Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' เผยเตรียมถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติปมดอกเบี้ย ย้อนดู ปี 64 'เศรษฐา' เคยเสนอดอกเบี้ย 0% ขณะที่โฆษกรัฐบาลชมบทความเฟซบุ๊ก “หนุ่มเมืองจันท์” ถามความเห็นแบงก์ชาติ กรณีแบงก์ไทยทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น ชี้ตรงกับสภาพเศรษฐกิจไทยห้วงขณะนี้

8 ม.ค.2567 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงาน ข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% YOY ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก งวด 9 เดือนกำไร 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% YOY จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น

'เศรษฐา' เผยเตรียมถกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 

โดยเฉพาะ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ออกมาติงหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ม.ค.) ช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วย” แต่แบงก์ชาติ ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตนได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ตนเองอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก

เศรษฐาทวีตเมื่อวันที่ 7 ม.ค.67

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกรัฐมนตรีมีความกังวลอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ต่ำมากครับ ดังนั้น อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ตนขอฝากไว้ และหลังจากนี้ไปก็จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย

ปี 64 'เศรษฐา' เคยเสนอดอกเบี้ย 0%

ขณะที่ย้อนไปเมื่อปี 29 พ.ค.2564 เศรษฐา เคยทวีตผ่านทวิตเตอร์หรือ x ด้วยว่า "ปากเปียกปากแฉะขอไปให้ลดดอกเบี้ย policy rate จาก 0.5 ให้เป็น 0 เพื่อลดภาระผู้เดือนร้อน ผู้ว่า ธปท ไม่ยินดียินร้าย ท่านคงไม่เคยต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เกิดมามีพร้อม หลายคนไม่โชคดีเหมือนท่าน อ้างว่าต่ำแล้วเหลือกระสุนไว้ใช้เมื่อจำเป็น ตลกสิ้นดี เหลือไว้ยิงตัวตายเมื่อไม่มีจะกิน ?"

เศรษฐาทวีตเมื่อวันที่ 29 พ.ค.64

โฆษกรัฐบาลชมบทความเฟซบุ๊ก “หนุ่มเมืองจันท์” ถามความเห็นแบงก์ชาติ กรณีแบงก์ไทยทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น ชี้ตรงกับสภาพเศรษฐกิจไทยห้วงขณะนี้

ด้าน ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตนได้ติดตามบทความของหนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) นักประพันธ์ ที่ได้โพสต์บทความในเฟซบุ๊ก หนุ่มเมืองจันท์ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 โดยได้นำเสนอพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่มีข้อความว่า “แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์” พร้อมระบุว่า เห็นพาดหัวข่าวของ “ประชาชาติธุรกิจ” วันนี้แล้วอึ้งเลย ผมไม่รู้ว่า “แบงก์ชาติ” จะรู้สึกตงิดอะไรในใจบ้างไหม โดยหนุ่มเมืองจันท์ได้เสนอบทความต่อพาดหัวข่าวดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหานำเสนอความเห็นต่อกรณีแบงก์ไทยทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น และสภาพเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ว่า  

ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนสูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง 
  
ชัยกล่าวต่อไปว่า เนื้อหาบทความยังระบุว่า พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งน่าเกลียด รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร มาจาก “การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ NIM หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ขยับ “ส่วนต่าง” ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อย ๆ แต่ให้กู้แพง ๆ ทำกำไรแบบง่าย ๆ แบงก์ที่กำไรจาก “ส่วนต่าง” นี้มากที่สุด คือ แบงก์กรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2 %แล้ว ที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น “เสือนอนกิน” จึงไม่ใช่คำกล่าวหา หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง “หัวใจ” ถ้าการทำงานของ “หัวใจ” ผิดปกติแบบนี้ จะไม่คิดจะทำอะไรบ้างหรือครับ หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว  

“โพสต์ดังกล่าวของหนุ่มเมืองจันท์ในเฟซบุ๊กมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์โพสต์กว่า 700 ครั้ง ผมเห็นด้วยและถูกใจกับข้อเขียนของหนุ่มเมืองจันท์ในเฟซบุ๊กมาก เพราะถูกต้องแม่นยำตรงกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยในห้วงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง” โฆษกรัฐบาลกล่าว 

ธปท. อธิบาย 'รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ'

สำหรับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารนั้น เพจ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand' เคยอธิบายไว้เมื่อปี 2560 ว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร...ไม่ได้ดูแค่ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ จริง ๆ แล้ว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin หรือ NIM) คืออะไร? ธนาคารพาณิชย์ไทยมี NIM สูงเกินไปหรือไม่ แล้วประชาชนได้รับผลกระทบอะไรจาก NIM?

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย โดยองค์ประกอบที่สำคัญของดอกเบี้ยรับคือ ปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนต่าง ๆ ทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้กู้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงผลกำไรเพื่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้หากต้นทุนต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ทั้งจากการลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้ การลดต้นทุนการดำเนินงานจากการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการส่งเสริมการแข่งขันในระบบการเงิน จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปยังธุรกิจและประชาชน ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ปรับลดลง และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ก็ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ให้กับผู้ขอกู้จากธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงด้วยเช่นกัน

ในส่วน NIM ปัจจุบัน ลงทุนแมน โพสต์อธิบายไว้ด้วยว่า ในปี 2023 NIM ของธนาคารไทยอยู่ที่ 3% แปลว่า สำหรับธุรกรรมการเงินระหว่างธนาคารและบุคคลที่ก่อให้เกิดรายได้ 100 บาท ธนาคารจะได้กำไร 3 บาท ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากช่วงปี 2020-2022 ที่อยู่ในระดับ 2.8 แต่ยังคงอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่ระดับ 7% แต่มี NIM เพียง 3% และเมื่อดูภาพรวม ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทำธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นระบบธนาคารในไทยจึงอาจจำเป็นต้องทำให้ต้นทุนของตัวเองลดต่ำลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net