Skip to main content
sharethis

แรงงานจังหวัดสระบุรีเข้าตรวจแรงงานเมียนมาติดตามการเรียกร้องจ่ายค่าจ้าง 1,055 คน ประมาณ 7.75 ล้านบาท

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี สั่งการให้นางสาวอัมพร เปรมปรี แรงงานจังหวัดสระบุรี นางขนิษฐา มัจฉากล่ำ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี นางสาวจิรานุช พุ่มมะลิ จัดหางานจังหวัดสระบุรี

ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน นักวิชาการแรงงาน เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีลูกจ้างต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ประมาณ 1,055 คน รวมตัวบริเวณทางเข้าสถานประกอบกิจการพื้นที่อำเภอหนองโดน เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างงวดเดือนธันวาคม 2566 โดยพนักงานตรวจแรงงานเข้าดำเนินการให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานดังกล่าว รวมจำนวน 1,055 คน ยอดเงินที่ลูกจ้างได้รับทั้งสิ้น 7,750,000 บาท โดย มีเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี สำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหนองโดนได้เฝ้าสังเกตการณ์การจ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าว

ที่มา: AEC TV online, 7/7/2567

เตือนอย่าหลงเชื่อสมัครงานในสื่อออนไลน์ เก็บกะหล่ำปลีที่เกาหลี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่มีการโพสต์ข้อมูลระบุว่า เกาหลีเปิดรับแรงงานเก็บกะหล่ำปลีโดยรัฐจัดส่งกรมจัดหางาน ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การโฆษณาจัดหางานเชิญชวนคนหางานไปทำงานทางสื่อโซเชียลมีเดียดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดชื่อบริษัทจัดหางาน ตำแหน่งงาน และคุณสมบัติ ซึ่งไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มีความผิดตามมาตรา 66 โดยการโฆษณาจัดหางานเพื่อพาคนไปทำงานต่างประเทศสามารถทำได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น

นายคารม ขอให้ผู้สนใจทำงานต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางานให้รอบคอบก่อน สังเกตตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วน เช่นบริษัท ลักษณะงาน หรือตำแหน่งที่เปิดรับ เพื่อป้องกันไม่ให้คนหางานหรือนายจ้าง/สถานประกอบการถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02-248-4792 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางานและติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/”นายคารม ย้ำ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 6/1/2567

แนะแก้สูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ด้อยค่าแรงงาน

วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เกี่ยวกับด้านสวัสดิการแรงงาน ว่า สถานะของแรงงานยังไม่ได้อยู่ในวิกฤต โดยตั้งคำถามถึงการเพิ่มรายได้ ขณะที่ค่าแรงยังคงที่ การลดรายจ่าย แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังสูง และขยายโอกาสแบบใดที่ประชาชนยังถูกเอาเปรียบ แม้แต่กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เมื่อพิจารณาร่างงบประมาณแล้ว รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณไม่ต่างกับรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเหมือนเป็นการตั้งงบไม่ได้มาแก้วิกฤตเหมือนที่นายกรัฐมนตรีชอบพูด

วรรณวิภา กล่าวว่า ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่ตอนนี้โยนกันไปมา ระหว่างคณะกรรมการค่าจ้างกับนายกรัฐมนตรี สรุปว่าจะอย่างไรกันแน่  ซึ่งจะมีการประชุมไตรภาคีอีกไม่กี่วันข้างหน้า กล้าทุบโต๊ะหรือไม่ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเล็กน้อย ขยับไปไม่ถึงไหน

“ปัญหาเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการกำหนดค่าแรงที่มีสูตรในการคิดคำนวณ ซึ่งการต่อรองกับระหว่างคณะกรรมการไตรภาคี ท่านคงไม่สามารถสั่งเฉยๆ แบบที่ใจต้องการได้ แต่หากท่านมีจิตใจที่อยากขึ้นค่าแรงจริงๆ ท่านต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ สูตรในการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นสูตรที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน หรือที่เรียกกันว่าค่า แอล (L) ซึ่งตนขอเรียกว่าเป็นค่าสูตรที่คิดออกมาแบบด้อยค่าแรงงาน ทำให้พี่น้องแรงงานถูกกดค่าแรงให้ต่ำมาตลอดเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยการคิดให้น้อยกว่าความสามารถที่จะเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ทำได้จริงๆ แทนที่แรงงานจะได้ค่าแรงเต็มๆ จากความสามารถที่เพิ่มขึ้น กลับได้ค่าแรงที่กระทรวงแรงงานได้กดเอาไว้” นางวรรณวิภา กล่าว

วรรณวิภา กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานเสียโอกาสที่จะได้รับค่าแรงสูงขึ้น ยกตัวอย่าง กรณี กทม. หากใช้สูตรปัจจุบันและคิดเป็นธรรมตามปกติ กทม.จะได้ค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย วันละ 375 บาท ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาท หรือ 32 % ตามสูตรปัจจุบัน เท่ากับเสียโอกาสไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อวัน

“ต่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพ หรือผลิตภาพ 100-200 เปอร์เซ็นต์ แต่เจอสูตรหวงค่าแรงของกระทรวงแรงงานเข้าไป ขึ้นได้เต็มที่ 32% เท่านั้น ดังนั้น ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เข้าไปแก้ไขปัญหาและจัดการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด และหากท่านมีแผนตัดงบบุคลากรภาครัฐ ขอให้พิจารณาในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานด้วย เพราะคนที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือคนที่อยู่ในคณะกรรมการค่าจ้าง รวมไปถึงปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ด ที่มีส่วนร่วมปล่อยให้เกิดการคิดสูตรคำนวณที่ไม่เป็นธรรมต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกิน 7 ปี ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ฉะนั้น หากจะต้องตัดเงินเดือน ผู้ที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือ คนที่มีส่วนร่วมออกแบบสูตรค่าจ้าง” วรรณวิภา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/1/2567

ยืนยันสำนักงานประกันสังคมเก็บเงินสมทบกองทุนฯ ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ไม่มีการปรับเป็น 875 บาทต่อเดือน ตามที่เป็นข่าว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีการปรากฏข่าวสารเรื่องสำนักงานประกันสังคมเตรียมเก็บเพิ่ม จาก 750 เป็น 875 บาท/เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 67 นั้น เป็นข้อมูลเท็จ ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูล และชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังคงจัดเก็บเงินสมทบ กองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 5 จากฐานคำนวณค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะเป็นเงินไม่เกิน 750 บาท ไม่มีการปรับเป็น 875 บาท ต่อเดือนตามที่กล่าวอ้าง

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือติดต่อสายด่วน 1506” นายคารม ย้ำ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/1/2567

นักวิชาการ TDRI หนุนไทยเพิ่มศักยภาพแรงงานดัน 'ค่าจ้าง'

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ระบุ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม รวมถึงไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจึงมีผลทำให้ค่าแรงปรับขึ้นช้า

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐบาลคิดเพียงแค่การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดถึงการสร้างงานในประเทศและเป็นงานที่คนหนุ่มสาวอยากทำ เป็นงานที่ใช้ความรู้ เป็นอุตสาหกรรม การบริการ เทคโนโลยีสมัยใหม่

การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศและได้เจรจากับบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เป็นโอกาสสร้างงานใหม่ๆ เพราะหากเกิดงานเหล่านี้อย่างจริงจังโอกาสที่แรงงานจะได้ค่าจ้างสูงขึ้นโดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้คนที่ยังมีการศึกษาไม่สูง ทักษะน้อย ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ให้มหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนจัดฝึกอบรมโดยมี KPI วัดผลว่าเมื่ออบรมเสร็จแล้วจะมีงานทำ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนอุดหนุนงบประมาณให้แรงงานเรียนฟรี เป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาแรงงานที่มีทักษะต่ำให้สามารถเพิ่มทักษะเพื่อให้มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้

ที่มา: เนชั่นออนไลน์, 4/1/2567

เริ่มใช้แล้ว ประกาศ มาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่ง เชื่อลดอัตราเกิดอุบัติเหตุ-เสียชีวิต

กระทรวงแรงงานประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทยฉบับใหม่ล่าสุด มรท.8003–2566 สำหรับสถานประกอบกิจการในงานขนส่ง หวังยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบทางสังคม เชื่อ! เป็นเครื่องมือนำไปสู่การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และจำนวนผู้เสียชีวิต

วันที่ 3 มกราคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลแรงงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นการดูแลตามหลักธรรมาภิบาล  จึงได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง มาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่ง มรท.8003-2566 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำไปส่งเสริม ขับเคลื่อนให้สถานประกอบกิจการทุกขนาดที่มีกิจกรรมการขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการ และสถานประกอบกิจการที่ให้บริการด้านการขนส่งโดยตรง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สามารถนำมาตรฐานแรงงานไทยฉบับดังกล่าว ซึ่งจะมีแนวปฏิบัติในการจัดทำระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้แรงงาน การใช้ยานพาหนะ และการปฏิบัติตามระเบียบการใช้ถนน ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในสถานประกอบกิจการของตนเองได้โดยสมัครใจ อันจะส่งผลให้ลูกจ้างของสถานประกอบกิจการมีความปลอดภัยในการทำงาน และเชื่อมั่นว่ามาตรฐานแรงงานไทยฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนายจ้าง ลูกจ้าง รวมไปถึงทรัพย์สินสาธารณะ

โดยมีเป้าหมายให้สถานประกอบกิจการ จำนวน 102,389 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4,722,635 คน นำไปใช้เพื่อช่วยลดอัตราการประสบอันตรายเนื่องมาจากการทำงานจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4 ซึ่งจะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน และช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของสถานประกอบกิจการด้านขนส่งได้

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวต่อว่า มาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่ง เมื่อ รมว.แรงงาน ลงนามในประกาศแล้ว กรมจะได้สร้างระบบการรับรองหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 และจะสามารถตรวจประเมินสถานประกอบกิจการที่ขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่งได้ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567

จากนั้นกรมจะออกใบรับรองให้แก่สถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่งได้ในเดือน กันยายน 2567 ทั้งนี้ หากสถานประกอบกิจการสนใจขอรับรองมาตรฐานแรงงานไทยในงานขนส่ง มรท.8003-2566 สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2660 2108-9 สายด่วน 1546 หรือ http://tls.labour.go.th

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/1/2567

สภาองค์การนายจ้างฯ เข้าพบ รมว.แรงงาน หารือสิทธิประโยชน์อันสมควรได้แก่ผู้ใช้แรงงาน

ดร. เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภา และคณะกรรมการบริหารสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือใน 4 ประเด็นสำคัญ เพื่อสิทธิประโยชน์อันสมควรได้แก่ผู้ใช้แรงงาน โดยทั้ง 4 ประเด็นมีดังนี้

1. นายจ้างไม่เห็นด้วยที่พรรคการเมืองต่างก็ใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงโดยชูประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อหาเสียงเป็นนโยบายชวนเชื่อเพื่อการหาเสียง

หลักการและเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยนั้น ยังคงมีความเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 87 มีองค์ประกอบทางด้านเศรษฐศาสตร์รองรับความเหมาะสมทุกด้านแล้ว ประกอบด้วยคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ได้ใช้สิทธิในการพิจารณาครอบคลุมแล้ว ทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ “กระบวนการดังกล่าวได้ผ่านมติ ของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ทุกจังหวัด ผ่านเข้าอนุกรรมการทบทวนแล้ว จึงส่งต่อไตรภาคี ค่าแรงขั้นต่ำ ตามระบบ อย่างถูกต้อง” จึงไม่จำเป็นที่ทางภาครัฐจะต้องเข้ามาแทรกแซงให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ตามกระแสการเมืองแต่อย่างใด

2. เรื่อง การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงและพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยหลักการและเหตุผล

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงและการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าชดเชยนั้น ปัจจุบันนี้นายจ้างต้องรับภาระเกี่ยวกับการจ่ายเงินเข้ากองทุนต่างๆ คือ

1. กองทุนประกันสังคม

2. กองทุนเงินทดแทน

3. กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง (กำลังจะมีผลบังคับ)

4. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กำลังจะใช้บังคับ)

สำหรับเรื่องค่าชดเชยในประเด็นดังกล่าวนี้ นายจ้างไม่ได้มีนโยบายกำหนดหลักการไว้ เมื่อเกิดการเลิกจ้าง นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยเป็นกรณีๆ ไป เช่น ในการเกษียณอายุ การสิ้นสุดสภาพการจ้าง ซึ่งต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว

ในการที่จะกำหนดตั้งเป็นงบประมาณไว้เพื่ออนาคต เพื่อการจ่ายค่าชดเชยของลูกจ้างทั้งหมดล่วงหน้านั้น เป็นการสร้างนโยบายโดยกฎหมายที่ไม่จำเป็นและยังไม่เคยมี แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วยังไม่นำมาใช้เป็นนโยบายกันเลย

อนึ่ง หากภาครัฐจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงจะเป็นการสร้างภาระให้แก่นายจ้าง อีกทั้งยังไม่เอื้อให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศมาเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยด้วย

3. เสนอให้ภาครัฐได้หารือกับกรมสรรพากร เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ Upskill-Reskill ให้แก่พนักงานเพื่อการพัฒนาทักษะเรียนรู้เสริมทักษะใหม่ๆ ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในสายงานมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานโลก นายจ้างเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ควรจะให้นายจ้างสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เป็น 2 เท่า

หลักการและเหตุผลเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเสริมทักษะใหม่ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญในสายงานมากขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประกอบกิจการนั้นเป็นหน้าที่ของนายจ้างต้องจัดทำเป็นนโยบายอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับค่าจ้างประจำปี และค่าจ้างขั้นต่ำในทุกปี การดำเนินการ upskill reskill ให้แก่พนักงาน ในการพัฒนาทักษะเรียนรู้เทคโนโลยี่ใหม่ๆ นั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นใหม่อีก ในเรื่องนี้เห็นสมควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องส่งเสริมให้นายจ้างได้นำเอาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไปหักลดหย่อนภาษีได้สองเท่า “และหรือเรียกคืนได้ 50% ของเงินค่าใช้จ่ายที่นายจ้างได้ใช้ไป ทั้งสิ้นในช่วงการ upskill reskill เพื่อเป็นการลดภาระนายจ้าง และสามารถพัฒนาความสามารถของแรงงานให้รวดเร็วขึ้น เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีของเครื่องจักรใหม่ๆ ได้ และวิถีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถเพิ่ม productivity ได้ ผู้ประกอบการสามารถปรับค่าแรงตาม skill ที่เพิ่มขึ้น กับผลงานที่ออกมา เพื่อปรับค่าแรงตาม performance

4. เรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ขอให้พิจารณาในเรื่องของการนำเอาเงินชราภาพออกมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพได้ในระหว่างที่ยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อยู่ และให้หมายรวมถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้สามารถนำเอาสิทธิประโยชน์เงินชราภาพเดิม ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกมาใช้เพื่อประโยชน์ในการครองชีพได้ ในระหว่างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ด้วย

หลักการและเหตุผลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้วนั้น มีสิทธิประกอบด้วย 7 สิทธิประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ประเภทที่ 6 คือ สิทธิชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนนี้จะได้รับสิทธินำมาใช้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และพ้นจากสภาพการเป็นผู้ประกันตนแล้ว จึงจะใช้สิทธิชราภาพนั้น มีผู้ประกันตนส่วนมากมีความเห็นว่าสิทธิชราภาพนั้น ผู้ประกันตนอาจไม่มีโอกาสได้ใช้เลยก็ได้ จึงควรให้ผู้ประกันตนที่อาจจะไม่มีโอกาสได้นำเงินชราภาพมาใช้ ได้นำเงินชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนในขณะที่ยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้ นอกจากนั้นยังให้หมายรวมถึง ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งได้เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อนแล้ว ซึ่งปกติแล้วต้องหยุดรับเงินชราภาพ ตามมาตรา 33 ให้สามารถขอรับสิทธินำเงินชราภาพ ตามมาตรา 33 ออกมาใช้ในการดำรงชีพได้ในขณะที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้อีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/1/2567

นายกฯ เร่งเจรจา FTA ให้บรรลุผล เชื่อขึ้นค่าแรงไม่ใช่ประเด็นทำต่างชาติย้ายฐาน

นายกรัฐมนตรี แจงรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออังกฤษเท่านั้น เพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออก ซึ่งที่ผ่านมา การจัดทำ FTA ยังมีความล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

"เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงสูง หากเราไม่เร่งทำ เร่งเจรจาให้บรรลุผล เขาก็มีสิทธิ์ที่จะย้ายฐานการผลิต ไม่ใช่เรื่องค่าแรง แต่เรามีความคืบหน้าน้อยมากในการเจรจาช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา" นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงการอภิปราย

สำหรับจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลกที่มีความเปราะบางสูง เรามีความเป็นกลาง และมีความภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของประเทศไทย กรณีที่มีการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ไทยอยู่ในฐานะผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทำร้าย เราก็อาศัยช่องทางการทูตในการเจรจาที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งได้ขอร้องให้ช่วยเรื่องคนไทย 8 คนที่ยังถูกจับไปเป็นตัวประกัน ซึ่งต้องรอให้หยุดยิงก่อน

นายเศรษฐา กล่าวว่า การเดินทางเยือนต่างประเทศของตน เพื่อเชิญชวนการลงทุนจากต่างประทศเข้ามา ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เกิดการจ้างงาน ยกระดับรายได้ ซึ่งจะเดินหน้าทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเรามีจุดแข็งเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์สุขภาพระดับโลก ขณะที่เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น ก็มีเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย

ส่วนกรณีเมียนมาที่มีชายแดนติดต่อกันกว่า 2,000 กิโลเมตร ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการที่สมาชิกอาเซียนรับรอง เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยไทยจะเป็นผู้นำในการเจรจา ซึ่งจะรวมถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา PM2.5 การค้าชายแดน และปัญหายาเสพติด

สำหรับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จะเป็นประเด็นหนึ่งในการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีฮุนมาเน็ต ที่จะเดินทางมาเยือนประเทสไทยในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพื่อนำทรัพยากรมาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 3/1/2567

จับขบวนการขนแรงงานข้ามชาติ ใช้ไทยผ่านเข้ามาเลย์ งาบหัวคิวหลักแสนบาท

3 ม.ค. 2567 พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ศุภโชค หยงสตาร์ รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.แดนไพร แก้วเวหล รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง รอง ผบก.สส.ภ.7 ปฏิบัติราชการ บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ธวัชชัย นรินรัตน์ ผกก.1 บก.สส.สตม., พ.ต.อ.พิสิษฐ์ ศรีอ่อน ผกก.2 บก.สส.สตม., พ.ต.อ.รัฐพงษ์ แก้วยอด ผกก.4 บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชูวงศ์ อุทัยสาง ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. และ พ.ต.ท.กฤตกรอิชณน์ คงขำ สว.ตม.จว.ปัตตานี ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ขยายผลจับกุมขบวนการขนแรงงาน โดย ตม.จว.ปัตตานี สนธิกำลัง กก.สส.บก.ตม.6, สภ.สายบุรี จว.ปัตตานี, กก.6 บก.ปคม., กก.3 บก.ปส.1 จับกุม นายเลาะ (นามสมมติ) อายุ 56 ปี บุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี ในฐานความผิด "รู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร, ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม จากพนักงานเจ้าหน้าที่" โดยจับกุมได้ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำตัวส่ง พงส.สภ.สายบุรี ดำเนินการตามกฎหมาย

สืบเนื่องจากการขยายผลการจับกุมเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 66 ตม.จว.ปัตตานี สนธิกำลังร่วมกับ สภ.สายบุรี จว.ปัตตานี ทหารพราน 44 และฝ่ายปกครอง ขณะตั้งจุดตรวจความมั่นคง ด่านตรวจตอกอ อ.สายบุรี จว.ปัตตานี ได้จับกุม นายเจ๊ะอารง (นามสมมติ) อายุ 64 ปี พร้อมด้วยของกลางรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ และโทรศัพท์จำนวน 2 เครื่อง ในฐานความผิด "รู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมจากพนักงานเจ้าหน้าที่" และจับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติบังกลาเทศ 7 ราย ในฐานความผิด "เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต" โดยคนต่างด้าวทั้งหมดนั้นเดินทางมาจากประเทศบังกลาเทศมายังประเทศกัมพูชาด้วยสายการบิน และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อจะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย โดยจะมีนายหน้าที่ประเทศกัมพูชาให้ความช่วยเหลือนำคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทยมายังจุดพักคอย เป็นบ้านพักที่อยู่ตามแนวชายแดนฝั่ง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยเสียค่าใช้จ่ายต่อหัวรายละ 100,000-140,000 บาท

จากการสืบสวนขยายผลพบว่า นายเลาะ เป็นหนึ่งในขบวนการขนแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ตู้ลักลอบขนชาวบังกลาเทศจากบ้านพักคอย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปส่งต่อให้ นายเจ๊ะอารง (นามสมมติ) ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อนำชาวบังกลาเทศลักลอบออกทางช่องทางธรรมชาติไปประเทศมาเลเซีย

พนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐาน และศาลจังหวัดปัตตานีได้อนุมัติหมายจับ นายเลาะ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่า นายเลาะ ได้เดินทางไปในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จึงได้ไปสืบสวนติดตามตรวจสอบพบนายเลาะ จึงแสดงหมายจับ และจับกุมตัวนำส่ง พงส.สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี ดำเนินการตามกฎหมาย ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นายเลาะ เป็นบุคคลเฝ้าระวังที่เป็นตัวการสำคัญในฐานข้อมูลขบวนการลักลอบนำพาพื้นที่ บก.ตม.6 ที่พบความเคลื่อนไหวในช่วงปี 2564 จากการจับกุมเครือข่ายลักลอบนำพาแรงงานชาวเมียนมาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยทำหน้าที่ประสานงานและเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวจากพื้นที่ จ.ปัตตานี ไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน จ.นราธิวาส ก่อนที่ในปัจจุบันจะผันตัวมาลักลอบนำพาชาวบังกลาเทศจาก จ.สระแก้ว ไปประเทศมาเลเซีย และพบว่าผู้ครอบครองรถตู้ที่ใช้กระทำความผิด มีความเกี่ยวข้องกับอดีตผู้ต้องหาในเครือข่ายลักลอบขนคนต่างด้าวของเครือข่าย นายละมอร์ (นามสมมติ) ที่ลักลอบขนแรงงานชาวเมียนมาในปี 64

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 3/12/2566

ปลัด ก.แรงงาน กำชับทูตแรงงานติดตามสถานการณ์แผ่นกินไหวญี่ปุ่น พร้อมแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูดโดยมีศูนย์กลางในพื้นที่เขตโนโตโจ จังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 526 กิโลเมตร เมื่อวานนี้ (1 ม.ค. 2567) เวลาประมาณ 16.16 น. ตามเวลาท้องถิ่นในญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประกาศเตือนว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิ ความสูง 3-5 เมตร ตามมานั้น ทันทีที่ทราบข่าวในเรื่องนี้ผมมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จึงได้กำชับให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประกาศแจ้งเตือนให้แรงงานที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นรับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยที่สุด

โดยในเบื้องต้นผมได้รับรายงานจากนางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ยกเลิกประกาศให้เฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิในทุกพื้นที่ของญี่ปุ่นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี อาจมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง ทางการญี่ปุ่นจึงประกาศเตือนให้ชาวประมงใช้ความระมัดระวังในการออกเรือ รวมทั้งในช่วงสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ 2-3 วันข้างหน้า กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังให้เฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวที่จะยังคงมีตามมาเป็นระยะ (aftershocks) ทั้งนี้ ผมได้กำชับให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งออกประกาศแจ้งเตือนแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางช่องทางต่างๆ รวมถึง ประสานกับองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน เพื่อให้แจ้งเตือนผู้ฝึกปฏิบัติงาน/แรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าว และร่วมกันประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่าปัจจุบัน มีแรงงานไทยในญี่ปุ่น จำนวน 17,307 คน จำแนกเป็น แรงงานทักษะเฉพาะ 2,580 คน แรงงานที่มีฝีมือ 5,302 คน และผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค 9,425 คน โดยมีแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย/เฝ้าระวัง จำนวน ทั้งสิ้น 139 คน จำแนกเป็น ในพื้นที่ จังหวัดอิชิกาวะ 72 คน จังหวัดฟูกูอิ 13 คน จังหวัดนีกาตะ 24 คน จังหวัดยามากาตะ 8 คน และจังหวัดโทยามะ 22 คน ซึ่งแรงงานไทยทุกคนยังปลอดภัย

ด้าน นาย ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ฝึกงาน/แรงงานไทยที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการแจ้งเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นได้ตามช่องทางต่างๆ ได้แก่ หมายเลขฉุกเฉินกรณีต้องการความช่วยเหลือด้านแรงงาน: 080-3153-9700, 090–6537-0340 Line ID : labourhotline1, labourhotline2 รวมถึง Inbox ทาง Messenger ของ Facebook สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น

“จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ขอให้ครอบครัวของแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นมั่นใจได้ว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยและพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ และขอให้ ประชาชน ผู้ฝึกปฏิบัติงาน และแรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าว ดูแลรักษาตัวและเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏรายงานผู้ฝึกงาน/แรงงานไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีเพียงผู้ฝึกงาน/แรงงานไทยบางรายในจังหวัดอิชิกาวาได้รับผลกระทบจากกรณีไฟฟ้าดับและมีปัญหาระบบการสื่อสารในช่วงเมื่อวานนี้ (1 มกราคม 2567) ” นายไพโรจน์ กล่าวท้ายสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/1/2567

เตือนนายจ้างอย่าลืมยื่นแบบ คร.11 ภายใน ม.ค.นี้

นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า มาตรา 115/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.11) ภายในเดือนมกราคมของทุกปี จึงขอย้ำเตือนให้นายจ้างเร่งดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลและยื่นแบบ คร.11 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถยื่นแบบดังกล่าวได้ 2 ช่องทาง โดยนำส่งด้วยตนเองที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือ ยื่นแบบผ่านออนไลน์โดยการกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) ช่องทาง E-service (https://eservice.labour.go.th) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นายจ้างดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าสถานประกอบกิจการใดฝ่าฝืนไม่ยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

นางโสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบ 10 คน หรือไม่มีลูกจ้าง หรือเลิกกิจการ ขอให้กรอกแบบฟอร์มดังกล่าวด้วย เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานนำไปปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบ 10 คน ก็สามารถยื่นแบบ คร.11 ได้เช่นเดียวกัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/1/2567

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net