Skip to main content
sharethis

แบรนด์เสื้อผ้า H&M ร่วมขบวนประกาศถอนกิจการออกจากพม่า เพราะมีรายงานเรื่องโรงงานที่ผลิตป้อนพวกเขาทำการละเมิดแรงงาน แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าการถอนกิจการออกไปจะสร้างปัญหาให้กับแรงงาน ทั้งเสี่ยงถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำ หรือเสี่ยงถูกละเมิดหนักขึ้นจากบริษัทจ้างวานใหม่ที่แย่กว่า

แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสัญชาติสวีเดน H&M ประกาศจะค่อยๆ ถอนกิจการออกจากประเทศพม่า หลังจากที่มีรายงานออกมาในเรื่องเกี่ยวกับการกดขี่ละเมิดสิทธิฯ แรงงานสิ่งทอในพม่า ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อปี 2564 เป็นต้นมา

H&M แถลงว่า "หลังจากที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว พวกเราก็ตัดสินใจว่าจะค่อยๆ ถอนกิจการของพวกเราออกจากพม่า"

ประเทศพม่าเผชิญกับความรุนแรงระดับนองเลือดนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร ก.พ. ปี 2564 ที่เป็นการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซานซูจี ทำให้เกิดการใช้กำลังปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการอันเป็นชนวนนำไปสู่การสู้รบแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศพม่า

คำแถลงของ H&M ระบุว่า "พวกเราได้ทำการติดตามสถานการณ์ล่าสุดในพม่าอย่างใกล้ชิดและพวกเราก็เล็งเห็นว่ามีสิ่งที่เป็นปัญหากับการปฏิบัติงานของพวกเราเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาตามมาตรฐานและเงื่อนไขข้อกำหนดของพวกเรา"

รายงานจากศูนย์ทรัพยากรด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ระบุว่าในช่วงระหว่างเดือน ก.พ. 2565 - ก.พ. 2566 มีรายงานกรณีข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิแรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ 156 กรณีในพม่า เทียบกับ 56 กรณี ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนก่อนหน้านี้

นั่นหมายความว่า แรงงานสิ่งทอในพม่าต้องเผชิญกับสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิมในระยะเวลาอันสั้น และจากกรณีทั้งหมด 212 กรณีนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 เป็นต้นมา ในจำนวนนี้มีอยู่ 20 กรณีที่เกิดขึ้นในโรงงานที่เป็นสายงานการผลิตสินค้าและวัตถุดิบให้ H&M

ทาง H&M แถลงว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานสิ่งทอใดๆ ในประเทศพม่า แต่แค่อาศัยซัพพลายเออร์ 26 บริษัท ที่มีโรงงานรวม 39 แห่งในพม่า เป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนให้บริษัท H&M เท่านั้น

นอกจาก H&M แล้วมีบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ทยอยย้ายฐานออกจากประเทศพม่าหลังจากที่เกิดกรณีการรัฐประหาร 2564

ก่อนหน้านี้ยังเคยมีรายงานเกี่ยวกับบริษัท Zara ที่ประกาศวางแผนจะถอนกิจการออกจากพม่า หลังจากที่โรงงานที่เป็นสายการผลิตป้อนพวกเขาทำการละเมิดสิทธิแรงงานด้วยการเล่นงานนักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมสิ่งทอที่เรียกร้องขึ้นค่าจ้าง โดยที่นักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมเหล่านี้จะถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร

การถอนกิจการดีจริงหรือ หรือแรงงานจะกลายเป็นผู้แบกรับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่าการที่แบรนด์ข้ามชาติต่างๆ จะถอนกิจการออกจากพม่านั้น แทนที่จะกลายเป็นการช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับเสี่ยงที่จะทำให้แรงงานสูญเสียแหล่งรายได้เพราะโรงงานของพวกเขาไม่มีงานป้อนให้ หรือโรงงานของพวกเขาจะหันไปรับงานจากบริษัทจ้างวานที่แย่ยิ่งกว่า คือไร้มาตรฐาน และไม่สนใจสิทธิแรงงาน

โรงงานที่เป็นสายการผลิตในพม่า ป้อนสินค้าให้กับ H&M นั้น มีแรงงานในโรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีความกังวลเกิดขึ้นว่าพวกเขาจะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างไรถ้าหาก H&M ถอนกิจการจากพม่า

H&M ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกระบุว่าจากสถิติที่สำรวจเมื่อเดือน มี.ค. 2566 โรงงานที่ผลิตให้กับพวกเขามีการจ้างแรงงานรวมแล้วเกือบ 42,000 ชีวิต นอกจากนี้ยังมีบางโรงงานที่ทำการเอาท์ซอร์ส หรือจ้างต่อโรงงานอื่นด้วย

แรงงานอายุ 32 ปีที่ทำงานในโรงงานสายการผลิตให้ H&M ที่มีชื่อบริษัทว่า Saung Oo Shwe Nay จำกัด ในกรุงย่างกุ้ง บอกว่า งานในสายการผลิตของเธอเป็นแหล่งรายได้เดียวที่นับเป็นรายได้ประจำให้กับครอบครัวของเธอ เธอกลัวว่าจะตกงานเพราะสามีของเธอซึ่งเป็นแรงงานรับจ้างก่อสร้างรายวันไม่มีงานประจำแบบเต็มเวลา ทั้งนี้เธอยังต้องเลี้ยงดูลูกอายุ 6 ขวบ กับแม่ของเธอด้วย

แรงงานรายอื่นๆ ในโรงงานสายการผลิต H&M ก็สะท้อนความวิตกกังวลต่ออนาคตในแบบเดียวกัน

วิกกี โบว์แมน ผู้อำนวยการศูนย์พม่าเพื่อธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวว่า เธอเสียใจต่อคำประกาศถอนกิจการของ H&M เพราะว่ามันจะส่งผลเลวร้ายต่อคนงานหญิงในพม่าจำนวนมาก

คำประกาศของ H&M ออกมาหนึ่งวันหลังจากที่มีรายงานเรื่องการกดขี่ละเมิดสิทธิแรงงานสิ่งทอในพม่าภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นรายงานของศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้องค์กรดังกล่าวยังได้ออก "เครื่องมือติดตามผลข้อกล่าวหาเกี่ยวกับแรงงานสิ่งทอพม่า" หลังจากที่ได้รับรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิฯ ในโรงงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการรัฐประหาร 2564 และในการวิจัยครั้งต่อๆ มาก็เผยให้เห็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสายการผลิตของแบรนด์ระดับโลกที่มีฐานการผลิตในพม่า

องค์กรสิทธิฯ ระบุถึงการละเมิดที่เกิดขึ้นรูปแบบต่างๆ ว่าประกอบด้วย "การเบี้ยวค่าแรง, การเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม, อัตราการจ้างงานที่ไร้มนุษยธรรม, การบังคับให้ทำงานล่วงเวลา" กรณีเหล่านี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีกรณีการละเมิดสิทธิฯ ที่เลวร้ายกว่านั้นอย่างเช่น "การที่กองทัพพม่าสังหาร, จับกุม, คุมขังโดยพลการต่อแรงงาน, ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ, การโจมตีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม, การข่มขู่คุกคาม และการใช้แรงงานเด็ก"

มีการยกตัวอย่างกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้น เช่น การลงโทษแรงงานให้ต้องเดินแบบคุกเข่าเวลาที่ไม่สามารถผลิตได้ตามโควตาที่ต้องการ มีกรณีการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนที่ตั้งครรภ์อย่างการไม่อนุญาตให้มีการลาคลอดและมีการไล่ออกคนงานที่ตั้งครรภ์

ก่อนหน้าที่ H&M จะประกาศถอนกิจการ เคยมีบริษัทชาติตะวันตกหลายแห่งที่ประกาศถอนกิจการจากพม่าเมื่อปี 2565 เช่น Primark และ Mark & Spencer หลังจากที่มีแรงกดดันในเรื่องที่มีการรายงานกรณีการละเมิดสิทธิร้ายแรงในโรงงานสิ่งทอที่เป็นสายการผลิตของพวกเขา

แต่ทว่าการย้ายฐานการผลิตของบริษัทเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นการทำร้ายแรงงานสิ่งทอในพม่าเสียเอง โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่คิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานสิ่งทอในพม่าที่มีโรงงานอยู่มากกว่า 500 แห่ง

ที่ปรึกษาขององค์กรจับตามองด้านแรงงานในพม่าระบุว่าเป็นไปได้ที่โรงงานเหล่านี้จะหาผู้รับซื้อรายใหม่แทนที่บริษัท H&M แต่ทว่ามันจะส่งผลให้แรงงานถูกลดค่าจ้าง และเผชิญกับสภาพย่ำแย่อื่นๆ หรือบางส่วนอาจจะถึงขั้นถูกลอยแพได้

แม้แต่ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานก็ยอมรับว่า ประชาชนที่ต้องออกจากงานจะเดือดร้อน พวกเขาจะอยากหางานใหม่มากกว่าที่จะต้องการได้รับค่าชดเชย พวกเขามีครอบครัวให้ต้องดูแลและเป็นเรื่องยากที่จะหางานใหม่ในพม่า

ผู้อำนวยการองค์กรแรงงานในเมืองหล่ายทาร์ยาร์บอกว่าพวกเขากำลังกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องแรงงานที่ตกงานจะหางานใหม่ได้ยาก พวกเขามองว่าการที่แบรนด์ดังๆ ที่ผลกำไรของพวกเขาขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ ทำให้ถอนกิจการออกจากพม่าเพราะห่วงภาพลักษณ์นั้น จะทำให้แรงงานตกไปอยู่ใต้เงื้อมมือของบริษัทรับซื้อที่ไม่มีการคำนึงถึงแรงงานหญิงในประเทศกำลังพัฒนา

โบว์แมนเห็นด้วยว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นถ้าหากบริษัทต่างชาติถอนตัวออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่แรงงานเหล่านี้จะไม่มีงานทำโดยสิ้นเชิง หรือเรื่องที่โรงงานที่พวกเขาทำงานอยู่จะได้รับการจ้างวานจากบริษัทรับซื้อที่ไร้มาตรฐานที่ต้องการอยากได้แรงงานราคาถูกเท่านั้นไม่ได้สนใจเรื่องสภาพการจ้างของโรงงานแต่อย่างใด

มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้อำนวยการองค์กรแรงงานอีกว่า เจ้าของโรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของพม่าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและมักจะมีความโกรธแค้นต่อคนงานถ้าหากพวกเขาประสบกับการสูญเสีย ผลที่เกิดตามมาคือคนงานจะเผชิญกับการกดดันมากขึ้น ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติมากขึ้น และเผชิญกับความยากลำบากอื่นๆ

ผอ.องค์กรแรงงานเรียกร้องให้บริษัทระดับโลกเหล่านี้ถอนกิจการออกจากพม่าอย่างมีความรับผิดชอบ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การถอนกิจการออกจากพม่าจะได้รับการสอดส่องติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีการสอดส่องในเรื่องสิทธิของแรงงานต่อไปแม้หลังจากที่บริษัทเหล่านี้ถอนกิจการออกไปเรียบร้อยแล้ว

คารินา อูเฟิร์ต ซีอีโอของหอการค้าสหภาพยุโรปประจำพม่ามองว่าบริษัทระดับโลกเหล่านี้ควรจะอาศัยการรับซื้อผลผลิตจากโรงงานสิ่งทอในพม่าต่อไป เพราะจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมในการหารือเรื่องสิทธิแรงงานและปฏิสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานได้และช่วยเป็นอำนาจคัดง้างกับนายจ้างโรงงานในเรื่องค่าแรงและสภาพการจ้างงาน การที่พวกเขาถอนตัวออกจะทำให้พวกเขาไม่สามารถส่งอิทธิพลต่อสภาพของแรงงานในประเทศได้

 

เรียบเรียงจาก

H&M’s Forced Exit Leaves 42,000 Myanmar Workers Asking How They Will Eat, The Irrawaddy, 19-08-2023

H&M to 'phase out' Myanmar operations after reports of labour abuse, Mizzima, 20-08-2023

H&M probes alleged Myanmar factory abuses as pressure intensifies, Aljazeera, 16-08-2023

 

เรี่องที่เกี่ยวข้อง

แรงงานสิ่งทอในพม่า ถูกจับขึ้นศาลทหารเพราะชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net