Skip to main content
sharethis

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี กล่าวนำงาน 'PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน' ชี้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และขบวนการประชาธิปไตยต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงจะเกิดขึ้นได้


ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

10 ธ.ค. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน โดยมี วิทยากร ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ. โครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ดำเนินรายการ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่การมีส่วนร่วมประชาชนมีอย่างจำกัด ดังนั้น เราต้องสร้าง รัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 60 ยังไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งยังเพิ่มเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพไว้อีก 2 ข้อ ได้แก่ 1.การกระทบต่อความมั่นคง 2.ความสงบเรียบร้อย ซึ่ง 2 ข้อนี้สามารถตีความได้อย่างไร้ขอบเขตเพื่อกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รัฐธรรมนูญปี 60 เกิดจากความคิดที่ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจประชาชน เราจึงต้องร่วมกันสร้าง รัฐธรรมนูญใหม่ ของประชาชน ที่เชื่อมั่นในพลังของประชาชน ศรัทธาในความรักชาติรักประชาธิปไตยของชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม การมีรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นเพียงพื้นฐานหลักประกันเบื้องต้นในการทำให้สังคมไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง มีความก้าวหน้า มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ยังต้องมีการผลักดันให้เกิด รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”พร้อมกับ ‘การล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร’ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 อันเป็นผลผลิตของคณะรัฐประหาร เป็น ภารกิจสำคัญของขบวนการประชาธิปไตย และ ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ใน ระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

“พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และขบวนการประชาธิปไตยต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงจะเกิดขึ้นได้ ลำพังเพียงพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยอื่นๆ ย่อมไม่สามารถแก้ไขค่ายกลกับดัก เพื่อเปิดประตูสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ การละวางผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าของพรรคการเมือง การละวางการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจไว้ข้างหลัง และมุ่งสู่เบื้องหน้าในการได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมโดยรวมและประเทศของเรา

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และ ขบวนการประชาธิปไตย ต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยากมาก ต้องผ่านประชามติ ในวาระ 1 และ วาระ 3 ต้องใช้เสียง สว. อย่างน้อย 84 เสียง หากไม่ผนึกกำลังกัน ไม่มีทางสำเร็จ” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก รัฐธรรมนูญของประชาชนจะช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้เข้มแข็ง ป้องกันการรัฐประหารในอนาคตได้ พวกเราเห็นตัวอย่างจากเมียนมาแล้วว่า การล้มรัฐบาลประชาธิปไตย การล้มล้างผลการเลือกตั้ง ด้วยการรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาเท่านั้น

แต่ได้ทำลายชีวิต และโอกาสของคนหลายล้าน รวมทั้ง การแตกสลายลงของรัฐชาติออกเป็นเสี่ยง เต็มไปด้วยภาวะไร้เสถียรภาพ ความรุนแรงนองเลือด และสงครามกลางเมือง หากเราไม่ต้องการเดินทางบนเส้นทางอันเลวร้ายต่อประชาชนแบบเมียนมา เราต้องช่วยกันสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญของประชาชน

นอกจากนี้ เรายังต้องการประชาชนผู้ตื่นรู้ ผ่านการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบที่สอนให้ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ ไม่ใช่ระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมที่สอนให้เชื่ออย่างไร้เหตุผล

“ความเข้มแข็งของระบอบรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นสถาบันของระบบยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรม ความเป็นสถาบันของรัฐธรรมนูญ สถาบันยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งรัฐ และสันติธรรมของสังคม สันติสุขของประชาชน” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในอุดมคติ ของผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยทั้งหลาย รวมทั้ง รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ จะต้องบรรลุคุณค่าสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.หลักความเสมอภาค รัฐธรรมนูญต้องรับรองสิทธิในความเสมอภาคของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม เข้าถึงปัจจัยการผลิต โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา และทุกคนต้องมีหน้าที่ต่อรัฐอย่างเสมอภาคกัน

2.หลักสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญต้องประกัน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่ละเมิดผู้อื่น และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม

3.หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน องค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจการบริหาร อำนาจการบัญญัติกฎหมาย อำนาจในการตัดสินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ต้องยึดโยงกับประชาชน

“การฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมิใช่กฎหมายสูงสุด และประเทศนี้ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมาย แต่กลายเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำในการแย่งชิง สถาปนา และสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนโดยปราศจากหลักเกณฑ์พื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน แม้มีความพยายามในการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำรัฐประหาร แต่ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกไปด้วยการรัฐประหารและมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารอยู่นั่นเอง

การสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ผ่าน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองในอนาคตได้ ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่การสูญเสียโอกาสของประเทศ และส่งผลเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง พึงตระหนักว่า การมีรัฐธรรมนูญกับระบอบรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นสิ่งเดียวกันในสังคมการเมืองไทยโดยเฉพาะในยุคเผด็จการอำนาจนิยม กล่าวคือ รัฐธรรมนูญอาจถูกเขียนให้มีเนื้อหาเผด็จการได้ เช่น มาตรา 17 สมัยเผด็จการสฤกษดิ์ และมาตรา 44 สมัยคณะรัฐประหาร คสช.” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และ ขบวนการประชาธิปไตย ต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้  บทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อมีระบบ กลไก และการดำเนินการให้เกิดการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้องค์กรภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ประชาชนเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้และมีความกระตือรือร้นทางการเมือง เช่น สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยสันติ และ ต่อต้านการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องถูกจำกัดโดยกฎหมายเพื่อความสงบและมั่นคงในชีวิตของทุกคนเท่านั้น  ถ้าไม่มีการทำสัญญาประชาคมกันแล้วมนุษย์ก็จะใช้สิทธิเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตจนอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในประชาคมนั้นได้ ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจที่มาจากประชาชน เป็น อำนาจที่เหนืออำนาจอื่นใดทั้งหมด (Supreme Power) และเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ยินยอม องค์กรบริหาร (The Executive) หรือ รัฐบาล อยู่ในฐานะเป็นองค์กรที่นำเอาเจตจำนงของประชาชนผ่านรัฐสภามาปฏิบัติ โดยทั่วไปฝ่ายบริหารต้องบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติบัญญัติ

“สามัญชนทั้งหลายตาสว่างว่า รัฐบาลเกิดขึ้นจากความเห็นชอบและการจัดตั้งของประชาชน รัฐบาลมิใช่คู่สัญญาของประชาชนในการจัดตั้งสังคมการเมือง รัฐบาลเป็นเพียงผู้แทน ที่ประชาชนมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการปกครอง รัฐบาลจึงมีเพียงหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะละเมิดความต้องการหรือผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ถ้าปรากฏว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลละเมิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน ประชาชนย่อมมีสิทธิในการถอดถอนรัฐบาล รัฐบาลกับประชาคมทางการเมืองเป็นคนละส่วนกัน รัฐบาลอาจถูกถอดถอนหรือล้มล้างได้โดยที่ประชาคมทางการเมืองมิได้สิ้นสุดไปด้วยเพราะประชาคมทางการเมืองเกิดขึ้นจากการกระทำสัญญาร่วมกันของประชาชน แต่รัฐบาลเป็นแต่เพียงผู้แทนที่ประชาชนมอบอำนาจให้ทำหน้าที่ในการบริหารเท่านั้น เมื่อรัฐบาลที่ไม่เหมาะสมถูกล้มล้างไปด้วยวิถีทางแห่งกฎหมาย ประชาชนก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ได้เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และ สิ่งนี้ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ความคุ้มครองประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ (Peaceful Transition) จึงเกิดขึ้นได้ และ รัฐบาลที่โกงกินหรือไร้ความสามารถก็จะออกจากอำนาจไปด้วยกระบวนการประชาธิปไตยโดยไม่ต้องใช้การรัฐประหาร การรัฐประหารที่ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและสร้างความเสียหายเหมือนที่ผ่านมา

ขอฝากให้ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะผู้มีอำนาจว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะเดินหน้าอย่างจริงจังและจริงใจในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วยการนิรโทษกรรมต่อนักโทษทางความคิด และ นักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลงโทษจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม และ ไม่ได้มีความผิดใดๆเพียงแต่เขาเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ และ กระบวนการยุติธรรมที่ลงโทษเพื่อนร่วมชาติก็ไม่ได้มีมาตรฐานอย่างเช่นอนารยประเทศ” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย จากนั้น เข้าสู่ช่วงเสวนาโดยวิทยากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net