Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเรียกร้องความจริงและความยุติธรรมหลังทนายสมชายถูกกระทำให้สูญหายร่วม 20 ปี

 

11 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (11 มี.ค.67) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ กล่าววันนี้ว่า ประเทศไทยต้องเปิดเผยชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกกระทำให้สูญหายเมื่อ 20 ปีก่อน

“เจ้าหน้าที่ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย สอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และนำผู้กระทำผิดที่ทำให้คุณสมชายสูญหายมารับผิดทางอาญา” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติกล่าว

มีการสันนิษฐานว่า สมชาย นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสมาชิกอาวุโสของสมาคมทนายความสองแห่งในประเทศไทย ถูกกระทำให้สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยเชื่อว่าสาเหตุการหายตัวไปของเขามีความเกี่ยวข้องกับการทำงานในฐานะทนายความเพื่อปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีเพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำให้คุณสมชายสูญหาย

“คดีดังกล่าวเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดถึงผลกระทบอันร้ายแรงและยาวนานของการกระทำให้สูญหายต่อสมาชิกครอบครัวของผู้เสียหาย นับเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ความจริงและการได้รับความยุติธรรมที่ญาติของผู้เสียหายพึงมีทุกประการ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชายและบุตรทั้งห้าคนต่างมีชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดรวดร้าว หลังจากที่คุณสมชายถูกกระทำให้สูญหาย อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่รู้ถึงชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของเขา

“คุณอังคณา นีละไพจิตรไม่สยบยอมต่อความสิ้นหวังหลังจากสามีถูกกระทำให้สูญหาย และได้พยายามเสาะแสวงหาความจริงและความยุติธรรมอย่างไม่หยุดยั้งในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ทั้งนี้ อังคณา นีละไพจิตร ประกอบอาชีพพยาบาลโดยไม่มีประสบการณ์หรือได้รับการอบรมทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมมาก่อน

“บ่อยครั้งผู้หญิงมักเป็นแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อยุติการกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้งตั้งองค์กรและสมาคมเพื่อตามหาคนที่พวกเขารัก เอาชนะอุปสรรคนานับประการ ก้าวข้ามการเหมารวมทั้งหลาย อีกทั้งขจัดลำดับชั้นทางเพศ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“คุณอังคณา เป็นผู้จุดประกายสิทธิในการรับรู้ความจริงและยังเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวเพิ่มเติม

เมื่อปี 2548 อังคณา นีละไพจิตร ได้รายงานคดีการสูญหายของสามีต่อคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ (The United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) และคดีดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในการดูแลของคณะทำงานฯ คุณอังคณาเผชิญทั้งการข่มขู่และการตอบโต้กลับ (reprisals) จากความพยายามในการรับรู้ชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของสามี และเรียกร้องความยุติธรรม แต่กลับไม่ยอมแพ้เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งของสามี และผู้เสียหายอีกหลายพันคนในประเทศไทยและทั่วโลก การข่มขู่และการตอบโต้กลับที่คุณอังคณาพบเจอและความจำเป็นที่เธอต้องได้รับการคุ้มครองเป็นประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ( UN Special Procedures) ได้หยิบยกขึ้นต่อทางการไทยในปี 2554 2557 และ 2566   

ในปี 2565 คุณอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ “การปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานฯ ของคุณอังคณามีความหมายอย่างที่สุดต่อญาติของผู้สูญหายทั่วโลก และสื่อถึงความหมายอันทรงพลังของการยืนหยัดขึ้นอีกครั้ง (resilience) และความหวัง” กลุ่มเชี่ยวชาญกล่าว

“ยี่สิบปีผ่านไป ความจริง ความยุติธรรมและการเยียวยาในคดีการกระทำให้คุณสมชาย นีละไพจิตรสูญหายสามารถเกิดขึ้นได้ และต้องเกิดขึ้นโดยไม่ล่าช้าอีกต่อไป” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อนึ่ง กลุ่มผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย Aua Baldé (ประธานและผู้รายงาน), Gabriella Citroni (รองประธาน), Grażyna Baranowska, Ana Lorena Delgadillo Pérez คณะทำงานว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ; Margaret Satterthwaite ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ; Mary Lawlor  ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; Dorothy Estrada Tanck (ประธาน), Claudia Flores, Ivana Krstić, Haina Lu, และ Laura Nyirinkindi คณะกรรมการว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็ก; Olivier de Frouville (ประธาน), Matar Diop (รองประธาน), Milica Kolakovic-Bojovic (รองประธาน), Horacio Ravenna (รองประธาน), Juan Pablo Albán Alencastro (ผู้รายงาน), Mohammed Ayat, Suela Janina, Fidelis Kanyongolo, Barbara Lochbihler, และ Carmen Rosa Villa Quintana, คณะกรรมการว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหาย

สำหรับ “ผู้รายงานพิเศษ” “ผู้เชี่ยวชาญอิสระ” และ “คณะทำงานของสหประชาชาติ” เป็นส่วนหนึ่งของกลไกพิเศษ (Special Procedures) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน “ผู้รายงานพิเศษ” ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เป็นคำเรียกทั่วไปของกลไกอิสระที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริงและติดตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรงหรือประเด็นใดประเด็นหนึ่งทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้รายงานพิเศษนี้ทำงานด้วยความสมัครใจ พวกเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติและไม่ได้รับเงินเดือนจากการทำงานในฐานะผู้รายงานพิเศษ พวกเขาทำงานเป็นอิสระจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใด และทำงานในฐานะปัจเจกบุคคล

คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีหน้าที่ติดตามรัฐภาคีในการทำตามพันธกรณีที่มีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ปัจจุบันมีรัฐภาคี 72 ประเทศ คณะกรรมการฯ มีสมาชิก 10 คนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก ทำงานในฐานะปัจเจกบุคคลและไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐภาคี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net