Skip to main content
sharethis

ทนายสมชาย นีละไพจิตรถูกบังคับสูญหายไป 2 ทศวรรษแล้ว สังคมและหมู่นักกิจกรรมรุ่นใหม่อาจเหลือเพียงความทรงจำเบาบางต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรุ่นแรกๆ อย่างทนายสมชาย มันจึงเป็นความจำเป็นที่ต้องย้ำเตือนเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีทนายสมชาย แต่หมายรวมถึงกรณีอื่นๆ ผนวกกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 บังคับใช้ครบ 1 ปี มันได้สร้างบทเรียนและความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างให้แก่สังคมไทย

ภาพกิจกรรม รำลึกถึง 20 ปี การบังคับสูญหาย ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “สมชาย นีละไพจิตร” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา (ภาพโดย แมวส้ม)

วันครบรอบ 20 ปีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตรเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม เป็นการครบรอบที่ประจวบเหมาะกับ 1 ปีของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เป็นความบังเอิญที่ตลกร้ายสำหรับสังคมไทยที่ยังไม่มีคำตอบว่า การบังคับสูญหายที่เกิดขึ้นก่อนประกาศใช้กฎหมายจะถูกนำรื้อฟื้นขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ แม้ว่ากฎหมายจะระบุให้การบังคับสูญหายไม่มีอายุความก็ตาม

กล่าวได้ว่าทนายสมชายเป็น ‘นักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ รุ่นแรกๆ แม้เมื่อ 2 ทศวรรษก่อนคำนี้จะยังไม่แพร่หลายและได้รับการยอมรับเท่ากับปัจจุบัน ในหมู่นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ทนายสมชายอาจไม่เป็นที่รู้จักหรือรับรู้อย่างคลาดเคลื่อน

เพื่อไม่ให้การต่อสู้ของทนายสมชายในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและการบังคับสูญหายลบเลือนไปกับกาลเวลา ประทับจิต นีละไพจิตร หรือ แบ๋น และครอบครัวจึงถือเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องปกป้องความทรงจำนี้ไว้ ไม่ใช่ความทรงจำต่อทนายสมชาย แต่เพื่อย้ำเตือนสังคมไทยถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติอย่างสุดกำลังไม่ให้เกิดการบังคับสูญหาย รวมการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดและยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้วิธีนอกกฎหมาย

ประทับจิต นีละไพจิตร (แฟ้มภาพ)

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน 20 ปีทนายสมชายที่เพิ่งผ่านพ้นไป คุณต้องการส่งสารอะไรและส่งถึงใคร

จริงๆ เป็นการร่วมมือกันจัดระหว่างครอบครัวนีละไพจิตรที่เราได้สรุปบทเรียนกันมาระดับหนึ่งจนทําให้มั่นใจว่ามีส่วนร่วมจากทุกคนในครอบครัวในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม กับทางองค์กรภาคประชาสังคมประมาณ 20 กว่าองค์กรที่ทํางานเกี่ยวกับเรื่องการบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนหน้าคุณพ่อหาย และน่าจะเป็นโอกาสทบทวนว่าทั้งครอบครัวเราและภาคประชาสังคมมีบทเรียนสำคัญๆ อะไรบ้างที่อยากจะส่งไปถึงทั้งสังคม

หนึ่งคือการตระหนักถึงความสําคัญของการต้องไม่มีใครถูกบังคับสูญหาย คิดว่าเราสามารถเคลมได้ว่าเป็นผลสําเร็จร่วมกันระหว่างครอบครัวกับภาคประชาสังคมที่ผลักดันให้ประเทศไทย ณ วันนี้การบังคับสูญหายกลายเป็นอาชญากรรมแล้ว ซึ่งตอนที่ทนายสมชายหายยังไม่เป็นอาชญากรรม  นับตั้งแต่ไทยไปลงนามในอนุสัญญา แล้วก็มีกฎหมายภายในประเทศซึ่งเพิ่งประกาศใช้ครบ 1 ปีใกล้กับวันครบรอบ 20 ปีทนายสมชาย แบ๋นก็เห็นว่าเป็นสิ่งจําเป็นที่จะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหาย

แต่ก็มีข้อสังเกตจากบทเรียนการขับเคลื่อนทั้งจากภาคประชาสังคมแล้วก็ตัวเราเองในฐานะครอบครัวก็คือเรื่องบุคคลสูญหายจําเป็นต้องถ่ายทอดและทําให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปได้ในระยะยาว ประสบการณ์ที่เราเจอก็คล้ายๆ กับที่ต่างประเทศเจอ คือตอนนี้เด็กที่เกิดตอนปี 2547 ก็ไม่รู้จักคุณสมชาย มีแต่คนถามว่าสมชายไหน ยังมีคนชื่อสมชายอยู่เหรอในปัจจุบันนี้ มันทําให้แบ๋นรู้สึกว่าการทํางานเพื่อสร้างการรับรู้ การรําลึกถึงบุคคลสูญหาย ไม่ใช่แค่เฉพาะทนายสมชายนะคะ มันมีความจําเป็นต้องมีการบันทึกมากขึ้นให้ยังเหลือเรื่องราวที่สามารถสืบเสาะหาหรือเข้าถึงง่ายสําหรับคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะทําให้มันไปต่อได้

ปัญหาอย่างหนึ่งที่แบ๋นก็เจอคือเรายังไม่สามารถรับมือกับรูปแบบการบังคับสูญหายที่เปลี่ยนไปได้ที่เรียกกันว่า natural transactional replication หรือการกดขี่ข้ามพรมแดนซึ่งมีแนวโน้มเกิดกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองต่างๆ แล้วก็มีนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศเพื่อนบ้านมาหายในประเทศไทยด้วยในแบบเดียวกัน อันนี้ก็เป็นรูปแบบของการบังคับสูญหายที่เปลี่ยนไปที่ยิ่งทําให้เกิดความซับซ้อนและยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งในการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการทํางานของญาติๆ ตรงนี้มันน่ากลัวกว่ารูปแบบเดิมๆ เพราะรูปแบบเดิมมันค่อนข้างไม่ยากเย็นนักที่สหประชาชาติจะรับกรณีเหล่านั้นเป็นเคสเพราะว่ามีหลักฐานบางอย่าง สามารถตามรอยได้ แต่ว่าการบังคับสูญหายรูปแบบใหม่นี้ถึงแม้ว่าทางสหประชาชาติจะยอมรับว่ามีเกิดขึ้น แต่การที่เขาจะรับรายบุคคลเป็นเคสมีความซับซ้อนมากกว่าเพราะว่ามันแทบจะไม่มีหลักฐานอะไรเลย

โดยเฉพาะกรณีของสยาม ธีรวุฒิ เพราะไม่มีคนเห็น แล้วพาสปอร์ตที่เขาใช้ก็ไม่สามารถยืนยันว่าพาสปอร์ตเวียดนามครั้งสุดท้ายที่เขาใช้คือเขาอยู่ในเวียดนามหรืออยู่ไหน แล้วด้วยการที่ลี้ภัยมันจําเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกปิดตนเองในประเทศที่สามยิ่งทําให้ไม่เหลือร่องรอย หลักฐาน หรือพยาน นอกเสียจากความเชื่อมโยงที่เราได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้น นี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากจะนําเสนอกับทางสังคมว่าเรื่องคนหายมันสะท้อนมากับครอบครัวเราด้วยเหมือนกัน

ประการที่สองก็คือทางภาคประชาสังคมรวมถึงครอบครัวเราอยากจะใช้จุดนี้ย้ำเตือนคํามั่นสัญญาของทางรัฐบาลไทยที่ได้ให้ไว้กับทางสหประชาชาติว่าเราไปลงนามไว้นานแล้วเมื่อปี 2012 แล้วก็มีความตั้งใจที่จะให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันแปลว่าประเทศไทยจะมีโอกาสถูกทบทวนสถานการณ์โดยคณะทํางานภายใต้อนุสัญญา มันจะยิ่งทําให้มีการตรวจสอบมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะช่วยทําให้ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นในเรื่องคําแนะนํา การดําเนินงานต่างๆ แล้วก็ช่วยทําให้ญาติๆ หรือภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการนั้น ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์

สุดท้ายเลยก็เป็นความต้องการขององค์กรภาคประชาสังคมที่อยากจะใช้โอกาสนี้ในรวมประเด็นเรื่องบุคคลสูญหายเข้าไปเป็นหนึ่งในประเด็นที่อยากจะฝากฝังรัฐบาลไทยในบริบทที่อยากจะสมัครเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติช่วงตุลาคมปีนี้ว่าเรื่องคนหายยังเป็นเหมือนหมุดหมายทางด้านสิทธิมนุษยชนที่สําคัญนะ

บทเรียนที่ทางครอบครัวนีละไพจิตรสรุปออกมาคืออะไร

อันแรกก็คือว่าเราจะต้องทํางานอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมสําหรับตัวเราเองที่จะส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เพราะดูท่าทางแล้วการบังคับสูญหายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะไขข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่เราได้คุยกันในครอบครัวว่าจําเป็นต้องส่งต่อ แม่เองก็ต้องมายืนข้างๆ กันให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่การจัดกิจกรรม แต่หมายถึงการดําเนินคดีหรือการทําให้คดีคืบหน้าต่อไปในอนาคต ถ้ามีเงื่อนไขที่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคดีได้

อังคณา ประทับจิต และครอบครัว วันที่ 30 ส.ค.2562 (ที่มา เฟซบุ๊ค Angkhana Neelapaijit)

อันที่สอง เรารู้สึกว่าตลอดการทํางานเรื่องคดีคุณพ่อ เราคิดว่าเราทํางานลําพังไม่ได้ เราต้องทํางานร่วมกับภาคประชาสังคม อันที่สามก็คือขณะที่เราแต่ละคนได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาคประชาสังคม แต่ในขณะเดียวกันเหมือนกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายญาติกันเองกลับยังคงอ่อนแออยู่และอาจจะเกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่เครือญาติๆ ของคนหาย หนึ่งก็คือยังไม่มีความสามารถที่จะจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็งเพราะด้วยลักษณะของครอบครัวเหยื่อในประเทศไทยมันห่างทั้งทางภูมิศาสตร์ ห่างทั้งแบ็คกราวน์ทางสังคม จึงจําเป็นต้องมีใครสักคนมาเป็นผู้นํา เป็นผู้รวบรวม จริงๆ เราเองก็เคยตั้งใจว่าจะเป็นผู้รวบรวม เป็นคนนํา แต่ด้วยข้อจํากัดต่างๆ และด้วยลักษณะการใช้ชีวิตของกลุ่มญาติๆ ที่เขาต้องเผชิญ และเงื่อนไขการตัดสินใจที่จะดําเนินการต่อหรือไม่ดําเนินการต่อของแต่ละครอบครัว

ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรารู้ว่าตอนนี้บ้านของญาติๆ แต่ละคนอยู่ตรงไหน เพียงแต่ว่าเขาต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา มันก็จะขาดการติดต่อกันไป บางครอบครัวก็คิดว่าอยากจะมูฟออน ตรงนี้เป็นบทเรียนสําหรับภาคประชาสังคมและภาครัฐด้วย เพราะสําหรับตัวเองยังไม่ได้คิดว่าเราในฐานะที่เป็นเหยื่อได้รับการยอมรับจากทั้งทางภาคประชาสังคมและทางภาครัฐว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงาน เราเป็นเพื่อนที่ควรจะเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขาในการแก้ปัญหา แบ๋นเองถึงแม้ว่าตอนนี้ขยับมาทําหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ในที่สุดก็ยังคงมีมุมมองว่าเราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะมีส่วนได้อะไรจะจากเรื่องนี้ เรายังไม่แน่ใจว่าในสังคมไทยมองคนที่เป็นเหยื่อว่าเขาจะสามารถพลิกขึ้นมาเป็นพาร์ทเนอร์ ทํางานเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้แค่ไหน หรือยังคงจํากัดอยู่แค่มุมมองว่าคนพวกนี้ก็ยังอยากได้ประโยชน์สําหรับเคสของตัวเองอยู่

ในฐานะครอบครัวเราคงต้องติดตามต่อไป ส่วนตัวแบ๋นยังคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่มองเฉพาะกรณีของตัวเอง จริงๆ ทุกเคส เคสที่คุณแม่ลูกถูกรถชน คุณหมอต่าย ทุกคนต่างพูดว่าขอให้เคสตัวเองเป็นเคสสุดท้ายทั้งนั้น เพียงแต่ว่าไม่มีใครรับฟังหรือจริงจังเวลาพวกเราพูดออกไปว่าพวกเราอยากเป็นคนสุดท้ายจริงๆ มันเหมือนกับเราก็แค่สนใจแต่จะได้รับเงินเยียวยาในส่วนของเรา โดยที่อาจจะลืมไปว่าจริงๆ พวกเราเองก็อยากจะเป็นคนทําให้เรื่องพวกนี้มันจบลงเพราะการสูญเสียคนในครอบครัวมันกระทบสิทธิ จิตใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเราด้วย ตรงนี้ที่เราอยากจะให้สังคมไทยก้าวต่อไปสักหน่อย ช่วยเหลือให้เหยื่อกลายมาเป็นผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนอื่น

เราคิดว่านี่คือข้อจํากัดอย่างหนึ่งที่ทําให้ในแง่การมีส่วนร่วมในการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้ครอบครัวของเหยื่อได้เข้าไปเพราะอาจจะด้วยความไม่พร้อม ความไม่แน่ใจหรือเปล่าว่าจะสามารถรับกับข้อเรียกร้อง แต่คิดว่าเรื่องการมีส่วนร่วมของครอบครัวเหยื่อเป็นประเด็นที่ลึกก็เลยจําเป็นต้องใช้เวลาผลักดันต่อไป

นับจากวันที่คุณสมชายหายตัวไป 20 ปี สิทธิมนุษยชนไทยก้าวหน้าหรือถดถอยมากน้อยแค่ไหน

แบ๋นจะไฮไลท์ประเด็นสําคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรกที่สําคัญที่สุดแล้วรู้สึกดีใจมากที่สุดคือเรื่องการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คําว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้กลับมาเป็นที่รับรู้ ได้รับการยอมรับ ณ ปัจจุบันนี้มีเขียนไว้เหมือนกับว่าเป็น soft law คือเหมือนเป็นแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน มีเขียนคําว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในคําพิพากษาหลายคําพิพากษาก็ยอมรับสถานะของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้คุณสมชายไม่ได้เคยถูกเรียก แล้วในสังคมไทยเราไม่ค่อยได้ยินว่ามีการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 ที่ดีใจมากก็คือมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมของคนทํางานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน หมายความว่าหลังจากกรณีคุณสมชายและกรณีอื่นๆ ด้วย นักปกป้องสิทธิมนุษย์ชนโดยเฉพาะรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ในปัจจุบันมันกว้างไกลจนถึงเรื่องสุขภาพจิต การดูแลตัวเองให้ดี มี well being เรารู้สึกประทับใจเพราะว่าก่อนหน้านี้แบ๋นได้อบรมคนอื่นเรื่องการรักษาความปลอดภัยและทุกครั้งก่อนเริ่มอบรม เราจะใช้เคสของพ่อว่าเขาเป็นนักปกป้องสิทธิรุ่นเก่าคือสู้ตาย สู้ด้วยชีวิต โดยลืมไปว่าความปลอดภัยของเขาสําคัญนะ ไม่ใช่เฉพาะกับต่อครอบครัว แต่มันสําคัญเพราะว่าความปลอดภัยของคนแต่ละคนมันส่งผลเป็นสาส์นจต่อทั้งสังคม มันทําให้คนกลัวแล้วก็ไม่กล้าออกมา เพราะฉะนั้นการที่เราสู้ตายแล้วก็คือสู้ตายอยู่คนเดียว มันไม่ได้เป็นประโยชน์เลยกับทั้งสังคม เราคิดว่าอันนี้แหละที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมการทํางานของนักปกป้องสิทธิ์และโดยเฉพาะในหมู่นักปกป้องสิทธิ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราประทับใจมากและดีใจที่เหมือนกับว่าสมชาย นีละไพจิตรมีประโยชน์โพดผลต่อนักปกป้องสิทธิ์อื่นๆ

ตอนนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นกระแสหลักมากขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ได้เป็นกระแสหลักที่ได้รับการยอมรับสําหรับทุกๆ ฝ่าย แต่ในสายตาสาธารณะโดยส่วนมากก็ดีขึ้นมาก มีความเข้าใจการทํางานของนักปกป้องสิทธิ์มากขึ้นนิดหน่อย ขยับขึ้นจากจากตอนที่พ่อทํา เพราะฉะนั้นข้อสงสัยต่อทนายว่าเป็นทนายโจร ถึงแม้ว่าอาจจะทําให้กลุ่มทนายบางกลุ่ม เช่น ศูนย์ทนายก็ยังถูกคุกคามบ้าง แต่เป็นในรูปแบบที่ยังพอจัดการได้มากกว่าในลักษณะเดิม เรื่องความเข้าใจ เรื่องสถานะ เรื่องความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิ์นี้แหละที่เราดีใจที่สมชายถึงหายไป ถึงได้เสียสละชีวิตไป แต่ก็ช่วยปกป้องชีวิตคนอื่นไว้ได้อีกหลายชีวิต เรากลับพบว่าเวลาเราเอาเรื่องประสบการณ์ด้านที่แย่ๆ ด้านที่เป็นจุดอ่อนของคนคนหนึ่งมาใช้ มันมีประโยชน์ยิ่งกว่าการยกย่องว่าคนที่หายไป ตายไป ทําความดีอะไรไว้ เราดีใจที่จุดอ่อนการทํางานของคุณสมชายที่ไม่ระมัดระวังตัว ไม่คิดถึงอะไรเลย เดินหน้าอย่างเดียว มันช่วยทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

อีกเรื่องที่อยากจะพูดก็คือสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องสงสัย มันเกี่ยวข้องกับผู้เห็นต่างด้วย อย่างเช่นคดีสุดท้ายที่คุณสมชายทําเรื่องการซ้อมทรมาน เรื่องคลุมถุง ตอนนี้กลายเป็นที่รับรู้และเข้าใจตรงกันว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ล่าสุดที่มีการอ้างว่าล้อเล่น เอาถุงมาคลุม คนทั้งสังคมก็มองว่าล้อเล่นแบบนี้ไม่ตลก แล้วก่อนหน้านี้สมชายเป็นคนที่ชอบความท้าทายของคดีในการช่วยผู้ต้องสงสัย ซึ่งในตอนนั้นเวลาช่วยคนพวกนี้ก็จะถูกทําให้เข้าใจผิดไปด้วย แต่ปัจจุบันพัฒนาการของสังคมไทยมีมากขึ้น มีความรับรู้ว่าผู้ต้องสงสัยก็คือผู้ต้องสงสัยยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทําผิด คือมองคนในมิติที่กลมมากขึ้น

มันทําให้ทนายความที่ว่าความให้กับผู้ต้องสงสัยมีพื้นที่ยืน มีความปลอดภัยมากขึ้นในที่สุด จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.ซ้อมทรมานและอุ้มหายก็เป็นหนึ่งในผลผลลัพธ์ที่ได้เพราะในกฎหมายฉบับนี้ทั้งปกป้องตัวเจ้าหน้าที่และปกป้องผู้ต้องสงสัยด้วย ซึ่งคิดว่าเป็นสองพื้นที่ที่สําคัญมากสําหรับแบ๋นที่อยากจะพูด

ประทับจิต (แฟ้มภาพ)

20 ปีที่ต่อสู้มาในกระบวนการยุติธรรมในกรณีทนายสมชาย จนท้ายที่สุดศาลฎีกายกฟ้องและบอกว่าญาติไม่ใช่ผู้เสียหาย สิ่งเหล่าทำให้คุณได้บทเรียนอะไรบ้าง

ก็มีแต่ความ suffer ค่ะ อันนี้พูดถึงในแง่ว่าคนหายคือพ่อเรา แล้วก็ขอพูดในฐานะปัจเจกบุคคล แบ๋นรู้สึกว่ามีแต่ความทุกข์ ความเสียใจ ไปๆ มาๆ หลังๆ กลายเป็นว่าไม่ได้รู้สึกถึงเคสคุณพ่อสักเท่าไหร่ กลับมารู้สึกถึงตัวเองว่าในปัจจุบันนี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราก็ยังไม่ได้รับการกอบกู้ พ่อก็คงสบายแล้วล่ะ คงอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่สําหรับแบ๋นยังคงเป็นคนที่ต้องอยู่ต่อไป คุณสมชายแบกรับความเสี่ยงแค่ไหน เราก็ดับเบิ้ล แบ๋นมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่อาจจะเป็นในรูปแบบที่แตกต่างจากเขา เพราะเรื่องนี้อยู่กับคุณสมชายอาจจะแค่ระยะหนึ่ง แต่มันอยู่กับแบ๋นตั้งแต่อายุ 21 ตอนนี้ 41 แล้วมีแนวโน้มว่าถึง 61 แบ๋นก็ไม่แน่ใจว่าอาจต้องอยู่กับภาวะแบบนี้ ซึ่งมันค่อนข้างจัดการลําบากในทางจิตใจ แบ๋นยังไม่สามารถก้าวข้ามหรือพูดถึงพ่อโดยไม่มีน้ำเสียงสั่นได้ เพราะก็ยังอยากรู้ความจริงว่าอยู่ไหน แบ๋นแคร์แค่ความจริงแล้วก็สร้างมาตรฐานใหม่

แบ๋นแค่อยากรู้ว่าใครเป็นคนทําให้หาย จริงๆ ไม่ได้ค่อยแคร์เท่าไหร่ว่าจะต้องติดคุก แบ๋นไม่ค่อยเชื่อเรื่องการติดคุก แต่อยากรู้ความจริงที่ต้องมีการเปิดเผยว่าใครอยู่ตรงไหน ยังไงบ้าง มีส่วนยังไง แล้วก็ต้องเกิดการปฏิรูปในระดับชั้นโครงสร้างและป้องกันไม่ให้ใครหายอีก สิ่งที่ไม่เคยบอกใครก็คือรู้สึก suffer กับมุมมอง ทัศนคติ ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างกับคนที่เป็นเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แบ๋นไม่แน่ใจว่าปัจจุบันนี้มีมุมมองกับเหยื่อในแง่ที่ว่าเราเท่ากันหรือยังหรือเหยื่อก็ยังคงเป็นมือล่างที่ยังรอรับความช่วยเหลืออยู่ เหยื่อก็เป็นคนที่ตะกุยตะกายจะแย่งการเยียวยา จะเอาเงิน ทัศนคติแบบนั้นยังอาจรู้สึกได้โดยเฉพาะกับคนที่ทํางานด้านสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในหลักการทํางานคือเราต้องเป็นกลาง แต่แน่นอนว่ามันจะมีข้อสงสัย เราเองจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั้ย อันนี้ไม่ใช่แค่ระดับชาติหรอก มันเป็นระดับนานาชาติด้วยซ้ำ แบ๋นก็ไม่แน่ใจว่าในสังคมโลกเป็นยังไง อีกอย่างหนึ่งก็คือมันมีความทุกข์จากการที่ครอบครัวเราต้องยอมรับว่ากรณีทนายสมชายยังคงเป็นหนึ่งในกรณีที่เป็นเซ็ตแรกของคนหายที่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่ง ณ ตอนนั้นเราจําเป็นต้องรับเพราะไม่อย่างนั้นมันไม่มีอะไรที่ยืนยันหรือเป็นหลักฐานได้เลยว่ามีการยอมรับว่าพ่อของเราหายไปจริงๆ แล้วแบ๋นก็รู้สึกว่าการที่ครอบครัวเราได้ แต่ครอบครัวอื่นไม่ได้มันทําให้เแบ๋นเป็นทุกข์มาตลอด มันเป็นปมในจิตใจของเราพอสมควร

แล้วส่วนหนึ่งของการที่เหยื่อไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ นอกจากการสร้างให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเอาเหยื่อเป็นของตัวเอง คนพวกนี้จะต้องเป็นของอุดมการณ์นี้ คนพวกนี้จะต้องเป็นของอีกอุดมการณ์นั้น มันสร้างความไม่ไว้วางใจและแบ๋นไม่แน่ใจว่านี่คือความตั้งใจ จงใจ ที่จะทําให้เครือข่ายของคนที่เป็นเหยื่อไม่สามารถรวมตัวกันได้หรือเปล่า

อันที่สองก็คือว่าการให้หรือปฏิบัติต่อกรณีต่างๆ แบบไม่เท่ากัน มันนํามาสู่ความว่าไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของครอบครัวต่างๆ เราเองก็ไม่สามารถไปช่วยเหลือให้อีกคนหนึ่งได้เท่ากับเราทันที ซึ่งแบ๋นรู้สึกว่าการที่ยังไม่มีมาตรการพื้นฐานที่ยอมรับได้ทําให้ตนเองรู้สึกเสียใจที่เราเป็นเจเนอเรชั่นสอง แต่ว่ายังไม่สามารถรวบรวมเครือข่ายของญาติได้เหมือนในประเทศอื่น ทั้งที่จริงๆ แบ๋นเองก็มีความคาดหวังต่อตัวเอง แล้วก็รู้ว่าหลายคนที่เป็นครอบครัวเหยื่อก็คาดหวังกับตัวแบ๋นเหมือนกัน

ภาพกิจกรรม รำลึกถึง 20 ปี การบังคับสูญหาย ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “สมชาย นีละไพจิตร” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา (ภาพโดย แมวส้ม)

พ.ร.บ.อุ้มหาย ระบุให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น ต้องสืบสวนจนกว่าจะพบคนที่ถูกทําให้สูญหาย และให้เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมของผู้เสียหาย และให้ถือว่าญาติเป็นผู้เสียหาย เมื่อกฎหมายว่าไว้แบบนี้ทางครอบครัวนีละไพจิตรจะรื้อฟื้นคดีทนายสมชายขึ้นมาใหม่หรือไม่

จริงๆ แล้วมันก็ต้องทํา มันอยู่ในกฎหมาย เพียงแต่กรณีนี้มันซับซ้อน ตอนแรกแบ๋นก็ไม่อยากให้รวมกฎหมายด้วยซ้ำไปเพราะการอุ้มหายมันซับซ้อน แบ๋นพูดตรงๆ ว่าแน่นอนเราต้องการให้มีการรื้อฟื้นคดีการสืบสวนสอบสวนต่อไป เพียงแต่ว่าเราเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่าเครื่องหมายเครื่องมือ เทคโนโลยี ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้ และลักษณะของการอุ้มหายยังไม่มีมากพอ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะกับเจ้าหน้าที่ที่ทําการสืบสวนสอบสวนนะ ระดับผู้พิพากษามีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการอุ้มหายมากน้อยแค่ไหน จะเปิดกว้างสําหรับสมมติฐานว่าสิ่งนี้เป็น continuous crime แค่ไหน แบ๋นฟังเจ้าหน้าที่บางท่านหรือแม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมระดับสูงยังบอกเลยว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้น่าจะใช้กับคนหายไม่ได้เพราะว่ามันเป็นการย้อนหลัง ทั้งที่มันบอกใหม่แล้วว่ามันคือลักษณะอาชญากรรมที่ต่อเนื่อง แต่ความจํากัดทางความรู้ ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะฝ่าฟันกันไปยังไง

สําหรับแบ๋นอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น แต่แบ๋นไม่ได้ใส่ใจที่จะรอจนกว่าจะมีความเข้าใจ บอกตรงๆ ว่าในกรณีคนหายยังไม่รู้จะทํายังไง เพราะกรณีมันถูก lost file ไปแล้ว มันอยู่ในมือของหน่วยงานที่ทําการสืบสวนสอบสวนอยู่ ขึ้นกับว่าวันไหนเขาจะทําขึ้นมาจริงๆ เพียงแต่ข้อจํากัดตอนนี้เท่าที่เราได้รับข้อมูลมาก็คือว่าครอบครัวจําเป็นจะต้องเอาหลักฐานใหม่ไปยื่น ซึ่งเราจะมีปัญญายังไงที่จะไปยื่น เราจะไปหาจากไหน เราไม่มีความสามารถที่จะไปหา เราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความรู้ความสามารถ แต่มันอาจจะต้องประกอบกับเจตจำนงค์ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า เพราะอย่างที่ย้ำมาตลอดว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม จะทํายังไงถ้าโครงสร้างทางสังคมก็ยังเป็นแบบเดิม ก็ยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าคดีทนายสมชายเมื่อไหร่ด้วยซ้ํา

แต่มันควรจะดําเนินต่อไปเพราะดีเอสไอมีคําพูดที่ไม่ชัดเจนประมาณว่ายังไม่ได้ยุติคดี แต่จะทําใหม่ต่อเมื่อมีหลักฐานใหม่ นี่คือความกํากวม ปัญหาคือเราต้องรอให้ปรากฏหลักฐาน แต่มันจะลอยขึ้นมาจากน้ำเหรอ แต่เราจะต้องไปขุดขึ้นมา แล้วตอนนี้เรามีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่แล้วคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่ที่เขาจะใช้เครื่องมือนี้ไปหา ไม่ใช่รอให้หลักฐานผุดขึ้นมาหรือว่าเราในฐานะครอบครัวไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจภายใต้กฎหมายฉบับนี้แล้วเราจะไปมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ได้ยังไง

ประทับจิต (แฟ้มภาพ)

คุณคิดว่ากระบวนการยุติธรรมไทยและกฎหมายไทยมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมลอยพ้นผิดหรือไม่

ใช่ค่ะ มีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด สําหรับเรื่องบุคคลสูญหายคิดว่าคงไม่ได้ต่างจากปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่ได้มีความต้องการแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะเป็นความเชื่อที่ว่าโครงสร้างอํานาจหรือการเมืองเป็นแบบนี้มานานแล้ว

เหมือนกับว่ารัฐผูกขาดอํานาจการใช้ความรุนแรงอยู่ แต่แบ๋นกําลังคิดว่าเวลาเราคิดถึงเรื่องความยุติธรรม มันก็น่าจะคิดได้หลายแบบ อย่างที่แบ๋นบอกว่าการเอาคนมาาลงโทษ ติดคุก หรือตายตกไปตามกัน มันไม่ค่อยได้แก้ปัญหาสักเท่าไหร่ แบ๋นค่อนข้างเชื่อเรื่องการสร้างมาตรฐานใหม่ในการอยู่ร่วมกัน การยึดถือสิทธิมนุษยชน การมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม การให้อํานาจเพิ่มขึ้นกับเหยื่อที่เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นสิ่งที่ทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและผลที่ได้น่าจะยั่งยืนมากกว่า

เบื้องต้นเลยน่าจะมีกระบวนการจัดเรียงข้อเท็จจริง แล้วอย่างน้อยที่สุดต้องพูดได้ว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน ไม่ใช่แค่เฉพาะใคร ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือในสังคมไทยส่วนมากที่เกิดขึ้นคือมันมักจะไปอยู่ที่ตัวบุคคล เป็นความผิดในระดับตัวบุคคลตลอดเวลา ซึ่งในที่สุดแล้วมันก็จะสาวไม่ถึงโครงสร้างหรือปัญหาจริงๆ ที่ทําให้สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในส่วนของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่ใช้มา 1 ปีมันมีจุดอ่อนตรงไหนหรือเปล่า หรือว่าตัวกฎหมายเขียนได้ค่อนข้างดีแล้ว

ความเห็นของทางสหประชาชาติก็เข้าใจว่ากฎหมายนี้ค่อนข้างร่างออกมาได้ดีในหลายๆ ส่วน มีหลักการสําคัญหลายๆ ส่วนเลย เพียงแต่อาจจะยังมีช่องว่างอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความชัดเจนเรื่องอายุความเกี่ยวกับบุคคลสูญหาย แต่จริงๆ แล้วแบ๋นคิดว่ามันค่อนข้างรวมหลักการสําคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาวะฉุกเฉินด้วยการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานไม่สามารถทําได้ มันมีอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ตอนแรกอาจจะไม่มีปรากฏแต่ว่าในดราฟท์หลังๆ รวมทั้งตอนที่ออกมาเป็นกฎหมายแล้วมันมีอยู่ ตรงนี้แบ๋นคิดว่าในเชิงเนื้อหาทําออกมาได้ดี เพียงแต่ว่าเราต้องดูว่าระเบียบที่ออกมาภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีส่วนไหนอีกบ้าง แล้วก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนในการพยายามทําให้มันสอดคล้องกับหลักการสหประชาชาติให้มากที่สุดเท่าที่เราทําได้

แล้วในแง่การนํากฎหมายนี้ไปปฏิบัติ?

แบ๋นยังไม่สามารถตัดสินได้ เราต้องแฟร์สําหรับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย มันเป็นอะไรที่ใหม่มาก แล้วหลายๆ คนก็คงจะทั้งกลัวทั้งเกลียดคือมีความรู้สึกในด้านลบ แต่ยังไงก็ตามแบ๋นมีความรู้สึกว่าหลายๆ คนเห็นว่ามันจําเป็นต้องปฏิบัติใช้ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบุคคลสูญหายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนจริงๆ อยากจะขอยืนยันเลยเพราะว่าหลายคนไม่ค่อยได้ศึกษาลักษณะการอุ้มหายให้ชัดเจน คือลักษณะการอุ้มหายจะมีตั้งแต่ติดตามตัวบุคคล วางแผนทําให้เขาหายไป ที่หนักหนาสาหัสแล้วลงทุนมากๆ คือช่วงปกปิดทําลายหลักฐานหรือชะตากรรมของเหยื่อซึ่งจริงๆ สสารมันไม่ควรหายไปจากโลก แต่การทําให้คนคนหนึ่งหรือของอย่างหนึ่งหายไปโดยไม่มีร่องรอยเลยอันนี้เป็นการลงทุน เป็นการใช้ความพยายามอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นมันจึงจําเป็นต้องใช้พลังอย่างมาก โดยเฉพาะพลังเจตนารมณ์ทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

แบ๋นเองไม่ขอตัดสินในทางลบ เพียงแต่ว่าในฐานะครอบครัวที่มีบุคคลสูญหายอยากจะบอกว่ามีการคุยกันในบรรดาครอบครัวต่างๆ เรายังเฝ้ารอว่าจะมีวันไหนมั้ยที่จะมีการหยิบยกกรณีของพวกเราขึ้นมาพูดถึง เพราะวันนี้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ส่วนมากก็อธิบายว่ามันก็ใหม่อยู่ ทุกคนก็ใหม่สําหรับเรื่องนี้ เขาก็ต้องการเวลาในการศึกษา งบประมาณก็มาไม่ทัน อุปกรณ์ก็ไม่ทัน แต่แบ๋นหวังว่าเราจะไม่ใช่แค่ลืมๆ กันไปแล้วเริ่มกันใหม่ เราไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าเราจะต้องจัดการกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นด้วย ซึ่งแบ๋นก็ยังหวังอยู่ แล้วถ้าถึงจุดหนึ่งไม่มีความคืบหน้าก็ต้องมีการทวงถามว่าเมื่อไหร่จะมาถึงพวกเรา

แบ๋นคิดว่าเรื่องการปฏิบัติอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มสองอย่าง หนึ่งคือเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะมากขึ้น เท่าที่ย้อนไปฟังสัมมนาที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัด กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) อัยการบอกว่าเขารับเคสเป็นแสนเป็นหมื่นเรื่องในปีเดียวที่ผ่านมา แล้วาที่เขาบอกก็คือมีเรื่องน่าเชื่อถือเรื่องเดียวคือลุงเปี๊ยก แบ๋นก็สงสัยว่าเขามีกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนอะไรในการพิจารณาที่จะดรอปเคสต่างๆ เหล่านั้นเป็นจํานวนมาก

อีกมิติหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเห็นชัดก็คือว่าคุณได้ดูแลผู้ที่ออกมาแจ้งข่าวยังไงบ้าง ให้การคุ้มครองเขายังไงบ้าง ตัวอย่างเช่นกรณีลุงเปี๊ยกในข่าวก็หายไปเลย ก็บอกว่ากําลังอยู่ในระหว่างการสืบสวน แต่เราก็ไม่ทราบว่าตอนนี้ลุงเปี๊ยกอยู่ในการดูแลของใคร ยังไง มีหลักการและมาตรฐานในการดูแลยังไง อีกเรื่องหนึ่งคือเปิดให้พวกเราคนที่เป็นผู้เคยใช้บริการหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนบทเรียนเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการออกแบบมาตรการใหม่ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่นการคุ้มครองพยานก็เป็นเรื่องสําคัญ ดูเหมือนในช่วงหลังๆ พอมีสถานการณ์ทางการเมืองมาตรการในการดูแลคุ้มครองพยานก็คือในเมื่อออกไปข้างนอกมันลําบากและเสี่ยงก็จํากัดการเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิ์ของคนที่เป็นเหยื่อ มันก็ทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ยากลําบาก แล้วเงื่อนไขก็ไม่ค่อยเหมาะกับการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงมีคนจํานวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองพยานหรือเลือกที่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

แบ๋นคิดว่าถ้าเพิ่มเติมรายละเอียดมากกว่าแค่จํานวนสถิติ ตอนนี้เราต้องการข้อมูลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ ว่าใช้งบไป 45 ล้านซื้ออุปกรณ์มา มีกล้องแล้ว 500 ตัวอะไรก็ตาม แต่จริงๆ เราอยากรู้ขั้นตอน รายละเอียด อย่างน้อยที่สุดไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของเคสได้ก็น่าจะลองเปิดเผยว่าเงื่อนไขขั้นตอนในการพิจารณาว่าได้มีการปรึกษาใครไหม มีการออกแบบมาตรการดูแลคุ้มครองเหยื่อหรือพยานต่างไปยังไงจากการใช้มาตรการระดับปกติ น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แล้วน่าจะเป็นงานขายที่ดีที่จะทําให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ภาพกิจกรรม รำลึกถึง 20 ปี การบังคับสูญหาย ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “สมชาย นีละไพจิตร” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา (ภาพโดย แมวส้ม)

ทุกวันนี้ถอดใจเรื่องคุณพ่อหรือยัง

มันเหมือนเป็นภาระทางใจมากกว่าว่าไม่สามารถจะถอดใจได้ แต่ถามว่าท้อหรือเปล่า ก็ท้อ ท้อมากๆ เลย รู้สึกกดดันมากจากทั้งบทบาทการงานที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เอื้อให้เราทํางานเกี่ยวกับพ่อมากนัก แต่ดีที่ว่าสังคม ที่ทํางานก็เข้าอกเข้าใจหน้าที่ของเรา แล้วเจ้าหน้าที่หลายๆ คนก็รู้ว่าเราเป็นคนที่ค่อนข้างมีความคิด positive ก็ยังปล่อยให้เราทํางานเกี่ยวกับเรื่องพ่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็รู้สึกท้อ และด้วยความที่ว่าเคสมันยิ่งยาวโดยเฉพาะ 20 ปีที่แบ๋มบอกไปว่าปีนี้เริ่มมีคนไม่รู้จักพ่อเรา ไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่อินด้วย ทุกวันนี้มีแต่คนเขียนประวัติทนายสมชายว่ามาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็ไม่ได้โกรธที่เข้าใจผิดว่าเรามาจากใต้ แต่จริงๆ ไม่ใช่

การต่อสู้กับพลวัตทางสังคม ความรับรู้ทางสังคม ความเข้าใจ โดยเฉพาะในระดับบุคคลก็ทําให้เราท้อเหมือนกัน แต่มันก็ดีสําหรับแบ๋นเพราะมันก็ได้สะท้อนตัวเองด้วยเหมือนกัน แบ๋นเองก็ต้องอยู่ในระนาบเดียวกับเคสอื่นๆ ด้วย ชาวบ้านหลายๆ คนที่พ่อแม่เขา ลูกเขาไม่เป็นที่รู้จักเลย เราจะต้องเข้าใจแล้วทํายังไงให้เรื่องคนหายไม่ใช่เฉพาะพ่อเรามันเป็นที่รู้จักอีกครั้ง คนในสังคมจะลืมเรื่องพ่อเรา ไม่เป็นไรเลย แต่ขอให้คุณได้รู้จักกับคนเหล่านี้ใหม่ทุกๆ ปี แบ๋นคิดว่าตรงนี้มันจําเป็นต้องสร้างกําลังจิตกําลังใจให้ตัวเองพอสมควร เพราะเป้าหมายของแบ๋นค่อนข้างมีความเชื่อว่าแรงผลักดันทางสาธารณะเท่านั้นที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net