Skip to main content
sharethis

พิธา กางโรดแมป ‘ก้าวไกล 2567’ ผลักดัน “6 บิ๊กแบง” วาระประเทศไทย ใช้กลไกสภา-กมธ.ผลักดันวาระ-47 ร่างกฎหมายสู่การปฏิบัติ พร้อมทำหน้าที่ทั้งตรวจสอบและแนะนำรัฐบาลอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมหากในอนาคตได้เป็นรัฐบาลก็ทำต่อทันที

26 ม.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ (26 ม.ค.) ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวแผนการทำงานพรรคก้าวไกลปี 2567 ประกอบด้วยวาระประเทศไทยของพรรคก้าวไกล วิธีการทำงาน และหมุดหมายสำคัญของพรรคก้าวไกลในปีนี้

พิธาเริ่มต้นการแถลง โดยระบุว่าสำหรับพรรคก้าวไกล เรามี “บิ๊กแบง” หรือวาระที่มีความสำคัญกับประเทศไทยและคนไทยในปีนี้อยู่ 6 ส่วนด้วยกัน เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่

  1. การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ:ประกอบด้วยวาระการปฏิรูปกองทัพ การเสนอร่างกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่
  2. การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน: ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข
  3. การ “หยุดแช่แข็งชนบทไทย”: ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดต้นทุนภาคการเกษตร การเพิ่มเครื่องจักรในการผลิต การเพิ่มแหล่งน้ำ การแปลงที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
  4. การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่: ดังที่พรรคก้าวไกลได้มีการอภิปรายงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้อภิปรายปิดเกี่ยวกับระบบราชการในการจัดงบประมาณ การกระจายอำนาจ การปราบโกง ดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) การกิโยตินกฎหมาย และการปฏิรูประบบงบประมาณ
  5. การเรียนรู้ทันโลก: การพัฒนาทรัพยากรบุคลากร เพื่อเพิ่มความขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ การลดภาระครู การรีสกิล-อัพสกิล (Reskill-Upskill) และการยกเลิกอำนาจนิยมในโรงเรียน
  6. การเติบโตแบบมีคุณภาพ: การสร้างงานดี การลงทุนในท้องถิ่น การสนับสนุนเอสเอ็มอี การท่องเที่ยวคุณภาพ การทำอุตสาหกรรมใหม่ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่ออธิบายถึงการทำ “อะไร” แล้ว พิธาแถลงต่อไปถึงการทำ “อย่างไร” นั่นคือ “วิธีการทำงานของพรรคก้าวไกล” โดยระบุว่าวาระการปฏิรูปเหล่านี้ พรรคก้าวไกลได้ตกผลึกออกมาเป็น 4 ปัจจัยความสำเร็จ ที่จะนำไปปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผล ดังต่อไปนี้

1.การปรับปรุงกฎหมาย:

เพราะกฎหมายที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคจะไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีการผลักดันร่างกฎหมายก้าวหน้าทั้งหมด 47 ฉบับ โดยมี 3 ฉบับที่สภากำลังพิจารณา ได้แก่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 1 ฉบับที่สภาปัดตกไปแล้ว คือร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า และมีอีก 17 ฉบับที่บรรจุเข้าวาระการประชุมสภาไปแล้ว รอถึงวาระในการอภิปราย เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 (ยกเลิกอำนาจ สว.ในการร่วมเลือกนายกฯ) พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน และ พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

และยังมีร่างกฎหมายอีก 26 ฉบับที่ยังไม่ได้บรรจุเข้าวาระการประชุมสภา แบ่งเป็นส่วนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน เช่น ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกประกาศ คสช. พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหาร ส่วนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่เป็นร่างกฎหมายการเงิน เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ร.บ.แก้กฎหมายไม่ตีเด็ก ส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เช่น พ.ร.บ. EIA เท่าเทียม พ.ร.บ.ประกันชีวิต และมีอีก 6 ฉบับที่รอการวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ หลังจากที่ยื่นเข้าสภาไปแล้ว . พิธากล่าวต่อไปว่า สำหรับพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นเรือธงและหวังผลลัพธ์มากเป็นพิเศษ มีอยู่ 5 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน และ พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งตนก็หวังว่าจะได้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

2. แผนปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการ:

พรรคก้าวไกลมี สส.นั่งเป็นประธานกรรมาธิการสามัญในสภาอยู่ทั้งหมด 8 คณะ และประธานทุกคนได้ทำแผนปฏิบัติงานประจำปีส่งมาให้กับตนแล้ว โดยจะขอยกตัวอย่างแผนของ 4 คณะกรรมาธิการ ดังนี้

กรรมาธิการการทหาร โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

  • วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ไว้ว่า จะทำให้กองทัพไทยเป็นกองทัพที่มีสิทธิมนุษยชน ทำให้การสูญเสียในค่ายทหารเป็นศูนย์ ตั้งคณะกรรมการพลทหารปลอดภัย แก้ไขปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ตรวจเยี่ยมทุกค่ายทหารอย่างสม่ำเสมอ ทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue หรือ LINE Official Account รวมถึงให้ทหารหรือครอบครัวสามารถยื่นร้องเรียนไปยังกรรมาธิการได้

กรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

  • วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ไว้ว่า ต้องมีการยื่นร่างกฎหมาย ข้อเสนอ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมือง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมนอกเหนือจากกฎหมาย 47 ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยจะมีร่างกฎหมายทั้งหมด 6 ฉบับที่จะใช้กรรมาธิการเป็นกลไกในการร่างกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ประชามติ, พ.ร.บ.สภาเยาวชน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเสรีภาพและสวัสดิภาพของพี่น้องสื่อมวลชน เป็นต้น ส่วนในเชิงการปฏิบัติคือการทำงานเพื่อส่งข้อเสนอต่อฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ข้อเสนอโมเดลการเลือกตั้ง สสร. การปรับปรุงระเบียบพรรคการเมือง ไปจนถึงการปฏิรูปเรือนจำเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ เป็นต้น

กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ โดย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล

  • วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ คือการผลักดันและให้ข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์อีวี การสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี กฎหมายการค้า กฎหมายลดการผูกขาด และการติดตามผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม โดย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

  • วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ คือการพัฒนาสวัสดิการและสาธารณูปโภคของคนทุกกลุ่ม ได้แก่ การผลักดันสาธารณูปโภคให้ครบทุก อบต. การแก้ไขโครงสร้างกองทุนเงินฌาปนกิจและการป้องกันเงินของสมาชิกสูญหาย การปรับปรุงคุณภาพชีวิตเด็กแรกเกิด และการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนของผู้พิการ เป็นต้น
  • การปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ: ตามที่ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้เคยเสนอไปแล้ว ประกอบด้วย 5 ด้าน คือการจัดทำงบประมาณอย่างโปร่งใสโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม การอนุมัติงบประมาณตามหลักให้ประชาชนได้ประโยชน์ การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (zero-based budgeting) และการใช้ภารกิจนำในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีพื้นที่ทางการคลังเหลืออีกปีละประมาณ 9 แสนล้านบาท เพื่อให้สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและตอบสนองความท้าทายของแต่ละปีได้
  • การเตรียมความพร้อมของบุคลากร: เมื่อกฎหมายพร้อม การปฏิบัติการพร้อม การทำงบประมาณพร้อม ก็ต้องเตรียมทีมงานคนให้พร้อมด้วย ทุกวันนี้พรรคก้าวไกลนอกจากจะมีกรรมาธิการแล้ว ยังมีการแบ่งเป็นทีมทำงานภายในพรรค เช่น “ทีมก้าวกรีน” เกาะติดเรื่องสิ่งแวดล้อม “เก้า Geek” เกาะติดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล “ก้าวเมือง” เกาะติดเรื่องผังเมือง และ “เก้าเกษตร” เกาะติดเรื่องการเกษตร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะบุคลากรของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่ยังมีทั้งอาสาสมัคร ข้าราชการที่สนใจ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมด้วย โดยมีการทำงานเป็นทีม และในอนาคตจะขยายทีมให้ใหญ่ขึ้นและกระจายไปในแต่ละภูมิภาค

ท้ายที่สุด พิธากล่าวถึง “หมุดหมายการทำงาน” ของพรรคก้าวไกลในปี 2567 โดยระบุว่า วาระสำคัญที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คือการพิจารณาทบทวนตัวชี้วัดของประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ และ สส. ของพรรคก้าวไกลทั้งหมด โดยทบทวนว่าควรจะมีตัวชี้วัดอะไรบ้าง เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ เป็นไปได้ที่จะมีการเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และในเดือนเมษายนเช่นกัน ก็จะมีประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคก้าวไกล ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ที่ทำงานมาครบ 4 ปีแล้วจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ทบทวนการทำงานและรูปแบบในการทำงาน

ในช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีการจัด “Policy Festival” ซึ่งจะทำให้การเมืองและนโยบายเป็นเรื่องสนุก ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ส่วนในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ก็จะเป็นช่วงที่จะมีการอภิปรายงบประมาณปี 2568 และในช่วงปลายปี พรรคก้าวไกลจะมุ่งเน้นเรื่องการเตรียมตัวผู้สมัครในการลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

พิธากล่าวปิดท้ายว่า พรรคก้าวไกลทำงานอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอและผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่การตรวจสอบอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีการแนะนำ และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเรียนรู้ในกระบวนการ เพราะเมื่อพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลด้วยตัวเองแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันทีอย่างไม่มีข้อติดขัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net