Skip to main content
sharethis

'วรรณวิภา' สส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปรายงบฯ 67 ที่เกี่ยวกับแรงงาน ไม่เพิ่มเหมือนรัฐบาล 'ประยุทธ์' ติง 2 ประเด็น รัฐบาลไม่ตั้งงบฯ ใช้หนี้กองทุนประกันสังคม 7 หมื่นล้าน และจัดโครงการรัฐที่ไม่เป็นไปตามพันธกิจกระทรวงแรงงาน 

 

5 ม.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (5 ม.ค.) ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) สมัยพิเศษ วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปรายพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน และคุณภาพชีวิตแรงงาน 

วรรณวิภา กล่าวว่า งบประมาณ 2567 จัดงบฯ เหมือนประเทศไทยไม่อยู่ในวิกฤต ทั้งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเสมอว่า เราอยู่ในวิกฤตแล้วต้องเพิ่มรายได้ เพิ่มรายจ่าย และขยายโอกาสให้กับประชาชน

"เพิ่มรายได้แบบไหน ค่าแรงขั้นต่ำยังนิ่งอยู่ ลดรายจ่ายแบบไหนเมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคไม่มีแนวโน้มว่าราคาจะลดลงเลย ขยายโอกาสแบบไหนในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังถูกเอารัดเอาเปรียบแม้แต่กฎหมายขั้นต่ำยังบังคับใช้ไม่ได้" วรรณวิภา กล่าว 

รัฐยังไม่ตั้งงบฯ ใช้หนี้ประกันสังคม 7 หมื่นล้าน

สส.ปีกแรงงาน กล่าวว่า ทราบหรือไม่ กองทุนประกันสังคมตอนนี้มีงบประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่างบประมาณแผ่นดิน แต่ยังเปราะบาง แต่ไม่เกิน 20 ปี กองทุนนี้จะเริ่มขาดทุน และถ้ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่นาน 30 ปี กองทุนนี้จะล้มละลายโดยสมบูรณ์

สาเหตุเพราะเราเก็บเงินสมทบได้ไม่เพียงพอ และรัฐบาลนำเงินของกองทุนผ่านนโยบายลดหย่อนต่างๆ โดยไม่มีแผนการจะใช้คืน หนำซ้ำมีปัญหาติดหนี้สมทบเข้ากองทุนจนตอนนี้ปาเข้าไป 7 หมื่นล้านบาท ไม่ยอมใช้คืนสักที

วรรณวิภา ระบุต่อว่า เมื่อมาดูงบประมาณปี 2567 รัฐบาลจัดสรรเงินให้กองทุนเพิ่มขึ้น 7 พันล้านบาท มองอย่างผิวเผินดูเหมือนว่าเงินจะเพิ่มขึ้น โดยปี 2567 สำนักงานประกันสังคมได้ทำคำขอมาที่สำนักงบประมาณ 120,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นงบฯ มาตรา 33 39 และ 40 รวมกัน 51,000 ล้านบาท รวมไปถึงเงินที่ค้างจ่าย 71,273 ล้านบาท

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐบาลตั้งงบที่จัดสรรให้ 56,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินสมทบที่ต้องจ่ายประจำอยู่แล้ว แต่กลับตัดส่วนของหนี้ที่ยังค้างจ่าย 70,000 ล้านบาทออกไป รัฐไม่คิดที่จะจ่ายเงินที่ตนเองค้างเงินสมทบด้วยซ้ำ ขณะที่ผู้ประกันตน และนายจ้าง ต้องรับผิดชอบจ่ายทุกเดือนๆ เพราะถ้าไม่จ่าย จะถูกปรับ แต่รัฐบาลกลับเบี้ยว ไม่ยอมจ่ายหนี้สักบาท แม้ว่าจะคืนบ้าง 4,000 ล้านบาท วรรณวิภา กล่าวย้ำว่า ผลกระทบคือมันทำให้กองทุนประกันสังคมเสียโอกาสไปทำผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 2,000-3,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการร่างกฎกระทรวงล่าสุด ที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อปี 2566 จนตอนนี้ร่างนี้ยังไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าสู่ ครม. แต่ถ้าบังคับใช้จริง รัฐบาลจะต้องสมทบเพิ่มอีกเป็นหมื่นล้านบาท และรัฐควรแจ้งให้ชัดเจนถึงตัวเลขจ่ายสมทบ เพื่อให้ลูกจ้าง และนายจ้าง เตรียมตัวล่วงหน้า

สิทธิประโยชน์แย่ ดึงคนเข้ากองทุนยาก

วรรณวิภา กล่าวว่าขอทวงสิทธิในฐานะอดีตผู้ประกันตนส่งสมทบต่อเนื่องไม่เคยขาดมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ เพราะว่าปัจจุบันแย่กว่าบัตรทองไปแล้ว เราไม่ได้ขออะไรมาก นอกจากเราควรได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าเดิมบ้าง ยกตัวอย่างค่าทำฟัน บัตรทองไม่จำกัดครั้งและไม่มีวงเงิน และประกันสังคม 900 บาทต่อปี ขูดหินปูนปีเดียว 1 ครั้งหมดแล้ว สำหรับโรคมะเร็ง ประกันสังคม ทำคีโม เบิกได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อปี บัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ และไม่จำกัดค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ ประกันสังคมในมาตรา 40 ของแรงงานนอกระบบ สิทธิประโยชน์ก็ไม่น่าดึงดูดให้เข้ามาในระบบ แม้ว่าเมื่อปี 2564 ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านราย เป็น 10 ล้านราย แต่นั่นเพราะว่าต้องการเงินโควิด-19 พอได้เยียวยา เขาก็ไม่ได้ส่งเงินต่อ 

“จะดีกว่านี้ไหม ถ้าปรับเรื่องสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้น ให้ได้รับการคุ้มครองจากการชดเชยมากขึ้น ไม่งั้นจะได้แต่ตัวเลขลอยๆ และมาอ้างว่าเรามีตัวเลขผู้ประกันตนในระบบมากขึ้น 

“รัฐบาลควรมีความชัดเจนในนโยบายที่เกี่ยวข้องประกันสังคม และผู้ประกันตนควรได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มค่ากับที่เขาจ่าย” วรรณวิภา กล่าว 

กระทรวงแรงงานมีแต่เบี้ยตัวแตก 

สส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีพันธกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ให้แรงงานโดนเอาเปรียบ และบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง เพื่อให้แรงงานได้รับสวัสดิการคุ้มครองความปลอดภัยไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ที่กฎหมายกำหนด 

วรรณวิภา กล่าวต่อว่า ก่อนเข้าเรื่องงบประมาณ มาดูผลงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นอกจากจัดสรรงบประมาณคงที่แล้ว อัตราการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของสถานประกอบการไม่มีแนวโน้มจะลดลงเลย มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่า ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การเลิกจ้างลอยแพ ไม่จ่ายค่าชดเชย มีบังคับให้ทำ OT สร้างกฎระเบียบมาเพื่อขูดรีดต่างๆ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ลดลงเลย การใช้งบประมาณยังด้อยลงไปอีก

วรรณวิภา ขอยกตัวอย่าง 3 โครงการ โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพแรงงาน ตั้งงบประมาณ 11 ล้านบาท งบประมาณว่าน้อยแล้ว ไส้ในว่าแย่ลงไปอีก โดย 5 ล้านบาท คือการจัดงานวันแรงงาน แต่สิ่งที่ดีกว่าการจัดวันแรงงานคือข้อเสนอข้อเรียกร้องของแรงงานไปทำด้วย ไม่ใช้ตั้งงบแรงงานในแต่ละปีเท่านั้น ส่วนงบประมาณที่เหลือคือการเดินทางไปต่างประเทศ หรือการจัดอบรมสัมมนา  

อีกตัวอย่าง โครงการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเกษียณอย่างมีคุณภาพของประชากรวัย 29-59 ปี การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระต่อครอบครัว  โครงการนี้ให้ลูกจ้างปลูกพืชผักสวนครัวหลังเลิกงาน เพื่อนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย อีกทั้งเป็นการพัฒนาอาชีพเสริมไว้รองรับลูกจ้างที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ นี่มันหน้าที่ของกรมสวัสดิ์ฯ เหรอ ถ้าทำหน้าที่เกินขนาดนี้ ระวังกระทรวงเกษตรฯ จะไม่มีงานทำ

สส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า คือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานระดับพื้นที่ ของสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ตั้งงบประมาณไว้ 399 ล้านบาท วัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างอาสาสมัครแรงงานในแต่ละพื้นที่คอยประสานข้อมูลหาเข้ามาตรา 40 เป็นงบผูกพัน รายละเอียดมีค่าตอบแทนจ้างอาสาสมัคร 53 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าครุภัณฑ์ ค่าสิ่งก่อสร้าง และค่าเดินทางอื่นๆ แค่ตัวชี้วัดก็ไม่ใช่แล้วโครงการนี้ 

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี่แค่เพียงบางส่วน และยังมีอีกมากที่เป็นเบี้ยหัวแตก ทั้งๆ ที่ประชาชนคาดหวังในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด รัฐบาลปฏิรูปงบประมาณให้สอดคล้องกับพันธกิจตัวเองได้แล้ว

ข้อเสนอ 4 ข้อถึงกระทรวงแรงงาน

วรรณวิภา ทิ้งท้ายว่า ถ้าคิดไม่ออก พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอให้ดังนี้ 1. ใช้หนี้กองทุนประกันสังคม ให้กองทุนงอกเงยขึ้นมา 2. ชัดเจนเรื่องการจ่ายเงินสมทบลูกจ้าง และนายจ้าง 3. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนให้คนเข้ามาในกองทุนประกันสังคมมากขึ้น 4. ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

"ถีงเวลาแล้วที่กระทรวงแรงงานต้องเปลี่ยนไม่ว่าจะด้านบริหาร การบริการ การจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องพันธกิจและสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันด้วย ให้ประชาชนไม่โดนเอารัดเอาเปรียบและให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ไหนว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิต ทำไมงบประมาณด้านแรงงานยังเหมือนเดิมอยู่ ไม่ใช่เปลี่ยนแค่รัฐบาล งบประมาณไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แล้วแบบนี้คุณภาพชีวิตแรงงานจะดีขึ้นกี่โมง" สส.พรรคก้าวไกล ทิ้งท้าย 

นอกจากนี้ วรรณวิภา ได้อภิปรายเรื่องปัญหาสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ 32% ที่ทำให้การขึ้นแรงงานเพิ่มกระปริบกระปรอยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับเสนอให้กระทรวงแรงงานไปแก้ไขสูตรคำนวณ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าแรงงานอย่างยุติธรรมเทียมเท่ากับแรงกายที่ลงไป และทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net