหวิน-ชุ่ย หาน (Wen-Jui Han) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้ใช้ข้อมูลจาก The National Longitudinal Survey of Youth-1979 (NLSY79) หรือการสำรวจเชิงประชากรตามรุ่นอายุของวัยรุ่นในปี 1979 (แบบสอบถามติดตามผล) เพื่อให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว การสำรวจครอบคลุมข้อมูลของประชากรกว่า 7,000 คน ทั่วสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี พบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของประชากร (26%) เท่านั้นที่ทำงานตามตารางเวลาที่มีความเสถียรและชั่วโมงการทำงานเป็นมาตรฐาน

ส่วนใหญ่ กว่า 1 ใน 3 (35%) ทำงานในตารางเวลาปกติ (จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น.) ขณะที่มี 17% ที่เริ่มต้นทำงานในตารางเวลาแบบปกติในช่วงวัย 20 ปี ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นตารางการทำงานที่ไม่แน่นอนที่เมื่อเข้าสู่วัย 30  ปี ตารางงานที่ไม่แน่นอนนี้ รวมถึงการทำงานในกะเย็น กะกลางคืน หรือตารางงานที่มีชั่วโมงการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ความแตกต่างด้านสุขภาพที่ปรากฏชัดที่สุดนั้น อยู่ในหมู่ของคนทำงานที่เริ่มอาชีพด้วยชั่วโมงการทำงานปกติ ก่อนที่เปลี่ยนไปเป็นการทำงานในตารางเวลาที่ไม่แน่นอนในช่วงวัย 30 ปี

นอกจากนี้หาน ยังพบว่าชาวอเมริกันผิวสีมีแนวโน้มจะมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอนมากกว่า ซึ่งนำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่ในช่วงวัยกลางคน โดยรวมแล้วการศึกษาที่จัดพิมพ์ในวารสาร PLOS One https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0300245 สรุปผลว่า การไม่สามารถทำงานในเวลา 9.00-17.00 น. อาจนำไปสู่การนอนหลับที่ไร้คุณภาพ ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย และภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอและมีแนวโน้มจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ในภายหลัง

“รูปแบบการทำงานที่ควรจะสร้างรายได้เพื่อช่วยเหลือเราให้มีชีวิตที่ดีได้ กลับกลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้สุขภาพย่ำแย่แทน สาเหตุมาจากรูปแบบและเงื่อนไขเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเช่นนี้ ผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่อ่อนแอ (เช่น ผู้หญิง คนผิวสี ผู้มีการศึกษาต่ำ) จะเป็นฝ่ายรับผลกระทบด้านสุขภาพเหล่านี้โดยไม่เป็นธรรม" หานกล่าวสรุป

งานวิจัยก่อนหน้านี้ก็พบปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในเวลากลางคืนอีกมาก ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2023 ที่เก็บข้อมูลจากคนทำงาน 50,000 คน ที่ทำงานนอกช่วงเวลา 9.00-17.00 น. พบว่าพนักงานที่ทำงานเป็นกะมีแนวโน้มจะประสบปัญหาด้านความจำและความสามารถในการคิด เมื่อมาถึงช่วงวัยกลางคน ค่าดัชนีด้านปัญญาที่ต่ำที่สุดนั้น พบในพนักงานที่ระบุว่าทำงานกะกลางคืนติดต่อกันยาวนานมากที่สุด หรือทำงานกะกลางคืนมานานที่สุด

นอกจากนี้ ในงานวิจัยอีกชิ้นเมื่อปี 2021 พบความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานกะกลางคืนกับปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่าง รวมถึงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและโรคมะเร็ง

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บด้านการนอนหลับของมหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน พบว่านาฬิกาชีวิต 24 ชั่วโมงของมนุษย์จะถูกรบกวนเมื่อเราต้องทำงานกะกลางคืนเป็นประจำ นี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดกิจกรรมที่ผิดปกติในยีนบางตัวที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาของมะเร็ง ผลคือเพิ่มความเสี่ยงในการทำลาย DNA


ที่มา:
Working Traditional 9 To 5 Job Best For Health, Especially Early In Career (Chris Melore, Study Finds, 4 April 2024)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net