Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ฉายาที่ใคร ๆ รู้จักกันว่า "ดา ตอร์ปิโด" เสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ท่ามกลางการแสดงความอาลัยของ “คนเสื้อแดง" จำนวนหนึ่ง ปะปนกับความไม่แยแสใส่ใจของ "คนเสื้อแดง" อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งการเหยียบย่ำซ้ำเติมของกลุ่มคนที่มีแนวคิดทางการเมืองอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ก็คือในพิธีสวดอภิธรรมศพและวันฌาปนกิจ มีผู้คนมาร่วมงานล้นหลาม ทั้งคนเสื้อแดง แกนนำ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) นักวิชาการ นักการเมือง รวมทั้งนักข่าวที่มาเฝ้ารอทำข่าวตั้งแต่ร่างไร้วิญญาณยังไปไม่ถึงวัดที่ประกอบพิธีกรรม

ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาหญิงคดี 112

"ดารณี" เป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกจำคุกในคดี 112 และได้รับโทษหนักสุดในบรรดาจำเลยคดี 112 ในยุคสมัยนั้นที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับว่าเป็น "ยาแรง" ที่สุดที่รัฐกดปราบนักการเมือง และนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

"พี่ไม่เคยร้องไห้สักนิดเชื่อไหม เช้าตัดสินคดี 112 โดน 8 ปี บ่ายต้องเข้าห้องอีกห้องนึงไป ฟังคำตัดสินคดีหมิ่นประมาท พี่โดน 3 คดี นักข่าวรอยเตอร์ถามว่า “ทำไมพี่ดายังยิ้มได้” บอก “ก็มัน ไม่เกินความคาดหมาย” เพราะเรารู้ว่าเราสู้อยู่กับใคร แต่ถามว่าคุ้มไหม คุ้ม เพราะเราโนเนม ถ้าชนะก็ โอเค แต่ถ้าแพ้ก็เสมอตัว" (ดารณี, สัมภาษณ์ 24 พ.ย. 2561)

ดารณีบอกว่าเลข 22 เกี่ยวข้องกับชีวิตของเธอบ่อย ๆ เริ่มจากวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 มีตำรวจหลายนายบุกจับกุมตัวเธอที่หอพักสตรีแห่งหนึ่ง แจ้งข้อหาว่าละเมิด ม.112 เหตุจากการปราศรัยต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ท้องสนามหลวง นับตั้งแต่วันถูกจับกุมเธอถูกคุมขังโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 สั่งจำคุก 18 ปี (จากความผิด 3 กรรมมีโทษจำคุกกรรมละ 6 ปี) ดารณีต่อสู้ในกระบวนการทางศาลอีกหลายต่อหลายครั้ง จนมีการตัดสินคดีใหม่และอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ศาลสั่งจำคุก 15 ปี (จากความผิด 3 กรรม มีโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี)

คำพิพากษาไม่ผิดความคาดหมายของดารณี แต่เธอแปลกใจกับประโยคที่ผู้พิพากษากล่าวกับเธอ "ไม่น่าเชื่อเลยที่ศาลพูดกับพี่ว่าแม้เป็นเรื่องจริงก็ห้ามพูด" (ดารณี, สัมภาษณ์ 24 พ.ย. 2561)

เนื้อหาการปราศรัยของเธอโดยส่วนใหญ่กล่าวถึงการชุมนุมของ "คนเสื้อเหลือง" พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รวมทั้งสีสัญลักษณ์คือ ฟ้า กับ เหลือง อย่างไรก็ตามศาลตีความว่าเนื้อหาการปราศรัย 3 ครั้งในช่วง เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2551 เข้าข่าย "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ข้อความที่ถูกฟ้องถูกจำกัดการรับรู้เพราะผู้ที่เผยแพร่ซ้ำจะมีความผิดตามไปด้วย ดังนั้นประชาชนในสังคมจึงไม่สามารถร่วมตรวจสอบถึงความสมเหตุสมผลของคำพิพากษาได้ และไม่อาจเรียนรู้ว่าหากต้องการกล่าวถงข้อเท็จจริงและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ต้องพูดอย่างไรจึงจะไม่มีความผิด

ดารณีต่อสู้จนถึงชั้นศาลอุทธรณ์ โดยถูกคุมขังอยู่นานถึง 5 ปี ศาลอุทธรณ์อ่านคำตัดสินเมื่อ 12 มิถุนายน 2556 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นสั่งจำคุกดารณี 15 ปี เธอยังคงยื่นฎีกาเพื่อต่อสู้จนถึงที่สุด แต่กระบวนการก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า กระทั่งเธอตัดสินใจถอนฎีกากลับ ดารณีคาดว่าศาลฎีกาคงไม่ตัดสินต่างออกไปจากเดิมเพราะในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุว่า “ต้องลงโทษสูง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น” การสู้คดี ต่อมีแต่จะทำให้เสียโอกาสได้ลดโทษเพราะใกล้ถึงวาระการอภัยโทษแล้ว ซึ่งจะขอลดโทษหรือพักโทษได้ต้องเป็นผู้ต้องหาที่คดีที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ดารณีเล่าว่า

“เพื่อนในคุกคนหนึ่งโดนคดียาเสพติด ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 11 ปี เขาบอกว่าไม่ได้ทำผิดจึงต่อสู้ถึงศาลฎีกา เธอรู้ไหมกว่าศาลฎีกาจะตัดสิน...ใช้เวลารวม 3 ศาล 11 ปี เหมือนกัน แต่เพื่อนของเขาที่ยอมรับสารภาพได้กลับบ้านไปหมดแล้ว ฉะนั้นคนที่อยู่ในคุกจะรู้กันว่าถ้าคดีโทษสูง ถ้าคุณสู้คุณจะแพ้ แต่ถ้าสารภาพได้ลดโทษ ได้อภัยโทษอีก ได้กลับบ้านเร็ว” (ดารณี, สัมภาษณ์ 24 พ.ย. 2561)

ดารณีเคยฝากเตือนถึงคนรุ่นหลังว่า " 112 อย่าไปแตะ เพราะขึ้นศาลคุณแพ้ทุกทีไม่ต้องไปสู้กับเขาเลย...คดีนี้ไม่มีมาตรฐานอะไรเลย" (ดารณี, สัมภาษณ์ 24 พ.ย. 2561) ทว่า ในปี 2563 หลังดารณีเสียชีวิตเพียงไม่นาน ปรากฏว่ามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปถูกฟ้องคดี 112 เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการตอบโต้ของรัฐเมื่อเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์"อย่างตรงไปตรงมาผ่านการชุมนุมเดินขบวนและการแสดงออกในส่ื่อสังคมออนไลน์

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รัฐบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ และเข้มข้นมากขึ้นไปอีกหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยปรากฏว่าผู้ต้องหาจำนวนมากเป็นประชาชนธรรมดา ไม่ใช่ "ฮาร์ดคอ" ทางการเมือง เช่น เป็นช่างทำกุญแจ ผู้ป่วยจิตเวช หรือวัยรุ่นคึกคะนองที่ทำคลิปวีดีโอเผยแพร่สนุก ๆ นอกจากนั้นยังมีชายคนหนึ่งถูกดำเนินคดีเพราะพี่ชายแท้ ๆ ฟ้องคดีนี้เพื่อกลั่นแกล้งออันเนื่องมาจากความขัดแย้งส่วนตัวซึ่งภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง

ความไม่ชอบมาพากลของการใช้ ม.112 ทำให้เสียงเรียกร้องให้ยกเลิกหรืออย่างน้อยก็แก้ไขกฎหมายมาตรานี้ดังขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ว่าใครที่พยายามแตะต้องเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นผู้ถูกอาฆาตมาดร้ายและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเสียเองด้วยกระบวนการและกลไกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ดารณี กับ “คนเสื้อแดง"

ด้วยบุคลิกท่าทางแข็งกระด้าง พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา การปราศรัยที่ดุเดือด และการใช้ถ้อยคำห้าวห้วนทำให้หลายคนไม่ชอบ "ดา ตอร์ปิโด" แม้เห็นด้วยกับประเด็นการต่อสู้แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของธอ ส่วนคนในฟากฝั่งตรงกันข้ามถึงกับอาฆาตมาดร้ายเธอ แต่ดารณีเชื่อว่าเธอเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของ "คนเสื้อแดง" เพราะหลังได้รับอิสรภาพเธอได้รับการช่วยเหลือจุนเจือจากคนเสื้อแดงจำนวนมาก

ตามข้อเท็จจริงแล้ว ดารณีเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในช่วงก่อนที่จะเกิดขบวนการ "คนเสื้อแดง" ขณะนั้นเธอเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ในปี 2549 ดารณีได้ปราศรัยครั้งแรกบนเวทีที่ “กลุ่ม 19 กันยา" จัดขึ้นที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเธอปราศรัยบริเวณสนามหลวงทุกสัปดาห์ด้วยอุปกรณ์ที่ซื้อหามาเอง ต่อมามีเวทีปราศรัยของ “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" ภายหลังจึงมีการจัดตั้งเวทีชุมนุมของ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ซึ่งเธอก็ได้ขึ้นเวทีเป็นประจำ

ในปี 2562 ขณะที่เนื้อร้ายลุกลามไปทั่วจนร่างกายอ่อนกำลังลง ดารณียังคงเล่าเรื่องการปราศรัยต่อต้าน "รัฐประหาร 49" ด้วยด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ เธอบอกว่าเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานและมีแฟนคลับจำนวนมากที่ตั้งตารอคอยฟังการปราศรัยของเธอ เธอจึงค้นคว้าข้อมูลทำการบ้านและเตรียมตัวอย่างดีก่อนขึ้นเวทีทุกครั้ง

ดารณีถูกจับกุมในปี 2551 และคุมขังอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่นั้น เป็นช่วงเวลาก่อมีการชุมนุมใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดง หลังจากดารณีถูกดำเนินคดี 112 เพียงไม่นานก็มี “นักโทษการเมือง” ในเรือนจำมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งรัฐบาลใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ทำให้มี "คนเสื้อแดง" เข้ามาอยู่ในเรือนจำเพิ่มขึ้นอีกจากข้อหาเกี่ยวกับ "การก่อการร้าย" เช่น การครอบครองอาวุธสงคราม และการเผาศาลากลางจังหวัด เป็นต้น

รัฐบาลแต่ละสมัยปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองแตกต่างกัน ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ต้องหาคนเสื้อแดงโดยส่วนใหญ่ถูกศาลชั้นพิพากษาว่ามีความผิดและสั่งลงโทษหนัก บางรายถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์เป็นการบริหารของรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่าคำพิพากษาเป็นไปในทางบวกต่อจำเลย เช่น ยกฟ้อง หรือลดจำนวนปีที่สั่งจำคุก

ในปี 2555 สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการย้ายผู้ต้องขัง 47 คนจากคดีชุมนุมทางการเมืองไปอยู่รวมกันที่ “คุกหลักสี่”[1] ซึ่งเป็นเรือนจำพิเศษจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจภายในบริเวณกองบังคับการตำรวจสันติบาล ผู้ต้องขังเล่าว่าสภาพความเป็นอยู่ดีกว่าเรือนจำปกติ ไม่แออัด และเจ้าหน้าที่ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในการเข้าเยี่ยม มีการจัดกิจกรรมคลายเครียดให้ผู้ต้องขัง เช่น การเล่นกีฬา ดนตรีบำบัด ฝึกอาชีพ และผู้ต้องขังได้รับอนุญาตให้ชมฟรีทีวีเพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมือง[2] ทุกวันศุกร์กลุ่มคนเสื้อแดงพากันมาเยี่ยม ขนเครื่องครัวและวัตถุดิบมาประกอบอาหารที่หน้าเรือนจำแล้วส่งเข้าไปให้ผู้ต้องขังและผู้คุม บางครั้งมีการจัดแสดงดนตรีกลางแจ้งเพื่อให้ผู้ต้องขังในอาคารได้รับชม นอกจากนั้นรัฐบาลยังอนุมัติเงิน "กองทุนยุติธรรม" เพื่อประกันตัวผู้ต้อง ขังเสื้อแดง ทำให้ผู้ต้องขังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เหลือเฉพาะนักโทษเด็ดขาดจำนวน 22 คน[3]

อย่างไรก็ตาม ดารณีและผู้ต้องขังคดี 112 ไม่ได้ย้ายไปคุกหลักสี่และไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก กองทุนยุติธรรม ดารณีบอกว่าคดี 112 ไม่ถูกนับรวมเป็น "คดีการเมือง" แม้เธอยืนยันว่าตนเองเป็น “นักโทษการเมือง” อย่างปฏิเสธไม่ได้เพราะคดีเกิดจากการปราศรัยต่อต้านรัฐประหาร

แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนและช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี แต่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยสงวนท่าทีไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาคดี 112 อย่างเปิดเผย ทั้งที่คนในพรรคเพื่อไทยหลายคนก็ถูกฟ้องในคดีนี้ด้วย ดังเช่น จักรภพ เพ็ญแข ที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี และเพิ่งกลับมาประเทศไทยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

งานศึกษาของนพพล อาชามาส (2556)[4]เสนอว่าผู้ต้องหาคดี 112 ถูกทำให้กลายเป็น “ชีวิตอันเปลือยเปล่า” (Bare life) และอยู่ในสภาวะยกเว้น (state of exception) ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกลไกปกติของรัฐหรือสถาบันอื่นใด อย่างไรก็ตาม ได้มีการสร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือดูแลกันทั้งภายในและภายนอกเรือนจำ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายมาตรานี้ไม่โดดเดี่ยวเกินไป แต่ข้อเท็จจริงก็คือเมื่อเวลานานไป ผู้ต้องหาคดี 112 หลายคนก็หลุดออกจากเครือข่ายความช่วยเหลือเหล่านัั้น

ดารณีถูกจำคุกรวม 2,958 วัน เธอถูกตำหนิและตัดขาดจากเครือญาติที่ใช้นามสกุลเดียวกันตั้งแต่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวการเมือง เธอมีพี่น้องร่วมสายเลือดหลายคน แต่มีพี่ชายเพียงคนเดียวที่คอยส่งข้าวส่งน้ำและไปเยี่ยมที่เรือนจำ ในช่วงแรก ๆ ที่ถูกคุมขังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปเยี่ยมให้กำลังใจมากพอสมควร แต่นานวันเข้าการส่งเงินและของเยี่ยมก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ

ดารณีพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2559 โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 8 ปีเศษที่เธอไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ดารณีเล่าบ่อย ๆ ว่าเธอหัดใช้สมาร์ทโฟนอยู่นาน ช่วงแรก ๆ เธอรับสายโทรเข้าไม่เป็นต้องรอให้ผู้ที่โทรมาวางสายแล้วจึงค่อยโทรกลับ แต่เมื่อฝึกใช้จนคล่องแคล่วแล้วเธอก็อาศัยโซเชียลมีเดียในการติดตามข่าวสารบ้านมืองและคอยสรุปวิเคราะห์ส่งต่อให้เพื่อน ๆ ในเครือข่ายของเธอ

ดารณีอาศัยอยู่ที่หอพักสตรีในบริเวณใกล้เรือนจำเพราะต้องการไปเยี่ยมเพื่อนคดียาเสพติดที่อยู่ในนั้น แต่เธอทราบภายหลังว่าผู้พ้นโทษมาแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดียาเสพติด และแม้ว่าเธอจะพ้นโทษแล้วโดยสมบูรณ์แต่ก็ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาที่หอพักเพื่อสอดส่องและสืบเสาะข่าวของเธอเป็นประจำ

หลังการรัฐประหาร 57 รัฐบาล คสช. ส่งทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปข่มขู่คุกคามประชาชนจนปั่นป่วนไปทั่ว แต่การจัดสัมมนาทางวิชาการและการเมือง รวมทั้งการชุมนุมเดินขบวนก็เกิดขึ้นทั่วไปเช่นเดียวกัน ดารณีไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้นเสมอจนทำให้เธอตกเป็นผู้ต้องหาอีกครั้งจากการชุมนุมทางการเมืองร่วมกับผู้ต้องหาอีกหลายสิบคนในคดีเดียวกัน นอกเหนือจากเรื่องการเมืองและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เรื่องราวอื่น ๆ ก็ไม่น่าสนใจและแทบไม่มีความหมายสำหรับการดำรงอยู่ของเธอ

ในวัย 50 กว่า ๆ ดารณีตั้งหลักชีวิตได้ยากเย็น เธอหารายจากการขายสินค้ารณรงค์และของกินของใช้ทั่วไป อาศัยการโฆษณาทั้งช่องทางออนไลน์และการวางขายตามสถานที่จัดกิจกรรมการเมือง บรรดาคนเสื้อแดงที่รู้จักเธอหรือเคยเป็น “แฟนคลับ” ช่วยซื้อช่วยอุดหนุนกันอย่างแข็งขัน หลายคนเอาสินค้ามาให้จำหน่ายก่อนโดยที่ไม่ต้องลงทุน ดารณีบอกว่าผู้ต้องขังคดี 112 บางคนได้รับการช่วยเหลือจากนักการเมืองมาโดยตลอด แต่ตัวเธอเองไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากนักการเมืองคนใดเลยไม่ว่าจะอยู่ในเรือนจำหรือพ้นโทษมาแล้ว แกนนำ นปช. คนหนึ่งเคยช่วยซื้อแคบหมูที่เธอขายเป็นเงิน 100 บาทเท่านั้น

เดือนพฤศจิกายน 2561 ดารณีเล่าว่าคลำเจอก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกาย แต่เธอเชื่อว่ามันไม่ใช่เนื้อร้าย นอกจากนั้นเธอยังมีอาการกรามอักเสบเรื้อรังเพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงที่อยู่ในเรือนจำ เธอรู้สึกปวดตลอดเวลาและต้องกินยาแก้ปวดเป็นประจำ ต้นปี 2562 ร่างกายของดารณีมีอาการผิดปกติมากขึ้น วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 เธอทราบผลตรวจว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ดารณีไม่ได้แสดงออกว่ามีความวิตก เธอไม่มีห่วงกังวล แต่ก็ตัดสินใจรับการรักษาโดยดีเพราะเชื่อว่าหากยืดอายุขัยได้ก็จะสามารถทำประโยชน์ได้ต่อไป ในช่วงรักษาตัวดารณีไม่ค่อยบอกใครถึงรายละเอียดของความป่วยไข้ แต่เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนเสื้อแดงจำนวนมากและนักกิจกรรมการเมืองหลายคนทำให้มีเงินยังชีพและใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล สมาร์ทโฟนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญใช้ติดตามข่าวการเมืองและติดต่อสื่อสารกับใครต่อใครตลอดเวลา

ร่างกายอ่อนกำลังลงตามอาการของโรค แต่ดารณีไม่เคยหมดกำลังใจต่อสู้ ขณะเดียวกันเธอก็เตรียมเผชิญหน้ากับวาระสุดท้ายอย่างมีสติ

“ยามเจ็บป่วยนอนบนเตรียงจึงมีเวลามากพอที่จะคิดทบทวนเรื่องต่าง ๆ ข้าพเจ้าไม่มีเวลาผ่อนผันให้ตัวเองอีกแล้ว ต้องรีบลงมือเขียนหาทุนมาเป็นค่ารักษาพยาบาลโรคร้าย ไม่รู้ว่าจต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใด และต้องใช้เงินมากเท่าไหร่เพื่อยืดเวลาลมหายใจออกไป" ส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือที่เธอเขียนในช่วงวาระสุดท้าย[5]

ดารณีสิ้นสุดการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเธอในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 บนเตียงหมายเลข 22 ที่ห้องเฝ้ารอดูอาการหมายเลข 22 ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง

 

อ้างอิง

[1] วันที่ 16 ม.ค. 2555 กรมราชทัณฑ์ได้รับมอบเรือนจำชั่วคราวหลักสี่จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล วันถัดมาย้ายผู้ต้องขังมาคุมขังบริเวณชั้น 3 ของเรือนจำหลักสี่ แยกหญิง-ชาย มีผู้ต้องขังมาจากเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร 13 ราย เรือนจำจังหวัดอุดรธานี 5 ราย เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี 4 ราย เรือนจำพิเศษธนบุรี 1 ราย เรือนจำธัญบุรี 1 ราย เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ 5 ราย เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม 9 ราย และเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร 9 ราย มีตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รวม 20 นายควบคุม 24 ชั่วโมง หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช. สั่ง ปิดคุกหลักสี่ แล้วย้ายนักโทษไปคุมขังที่เรือนจำตามภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2557 https://www.posttoday.com/social/general/132518

[4] นพพล อาชามาส (2556) การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[5] ระหว่างรักษาตัว ดารณีเขียนอัตชีวประวัติเพื่อจะจำหน่ายหารายได้รักษาตัว ต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในพิธีฌาปนกิจชื่อ “บันทึกครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด" /ท่านที่ต้องการ ติดต่อขอรับได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ "ในนามของความสงบเรียบร้อย"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net