Skip to main content
sharethis

รองเลขาธิการ ศอ.บต.หารืออัครราชทูต ช่วยแรงงานไทยร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมคณะ ประกอบด้วย น.อ.จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) กรรมการผู้จัดการสถาบันการอาหารไทย รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และเจ้าหน้าที่ส่วนงานยุติธรรม ศอ.บต. เจ้าหน้าที่ส่วนงานกองการต่างประเทศ ศอ.บต. เดินทางไปร้านอาหารในรัฐกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าพบอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประเทศมาเลเซีย และผู้แทนที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนแรงงานไทย และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เนื่องจากประเทศมาเลเซียได้เริ่มดำเนินมาตรการเข้มงวดแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทางรัฐบาลไทย โดย ศอ.บต. จะต้องรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าทำงานในทุกรัฐของประเทศมาเลเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย และผู้แทนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สำหรับประเด็นหารือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยในมาเลเซียในครั้งนี้ ทาง ศอ.บต. ได้มีข้อเสนอเพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบและสามารถได้รับการดูแลตามกฎหมาย โดยมีการหยิบยกปัญหาและจำแนกประเภทแรงงานและข้อเสนอ ดังนี้ 1.แรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี Work Permit ซึ่งกลุ่มนี้จะขอขยายหลักเกณฑ์ในด้านอายุของผู้ขอ Work Permit จากเดิมอายุไม่เกิน 45 ปี เป็นไม่เกิน 60 ปี 2.แรงงานที่เข้าทำงานโดยใช้ Passport แต่ไม่มี Work Permit และยังคงกลับมาขออนุญาต Visa ท่องเที่ยวทุกเดือน 3.แรงงานที่เข้าทำงานโดยใช้ Border pass ซึ่งอนุญาตเพียงแค่รัฐชายแดนแต่เดินทางไปทำงานอยู่ในทุกรัฐของประเทศมาเลเซียและยังคงกลับมาขออนุญาต Visa ท่องเที่ยวทุกเดือน 4.แรงงานที่เข้าทำงานโดยใช้ passport หรือ Border pass เดินทางไปทำงานอยู่ในทุกรัฐของประเทศมาเลเซีย โดยไม่ได้กลับมาขออนุญาต Visa ท่องเที่ยวทุกเดือนปล่อยให้กลายเป็น Overstay (อยู่เกินกำหนดระยะเวลา) 5.แรงงานที่เดินทางไปทำงานอยู่ในทุกรัฐของประเทศมาเลเซียโดยไม่มีทั้ง Passport และ Border pass

จากข่อมูลดังกล่าว พบว่าแรงงานประเภทที่ 2-5 เป็นแรงงานประเภทที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คืออัตราการลงทะเบียนของบุคคลไร้สัญชาติเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติยังคงเพิ่มข้นทุกปี เนื่องจากไม่มีหลักฐานการคลอดจากโรงพยาบาลจากการที่ไม่มีประกันสุขภาพเพราะไม่มี Work permit ทำให้ไม่มีใบสูติบัตรและบัตรประชาชน และต้องเข้าสู่การตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อรับรองการเป็นบุคคลสัญชาติไทยปีละกว่า 700 คน

ซึ่งภายหลังจากการหารือครั้งนี้ ศอ.บต. จะประสานกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบ Set Zero เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมวางขั้นตอนและวิธีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมและในแต่ละประเด็นให้มีความชัดเจนเพื่อเป็นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระระหว่างทั้ง 2 ประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเร็ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/8/2566

ชลประทาน เผย ยอดจ้างแรงงานชลประทาน ทะลุเพดาน จ้างแล้วกว่า 90,000 คน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร  โดยในปีนี้มีแผนจ้างแรงงานประมาณ 86,000 คน ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 3 - 10 เดือน วงเงินจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 26,100-87,000 บาท/คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างต่อคน)

โดยเกณฑ์การจ้างแรงงานจะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 

-เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่  

-สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่  

-ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไป หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานทั่วประเทศทะลุเป้าไปแล้ว 90,539 คน หรือประมาณ 105% ของแผนฯ โดยจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี 6,093 คน จังหวัดเชียงใหม่ 4,634 คน และจังหวัดนครราชสีมา 4,076 คน

กรมชลฯ ยังคงเดินเครื่องเต็มที่ ในการรับสมัครจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง ยังมีตำแหน่งว่างก่อนจะหมดปีงบประมาณ 2566 นี้

เกษตรกร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือทางสายด่วนกรมชลประทาน 1460

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 18/8/2566

คุ้มครองแรงงานโคราช สั่งโรงแรมดังเข้าให้ข้อมูล "พี่กบ" ไล่พนักงานออก

จากกรณีพนักงานโรงแรมดัง โพสต์แชตไลน์สนทนากับพี่กบ คาดว่าเป็นหัวหน้างาน ว่า ขอลางานเพราะแม่ป่วยหนัก แต่หัวหน้างานไม่อนุญาต ยืนยันต้องกลับมาทำงาน ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง พนักงานคนเดิมแชตกลับไปบอกหัวหน้างานว่า แม่เสียชีวิตแล้ว ต้องไปจัดการงานศพ แต่กลับถูกพี่กบสวนกลับ เสร็จจากงานศพให้มาเขียนใบลาออก ซึ่งโพสต์ดังกล่าว ชาวเน็ตต่างออกมาตำหนิพี่กบว่าเป็นหัวหน้าใจดำ จนกลายเป็นกระแสดรามาในโลกโซเชียล

17 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว โดยนายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังทราบเรื่องจากสื่อต่าง ๆ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเดินทางไปตรวจสอบที่โรงแรมดังกล่าว แต่ไม่พบผู้บริหารของโรงแรมซึ่งเป็นนายจ้าง พบเพียงหัวหน้า รปภ. เท่านั้น

โดยหัวหน้า รปภ.แจ้งว่า ผู้บริหารเดินทางไปร่วมงานศพของแม่พนักงานคนดังกล่าวที่ จ.บุรีรัมย์ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องอยู่ที่ผู้บริหารเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจึงได้มีหนังสือเชิญนายจ้างให้มาพบในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบเรื่องของการลากิจที่โรงแรมกำหนดไว้

นายนิสัย กล่าวอีกว่า กรณีของการจ้างและการเลิกจ้าง เป็นสิทธิของนายจ้าง แต่ก็ต้องดูเหตุว่าเข้าข่ายข้อยกเว้นที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย แต่หากเข้าข่ายข้อยกเว้นนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างตามอายุงาน และตามข้อกฎหมายที่กำหนด

ถ้าเข้าข่ายข้อยกเว้น และมีลูกจ้างมายื่นคำร้องกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยคำร้อง พร้อมกับเชิญฝ่ายนายจ้างเข้าพบเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมรับเข้าทำงานตามปกติ หรือหากไม่รับเข้าทำงานแต่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด การยื่นคำร้องก็จะเป็นอันยุติลง

แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งเป็นหนังสือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างมายื่นคำร้อง โดยประมวลตามข้อมูลเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน แล้ววินิจฉัยออกมาว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้รับหนังสือคำสั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม หรือหนังสือคำสั่งลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็สามารถนำหนังสือคำสั่งนี้ไปยื่นอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานภาค 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมาได้ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือคำสั่ง

ถ้าหากนายจ้างเป็นฝ่ายอุทธรณ์ กรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชย นายจ้างก็ต้องนำเงินตามจำนวนในคำสั่งนั้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ศาลก่อน จึงจะสามารถขอยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าหากภายใน 60 วัน เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน ก็มีสิทธิขอขยายเวลาต่อได้อีก 30 วัน ซึ่งกรณีการขอขยายเวลาก็จะเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณาอนุญาตให้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กรณีลูกจ้างรายนี้ที่เป็นข่าว ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ไปแล้วหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรอนายจ้างมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. นี้

ที่มา: เนชันออนไลน์, 18/8/2566

กสร. กับ สปส. ลงพื้นที่หาสาเหตุ แผ่นเหล็กใต้สะพานหล่นใส่ลูกจ้าง เสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 2

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีลูกจ้างทำงานรื้อแผ่นเหล็กใต้สะพานข้ามแยกบางกะปิ ถูกแผ่นเหล็กหล่นใส่ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และเสียชีวิต 1 คน ว่า ก่อนอื่นตนต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติของลูกจ้างผู้เสียชีวิต และห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ โดยได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงพื้นที่สอบสาเหตุและเร่งช่วยเหลือตามสิทธิพึงได้รับทันที เบื้องต้นได้รับรายงานจาก พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ.4) และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 12 (ศปข.12) ว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 01.50 น. ลูกจ้างได้ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายแผ่นเหล็กรองใต้สะพาน โดยใช้เครื่องชักรอก แต่เนื่องจากรอกตัวที่ 3 มิได้ถูกยึดไว้กับโครงสร้างสะพาน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าว หลุดและร่วงลงมาพร้อมกับลูกจ้างที่กำลังทำงาน ส่งผลให้ลูกจ้างเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย และลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ทั้งนี้ ตนได้สั่งให้ กสร. เร่งหาสาเหตุและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และ สปส. ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่พึงได้รับต่อไป

ด้าน นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พนักงานตรวจความปลอดภัย สรพ.4 และ ศปข.12 จะเชิญนายจ้างและผู้เกี่ยวข้องมาพบ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวเพิ่มว่า ลูกจ้างผู้เสียชีวิต ชื่อ นายอนันต์ ลองศรี เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับกรณีลูกจ้างเสียชีวิต เช่น ค่าทำศพ แก่ทายาท 50,000 บาท ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตให้กับทายาท 120 เดือน (เงินเดือนของลูกจ้างเดือนละ 18,000 บาท) เป็นเงิน 1,512,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ 46,816.23 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,608,816.23 บาท สำหรับลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย หลังเกิดเหตุทั้งสองคนได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ปัจจุบันออกจากโรงพยาบาลแล้ว

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 17/8/2566

รมว.แรงงาน สั่ง กสร.ตรวจสอบ เหตุไม่ให้ลูกจ้างลางาน แม้แม่ป่วยเสียชีวิต

17 ส.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีสื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ข่าวลูกจ้างสาวรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชตคุยกับหัวหน้าที่ทำงาน กรณีขอลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน ว่า ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ในเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา (สสค.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/8/2566

มิจฉาชีพหลอกทำงานเว็บพนันที่ดูไบ ยึดพาสปอร์ต โดนค่าปรับหากปฏิเสธ

15 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่ามีแรงงานไทยถูกนายหน้าชักชวนให้มาทำงานออนไลน์ผิดกฎหมาย ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านเฟซบุ๊ก เพจ “คนไทยในดูไบ” โดยประกาศรับสมัครพนักงานการตลาด แอดมิน และระบุอย่างชัดเจนว่าให้ทำงานเว็บพนันออนไลน์

เมื่อไปถึงนายจ้างจะยึดหนังสือเดินทางไว้ และให้หลอกคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อมาลงทุน หรือหลอกลวงเอาทรัพย์สิน เมื่อปฏิเสธการทำงาน นายจ้างจะคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีเหยื่อหลงเชื่อและเดินทางไปทำงานหลายราย แต่เมื่อเกิดปัญหามักเอาผิดกับนายจ้างไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักฐาน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เอามือถือเข้าสถานที่ทำงาน

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้กำชับกรมการจัดหางานให้ทำงานอย่างหนักเพื่อกวาดล้างมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจลักลอบทำงานผิดกฎหมาย พร้อมประกาศเตือนและได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

“แต่ยังพบกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเดินทางไปด้วยความสมัครใจ จึงขอย้ำเตือนผู้ที่คิดจะลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีผิดกฎหมายว่าไม่คุ้มค่า เพราะอาจไม่ได้ทำงานตามที่ตกลง ถูกบังคับใช้แรงงาน และเสี่ยงถูกทำร้ายร่างกาย”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ต้องทำงานอย่างเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเพื่อป้องกันมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อโดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี ได้แก่

1. บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2. กรมการจัดหางานจัดส่ง

3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง

4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน

5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

ขอเตือนภัยคนหางานให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ช่วงเดือนตุลาคม 2565 – กรกฎาคม 2566) ที่ผ่านมาดำเนินคดี ตามมาตรา 66 กับผู้ที่กระทำการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” จำนวน 36 คดี ตรวจพบการกระทำความผิดของสาย/นายหน้า ทั้งสิ้น 142 ราย ผู้เสียหายถึง 471 คน ค่าเสียหาย 32,750,330 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาธุรกิจ, 15/8/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net