Skip to main content
sharethis

‘ก้าวไกล’ ชวนฟังเสวนาออนไลน์เนื่องใน ‘วันสตรีสากล’ : ‘ พ่อแก่ เเม่ป่วย ลูกเล็ก’ มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี ‘วรรณวิภา’ ย้ำผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเเละเท่าเทียม

วันที่ 5 มี.ค. 2565 ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center : TFC) พรรคก้าวไกล เตรียมจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘พ่อแก่ เเม่ป่วย ลูกเล็ก’ : มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี เนื่องในวันสตรีสากล โดยการเสวนาดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนเเรงงาน พรรคก้าวไกล , ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล, ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สสส.สำนัก 4 (เรื่องเด็กและเยาวชน),ปสุดา ชื่นขจร ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (เรื่องแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศ), เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (TFC) พรรคก้าวไกล และ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย TFC เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

วรรณวิภา กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เปรียบเหมือนกระบอกเสียงสะท้อนแทนสตรีที่เรียกร้องความเท่าเทียม ไม่ว่า สิทธิเเรงงาน การเลือกปฏิบัติที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย รวมไปถึงด้านความเหลื่อมล้ำเเละความไม่เท่าเทียมทางเพศ

“แน่นอนว่าในประเด็นเหล่านี้ เราได้ขับเคลื่อนและดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งเเต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ จนมาสู่พรรคก้าวไกล ในด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและดิฉันเองที่เคยเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงาน เราต่อสู้เพื่อผลักดันนโนบายเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้เเรงงาน ทั้งในด้านสิทธิวันลาคลอด สิทธิค่าเเรง และค่าล่วงเวลาต่างๆที่รัฐบาลไม่เคยเหลียวเเลพวกเขา หรือมองไม่เห็นว่ามีประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมกำลังลำบากอยู่ในแต่ละวัน ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้แต่รับปาก แต่ไม่ได้ปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม การเสวนานี้จะเป็นการตอกย้ำนโยบายเเละข้อเรียกร้องของสตรีเเละกลุ่มผู้ใช้เเรงงานเนื่องในวันสตรีสากล เพื่อให้เขาได้รับสิทธิที่เสมอภาคเเละเท่าเทียม

“สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเเรงงาน เสนอต่อสภาเข้าไปอีกครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับเพื่อผู้ใช้แรงงานและผู้สูงอายุ ทั้งที่เสนอโดยเราหรือภาคประชาชนจะถูกปัดตกไปทั้งหมดโดยนายกรัฐมนตรี แต่ในครั้งนี้จะเป็นการแยกออกเป็นหลายฉบับ รายมาตรา เพื่อไม่ให้ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินต้องส่งไปในนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนอีก สามารถพิจารณาโดยสภาได้เลย ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับการเสนอเพิ่มค่าเเรงเเละลดชั่วโมงในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละสถานการณ์ การเพิ่มวันลาคลอด วันหยุดประจำสัปดาห์ และการไม่เลือกปฏิบัติในทุกมิติ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม”

วรรณวิภา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนแรงงานภาครัฐเราก็จะมีการสะท้อนปัญหาเช่นกัน ดังกรณี ล่าสุด เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดเพิ่มได้ จากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน และได้สิทธิลาคลอดเพิ่มอีกไม่เกิน 90 วัน รวมเป็น 188 วัน นอกจาก นี้ยังให้สิทธิข้าราชการชายสามารถลาคลอดได้ 15 วัน แต่การปรับแก้ปัญหาเช่นนี้ สะท้อนภาพที่ชัดขึ้นเช่นกันว่า รัฐไทยไม่ได้มองว่าหน้าที่การเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ที่มีร่วมกันระหว่างชายหญิง

ด้าน อิชย์อาณิคม์ กล่าวว่า ในการเสวนาครั้งนี้ TFC จะนำเสนอบทความ ‘เปิดปัญหา ฝ่าทางตัน เมื่อครอบครัวขยายและพ่อแม่สูงวัยกำลังฉุดรั้งความก้าวหน้าของแรงงานสตรี’ บทความดังกล่าวจะสะท้อนปัญหาและภาระของสตรีในสังคมไทยที่ต้องแบกรับในหลายมิติ โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยกับกำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยไร้สวัสดิการ’ เนื่องจากระบบบำนาญไม่ดีและการไม่มีเงินเก็บที่เพียงพอ ทำให้สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะ ‘สังคมที่คนแก่ก่อนรวย’ แถมด้วยการเป็น ‘สังคมที่ไม่เอื้อให้คนแก่อยู่’ ด้วยระบบสวัสดิการที่รองรับความต้องการของผู้สูงอายุได้ไม่เพียงพอ

“ปัญหาคือเมื่อรัฐไม่ใช่ที่พึ่งพิงให้กับผู้สูงอายุ บางส่วนจึงพยายามที่จะพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ภาระเหล่านี้มักตกเป็นของลูกสาว บางบ้าน โชคอาจดีหน่อยหากมีลูกสาวอยู่ในบ้านหลายคน ภาระอาจถูกเวียนผลัดกันช่วยกันดูแลได้ แต่ถ้าทุกคนต่างออกไปใช้ชีวิตที่อื่น แล้วเหลือเพียงลูกสาวคนโตคนเดียว ซึ่งอาจต้องออกไปทำงานนอกบ้านคู่กันด้วย จะยิ่งภาระอันหนักอึ้งที่แรงงานหญิงตัวคนเดียว จะต้องแบกรับอย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะทุ่มสรรพกำลังเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพก็ไม่ได้ จะหาเวลาว่างไปพัฒนาตัวเอง เข้าคอร์สอบรมต่างๆ ก็ทำไม่ได้ ซ้ำร้ายที่สุดคือไม่มีเวลาแม้แต่จะไปพบปะผู้คนเพื่อมีความสัมพันธ์ใหม่ๆได้ ซึ่งปัญหาการแบกรับครอบครัวเช่นนี้กลับเป็นปัญหาที่พบน้อยมากในแรงงานชาย เพราะครอบครัวเลือกที่จะคาดหวังให้ลูกชายมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและสามารถสร้างครอบครัวได้ ซึ่งก็เป็นไปตามโครงสร้างบทบาททางเพศของสังคม ทำให้ลูกชายได้รับอภิสิทธิ์ที่ในการเข้าถึงโอกาสทางการงานที่มากกว่า”

อิชย์อาณิคม์ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายประเด็นปัญหาของผู้หญิงที่ต้องการเสียงสะท้อนจากการเสวนานี้ รวมถึงข้อเสนอแนะทางออกต่างๆ โดยทาง TFC จะนำเสนอแนวนโยบายเพื่อเป็นทางออกเช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา ‘พ่อแก่ เเม่ป่วย ลูกเล็ก’ : มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี เนื่องในวันสตรีสากล สามารถเข้าร่วมฟังเสวนาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (TFC) ในวันจันทร์ ที่ 7 มี.ค. 2565 ตั้งแต่เวลา 19.30 - 21.30 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net