Skip to main content
sharethis

กสม. เสนอแนะให้ สธ. หารือความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเสนอต่อ กทม. ให้จัดบริการเชิงรุกครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP)

29 ก.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ส่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวันที่ 27 ธ.ค. 2565 มายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย กสม. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสม. หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร นั้น

สำนักงาน กสม. จัดประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างเดือน มี.ค. - มิ.ย. 2566 และเมื่อเดือน ส.ค. 2566 

สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับทราบข้อมูลและสถานการณ์ปัญหา สรุปได้ดังนี้

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายและการบริหารจัดการการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพในรูปแบบกองทุน โดยส่วนกลาง เป็นการบริการจัดการกองทุนโดยคณะกรรมการกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ

ขณะที่ส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุนฯ จังหวัด ในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร โดยคนต่างด้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนดังกล่าว ได้แก่ แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่รอพิสูจน์และยังไม่ได้เงินอุดหนุนการจัดบริการสาธารณสุข และคนต่างด้าวที่ถูกจำหน่ายออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหา พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพจากกองเศรษฐกิจฯ กว่า 500,000 คน แต่อัตรากำลังบุคลากรของกองเศรษฐกิจฯ มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอสำหรับดูแลกลุ่มบุคคลดังกล่าว อีกทั้งภารกิจหลักของกองเศรษฐกิจฯ ยังไม่ใช่หน้าที่บริหารจัดการกองทุนโดยตรงจึงอาจทำให้ขาดความชำนาญในการบริหารจัดการ ขณะที่การขายบัตรประกันสุขภาพเป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้นไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ ดังนั้น การจัดให้มีการขายบัตรประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวโดยสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานพยาบาลของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่สมัครเข้าร่วมดำเนินการ จึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจและนโยบายผู้บริหารของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยมีอุปสรรคคือโรงพยาบาลใดขายบัตรประกันสุขภาพได้จำนวนน้อยก็มีโอกาสขาดทุนสูง นอกจากนี้การส่งเบิกค่ารักษาบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลไปยังกองทุนฯ ยังมีขั้นตอนยุ่งยากหรือใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล

สำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนสูงสุดของประเทศ ในทางปฏิบัติพบปัญหาว่า เมื่อประชากรกลุ่มนี้เจ็บป่วยเล็กน้อยมักจะไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แต่ศูนย์บริการดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่าบริการได้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างด้าวไม่ได้ซื้อบัตรประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลสังกัด กทม. หรือมีแต่น้อยมาก โดยส่วนใหญ่ซื้อบัตรประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลเอกชนซึ่งทำการตลาดกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่เมื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าไปรับบริการกลับมีปัญหาติดขัดหลายอย่าง เช่น ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่รักษาโรคร้ายแรงและแนะนำให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ ทำให้ภาระตกอยู่กับโรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น

เพื่อให้เกิดการเพิ่มการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าว รวมถึงให้มีการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเป็นเอกภาพและสามารถเบิกจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร สรุปดังนี้

ให้กระทรวงสาธารณสุข และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ หารือแนวทางหรือความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีประสบการณ์และมีบุคลากรจำนวนมากที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคนไทย เพื่อให้มีเอกภาพทางการบริหารจัดการกองทุน

และให้กรุงเทพมหานครขยายการให้บริการผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ที่มีอยู่แล้ว จำนวน 69 แห่ง และจัดบริการเชิงรุกให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP)ให้สอดคล้องกับชุดสิทธิประโยชน์และการจัดสรรงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ กทม. รวมทั้งประสานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนากลไกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อเป็นกลไกและเครือข่ายสนับสนุนการจัดบริการเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ให้แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการบริหารจัดการและจัดระบบบริการสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ กทม. เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net