Skip to main content
sharethis

หลังสิ้นสุดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่ดูไบ ที่มีผู้แทน 198 ประเทศมาร่วมกันหาวิธีไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นเกินไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม “กฤษฎา บุญชัย” ผู้ติดตามการประชุม COP28 จากเครือข่าย Thai climate justice for all วิจารณ์ว่าแผนยุติการใช้พลังงานฟอสซิลยังไม่เข้าเป้า ต้องลดโทนเพราะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันไม่เห็นด้วย แถมยังถูกมองว่ากลายเป็นเวที “ฟอกเขียว” สร้างภาพให้ชาติและบรรษัทผลิตน้ำมันที่เพิ่งประกาศขยายกำลังการผลิต

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ “COP28” จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยเป็นเวทีการประชุมนานาชาติ ที่ให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาล รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆได้มาหารือกัน เพื่อเตรียมความพร้อมและหาทางแนวลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ในการประชุมมีตัวแทนจาก 198 ประเทศภาคี เข้าร่วมเวที ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ เป้าหมายเพื่อหาวิธีไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นเกินไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดตัดสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์บอกกับเราว่า หากเกินเลยออกจากตัวเลขนี้ วิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกของเราจะไม่อาจหวนกลับมาแก้ไขได้

ชวนพูดคุยกับ กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai climate justice for all ผู้ติดตามปัญหาการเปลี่ยนสภาพอากาศ รวมถึงการประชุม  COP อย่างใกล้ชิด ถึงประเด็นหลักที่น่าสนใจจากเวทีนานาชาติครั้งนี้ รวมถึงบทบาทของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

แผนการปลดระวางพลังงานฟอสซิลยังคลุมเครือ

ประเด็นสำคัญที่สุดในการประชุม COP ครั้งนี้ คงนี้ไม่พ้นความพยายามสร้างข้อตกลงร่วมกัน ให้ทั้งโลกปลดระวางการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีสมาชิกกว่า137 ประเทศ ได้เสนอในวงเจรจาให้มีการบรรจุคำว่า Phase out หรือยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล  ลงไปใน “ในคำประกาศสุดท้าย” ที่เป็นเหมือนฉันทามติร่วมกันของการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้เป็นมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแผนการหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลให้ได้จริงในอนาคตต่อไป แต่กลับมีเหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันออกมาคัดค้าน โดยพยายามเสนอให้ใช้คำว่า Phase down หรือค่อยๆลดการใช้ฟอสซิล บรรจุเข้าไปแทน สร้างความไม่พอให้กับหลายฝ่าย นำมาสู่การเจรจาที่ยืดเยื้อ โดยในที่สุดผลการเจรจาก็ออกว่าให้มีการใส่คำว่า “transition Away” หรือเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล ลงไปในคำประกาศสุดท้าย

“ถ้าเป็นคำว่า Phase out มันชัดเจนว่าคือจะมีการหยุดใช้ฟอสซิล แต่เพียงต้องเพิ่มเข้าไปว่าหยุดเมื่อไหร่ แต่พอเป็นคำว่า Transition away มันเป็นคำกำกวม แค่บอกว่าจะเป็นการค่อยๆเปลี่ยนผ่านออกจากพลังงานฟอสซิล แต่ไม่ได้บอกว่าจะหยุดหรือไม่ เมื่อไหร่”กฤษฎา บุญไชย มีความเห็นต่อคำว่า Transition ที่ถูกใช้ในคำประกาศสุดท้าย ว่าในเชิงความหมายของคำ แม้จะยังมีความกำกวมอยู่ แต่ก็อาจจะพอตีความได้ว่าจะเป็นการนำมาสู่การเลิกใช้พลังงานฟอสซิลในท้ายที่สุด

 แต่หากเข้าไปดูเนื้อหาภายในของคำประกาศสุดท้ายที่เขียนไว้ โดยมีใจความว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านเพื่อหยุดการใช้ และหยุดสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล “ที่ไม่มีสิทธิภาพ” ซึ่งเท่ากับว่าจะมีลดการใช้พลังงานฟอสซิลในเฉพาะส่วนที่ถูกผู้ผลิตน้ำมันตีความว่าไม่ประสิทธิภาพเท่านั้น ซึ่งเป็นเหมือนการบ่ายเบี่ยงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ผลิตน้ำเพียงเท่านั้น แสดงให้ถึงความไม่จริงใจในการลดการใช้พลังงานฟอสซิล

การประชุม COP ครั้งที่ผ่านมาถูกหลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “การฟอกเขียว” สร้างภาพให้บรรดากลุ่มประเทศและบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน เนื่องจากประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ได้แต่งตั้งสุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์  CEO ของ ADNOC (Abu Dhabi National Oil Company) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอาหรับเอมิเรตส์ มาเป็นประธานจัดงานประชุม COP28  ซึ่งบรรษัทน้ำมันของเขานั้น เพิ่งประกาศแผนขยายการผลิตน้ำมัน และเขายังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้มีหยุดการใช้พลังงานฟอสซิล มาก่อนหน้านี้โดยตลอด นอกจากนั้นยังถูกวิจารณ์จากการที่มีสัดส่วนตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในเวทีการเจรจามากเกินไป

“ถ้าเป็นสถานการณ์ในอดีตมันก็พอได้ ที่จะบอกแค่ว่าจะค่อยๆลดการใช้ลงก็พอ แต่ข้อเสนอให้เลิกใช้ฟอสซิลมีมากว่า 30 ปีที่แล้ว มีมาตั้งแต่การประชุม COP ครั้งแรก ๆ แต่ที่ผ่านมานอกจากจะยังไม่เคย Phase อะไรเลยแล้ว เรายังใช้ฟอสซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีก มันสวนทางกันกับการที่เรามีเวลาแค่อีก 7 ปี  ในการต้องลดการปล่อยเรือนให้ได้  40 เปอร์เซนต์” กฤษฎา มองว่าการที่เพียงแค่ทยอยเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการปลดระวางการใช้พลังงานฟอสซิล นั้นไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ทั่วโลกตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 40% ภายในปี 2030 แต่ปัจจุบันภาคพลังงานที่เป็นส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลับมีสัดส่วนพลังงานที่มาจากฟอสซิลถึง 80% ขณะที่พลังงานทางเลือกกลับยังมีสัดส่วนอยู่เพียงแค่ 12 % เท่านั้น

แม้ที่ผ่านมาในด้านเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยรักษาสภาพภูมิอากาศได้ และการประชุม COP ในครั้งนี้มีการตั้งเป้าให้มีสัดส่วนพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น อีก 3 เท่าตัว ซึ่งกฤษฎาให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากในสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง “อุตสาหกรรมทั้งหมดของโลกต้องเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่หมดเลย รวมทั้งสถาบันการเงินการธนาคารก็ต้องปรับใหม่หมด เราไม่ได้เรียกร้องให้เขา (กลุ่มผู้ค้าน้ำมัน) ล้มละลาย แต่เรียกร้องให้เขาเปลี่ยนไปสู่โอกาสใหม่และเศรษฐกิจใหม่ เพียงแต่ว่าแต่เขายังอยู่กับประโยชน์แบบเดิมมันเลยไม่เปลี่ยน” กฤษฎา มองว่าการเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของโลก ให้มีพลังงานทางเลือกเป็นหลัก จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่นานาชาติต้องจริงจังในการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของโลกขนานใหญ่

กองทุน Lost and damage fund ความสำเร็จของCOP28 ?

สิ่งที่ถูกยกขึ้นมาว่าเป็นความสำเร็จสำคัญในการประชุม COP28 ครั้งนี้ คือการสามารถจัดตั้งกองทุน “Loss and Demage Finance Fund” ได้เป็นการสำเร็จ ซึ่งเป็นกองทุน ที่จะให้ประเทศพัฒนาแล้วร่วมกันลงเงิน ช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ในการใช้รับมือหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือผลกระทบจากวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศรุนแรง เพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจและด้านโครงสร้างขึ้นมาได้อีกครั้ง 

แม้แนวคิดเรื่องกองทุนนี้ เริ่มก่อรูปมานานหลายปี มีการพูดคุยเรื่องหลักการมาตั้งแต่ COP ครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่มีบทสรุปที่ชัดเจนเป็นรูปร่างมากที่สุด และเริ่มมีการลงเงินกันใน COP ครั้งนี้ ในมุมของ กฤษฎาเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ขึ้นมา เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประมาณที่สูง ควรจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

โดยอธิบายว่าในการประชุม COP หลายครั้งที่ผ่านมา มีการจัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นหลายกองทุน แต่ก่อนหน้านี้กองทุนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปยังการพัฒนาด้าน “Mitigation” คือสนับสนุนในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมุ่งเน้นไปยังเรื่องของเทคโนโลยี อย่างการสร้างนวัตกรรมดักจับก๊าซ หรือการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกตลาด อย่างเช่นตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งผลของมันถูกมองว่าล้มเหลวไม่สามารถตอบโจทย์ให้เหล่าอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง

จึงเริ่มมีการเรียกร้องจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการใช้เงินช่วยเหลือมุ่งเน้นมายังการพัฒนาอีกด้านหนึ่งคือ “Adaptation” คือการช่วยเหลือในการปรับตัวจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีศักยภาพในการปรับตัวต่ำ หรือกลุ่มประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพอากาศอย่างรุนแรง เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบได้
 
“เพียงแต่ว่าจะทำยังไงที่จะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเงินเหล่านี้มักจะไปติดอยู่กับองค์กรใหญ่ ๆอย่างหน่วยงานราชการ” หลายปีที่ผ่านมีกองทุนด้านการปรับตัวนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เงินส่วนใหญ่ไม่สามารถลงไปถึงประชาชนในชุมชนที่ประสบปัญหาได้จริง แต่ไปกระจุกอยู่กับองค์กรขนาดใหญ่ของรัฐ

“เม็ดเงินมันไปไม่ถึงประชาชนข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีเม็ดเงินค้างอยู่ข้างบนเต็มไปหมดเลย เราต้องปลดปล่อยเงื่อนไขการเข้าถึงเงินทุนที่เป็นข้อจำกัดเหล่านี้ให้ได้” กฤษฎา ได้ยกตัวอย่างงบประมาณของ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund ที่เกิดขึ้นในการประชุม COP ครั้งที่ 16 เพื่อเพื่อส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้สนองตอบต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เงินจากกองทุนนี้ลงมาประเทศไทย ในโครงการหลักเพียงโครงการเดียวเท่านั้น โดยเป็นโครงการของกรมชลประทานในการสร้างคลองส่งน้ำ ซึ่งควรอยู่ในแผนหลักของหน่วยงานอยู่แล้ว 

ดังนั้นเงินทุนเพื่อการปรับตัวเหล่านี้จึงควรถูกระจายลงมาให้กับชุมชนที่ได้รับกระทบจากสภาพภูมิอากาศโดยตรงมากกว่านี้ ด้วยการให้ชุมชนแต่ละแห่งสามารออกแบบแนวทางการปรับตัวของตัวเอง เช่นการปรับปรุงพันธ์พืชที่สามารถทนต่อภัยแห้ง ปรับปรุงระบบน้ำในพื้นที่ หรือสร้างแผนฟื้นฟูป่าของชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนเผชิญกับรูปแบบปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แตกต่างกัน 

“แต่ถ้าหากไม่ยอมแก้ที่ต้นเหตุ คือการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ความเสียหายมันจะขยายตัวไปเรื่อย ๆ คนจะเดือดร้อนจากอาหาร จากโรคภัย และภัยพิบัติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ใช้เงินเท่าไหร่ก็ชดเชยไม่พอ” กฤษฎากล่าว แต่ในท้ายที่สุดแล้ว แม้จะมีกองทุนที่ชาติมหาอำนาจ ให้เม็ดเงินสนับสนุนด้านการปรับตัวจากเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือนานาชาติต้องร่วมกัน แก้ไขสาเหตุหลักของปัญหาคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากไม่อย่างนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเกินกว่าที่ใครจะสามารถเยียวยาและปรับตัวได้ 

“มันจะกลายเป็นการที่ประเทศมหาอำนาจ บอกได้ว่าตัวเองพยายามช่วยโลกนี้กันแล้ว ด้วยการลงขันในกองทุน Lost and fund แล้วสุดท้ายก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจำนวนมากต่อไป” หากไม่อย่างนั้นกองทุนต่าง ๆที่ช่วยเหลือด้านการเยียวและปรับตัว จะกลายเป็นเพียงอีกข้ออ้างในการฟอกเขียวให้กับประเทศมหาอำนาจอ้างความชอบธรรมในปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้ 

ไทยไร้บทบาทในเวทีโลก แนวทางสิ่งแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลง

ในส่วนของประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ ได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมเวที COP28 เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่าน โดยในครั้งนี้  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ในช่วงการประชุมระดับสูง โดยมีใจความหลัก ยืนยันว่าประเทศไทยได้ทำตามสิ่งต่างๆ ที่ให้สัญญาไว้กับนานาชาติ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 40% ภายในปี 2040 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2065 

และได้กล่าวถึงที่มีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ โดยมองว่าการระดมเงินทุนของนานาจะสามารถช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถบรรลุเป้าทางสิ่งแวดล้อมได้

“เราไม่มีบทบาทในการเจรจา เรื่องการพูด (การขึ้นกล่าวพล.ต.อ.พัชรวาท) แค่ 3 นาทีผมว่าไม่มีความหมายอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยในเวลา 3 นาทีควรเรียกร้องอะไรที่เป็นประเด็นของโลกบ้าง” กฤษฎา มองว่าด้วยความที่รัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้มีแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเองที่ชัดเจน เป็นการเดินตามนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 หรือเป้าหมายอื่นที่ซึ่งล้วนมีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน

การแถลงของไทยจึงกล่าวถึงแต่การที่ไทยจะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีตัวชี้วัดที่แน่นอน หรือบอกถึงความก้าวหน้าของไทย ซึ่งเคยมีการประเมินจากต่างชาติว่านโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของไทยนั้นที่ผ่านมาล้มเหลว รวมทั้ง ในความเห็นของ กฤษฏา ไทยไม่ได้มีบทบาทในการร่วมผลักดันประเด็นปัญหาสำคัญภายในโต๊ะเจรจา หรือมีการแสดงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเองที่ชัดเจน

“รัฐบาลเศรษฐาหรือประยุทธ์สนใจอยู่อย่างเดียวคือภาคธุรกิจ ของไทยจะไปรอดในสถานการณ์โลกร้อนได้อย่างไร แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าเราจะช่วยโลกอย่างไร ประชาชนในประเทศจะปรับตัวเอาตัวรอดยังไง” กฤษฎา กล่าวถึงจุดยืนของไทย บนเวที COP ว่าอยู่ในภาคการเงินและธุรกิจเป็นหลัก เป้าหมายหลักของรัฐบาลจึงเป็นเช่นว่า จะสามารถนำดึงเม็ดเงินลงุทน และเงินช่วยเหลือจากกองทุนต่าง ๆ มาสู่ประเทศได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net