Skip to main content
sharethis

'ประชาธิปัตย์' จี้ รบ.เร่งทำประชามติแก้ รธน. 'จาตุรนต์' ย้ำ 'เพื่อไทย' ต้องรักษาจุดยืนแก้ไข รธน.ที่ประกาศไว้กับประชาชน 'เศรษฐา' ย้ำใช้เวทีรัฐสภา เดินหน้าแก้ รธน.

17 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2

และเมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งทำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหลายประเด็นจำเป็นจะต้องมีการทำประชามติก่อน เพราะฉะนั้นก่อนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลก็มีหน้าที่จะต้องเร่งเดินหน้าในเรื่องของการทำประชามติโดยเร็ว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่าส่วนประเด็นหลักของการที่จะถามในการทำประชามตินั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรมีแนวทางตั้งแต่ตอนหาเสียงหรือควรมีแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว เพราะแถลงเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญ และจะไปโยนให้เป็นเรื่องสภาไม่ได้

ส่วนที่ ครม. มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางจัดทำประชามติ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ใครก็มองออกว่า ยื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลอาจกลัวว่าถ้าเสร็จเร็ว อาจจะถูกทวงถามเรื่องการยุบสภาก็ได้

'จาตุรนต์' ย้ำ 'เพื่อไทย' ต้องรักษาจุดยืนแก้ไข รธน.ที่ประกาศไว้กับประชาชน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเสนอได้ทั้งโดยคณะรัฐมนตรี ส.ส. และประชาชน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นไปอย่างไรนั้น ขณะนี้ต้องดูความชัดเจนจากคณะกรรมการที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นว่าจะมีผลการศึกษาและพิจารณาดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ก็ต้องดูด้วยว่าพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชนดำเนินการอย่างไร

ในส่วนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่าคงต้องคำนึงถึงนโยบายของพรรคว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและผลักดันให้เกิดการแก้ไขตามนโยบายของพรรคให้มากที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยถือเป็นนโยบายหลักมาตลอด เราคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยคณะรัฐประหารในการลงประชามติทั้งสองครั้ง และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ว่าขณะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราจึงต้องรักษาจุดยืนนี้ไว้

ที่มีการใช้คำพูดกันว่าพรรคเพื่อไทย ยอมเทหมดหน้าตักในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ความจริงแล้วก็ยังไม่หมดหน้าตักเสียทีเดียว คือพรรคยังมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและกลับคืนสู่การยึดหลักนิติธรรม ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังนั่นแหละจะหมดหน้าตักจริงๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ตามที่ประกาศไว้กับประชาชน

ผมจึงคิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค นอกจากสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังจะทำแล้ว ยังสามารถที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. คู่ขนานกันไปกับการทำงานของรัฐบาลได้ด้วย

'เศรษฐา' ย้ำใช้เวทีรัฐสภา เดินหน้าแก้ รธน.

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อเปิดทางให้พรรค ก.ก.ได้เลือกบุคลากรในพรรคดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน เพื่อดำเนินกิจการในสภาต่อ ในฐานะที่เคยจะร่วมรัฐบาล และแข่งขันทางการเมืองกันมาว่า ก็ขอให้นายพิธาโชคดีในเรื่องต่างๆ ที่นายพิธาจะไปทำ อันนี้น่าจะไปถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะดีกว่า วันนี้มาในบทบาทฝ่ายบริหารแล้ว ขอให้นายพิธาเดินทางในชีวิตการเมืองที่ถูกต้อง และเป็นที่ชื่นชมของทุกคน

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าไม่เคยพูดว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา จนมีการนำไปเปรียบเทียบตอนที่แยกกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ระบุว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ตอนนี้รัฐบาลมีความชัดเจนอย่างไร ว่า “ชัดเจน แถลงไปแล้วว่าจะนำคณะทำงานเข้ามาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ เพื่อนำเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเวทีที่จะใช้เป็นเวทีถกเถียงกันในประเด็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ประกาศไปแล้วในการประชุม ครม.นัดแรกชัดเจน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่านถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ได้กล่าวว่าไม่เคยพูดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา แต่โลกออนไลน์มีการขุดคำสัมภาษณ์ก่อนหน้าที่ นพ.ชลน่านจะประกาศแยกตัวจากพรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่าหากทำรัฐธรรมนูญเสร็จจะคืนอำนาจให้ประชาชน เป็นช่วงวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยขณะนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ ‘เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ’

โดย นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเป็นผู้อ่านแถลงเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน โดยการกล่าวว่า จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมานั้นกลับมอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ พร้อมระบุด้วยว่าจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net