Skip to main content
sharethis

ประเทศโปแลนด์กำลังจะมีการเลือกตั้ง 15 ต.ค. นี้ ต่างฝ่ายต่างก็ใช้โวหารในเชิงกีดกันผู้อพยพมาใช้ในการหาเสียง ทั้งนี้ยังมีการใช้เรื่องเล่าผลิตซ้ำที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้แม้กระทั่งผู้อพยพชาวยูเครนที่ฝ่ายขวาโปแลนด์เคยโหนกระแส ก็กลายเป็นกลุ่มที่ถูกโจมตีไปด้วย

ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ กำลังเต็มไปด้วยบรรยากาศทางการเมืองในช่วงที่โปแลนด์กำลังจะมีการเลือกตั้งวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนี้ มีโปสเตอร์สีสันสดใสอยู่ตามท้องถนน มีคนหาเสียงแจกใบปลิวให้กับคนที่เดินสัญจรไปมาในช่วงที่อากาศยังคงอบอุ่นก่อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ ราฟาล แพนคาวสกี ประธานของกลุ่ม "เนเวอร์อะเกน" ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่มีชื่อเสียงของโปแลนด์ บรรจงจิบกาแฟอาหรับอยู่ที่ย่านใจกลางกรุงวอร์ซอที่มีคนพลุกพล่าน แพนคาวสกีกล่าวอย่างหนักแน่นว่า "ไม่ต้องสงสัยเลย" ว่าประเด็นผู้อพยพจะกลายมาเป็นหัวข้อหลักที่ถูกพูดถึงมากกว่าหัวข้ออื่นๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้แพนคาวสกีก็เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออัลจาซีราว่า รัฐบาลฝ่ายขวาประชานิยมของที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งปี 2558 ได้ฉวยใช้วิกฤตผู้ลี้ภัยในการโฆษณาหาเสียงอย่างไม่หยุดหย่อนโดยการ "โฆษณาชวนเชื่อปลุกปั่นให้เกลียดกลัวคนนอก" ซึ่งเป็นการป้ายสีให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวยุโรปว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" โดยเฉพาะที่มาจากตะวันออกกลาง

แพนคาวสกีนึกย้อนไปถึงคำพูดที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้แล้วก็กล่าวว่า มันเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่พรรครัฐบาลปัจจุบันคือพรรค PiS และพรรคแนวร่วมขวาจัดจะยังคงผลักดันชุดคำอธิบายเกี่ยวกับผู้อพยพในรูปแบบนี้เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงของตัวเองที่มีอยู่แล้ว

แพนคาวสกีบอกว่าการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องผู้อพยพในโปแลนด์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีวิกฤตผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น 2 ครั้งในทางชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2564 ที่มีผู้อพยพลี้ภัยหลายพันคนจากตะวันออกกลางและจากแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้พยายามข้ามพรมแดนผ่านทางเบลารุส วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2565 ตอนที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีผู้ลี้ภัยจากยูเครนจำนวนหลายล้านคนเดินทางเข้าสู่โปแลนด์

วิกฤตแรกถูกฉวยใช้โดยพรรคฝ่ายขวาในโปแลนด์ซึ่งเอาไปเสริมโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองที่มีอยู่แล้ว โดยเน้นสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในเรื่อง "การรุกราน" ของคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ในวิกฤตครั้งที่สองกลับไม่มีการโต้ตอบแบบเดียวกับครั้งแรก แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวยูเครนกลับได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายทางการเมืองของโปแลนด์

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงโวหารทางการเมืองจากฝ่ายขวาโปแลนด์ ที่เริ่มหันมาต่อต้านผู้ลี้ภัยชาวยูเครนด้วย นอกจากนี้แพนคาวสกียังบอกว่ามีเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นคือการที่แม้แต่พรรคอื่นๆ นอกจากพรรคฝ่ายขวาก็หันมาใช้โวหารต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวยุโรปด้วย

ภาพยนตร์ที่สร้างข้อถกเถียงเรื่องผู้อพยพ

ในโปแลนด์ยังเคยมีภาพยนตร์เรื่อง "Green Border" (แปลตรงตัวว่า "พรมแดนสีเขียว") โดยผู้กำกับที่สร้างผลงานมายาวนานชื่อ แอกนีสกา ฮอลลัน ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเกี่ยวกับวิกฤตพรมแดนโปแลนด์-เบลารุส ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายขวาในโปแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของโปแลนด์ ซบิกนิว ซิโอโบร กล่าวอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนโฆษณาชวนเชื่อของนาซี

อย่างไรก็ตาม ราฟาล วาโซวิกซ์ พนักงานออฟฟิศที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลฝายขวา เขาบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "แสดงให้เห็นสภาพความจริงมากกว่าที่มาจากรัฐบาล"

"พวกนั้นบอกว่าพวกเราอยู่ภายใต้สงคราม แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มองผู้อพยพเป็นคน" วาโซวิกซ์กลาว

ภาพยนตร์ Green Border พูดถึงเรื่องราวของครอบครัวจากซีเรียและผู้หญิงอีกคนหนึ่งจากอัฟกานิสถานผู้ที่ถูกผลักถูกดันไปมาโดยเจ้าหน้าที่ชายแดนและทหาร ในขณะที่นักกิจกรรมในโปแลนด์พยายามนำตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไปสู่สถานที่ปลอดภัย แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ตัวเองถูกจับเข้าคุก

องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรรากหญ้าที่ทำงานเรื่องชายแดนเปิดเผยว่ามีรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจากทั้งสองฟากของพรมแดน เจ้าหน้าที่ชายแดนและตชด. ต่างก็ผลักไสให้ผู้ที่ต้องการลี้ภัยในสหภาพยุโรปกลับสู่ประเทศเบลารุส สื่ออัลจาซีราได้พูดคุยกับหลายคนที่พยายามข้ามแดนเข้าสู่โปแลนด์นับตั้งแต่ปี 2564 พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบเกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งจากเจ้าหน้าที่ฝั่งโปแลนด์และฝั่งเบลารุส

ทางโปแลนด์และสหภาพยุโรปมองว่าเรื่องการผลักดันผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในประเทศของพวกเขาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการทำให้ยุโรปขาดเสถียรภาพของ ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ผู้ที่เป็นคนใกล้ชิดกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน

ก่อนที่จะมีการฉาย Green Border รัฐบาลโปแลนด์วางแผนที่จะเผยแพร่โฆษณาเพื่อแก้ต่างในเรื่องที่พวกเขาปฏิบัติกับผู้อพยพลี้ภัยที่ข้ามแดนจากเบลารุส

บลาเซจ โพโบซี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่า Green Border เป็นภาพยนตร์ที่ "ใส่ร้ายป้ายสีอย่างน่ารังเกียจ" และบอกว่ากับผู้สื่อข่าวในเรื่องโฆษณาจากภาครัฐว่า "โฆษณาของพวกเรานำเสนอบริบทของปฏิบัติการ(ชายแดน)แบบผสม และแสดงให้เห็นช่วงเวลาของปฏิบัติการ แล้ววิธีการแก้ปัญหาที่เรานำมาใช้ก็ทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ชายและหญิงชาวโปแลนด์"

โวหารต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยจากทุกฝ่ายทางการเมือง

ในโปแลนด์ ไม่ใช่แค่พรรคฝ่ายขวาเท่านั้นที่ปลุกปั่นความเกลียดกลัวการอพยพขนานใหญ่จากคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรป โดยเฉพาะจากประเทศมุสลิม

โดนัลด์ ทัสก์ อดีตประธานคณะมนตรียุโรปที่ปัจจุบันเป็นผู้นำพรรคการเมืองสายกลางในโปแลนด์ Civic Coalition ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เคยต่อว่ารัฐบาลเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาในเรื่องที่รัฐบาลเข้าไปมีส่วนร่วมกับแผนการผู้อพยพของยุโรป ทัสก์อ้างว่าแผนการดังกล่าว "จะทำให้ผู้คนจากประเทศเหล่านี้ คือ ซาอุดีอาระเบีย, อินเดีย, สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไนจีเรีย และสาธารณัฐอิสลามแห่งปากีสถาน เข้ามามากขึ้น"

อีกทั้งในวิดีโอซีรีส์ทางโซเชียลมีเดียที่โพสต์เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกับความไม่สงบในฝรั่งเศส ซึ่งมีที่มาจากการที่ตำรวจสังหารวัยรุ่นอายุ 17 ปีชาวเชื้อสายแอลจีเรียและโมร็อกโกเพราะเขาไม่ยอมหยุดรถให้ตรวจ ทัสก์กล่าวสรุปว่า "ชาวโปแลนด์ต้องกลับมาควบคุมประเทศนี้และควบคุมชายแดนของตัวเองได้อีกครั้ง"

สิ่งที่หักมุมอย่างไม่คาดคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ พรรครัฐบาลปัจจุบันของโปแลนด์คือพรรค PiS ที่ส่งเสริมนโยบายให้มีความเข้มงวดด้านคนเข้าเมืองมากขึ้น เมื่อไม่นานนี้พรรครัฐบาลกลับพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวในเรื่องการปฏิบัติงานในสถานกงสุลของโปแลนด์โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย ที่มีประเด็นอื้อฉาวว่ามีการให้วีซ่าโปแลนด์เพื่อแลกกับสินบน

พรรคฝ่ายค้านสายกลางคือ Civic Coalition ฉวยโอกาสนี้ในการดิสเครดิตพรรครัฐบาลทันที ทัสก์พูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็น "เรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 ของโปแลนด์"

กระแสต่อต้านชาวยูเครนในโปแลนด์

แพนคาวสกีกล่าวว่าฝ่ายขวาจัดในโปแลนด์กำลังส่งเสริมให้เกิดความกลัวผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลายล้านคนในประเทศ โดยอ้างว่าชาวยูเครนเหล่านี้เป็นภัยต่อ "รัฐเชื้อชาติเชิงเดี่ยว" ของโปแลนด์

แพนคาวสกีบอกว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโปแลนด์มีความเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรอย่างใหญ่หลวง ในตอนนี้มีประชากรในโปแลนด์อยู่ราวร้อยละ 0.3 ที่เป็นคนที่เกิดนอกประเทศ แพนคาวสกีบอกว่า "เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาที่ยาวนาน ที่โปแลนด์กลายเป็นประเทศของการอพยพเข้ามากกว่าการอพยพออก"

ฝ่ายขวาจัดในโปแลนด์ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "แนวร่วมสมาพันธรัฐ" ใช้แฮชแท็กคำขวัญโจมตีผู้อพยพลี้ภยชาวยูเครนว่า "หยุดทำให้โปแลนด์กลายเป็นยูเครน" ซึ่งเป็นคำขวัญที่เป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดีย และองค์กรต้านการเหยียดผิวของแพนคาวสกีก็ได้รับรายงานแทบจะรายวันในเรื่องที่เด็กชาวยูเครนเผชิญกับวาจาปลุกปั่นความเกลียดชังที่โรงเรียน

แพนคาวสกียังบอกอีกว่าเรื่องเล่าผลิตซ้ำในเชิงเหยียดเชื้อชาติสีผิวในโปแลนด์ตอนนี้ต่างไปจากเดิม เดิมที่แล้วมีเรื่องเล่าผลิตซ้ำที่ว่าชายที่ไม่ใช่ชาวยุโรปและกลุ่มผู้อพยพนั้นต่างก็เป็นภัยทางเพศต่อผู้หญิงชาวโปแลนด์ แต่เนื่องจากว่าในยูเครนมีกฎอัยการศึกที่ห้ามไม่ให้ชายอายุ 18-60 ปี ออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ลี้ภัยยูเครนแทบจะทั้งหมดเป็นเด็กและผู้หญิง เลยมีการใช้เรื่องเล่าผลิตซ้ำแบบใหม่คือ "การเหมารวมว่าผู้หญิงยูเครนจะมาแย่งสามีคุณ"


เรียบเรียงจาก
Anti-migrant rhetoric dominates politics in Poland ahead of October vote, Aljazeera, 27-09-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net