Skip to main content
sharethis

ปมกำไรธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะมีการชวนให้ดูส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM แต่เมื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมาก็น่าสนใจ 

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงาน ข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% YOY ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก งวด 9 เดือนกำไร 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% YOY จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะมีการระบุว่า การดูเพียงส่วนต่าง (Spread) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาที่  “การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ Net Interest Margin – NIM ที่สะท้อนส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายมากกว่าก็ตาม

แต่เมื่อย้อนดูส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (ต่ำสุด) กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (ต่ำสุด) ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา คือ 2548-2566 ก็เห็นถึงสัดส่วนความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ที่มาข้อมูล : อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (2548-ปัจจุบัน) ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลก ปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทย Interest rate spread อยู่ที่ 2.63

อนึ่ง สำหรับตัวชี้วัด ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร หรือ Net Interest Margin หรือ NIM  เพจ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand' เคยอธิบายไว้เมื่อปี 2560 ว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร ไม่ได้ดูแค่ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ จริง ๆ แล้ว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย โดยองค์ประกอบที่สำคัญของดอกเบี้ยรับคือ ปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนต่าง ๆ ทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้กู้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงผลกำไรเพื่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

ลงทุนแมน โพสต์อธิบายไว้ด้วยว่า ในปี 2023 NIM ของธนาคารไทยอยู่ที่ 3% แปลว่า สำหรับธุรกรรมการเงินระหว่างธนาคารและบุคคลที่ก่อให้เกิดรายได้ 100 บาท ธนาคารจะได้กำไร 3 บาท ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากช่วงปี 2020-2022 ที่อยู่ในระดับ 2.8 แต่ยังคงอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งนี้ การมีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่ระดับ 7% แต่มี NIM เพียง 3% และเมื่อดูภาพรวม ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทำธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นระบบธนาคารในไทยจึงอาจจำเป็นต้องทำให้ต้นทุนของตัวเองลดต่ำลง

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังมีส่วนที่ต้องนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)  ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่ยังต้องชดใช้จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 โดยในส่วนนี้ช่วงการระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตรานำส่งเงินส่วนนี้ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี เป็นการชั่วคราว มีส่วนสำคัญ ที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคาร และกลัยมาอยู่ที่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมาแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net