Skip to main content
sharethis

สื่อของทางการเกาหลีเหนืออ้างว่ามีทหารสหรัฐฯ ที่ชื่อ 'ทราวิส คิง' แอบหลบหนีออกจากกรุ๊ปทัวร์ในตอนที่กำลังทัวร์พื้นที่ความมั่นคงร่วม (JSA) พรมแดนรอยต่อระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ โดยอ้างว่าเพื่อหลบหนีจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิวในสหรัฐฯ

สื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่า ทราวิส คิง ทหารสหรัฐฯ ได้ข้ามพรมแดนมายังเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหนีจาก "การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและการเหยียดเชื้อชาติสีผิว"

รายงานข่าวดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นคำแถลงครั้งแรกเกี่ยวกับ กรณีของ ทราวิส คิง มีการรายงานว่าคิงได้หลบหนีออกจากกรุ๊ปทัวร์ที่กำลังท่องเที่ยวพื้นที่ความมั่นคงร่วม (JSA) ซึ่งเป็นด่านที่แบ่งพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ โดยที่สื่อเกาหลีเหนือระบุว่าคิงได้สารภาพเรื่องที่เดินทางข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยมีเจตนาที่จะอาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3

สื่อ KCNA ซึ่งเป็นสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานว่า ในช่วงที่มีการไต่สวนนั้น คิงได้สารภาพว่าเขาตัดสินใจข้ามฝั่งหนีมายังเกาหลีเหนือเพราะเขาเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่เกิดขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ และบอกว่าเขารู้สึก "ผิดหวังกับสังคมอเมริกันที่ไม่เสมอภาค"

KCNA รายงานต่อไปว่าคิงผู้ที่อายุ 23 ปี ถูกควบคุมตัวโดยทหารของกองทัพเกาหลีเหนือ หลังจากที่เขาเดินทางข้ามเขตแดน และจะมีการไต่สวนในเรื่องนี้ต่อไป

พรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้มีการวางปราการแบ่งพรมแดนไว้อย่างแน่นหนามาก แต่สำหรับพื้นที่ JSA นั้นมีการใช้แค่แผงกั้นคอนกรีตเตี้ยๆ และง่ายต่อการที่จะข้ามฝั่งถึงแม้ว่าจะมีทหารประจำการอยู่ทั้งสองฟากก็ตาม

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าคิงได้ข้ามฝั่งไปโดยเจตนาและปฏิเสธที่จะจัดให้เขาเป็นเชลยศึก

การหนีข้ามแดนของคิงนั้น เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่เขากำลังเผชิญกับการถูกพิจารณาความผิดทางวินัยหลังจากที่มีการทะเลาะวิวาทในผับด้วยความมึนเมา จนทำให้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกับตำรวจเกาหลีใต้และทำให้เขาติดคุกเกาหลีใต้เป็นเวลา 2 เดือน

ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนทากอน แถลงว่าพวกเขาไม่สามารถยืนยันว่าคำพูดของคิงที่อยู่ในรายงานข่าวของ KCNA นั้นเป็นคำพูดของเขาจริงหรือไม่ และจะเน้นเรื่องทำให้คิงสามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย โดยที่กระทรวงกลาโหมไม่ได้เปิดเผยว่าพวกเขาได้รับทราบข้อมูลจากเกาหลีเหนือมากกว่านี้หรือไม่

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็แถลงแบบเดียวกันในเวลาต่อมาว่าพวกเขาไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสิ่งที่สื่อเกาหลีเหนือรายงานเกี่ยวกับคิงนั้นเป็นสิ่งที่คิงพูดออกมาจริงหรือไม่ และบอกว่า "สิ่งสำคัญที่มาก่อนคือการที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องพาพลทหารคิงกลับบ้านให้ได้ และพวกเรากำลังดำเนินการทุกช่องทางเพื่อให้ได้ผล"

ไมรอน เกตส์ ลุงของคิงกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. ว่า หลานของเขาเคยเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติสีผิวจริงในช่วงที่มีการวางกำลังและหลังจากที่ถูกจับเเข้าคุก เขามีนิสัยเปลี่ยนไปหลังจากนั้น

คิงเริ่มเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 ในตอนนี้ กองทัพสหรัฐฯ กำลังคิดหนักว่าจะพิจารณาสถานะของคิงว่าอยู่ในสถานะไหนดี

ในฐานะที่คิงเป็นทหารประจำการเต็มเวลา เขาน่าจะเข้าข่ายเชลยศึก เมื่อพิจารณาจากการที่สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือยังนับเป็นประเทศคู่สงครามกันอยู่ในทางเทคนิค เพราะสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493-2496 นั้นจบลงโดยการทำสัญญาสงบศึกชั่วคราว ไม่ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพต่อกัน ทำให้ประเทศคาบสมุทรเกาหลีสองประเทศยังถือว่ามีสงครามกันโดยที่มี กองบัญชาการสหประชาชาติ (United Nations Command - UNC) คอยเป็นผู้ดูแลเรื่องการสงบศึก

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ มองว่าคิงได้ตัดสินใจข้ามแดนไปยังเกาหลีเหนือด้วยเจตนาของตัวเอง โดยใส่ชุดพลเรือน ซึ่งน่าจะทำให้เขาเข้าข่ายไม่นับเป็นเชลยศึก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้อยู่ในจุดที่แย่ที่สุดอีกครั้ง กระบวนการทางการทูตหยุดชะงักลง และผู้นำเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึน ก็เรียกร้องให้มีการเพิ่มการพัฒนาอาวุธ รวมถึงหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. ทาง UNC ระบุว่าเกาหลีเหนือตอบกลับในเรื่องที่จะให้มีการหารือกันเกี่ยวกับกรณีนี้


เรียบเรียงจาก
N Korea says US soldier crossed border seeking refuge from racism, Aljazeera, 16-08-2023
KCNA press release on result of intermediate investigation on US GI Travis King, KCNA Watch, 16-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net