Skip to main content
sharethis
  • ประเทศฝรั่งเศส แดนน้ำหอม เพิ่งมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์หลัง รบ.สั่งแบนชุด "อบายะห์" ในโรงเรียน ซึ่งเป็นชุดคลุมตัวแบบยาวที่ผู้หญิงมุสลิมบางส่วนสวมใส่ โดยอ้างว่าชุดดังกล่าวฝ่าฝืน "หลักการรัฐโลกวิสัย"
  • นักวิเคราะห์มอง 'มาครง' ผู้นำสายกลาง อาจกำลังหาคะแนนนิยมจากฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายถกกันว่าสมควรหรือไม่ บางส่วนมีข้อกังขา 'อบายะห์' นับเป็น 'สัญลักษณ์ทางศาสนา' ตามนิยามกฎหมายได้จริงหรือ

 

14 ก.ย. 2566 สืบเนื่องจากปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทางการฝรั่งเศสได้สั่งห้ามการสวมชุด 'อบายะห์' ซึ่งเป็นชุดผ้าคลุมตัวแบบยาวที่ผู้หญิงในวัฒนธรรมมุสลิมบางส่วนสวมใส่ หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลลังเลในเรื่องนี้มานาน โดยที่สื่อโปลิติโค (Politico) ระบุว่าเป็นการ "รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการรัฐโลกวิสัย" (ซึ่งหมายถึงรัฐที่แยกศาสนาออกจากระบอบการปกครอง)

หลังการส่งสารของรัฐบาลมาครง ที่ออกมามีทั้งความแน่วแน่ และความยึดมั่นในจุดยืน กาเบรียล อัตตัล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ที่การที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งหมาดๆ กล่าวว่า โรงเรียนของฝรั่งเศส "กำลังถูกทดสอบ" ในขณะที่โอลิเวียร์ เวราน โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส กล่าวว่า การสวมใส่อบายะห์ นับเป็น "การโจมตีทางการเมือง"

หญิงมุสลิม สวมใส่ชุด อบายะห์ ที่ประเทศเยเมน (ถ่ายโดย Rod Waddington)

อัตตัล บอกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพยายามหยุดยั้งกระแสการที่นักเรียนสวมชุดแต่งกายมุสลิมถึงแม้ว่าจะมีการสั่งห้ามสัญลักษณ์ทางศาสนามาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ซึ่งรวมถึงการห้ามสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะ ในโรงเรียนของรัฐด้วย

บรูโน ฌองบาร์ต รองประธานขององค์กรสำรวจโพล "OpinionWay" มองว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว และปัญหาคือ "อะไรนับเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา และอะไรที่เป็นแค่กฎการแต่งกาย" ฌองบาร์ต ยังมองว่า แนวทางปฏิบัติใหม่จากรัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนเลิกถกเถียงกันว่าอะไรที่เป็นชุดที่เหมาะสมในโรงเรียน

 รองประธานขององค์กรสำรวจโพล ยังบอกอีกว่า กฎหมายนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขามีโอกาสได้เห็นเด็กนักเรียนประท้วงด้วยการไม่เข้าโรงเรียน และถ้าหากนักเรียนเหล่านี้ไปที่ศาลแล้วก็ชนะ คำถามก็คือพวกเขาจะต้องการกฎหมายใหม่ในเรื่องนี้หรือไม่

ซึ่งในความเป็นจริงมีนักเรียนประท้วงในเรื่องนี้ไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกในฝรั่งเศส มีนักเรียน 67 ราย ที่ถูกส่งตัวกลับบ้าน เพราะพวกเธอขัดขืนไม่ยอมถอดอบายะห์ออก

อัตตัล รัฐมนตรีศึกษาธิการฝรั่งเศส บอกว่า มีการส่งตัวเด็กหญิงเหล่านี้กลับบ้านพร้อมกับจดหมายให้พวกเธอนำไปมอบให้กับครอบครัว มีเนื้อความระบุว่า "แนวคิดโลกวิสัยไม่ใช่การบีบบังคับ แต่มันคือเสรีภาพ" อัตตัล บอกว่า ถ้าหากเด็กหญิงเหล่านี้ยังคงยืนยันที่จะสวมชุดแบบนี้ไปโรงเรียนต่อไปก็คงต้องมี "การพูดคุยแลกเปลี่ยนใหม่" เกิดขึ้น

กลุ่มองค์กรที่เป็นตัวแทนชาวมุสลิมในฝรั่งเศสชื่อกลุ่มว่า "ปฏิบัติการเพื่อสิทธิชาวมุสลิม" (ADM) ได้ร้องเรียนต่อศาลสูงสุดฝรั่งเศส ให้มีการดำเนินการต่อรัฐบาล โดยมีการสั่งระงับการแบนอบายะห์ ชั่วคราว และระงับคำสั่งแบนกามิซ ซึ่งเป็นเสื้อคลุมของผู้ชายมุสลิมด้วย

หรือรัฐบาล 'มาครง' จะพยายามเรียกเสียงสนับสนุนจากฝ่ายขวา

หลังการประกาศกฎหมายห้ามแต่งกาย อบายะห์ นักวิเคราะห์ทางการเมืองมีการตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มาครง กำลังพยายามหาพันธมิตรใหม่

ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีมาครง จะเลิกล้มความตั้งใจที่จะขยายแนวร่วมรัฐบาลไปสู่พรรคอื่น แต่ก็ดูเหมือนเขาจะพยายามแสวงหาเสียงสนับสนุนจากพวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม ในช่วงที่รัฐบาลกำลังเตรียมการออกกฎหมายที่มีความอ่อนไหว รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพ

เอ็มมานูเอล มาครง

กลุ่มอนุรักษ์นิยมในฝรั่งเศสเรียกร้องให้มีการสั่งแบนสัญลักษณ์ทางศาสนาโดยเพิ่มความครอบคลุมไปถึงในมหาวิทยาลัยด้วย จากเดิมที่มีการสั่งแบนในโรงเรียนไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมในฝรั่งเศสก็แสดงความชื่นชมต่อการสั่งแบนอบายะห์ ในครั้งนี้ แม้กระทั่งพรรคเนชันแนลแรลลี ที่นำโดย มารีน เลอ แปน คู่แข่งของมาครง ก็แสดงความชื่นชมรัฐบาลในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่พรรคนี้มักจะสงวนท่าที และวางตัวออกห่างจากรัฐบาลมาครง

การที่รัฐบาลมาครง พูดย้ำจุดยืนอย่างจริงจังในเรื่องของแนวคิดแบบรัฐโลกวิสัยของฝรั่งเศสนั้น น่าจะเป็นการที่พรรคสายกลางของมาครง พยายามจะส่งสัญญาณว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลง และสามารถตัดสินใจได้ในประเด็นที่สำคัญสำหรับฝ่ายขวา

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจแบนอบายะห์ของมาครง ก็ส่งผลให้อีกฝั่งหนึ่งทางการเมือง คือกลุ่มฝ่ายซ้ายไม่พอใจ มี คลีมองทีน โอตอง สส.จากพรรคซ้ายจัด "อันบาวด์" ที่ประณามรัฐบาลมาครง ว่าพยายามจะ "ใช้อำนาจควบคุม" การแต่งกายของผู้หญิง

แต่ก็มีฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสบางส่วนเช่นกันที่ไม่ได้ถึงขั้นไม่ยอมรับการแบนอบายะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นที่ไม่ตรงกันภายในของแนวร่วมฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส ในประเด็นเรื่องรัฐโลกวิสัย ฝ่ายสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ต่างก็ยินดีกับการสั่งห้ามอบายะห์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางแบบโลกวิสัยของพรรคและการต่อต้านอิทธิพลของคริสต์คาทอลิก

ในช่วงที่มีการออกคำสั่งแบนอบายะห์นี้เอง มาครงก็เข้าพบปะกับกลุ่มผู้นำพรรคฝ่ายค้านของฝรั่งเศส ทั้งจากพรรคขวาจัด "เนชันแนลแรลลี" และจากพรรคซ้ายจัด "อันบาวด์" เพื่อหารือในสิ่งที่มาครงพูดอย่างกำกวมว่าเป็น "การริเริ่มทางการเมืองอย่างกว้างขวาง" เพื่อหาจุดร่วมทางการเมืองที่เหมือนกัน

อบายะห์ นับเป็น 'สัญลักษณ์ทางศาสนา' ได้จริงหรือ หรือเป็นเครื่องแต่งกายเชิงวัฒนธรรม?

ในสังคมฝรั่งเศสเองก็ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะสนับสนุนการแบนอบายะห์ บนฐานที่ว่าต้องการให้โรงเรียนของรัฐมีความเป็นรัฐโลกวิสัย ผลการสำรวจของ IFOP โพลที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า มีประชาชนฝรั่งเศสร้อยละ 77 ที่ "ต่อต้าน" สัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนมัธยมฯ มีที่ระบุว่า "ต่อต้านอย่างมาก" อยู่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งแค่เล็กน้อย

กฎหมายห้ามการสวมฮิญาบ ในโรงเรียนที่ออกมาเมื่อปี 2547 ในฝรั่งเศส กลายเป็นการฝังรากอย่างหนักแน่นต่อแนวคิดแบบโลกวิสัยในระบบการศึกษา ทำให้ความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นนี้หยุดลงในตอนนั้น แต่ประเด็นความตึงเครียดเรื่องศาสนาในฝรั่งเศสก็กลับมาอีกครั้งหลังจากที่มีกรณีการฆาตกรรมครูชาวฝรั่งเศสเมื่อปี 2563 และมีกรณีการก่อการร้ายเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงนั้น

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนก่อนหน้า อัตตัล คือ ‘แป็บ อินด์ไอย’ ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในเรื่องรัฐโลกวิสัยในฝรั่งเศส โดยปฏิเสธที่จะสั่งแบนอยาบาะห์ ในโรงเรียน และปล่อยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของครูใหญ่ในแต่ละโรงเรียน

กาเบรียล อัลตัล (Gabriel Attal) (ที่มา: Enrique Prazian , wikicommon)

อัตตัล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ฌองบาร์ต บอกว่า อัตตัลเป็นคนที่ต้องการยกเลิกแนวทางแบบของอินด์ไอย และบอกว่า "คณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสรับรู้ได้ถึงเรื่องที่ผู้คนต่อต้านอบายะห์ในโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเลยต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำ มันก็จะกลายเป็นอีกข้ออ้างหนึ่งในการลงคะแนนให้กับ เลอ แปน (ผู้นำฝ่ายขวาจัด)"

อย่างไรก็ตาม การบังคับแบนอบายะห์ก็มีเรื่องที่เป็นอุปสรรคในทางกฎหมายอยู่ ลอเรน บากีร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายและแนวคิดโลกวิสัยบอกว่า "มันเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมากในการขยายนิยามว่าอะไรที่นับเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา โดยเฉพาะถ้าหากว่ากลุ่มคน (ที่สวมอบายะห์) บอกว่ามันเป็นเครื่องแต่งกายในทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ในทางศาสนา"

สำหรับ ‘อบายะห์’ เป็นชุดที่สวมใส่ในหลายพื้นที่ของประเทศมุสลิมแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วสวมใส่ แต่ในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ นอกนั้น พบเห็นสวมใส่น้อยกว่า บางครั้งก็มีการสวมใส่ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาเช่นช่วงพิธีถือศีลอด

เว็บไซต์ดิสคัฟเวอร์ดูไบ ระบุว่า สำหรับเครื่องแต่งกายอบายะห์นี้ จะมองว่าเป็นเรื่องศาสนาหรือเรื่องวัฒนธรรมก็ได้ โดยที่ส่วนหนึ่ง อบายะห์ ก็เป็นเสื้อคลุมที่ผู้หญิงสวมใส่เพื่อให้เป็นไปตามหลักศาสนา แต่ก็มีความโปร่งของเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนของประเทศอย่างดูไบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาค

บากีร์ บอกอีกว่า การจำกัดเสรีภาพทางศาสนาโดยอ้างเรื่องแนวคิดโลกวิสัยเช่นนี้ ตั้งอยู่บนฐานคิดในเชิงกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ และการที่ฝรั่งเศสบีบคั้นให้เสรีภาพในแง่นี้ลดน้อยลง ก็จะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ "มีความเป็นการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ"

ฝ่ายซ้ายจัด พรรค "อันบาวด์" ประกาศว่าพวกเขาจะท้าทายรัฐบาลเรื่องกฎแบนอบายะห์ฉบับใหม่นี้ในชั้นศาล

 

เรียบเรียงจาก

Macron’s abaya ban nods to the right, splits the left, Politico, 30-08-2023

French schools send home girls wearing abayas, DW, 06-09-2023

Is the Abaya Cultural Or Religious?, Discover Dubai, 03-10-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Abaya
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net