Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมครุ่นคิดถึงเรื่อง "6 ตุลา" อยู่นาน ยิ่งคิดก็ยิ่งมีปัญหาว่า การ "รำลึก 6 ตุลา" ในระยะไม่กี่ปีนี้ ผิดฝาผิดตัว

กล่าวโดยสรุป ถ้าให้เด็กรุ่นใหม่ (ที่ตามมาจากรุ่น 6 ตุลา) ก็จะพูดว่า "6 ตุลา" เป็นการก่ออาชญากรรมของรัฐที่ไม่ถูกลงโทษ พูดอีกอย่างคือเป็นการต่อเนื่องมายังจากเหตุการณ์อย่าง "พฤษภา 53" เป็นต้น

แต่ถ้า "6 ตุลา" เป็นอาชญากรรมที่ไม่ถูกลงโทษ ถ้าเช่นนั้น การ "เอาคืน" ติดต่อกันหลายปีของกองกำลัง พคท.ที่มีนักศึกษาร่วมด้วยคืออะไร???

เพราะถ้านับ "6 ตุลา" เป็น "อาชญากรรม" #การใช้อาวุธสู้กับรัฐก็ต้องเป็นอาชญากรรมเหมือนกัน
เราจะถือเอา "6 ตุลา" เป็น "อาชญากรรม" อย่างเดียว โดยไม่ถือการต่อสู้ด้วยอาวุธเข้าห่ำหั่นคนของรัฐเป็น "อาชญากรรม" ไม่ได้

ผมคิดว่า การเอาเรื่องนี้เข้าเชื่อมโยงกับเรื่องยุคหลังเป็นเรื่องผิดพลาดแต่ต้น

ถ้า 6 ตุลา เป็น "อาชญากรรม" ของรัฐ การตอบโต้ของฝ่ายนักศึกษาที่เข้าป่าจับอาวุธก็ต้องเป็น "อาชญากรรม" เช่นกัน ยกเว้นแต่เราจะมีมาตรการวัดอาชญากรรมไม่เหมือนกัน

ยิ่งกว่านั้น นี่เพียงสมมติว่า นักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา เป็นเยาวชน ไม่มีอาวุธเลย และไม่มีใครเป็นคอมมิวนิสต์เลย

เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลานั้นผ่านมานานแล้ว ถ้าเราต้องการศึกษามันจริงๆ ก่อนอื่นต้องถามคำถามพื้นฐานก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น

การเชื่อในคำโฆษณานั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใด ทั้งของฝ่ายที่บุกเข้าไป และฝ่ายที่ต้านทานการบุก

ถ้ากำลังของนักศึกษา ถึงที่สุดแล้ว เป็นกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เหตุการณ์ 6 ตุลาก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

"6 ตุลา" คือส่วนหนึ่งของ "สงครามกลางเมือง" ระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทย

นี่เป็นข้อสรุปที่หากซึ่อตรงต่อตัวเอง และซื่อตรงต่อหลักฐานร่วมสมัยทั้งหลายต้องยอมรับ
ขบวนการนักศึกษา เมื่อถึงปี 2519 ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ พคท.แล้ว ลองให้ผู้ปฏิบัติงานสักคนบอกปัญหาที่มองขณะนั้น เขาก็จะบอกเป็นสูตรเลยว่า ประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ยังไม่มีเอกราช ไม่มีประชาธิปไตย ฯลฯ หากจะมี "ความหลากหลาย" ก็เรียกว่าหาแทบไม่มี อยู่นอกขบวนนักศึกษามากกว่า ซึ่งมีน้อยมาก

(สมัยหนึ่ง นานมาแล้ว เกษียรเคยพยายามเถียงว่ามี "ความหลากหลาย" เถียงไปเถียงมา ต้องมายอมในรับในภายหลังว่า เขาเองก็พูดเป็นสูตรเหมือนกัน ผมหวังว่าเราก็แก่ๆ กันแล้ว เขาจะยอมรับความจริงนี้ก่อนจะลาโลกไปด้วยกัน)

สมัยนั้นเรามีคำขวัญ "ความคิด การเมือง การจัดตั้ง" สองอันแรกไม่มีปัญหาเลย เป็นของ พคท.แน่นอน ทีนี้พูดถึงการจัดตั้ง พูดง่ายๆ คือเป็นมีคนของพรรคเท่าไร?

ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย ทีนี้มาถึง "ปัญหา" ละ ถ้าคนของพรรคมีไม่มาก ไม่ถึงขนาดสามพันคนขึ้นไปในธรรมศาสตร์เช้าวันนั้นแน่ ทำไมจึงกล่าวว่าการโจมตีเป็นการต่อสู้กับ พคท.?

เวลากำลังรัฐบาลบุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นสักแห่งหนึ่ง แล้วตีแตก เราไม่เรียกการโจมตีว่าการโจมตีคอมมิวนิสต์หรือ? ในฐานที่มั่น มีคอมมิวนิสต์ ในความหมายที่เป็นสมาชิกพรรคทุกคนหรือ? เราถือว่าเขตนี้เป็นของคอมมิวนิสต์ หมายความว่าทุกคนเป็นสมาชิกพรรคหรือ? ไม่เลย ในทุกๆ แห่งสมาชิกจริงๆ ย่อมเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ทีนี้กำลังในธรรมศาสตร์เช้าวันนั้น เป็นกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแน่นอน เช้าวันนั้น ศัตรูไม่ได้โจมตีผิด

การที่เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาเกิดขึ้นได้ เพราะเราประเมินไม่ถึงว่า ฝ่ายศัตรูจะระดมกำลังตำรวจมามากขนาดนั้น ที่สำคัญคือตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน ที่อยู่ภายใต้การนำของผู้ใกล้ชิดในหลวงภูมิพล ตำรวจพลร่มตะเวนชายแดนได้รับคำสั่งให้เคลื่อนพลเวลาตีหนึ่ง ปกติถ้าเป็นการยิงก่อกวนของกระทิงแดง กำลังรักษาความปลอดภัยของเรารับอยู่ "เราไม่ได้เตรียมอาวุธหนักไว้รับมือพวกนั้น" ผมได้รับการบอกจากหน่วยรักษาความปลอยภัยผู้หนึ่ง การที่เราสามารถต้านไว้นานพอสมควรเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เราไม่มีอาวุธ แต่มีไว้ป้องกันการก่อกวน

(ความจริงผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัย "คุณชูศิลป์" ก็เปิดเผยเร็วๆ นี้ว่า เขาได้เข้าพรรคตั้งแต่ก่อน 6 ตุลา)

ขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ก่อนหน้า 6 ตุลาแล้ว เป็นขบวนการของพรรคฯ และทำงานเพื่อประสานงานกับพรรคในชนบท อันที่จริง การต่อสู้ของชาวนาที่นักศึกษาเข้าไปนำก็เพื่อประสานกับงานชนบทของพรรค เมื่อเร็วๆ นี้ น่าเสียดายว่านักวิชาการทั้งฝรั่งและนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ยังอุตส่าห์เข้าใจเรื่องนี้ผิด (ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ในหมู่คนนิยมเขา นิธินั้นรู้เรื่องการเมืองร่วมสมัยน้อย)


เราต้องถามตัวเองว่า จะปล่อยให้ประวัติศาสตร์บิดเบี้ยวอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือ? อีกไม่กี่ปี คนที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา ก็จะตายหมด ถึงตอนนั้นจะยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะทำความกระจ่าง

ผมลองเปิดๆ ดูแบบผ่านๆ แทบทุกอันพูดเหมือนกันหมด "6 ตุลา เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถูกเผด็จการเข่นฆ่า..." บลา บลา

ตอนที่เริ่มการรำลึกครั้งนี้ ธงชัย วินิจจกูลเคยพูดทำนองว่า ถือเป็นการรำลึก โดยที่ไม่ต้องสนใจว่า พวกที่ตายวันนั้น #ตอนนั้น คิดอย่างไร (เราได้อ่านงานเขียนเรื่อง 6 ตุลาจำนวนมากจากเขา ในขณะที่เขาไม่เคยปฏิเสธว่า สมัยนั้นพวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่เคยพูดเน้นจุดนี้ และปล่อยให้มันผ่านไป เข้าใจผิดไม่เป็นไร)

แต่จะได้หรือ? ประวัติศาสตร์ไม่มีความหมายอะไรหรือ? ขอเพียงแต่ให้เขียนให้สอดคล้องความต้องการของเรา #ในขณะนี้ ก็พอ?

"6 ตุลา เป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับ รัฐ"
เราไม่ใช่ไม่มีอาวุธ มี แต่เราประเมินผิดว่าพวกเขาไม่ใช้กำลังอาวุธหนักมา

จริง! 6 ตุลา เต็มไปด้วยความสยดสยอง และการสอบสวนว่า อันใดเป็นการกระทำที่ผิด สามารถทำได้ แต่ขณะเดียวกัน การกระทำของฝ่ายเราเพื่อตอบโต้ฝ่ายรัฐ ก็นำความสูญเสียส่วนหนึ่งมาสู่กำลังของรัฐเช่นกัน

นี่คือ "สงครามกลางเมือง"

เลิกมอง "6 ตุลา" เป็นอะไรที่หลุดลอยเสียที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net