Skip to main content
sharethis

เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2567 มีการประท้วงอย่างหนักจากของภาคส่วนต่างๆ ในเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร, คนส่งของ ไปจนถึงพนักงานรถไฟ พวกเขาประท้วงรัฐบาลแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลางที่ออกมาตรการเศรษฐกิจแบบที่กระทบชีวิตของพวกเขา จนทำให้น่ากังวลว่าฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคเอเอฟดีของเยอรมนีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อไม่นานนี้ จะฉวยโอกาสใช้ความโกรธของคนในประเทศมาลิดรอนประชาธิปไตย

กลุ่มเกษตรกรประท้วงในเยอรมนี ที่มา: แฟ้มภาพ/DW 14 ม.ค. 67

สื่อเยอรมนี DW วิเคราะห์ว่าเยอรมนีในยุคสมัยหลังอดีตนายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล นั้นน่าเป็นห่วง มีการประท้วงแสดงความไม่พอใจครั้งใหญ่จากคนหลายภาคส่วนในสังคม พร้อมๆ กับที่กลุ่มขวาจัดซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอาจจะฉวยโอกาสนี้เล่นงานรัฐบาลแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลาง

ย้อนไปในสมัยของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนายกฯ ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีตลอด 16 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง เธอมีชื่อเสียงในฐานะคนที่วางตัวอยู่นอกสถานการณ์แทนที่จะมีปฏิบัติการต่อเหตุการณ์ต่างๆ เธอเคยให้สัญญากับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะทำให้ชีวิตของพวกเราดำเนินต่อไปอย่างสงบสุขและมีความมั่งคั่งโดยไม่ต้องกังวลอะไร

ทว่าสุดท้ายแล้ว DW ก็มองว่า สิ่งที่แมร์เคิลพูดเป็นเรื่องหลอกลวงให้เข้าใจผิด แต่ผู้คนก็ยังคงคาดหวังจากคำพูดของแมร์เคิลอยู่ดีแม้จะผ่านมาสู่รัฐบาลชุดใหม่แล้ว

ในเดือน ธ.ค. 2564 รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามามีอำนาจในเยอรมนีคือรัฐบาลที่นำโดยพรรคฝ่ายซ้ายกลาง คือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลเป็นพรรคกรีนส์กับพรรคสายเสรีนิยมใหม่คือพรรคฟรีเดโมแครต (FDP) พวกเขาให้สัญญาว่าจะทำให้เกิดความก้าวหน้าโดยไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดซึ่งหมายถึงนโยบายการปรับลดงบประมาณด้านการอุดหนุนสวัสดิการประชาชน แต่ก็ไม่มีใครเตรียมตัวรับมือกับสงครามในยูเครนและผลพวงทางอ้อมที่ตามมาจากสงครามนี้

จากนั้นรัฐบาลก็วางแผนจะอัดฉีดงบประมาณ 60,000 ล้านยูโร (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) เพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในแบบที่ไม่เจ็บตัว มีเงินที่เหลือตกค้างมาจากเงินทุนกู้ยืมฉุกเฉินของรัฐบาลที่ได้รับการอนุมัติในช่วงการระบาดหนักของ COVID-19 แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนว่ามันจะไม่ได้นำมาใช้ ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีก็ยังคงประกาศเมื่อเดือน พ.ย. 2566 ว่าการปรับงบประมาณ COVID-19 ไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นถือว่าผิดหลักรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลเยอรมนีเผชิญกับภารกิจต้องอุดรูรั่วของงบประมาณในขณะเดียวกับที่เศรษฐกิจกำลังใกล้จะเข้าสู่ภาวะซบเซา ราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากในสังคม

ภายใต้สภาพการณ์นี้เอง การขึ้นภาษีและการตัดงบประมาณอุดหนุนจึงถูกมองจากคนส่วนมากว่าเป็นการยัดเยียด ในขณะที่ประชาชนบางส่วนเบื่อหน่ายและเลิกบ่น แต่อีกหลายคนก็รู้สึกโกรธเคืองไม่พอใจต่อรัฐบาล

การประท้วงของเกษตรกร : ระเบิดความโกรธที่เก็บกักไว้ออกมา

เกษตรกรที่เผชิญกับการถูกตัดงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลนั้นเป็นกลุ่มที่โกรธเคืองรัฐบาลมากเป็นพิเศษ พวกเขาทำการประท้วงปิดทางหลวงและสี่แยก ขับรถแทร็กเตอร์เข้าไปในเมืองแล้วทำให้การจราจรนิ่งชะงัก

ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนี มีเกษตรกรที่ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัด พยายามบุกเข้าไปที่เรือเฟอร์รีของ โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและรองนายกฯ เยอรมนีในตอนที่เขาเดินทางกลับจากการไปพักร้อน

ฉากประท้วงอันแสนดราม่าเช่นนี้ชวนให้นึกถึงการประท้วงช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่มีกลุ่มฝูงชนรวมตัวกันที่หน้าบ้านพักส่วนตัวของนักการเมืองหลายครั้งหลายคราเพื่อประท้วงข้อจำกัดที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคซึ่งผู้ประท้วงมองว่ามันเข้มงวดเกินไป

จากที่เมื่อปี 2559 การสำรวจของ YouGov ตามประเทศต่างๆ ของสหภาพยุโรประบุว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการยอมรับนโยบายแบบประชานิยมน้อยที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่าตอนนี้พวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว

นักข่าวสายการเมือง อัลเบรช ฟอน ลุคเคอ ระบุว่าในตอนนี้เยอรมนีเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้าใกล้การเมืองแบบสุดโต่งมากขึ้น เขาเริ่มมองเห็นกระแสการแบ่งแยกทางสังคมและการแยกตัว ลุคเคอ มองว่าสังคมเยอรมนีในตอนนี้เริ่มออกห่างจากการเป็นสังคมแห่งฉันทมติและการถกเถียงอภิปรายอย่างสร้างสรรค์

หรือเยอรมนีจะกลายเป็นสังคมที่ "ไม่มีแก่ใจจะหาทางประนีประนอม" ?

ลัคเคอ กล่าวว่า "การโต้แย้งกันเป็นสิ่งที่สำคัญในวัฒนธรรมประชาธิปไตย... แต่ถ้าหากการโต้แย้งไม่ได้มาพร้อมกับเจตจำนงที่จะหาทางประนีประนอมอีกต่อไปแ แต่กลับกลายเป็นการที่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่มพยายามจะทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายได้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาธิปไตยก็จะสึกกร่อน แล้วรัฐบาลก็จะสูญเสียอำนาจทุกด้าน สุดท้ายแล้วจุดยืนทางการเมืองก็จะดำเนินไปสู่ความสุดโต่งแบบตกขอบมากขึ้นเรื่อยๆ"

อูร์ซูลา มุนช์ นักวิเคราะห์การเมืองและผู้อำนวยการสถาบันเพื่อรัฐศาสตร์ที่ทุทซิงกลับมองว่ามันยังไม่ถึงขั้นรุนแรงขนาดนั้น

"ฉันไม่คิดว่าพวกเราควรจะพูดถึงสังคมในแง่ที่ว่ามันถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วใหญ่ๆ เท่าๆ กัน แต่ฉันมองเห็นว่ากลุ่มสุดโต่งตกขอบในสังคมกำลังเติบโตขึ้น" มุนซ์พูดถึงการแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก ซึ่งไม่ได้มาจากในที่ประท้วงของชาวนาเท่านั้นแต่ยังมาจากกลุ่มสหภาพคนขับรถไฟด้วย

ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็มีอำนาจในการทำให้ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นอัมพาตได้ สำหรับลัคเคอแล้ว การประท้วงของเกษตรกรแสดงให้เห็นถึงการที่ว่าทุกคนต่างก็คำนึงถึงแต่ตัวเองในตอนนี้ ลัคเคอบอกว่า "กลุ่มเกษตรกรเกือบจะทำให้มาตรการทุกอย่างถูกยกเลิกได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังคงประท้วงต่อไปเพื่อที่จะทำให้มาตรการสุดท้ายถูกยกเลิกด้วย"

ส่วนมุนช์เชื่อว่ากลุ่มเกษตรกรรู้สึกถูกละเลยเพราะว่าไม่มีการปรึกษาหารือกับกลุ่มของพวกเขาหรือตัวแทนของพวกเขาก่อนหน้าที่รัฐบาลจะออกมาตรการ มุนช์บอกว่า "พวกเขา(เกษตรกร)รู้สึกถูกผลักให้เป็นชายขอบ และไม่มีการเล็งเห็นความสำคัญของพวกเขา"

ชาวเยอรมันจำนวนมากมองว่าการปรับเปลี่ยนเลิกใช้พลังงานฟอสซิล เป็นการก้าวก่ายจากภาครัฐ

เกษตรกรเยอรมันมักจะบอกว่าพวกเขาไม่สามารถรับมือกับความเร็วของการปฏฺิรูปและข้อบังคับใหม่ในเรื่องสิ้งแวดล้อมและการคุ้มครองสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟาร์มเกษตรขนาดเล็กที่บอกว่าพวกเขามีเวลาน้อยมากในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอียู

ในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมเยอรมนีก็มีความรู้สึกใกล้เคียงกัน ตอนที่มีข่าวเรื่องการปฏิรูปออกมาในปี 2566 เรื่องการที่รัฐบาลกำลังวางแผนจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเร่งด่วนสำหรับการใช้กับอุปกรณ์ให้ความอบอุ่น เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างหนักจากประชาชน คนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเป็นพิเศษคือ โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รมต.การคลัง แต่พรรคแนวร่วมรัฐบาลต่างก็มีคะแนนนิยมลดลงด้วยกันหมด

มุนช์กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ประชาชนเคยบอกว่า "พวกเราเข้าใจดีว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเล็กน้อย" แต่การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจริงกลับส่งผลให้ประชาชนรู้สึกถึงผลกระทบโดยตรงต่อเงินในกระเป๋าของพวกเขา ต่อสภาพชีวิตในครัวเรือนหรือในอู่รถของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ผู้คนมองว่าจู่ๆ รัฐก็ทำตัวก้าวก่ายพวกเขา

อย่างไรก็ตามมุนช์กล่าวว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นที่ชาวเยอรมันจะต้องรู้สึกว่าพวกเขาถูกเพิ่มภาระจนล้นเกินมากเกินไป มุนช์บอกว่า "พวกเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก แบะนั่นก็คือรัฐสวัสดิการ" ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าผู้คนมีความกังวลแต่ "พวกเราก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองถูกกระตุ้นเร้าอารมณ์จนควบคุมตัวเองไม่ได้"

พรรคขวาจัดเริ่มได้รับความนิยม อาศัยฉวยโอกาสจากความขัดแย้ง

แต่พวกขวาจัดคิดตรงกันข้ามกับนักวิเคราะห์ พรรคการเมืองขวาจัดอย่าง AfD กำลังหาผลประโยชน์เข้าตัวเองโดยการอาศัยความไม่พอใจของประชาชน ผลสำรวจคะแนนนิยมของพวกเขาเพิ่มสูงขึ้น ในรัฐทางตะวันออกของเยอรมนีอย่าง แซกโซนี, ทูรินเจีย และ บรันเดนบูร์ก ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับรัฐภายในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ ผลสำรวจความนิยมจนถึงตอนนี้ระบุว่า AfD ได้รับความนิยมสูงกว่าพรรคอื่นๆ

นักวิเคราะห์มองว่าพรรค AfD กำลังสุมเชื้อไฟให้กับการแบ่งขั้วทางการเมือง

มุนช์ระบุว่า "ในตอนนี้ฉันคิดว่ามันมีภัยคุกคามเพียงเพราะว่าส่วนหนึ่งของประชากรอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ง่ายมาก" โดยมีประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บอกว่าพวกเขารู้สึกถูกป้อนด้วยชุดคำโกหกหลอกลวงแต่เพียงอย่างเดียว

ลุคเคอ ประเมินว่าในปี 2567 นี้จะเป็นปีของการโหวตเพื่อประท้วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาต่างๆ ภายในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

"การทะเลาะกันจะยังคงดำเนินต่อไป ความไม่พอใจจะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ แล้วพวกเราก็จะต้องเผชิญกับการโหวตเพื่อประท้วง" ลุคเคอกล่าว

เรียบเรียงจาก

Germany in protest mode: From farmers to train drivers, DW, 14-01-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net