Skip to main content
sharethis

นพ. รังสฤษฎ์ หรือ “หมอหม่อง” มองสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ประชาชนอยู่ในภาวะจำยอมให้สูดฝุ่น PM2.5 บางวันที่คุณภาพอากาศแย่มีผลเท่ากับการสูบบุหรี่ 10 มวลต่อวัน การสูด PM2.5 ต่อเนื่องหลายๆ ปีไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ข้อมูลทางระบาดวิทยามีการคำนวณ 100 ส่วนของคนที่เป็นโรคหัวใจ 25 ส่วนเป็นผลมาจากพิษสะสมของ PM2.5

20 มี.ค. 2567 นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” มองสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา หลังเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นและคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกหลายวันในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ยกตัวอย่างเช่นวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ IQAir จัดให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับ 1 ของโลก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ความเข้มข้น 173.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในอากาศ ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

นพ. รังสฤษฎ์ แพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความกังวลต่อสุขภาพขอประชาชนภาคเหนือที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่นว่า “เรายังแก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้ และไม่รู้ว่าต้องอยู่กับมันอีกนานไปอีกนานเท่าไหร่ สิ่งที่เป็นห่วงคือการที่เราต้องได้รับพิษสะสมในเวลาหลายๆ ปี ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ ทุกๆ 22 ไมโครกรัมของ PM2.5 เทียบเคียงกับผลร้ายของการสูบบุหรี่ 1 มวล เพราะฉะนั้นการที่เราสูด PM2.5 อย่างต่อเนื่องแบบนี้ อาจจะเท่าเราสูบบุหรี่ 10 มวลต่อวันในภาวะจำยอม และเราสูด PM2.5 มาต่อเนื่องหลายๆ ปี และปีละหลายวัน ไม่ดีต่อสุขภาพของเราแน่นอน”

กลุ่มเสี่ยงอย่างเช่นเด็กเล็กซึ่งอวัยวะยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ปอด สมอง และอวัยวะต่างๆ อาจจะได้รับผลกระทบได้ตั้งแต่ทารกในครรภ์ นอกจากนี้ นพ. รังสฤษฎ์ เสริมว่า ผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวเป็นคนอีกกลุ่มที่น่าเป็นกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่อยู่รอบนอกที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและอาจจะขาดความตระหนักรู้ในเรื่องพิษภัยของ PM2.5 หรือแม้ต่อให้ตระหนักแล้วก็ยังอาจจะขาดทุนทรัพย์ในการจัดการให้ตัวเองสามารถป้องกัน PM2.5 ได้

“คนในเมืองสามารถซื้ออากาศสะอาดได้ โดยการที่อยู่ในห้องแอร์ ห้องปิดทึบ และมีเครื่องฟอกอากาศ หาซื้อกันมาเพื่อที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ แต่คนในชุมชนรอบนอกผมคิดว่าตัวบ้านเรือนเขาเองไม่สามารถที่จะเปิดให้ฝุ่นเข้ามาได้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากมายอยู่แล้ว และโดยวิถีชีวิตถ้าเป็นคนในเมืองเราอาจจะดูแอปพลิเคชันเช็คค่าฝุ่นได้ ถ้าฝุ่นสูงมากเราก็จะอยู่แต่ในอาคาร ช่วงเย็นถ้าอากาศเริ่มดีขึ้น เราก็ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ แต่สำหรับคนที่มีอาชีพที่ต้องไปอยู่กลางแจ้งอย่างชาวนาชาวไร่ เขาจะต้องออกไปรับฝุ่นมากและก็นานในแต่ละวัน” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว

ในปี 2566 ที่ผ่านมามีข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า คนไทยกว่า 10.5 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ นพ. รังสฤษฎ์ มองว่า คำว่า 10 ล้านฟังดูเป็นจำนวนที่เยอะ ซึ่งน่าจะเป็นการนับรวมถึงอากาศเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ตาแดง เจ็บคอ ฯลฯ จึงทำให้ตัวเลขที่ออกมามีจำนวนคนป่วยจากมลพิษทางอากาศในระดับที่สูง

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรกังวลเป็นการเจ็บป่วยที่เป็นเรื่องของพิษสะสม และจะมาปรากฎในคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต คนที่เป็นมะเร็งปอดทั้งที่ตัวเองไม่เคยสูบบุหรี่ คนที่เป็นโรคหัวใจ ฝุ่นเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ คนเลหล่านี้เขาอาจจะไม่ได้ป่วยตอนที่ฝุ่นเยอะ แต่เกิดจากพิษสะสมของฝุ่น” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว

 

นพ. รังสฤษฎ์ อธิบายว่า ในทางระบาดวิทยามีการคำนวณ 100 ส่วนของคนที่เป็นโรคหัวใจ 25 ส่วนเป็นผลมาจาก PM2.5 ถ้าสมมติ 100 คนเป็นโรคหัวใจ 25 คนมีผลมาจาก PM2.5 ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่คำนวณได้ว่ามีคนตายป่วยเท่าไหร่จาก PM2.5 ในโรคร้ายแรงที่มาจากพิษสะสม

สารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกสารจากคณะแพทยศาสตร์ เพื่อเตือนประชาชนถึงวิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชน วิกฤตฝุ่นในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่มีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน

สุดท้าย นพ. รังสฤษฎ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือมีความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5

 ของรัฐบาล และการอุทธรณ์คดีของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่า การฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือเป็นการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ไม่ได้มีการจับใครมาลงโทษเข้าคุกเข้าตะราง ในทางศาลทางกระบวนการยุติธรรมได้ยอมรับอย่างชัดเจนแล้ว่าฝุ่นพิษ PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน นี่เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่การใช้อ้างอิงในอีกหลายกรณีต่อไป

“ผมไม่รู้ว่าคดีนี้เป็นเรื่องที่ต้องอุทธรณ์หรือเปล่า เพราะเป็นการฟ้องที่เป็นการเร่งรัดให้คุณทำงาน คุณก็ทำงานให้เต็มที่ ผมยังมองว่ารัฐบาลสามารถทำได้มากกว่านี้ ถามว่าทำแล้วไหม ทำต่อไหม ทำอยู่ไหม แต่ว่าสิ่งที่ทำปัญหามันใหญ่ และคุณทำยังไม่สมกับความรุนแรงของปัญหา ถ้าคุณเข้าใจว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขนาดไหน คุณต้องระดมทรัพยากร งบประมาณ เพื่อจัดการเรื่องนี้ให้สมควร ตอนนี้ผมดูแล้วยังไม่ใช่เลย งบประมาณต่างๆ แรงคน เครื่องไม้เครื่องมือที่ลงมา ยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาผลกระทบที่มันยิ่งใหญ่” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว

 

 

 

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์ นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net