Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ออกตัวสนับสนุนครูใหญ่โรงเรียนขอลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกขู่ฆ่าบนโลกออนไลน์ จากการพยายามให้ นร.หญิงมุสลิมถอดผ้าคลุมหน้าออกในพื้นที่ ร.ร. ด้านนักการเมืองแดนน้ำหอมมองกรณีนี้เป็นความพ่ายแพ้ของรัฐโลกวิสัย

 

7 เม.ย. 2567 เว็บไซต์ 'เดอะ การ์เดียน' รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา กาเบรียล อัตตัล นายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส ออกมาปกป้องหลักการรัฐฆราวาสของฝรั่งเศสอีกครั้ง หลังเกิดเหตุอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยมศึกษา 'มอริสราเวล' ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถูกคุกคามและขู่ฆ่าบนโลกออนไลน์ หลังอาจารย์ใหญ่คนดังกล่าวพยายามให้นักเรียนมุสลิมรายหนึ่งถอดผ้าคลุมหน้าในบริเวณโรงเรียน จนกลายเป็นเหตุทะเลาะกัน เมื่อปลาย ก.พ. 2567

อัตตัล ระบุด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐจะมีการยื่นร้องเรียนไปยังนักเรียนหญิงคนดังกล่าว เรื่องที่พยายามกล่าวหาอาจารย์ใหญ่อย่างไม่ถูกต้องว่า ครูใหญ่มีการทำร้ายร่างกายตัวเธอระหว่างที่เขาพยายามให้นักเรียนถอดผ้าคลุมหน้าออก

ทั้งนี้ นักเรียนหญิงชาวมุสลิม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ‘เลอ ปาริเซียง’ เปิดเผยว่า อาจารย์ใหญ่มีการตีไปที่แขนขวาของเธออย่างแรง

'รัฐจะยืนเคียงข้างเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ผู้ยืนอยู่บนแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับการละเมิดหลักโลกวิสัย ความพยายามเข้ามาของหลักการแนวคิดอิสลามในสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศส' อัตตัล ให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวค่ำ ของสถานีโทรทัศน์ TF1

กาเบรียล อัตตัล (ที่มา: DHS)

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องแนวคิดโลกวิสัยและศาสนาถือเป็นประเด็นใหญ่ในฝรั่งเศส ประเทศซึ่งมีชุมชนชาวอิสลามใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรป

ในปี 2547 รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งห้าม “นักเรียนสวมเครื่องแบบ หรือสัญลักษณ์ ที่แสดงออกถึงการนับถือศาสนา” ยกตัวอย่าง ฮิญาบ ผ้าโพกหัว อบายะห์ และ ‘คิปปาห์’ (kippah) (หมวกของผู้นับถือศาสนายิว) บนหลักการพื้นฐานของรัฐโลกวิสัย โดยรัฐจะเป็นกลางเรื่องการนับถือศาสนา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การลาออกของครูใหญ่คนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมครูโดยอดีตนักเรียนผู้นับถือศาสนาอิสลาม

เจ้าหน้าที่โรงเรียน ให้สัมภาษณ์สื่อ AFP ระบุว่า ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมมอริสราเวล ลาออกจากตำแหน่งหลังจากเจ้าตัวถูกขู่ฆ่าทางออนไลน์ หลังจากมีเรื่องทะเลาะกับนักเรียนเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.พ. 2567)

อัยการกล่าวว่า เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เขาเรียกนักเรียนหญิง 3 คนให้ถอดผ้าคลุมหน้าตามหลักศาสนาอิสลามออกในบริเวณโรงเรียน แต่หนึ่งในนั้นปฏิเสธ และเกิดการทะเลาะกันระหว่างทั้งคู่ หลังจากนั้น ครูใหญ่ก็ได้รับคำขู่เอาชีวิตจากบนโลกออนไลน์

อ้างอิงตามจดหมายที่ส่งโดยโรงเรียน ถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง ระบุว่า ครูใหญ่ลาออกเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่การศึกษา ระบุว่า เขาเกษียณก่อนกำหนด

หนังสือพิมพ์รายวันแนวคิดคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส "L’Humanité" อ้างข้อความของครูใหญ่ถึงเจ้าหน้าที่บุคลากรในโรงเรียน ระบุว่า เขาตัดสินใจลาออก "เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และของโรงเรียน"

นักการเมืองฝรั่งเศสมองการลาออกของอาจารย์ใหญ่เป็นความพ่ายแพ้ของรัฐ

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า หลังเกิดเหตุการณ์ที่ครูใหญ่ลาออก ได้มีนักการเมืองทั้งฝ่ายสังคมนิยม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ออกแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวทั้งบนสื่อกระแสหลัก และบนโซเชียลมีเดีย

บรูโน เรอตาโย (Bruno Retailleau) แกนนำปีกขวา 'รีพับลิกัน' ในสภาสูง หรือสมาชิกวุฒิสภา ออกมากล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย 'X' ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย

บอริส วัลโลด์ หัวหน้าตัวแทนพรรคสังคมนิยม แห่งสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ “France 2” ระบุว่า ‘เรายอมรับเรื่องนี้ไม่ได้’ และเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความพ่ายแพ้ของส่วนรวม

แมเรียน มาเรชาล นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และหลานสาวของมารี เลอ-เพน กล่าวในรายการวิทยุว่า "นี่เป็นความพ่ายแพ้ของรัฐ" ในการเผชิญหน้ากับ "เนื้อร้ายอิสลาม"

เมาด์ เบรจอน สมาชิกสภานิติบัญญัติของฝรั่งเศส จากพรรค ‘เรเนอซองซ์’ ของ 'เอมมานูเอล มาครง' ประธานาธิบดี พุ่งเป้าไปที่ ‘ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม’

"อำนาจอยู่ที่อาจารย์ใหญ่ และครู และเรามีหน้าที่ที่ต้องสนับสนุนกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาเหล่านี้" เบรจอน กล่าว

แอน ฮิลดาโก นายกเทศมนตรี ฝ่ายสังคมนิยม มองว่า เธอตกใจและรู้สึกท้อแท้เมื่อทราบข่าวการลาออกของครูใหญ่ และขอให้ทุกคนสนับสนุนอาจารย์คนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อัยการกรุงปารีส ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อ 27 มี.ค. 2567 เผยว่า ไม่มีการสั่งฟ้องข้อร้องเรียนของนักเรียนหญิง ในเวลาเดียวกับที่มีการตรวจสอบการคุกคามบนโลกออนไลน์ จากกรณีมีการขู่ฆ่าครูใหญ่คนดังกล่าว

ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนเจ้าหน้าที่การศึกษา โดยเผยว่า กระทรวงฯ จะไม่มีวันปล่อยให้ครูและอาจารย์ต้องเผชิญกับการคุกคามเพียงคนเดียว และกล่าวเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจลาออกของครูใหญ่ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าการคุกคามตัวเขามีความร้ายแรง

นิโคล เบลลูเบต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมโรงเรียนเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2567 และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามที่ไม่สามารถยอมรับได้

ล่าสุดมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมชายรายหนึ่ง อายุ 26 ปี โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขู่เอาชีวิตอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนมอริสราเวล บนโลกออนไลน์ และจะถูกดำเนินคดีบนชั้นศาลในเดือน เม.ย.นี้ (2567)

ECJ เคยตัดสินให้การห้ามสวมฮิญาบ อาจไม่ผิดกฎหมาย

แนวคิดโลกวิสัย และหลักศาสนา ไม่ได้มีการถกเถียงแค่ในเฉพาะประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในระดับยุโรป ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้เหมือนกัน

สำนักข่าว บีบีซีไทย รายงานว่า เมื่อปี 2560 น่าสนใจว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศาลทั่วยุโรปเผชิญคดีที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางศาสนาในที่ทำงานมากมาย

ศาลสหภาพยุโรปเคยมีคำตัดสินกรณีเช่นนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2549 เมื่อ ซามิรา อัคบิตา ถูกไล่ออกจากการสวมฮิญาบในที่ทำงาน แม้ว่าเธอทำงานในบริษัทมานานกว่า 3 ปี และเธอเพิ่งมาตัดสินใจสวมฮิญาบในภายหลังก่อนถูกไล่ออก โดยเธอนำเรื่องนี้ร้องเรียนต่อศาลเบลเยียม โดยระบุว่าเธอถูกบริษัทไล่ออก เนื่องจาก 'อคติด้านศาสนา' ซึ่งต่อมา ศาลเบลเยียมได้ส่งคดีต่อให้ศาลสหภาพยุโรป (ECJ) เพื่อขอความกระจ่าง

ศาล ECJ ตัดสินว่า การห้ามการสวมใส่สัญลักษณ์ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง ทางปรัชญาและทางศาสนาในที่ทำงานไม่ผิดกฎหมาย หากกฎนั้นถูกระบุเป็นกฎเกณฑ์ของบริษัทดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ในกรณีของอัคบิตา เดิมทีกฎเกณฑ์ของบริษัทไม่ได้มีการระบุในกฎบริษัทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า 'ห้ามใส่ เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่มีสัญลักษณ์ทางศาสนา' เป็นเพียงความเข้าใจในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการบรรจุกฎนี้เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง ซึ่งครอบคลุมทุกศาสนาไม่มีการแบ่งแยก และทำให้คำตัดสินของศาลระบุว่า 'บริษัทไม่ได้มีการลำเอียงหรืออคติ'

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า เมื่อปี 2560 ศาล ECJ ได้ตัดสินคดีความของบริษัท 'ไมโครโพล' (Micropole) ของฝรั่งเศส ที่ให้วิศวกรหญิง อัสมา บูก์นาอุย ออกจากงาน เพราะลูกค้าร้องเรียนว่าเธอสวมฮิญาบ

ศาล ECJ ระบุว่าจะไม่เป็นการชอบธรรม หากบริษัทฯ ให้บูก์นาอุย ออกจากงานเพราะลูกค้าร้องเรียนเท่านั้น แต่หากบริษัทฯ พิสูจน์ต่อศาลในฝรั่งเศสได้ว่า บูก์นาอุย ต้องออกจากงานเพราะกฎเกณฑ์ภายในบริษัทฯ ห้ามไม่ให้พนักงานทุกคนสวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา จึงจะถือว่าเป็นการชอบธรรม

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีเคยตัดสินให้การห้ามไม่ให้ครูในโรงเรียนรัฐบาลใน 16 แคว้นสวมฮิญาบ ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ เพราะควรจะห้ามหากการสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาก่อให้เกิดอันตราย หรือรบกวนความสงบสุขในโรงเรียน

 

แปลและเรียบเรียง

French school principal’s resignation over headscarf death threats sparks uproar

French PM backs school head who faced death threats after Muslim veil row

ศาลยุโรป: ไม่ผิดกฎหมายหากห้ามคนสวมฮิญาบ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net