Skip to main content
sharethis
  • 'เดชอิศม์' รองหัวหน้า ปชป. แจงปม 16 ส.ส.โหวตเห็นชอบ เศรษฐา เป็นนายกฯ สวนมติพรรค แม้เป็นฝ่ายค้าน เหตุฟังอภิปรายแล้ว รับได้ มอง ปชป. รุ่นใหม่ ไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งจากรุ่นเก่า 
  • 'ชวน' เผยขออนุญาตพรรคแล้ว กรณีโหวต 'ไม่เห็นชอบ' เศรษฐา เป็นนายกฯ ย้อนถาม 'เดชอิศม์' ไม่อายหรือ ดอดคุย 'ทักษิณ' ที่ฮ่องกง
  • เผยรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหมดที่โหวตสวนมติพรรค


24 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ สำนักข่าวไทยพีบีเอส และไทยโพสต์ รายงานวันนี้ (24 ส.ค.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย เวลาประมาณ 9.45 น. กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาธิปัตย์ รวม 16 คน นำโดย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลภาคใต้ และ ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวชี้แจงกรณีโหวต “เห็นชอบ” เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป็นการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าจะ "งดออกเสียง" 

เดชอิศม์ ระบุว่า ในที่ประชุมพรรคก่อนวันโหวตนายกฯ นั้น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "อย่าโหวตกันเลย อย่าโหวต แต่ข้อเท็จจริงการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส." พรรคเรา 20 คน จึงคิดกันว่านั่นคือมติหรือไม่ใช่มติกันแน่ 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อว่า ในวันที่ 22 ส.ค. หลังจากฟังอภิปรายความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมของ เศรษฐา ทวีสิน ในภาพรวมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พวกเรารับได้ จนถึงตอนโหวตก็เห็นว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคฯ โหวต "งดออกเสียง" บัญญัติ บรรทัดฐาน โหวต "ไม่เห็นชอบ" และ ชวน หลีกภัย โหวต "ไม่เห็นชอบ"

นี่คือ 3 เสาหลักของพรรคในเวลานี้ ยังโหวตไม่เหมือนกัน พวกเราจึงมาคิดว่ามติพรรคฯ คงไม่ใช่มติพรรคแล้ว เพราะคำว่า มติพรรคจะขอยกเว้นไม่ได้ มีออกไปทางใดต้องเป็นทางนั้น 

เราจึงมาแยกว่า ระหว่างพรรค กับ ประเทศชาติ เราควรจะเลือกทางไหน เราลงความเห็นตรงกันว่า ถ้าจำเป็นต้องเลือก ก็ขอเลือกชาติและประชาชนไว้ก่อน โดยเฉพาะขณะนี้ พรรคเพื่อไทย สามารถรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และยังเป็นรัฐบาลสมานฉันท์

กลุ่ม กปปส. ที่เคยขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มเพื่อนเนวิน ชิดชอบ ที่เคยเป็นงูเห่าสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย แล้วมาสนับสนุนให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกฯ ในตอนนั้นคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้เขายังมาสมานฉันท์กันได้เลย

แล้วพวกเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่เกือบทั้งหมด ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ 

โหวตให้แม้เป็นฝ่ายค้าน

เดชอิศม์ กล่าวต่อว่า ทุกคนมีความเห็นตรงกันที่จะสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะเป็นต้องเป็นฝ่ายค้าน

"ณ วันนี้เรายอมเป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบ เต็มตัว ทั้งความเป็น ส.ส. และศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปัตย์ เราไม่กระเหี้ยนกระหือรือ กระเสือกกระสนไปเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะหลักการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ยังเหมือนเดิม

"1. ต้องเทียบเชิญมาก่อน 2. พวกเราทุกคนตัดสินใจไม่ได้ ต้องประชุมร่วมระหว่าง กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการในปัจจุบันกับ ส.ส. แล้วลงมติ และ 3. มติว่าอย่างไร ทุกคนต้องปฏิบัติตาม" รองหัวหน้าพรรค ปชป. ระบุ

หากพบพรรคอื่นแล้วผิดมาก คงถูกประหารชีวิต

ต่อมา เดชอิศม์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีบินไปพบ ทักษิณ ชินวัตร ที่เกาะฮ่องกง ว่าตนเป็นคนมีเพื่อนเยอะ รู้จักและสนิทกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค สามารถแยกได้ระหว่างหน้าที่-ความผูกพัน, หน้าที่-ความโกรธแค้นชิงชังในอดีต โดยเด็ดขาด 

"ถ้าเอาหน้าที่ สส.ไปผูกพันกับความรัก ก็ลำเอียง ถ้าเอาหน้าที่ ส.ส.ไปผูกติดกับความชิงชัง ก็เกิดอคติ" รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว

พวกเราสนิทกับทุกพรรค ถ้าการไปพบทุกพรรคแล้วมีความผิด ผมน่าจะโดนประหารชีวิตไปตั้งนานแล้ว เพราะคงเป็นความผิดมาก ผทสนิทกับหัวหน้าพรรคทุกพรรคการเมือง 

รับ ปชป. ไม่มีเอกภาพ-ไม่คิดขับใครพ้นพรรค

เดชอิศม์ ยอมรับว่า ความเป็นเอกภาพของประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีตั้งแต่องค์ประชุมล่ม 2 ครั้ง และยังไม่รู้ว่าจะเลือกกรรมการบริหารพรรคได้เมื่อไหร่ ต้องย้อนถามกลุ่มคนบางกลุ่มที่ทำให้องค์ประชุมล่ม 

ส่วนประเด็นการขับออกจากพรรค ข้อเท็จจริงคือ ต้องใช้ ส.ส. ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ลงมติ 3 ใน 4 ที่ประชุม

"ดูไปดูมา เสียงส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ทั้งหมด ก็ไม่รู้ว่าใครจะขับใครกันแน่" เดชอิศม์ กล่าว 

แต่ส่วนตัวไม่เคยคิดขับใครออกจากพรรคแม้แต่คนเดียว พร้อมพูดคุย เจรจา และขอให้อยู่บนเหตุบนผล บนความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจากับเรา ไม่ว่าจะเรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หรือทิศทางใดๆ 

เรามาจากประชาชน เราก็อยากสะท้อนบอกประชาชน พวกเราพร้อมออกจาก ส.ส. วันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าเรารู้สึกว่าเราทรยศประชาชน ไม่ว่าคนใต้หรือคนทั้งประเทศ เราไม่เคยคิดทรยศ เราซื่อสัตย์ พร้อมทำงานให้ประชาชน สิ่งที่เราแคร์ที่สุดคือชาติและประชาชน 

พรรคไม่แตก ย้ำยังทำงานร่วมกันได้

เดชอิศม์ เสนอทางออกหาเอกภาพกลับคืนพรรคด้วยกาเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้ ขอฝ่ายที่ทำองค์ประชุมล่ม คิดให้ได้ว่าทำอย่างไรให้องค์ประชุมครบ ส่วนเรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นเรื่องการแข่งขันกันอีกที ต่อให้พวกเราจะแพ้ ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่เราก็ยินดีจะทำงานร่วมกัน 

ยอมรับว่าในอดีต ไม่ได้เลือก จุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อมีกระบวนการล้ม จุรินทร์ พวกตนต่างหากที่เป็นฝ่ายปกป้อง จุรินทร์ มาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า พวกเรายินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย 

เดชอิศม์ ย้ำว่าพรรคไม่แตก แค่ความเห็นไม่ตรงกัน ขอให้ลดทิฐิหาทางพูดคุยกัน

'ชวน' แจง "โหวตไม่เห็นชอบ" เศรษฐา ขออนุญาตแล้ว

24 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ ไทยพีบีเอส รายงานเมื่อเวลา 11.20 น. ชวน หลีกภัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ กรณีที่โหวตสวนมติพรรค "ไม่เห็นชอบ" เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขออนุญาตต่อที่ประชุมพรรคแล้ว เพราะเป็นจุดยืนส่วนตัวที่เคยต่อสู้กับพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องจนถึงพรรคเพื่อไทย

ชวน หลีกภัย

ชวน หลีกภัย ยืนยันด้วยว่า จะไม่ออกจากพรรค ยกเว้นจะถูกขับออก นอกจากนี้ ชวน ระบุด้วยว่า ก่อนวันโหวตนายกฯ เดชอิศม์ หนึ่งใน 16 ส.ส.ที่โหวตเห็นชอบให้ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอในที่ประชุมพรรคว่าให้ขับออกผู้ที่โหวตสวนมติพรรค โดยชวน เชื่อว่ามีเจตนาพุ่งเป้ามาที่ตนเอง ก่อนที่ ส.ส.ทั้ง 16 คน จะสวนมติเองในท้ายที่สุด

'ชวน' ย้อนถาม 'เดชอิศม์' ดอดคุย 'ทักษิณ' ไม่อายบ้างเหรอ

ชวน ให้สัมภาษณ์เปิดเผยอีกว่า มีความพยายามของกลุ่ม ส.ส.ในพรรคที่อยากไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก่อนย้อนถามว่า "ไม่อายหรือ" เพราะบินไปเจรจากับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเกาะฮ่องกง แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

พร้อมกันนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รุ่นใหญ่ ยืนยันว่า คนที่แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคมีเพียงแกนนำกลุ่ม ส.ส. 16 คน เช่น เดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่

รายชื่อ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่โหวตสวนมติพรรค

"โหวตเห็นชอบ" เศรษฐา เป็นนายกฯ

  1. กาญจน์ ตั้งปอง
  2. จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
  3. ชัยชนะ เดชเดโช
  4. ชาตรี หล้าพรหม
  5. เดชอิศม์ ขาวทอง
  6. ทรงศักดิ์ มุสิกอง
  7. พิทักษ์เดช เดชเดโช
  8. ว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ
  9. ยูนัยดี วาบา
  10. วุฒิพงษ์ นามบุตร
  11. ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง
  12. สมบัติ ยะสินธุ์
  13. สุพัชรี ธรรมเพชร
  14. สุภาพร กำเนิดผล
  15. พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่
  16. อวยพรศรี เชาวลิต

"โหวตไม่เห็นชอบ" เศรษฐา

  1. ชวน หลีกภัย
  2. บัญญัติ บรรทัดฐาน
     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net