Skip to main content
sharethis

ชุมชน LGBTQ+ ในสุรินทร์ร่วมกันจัดงาน "ซะเร็นไพรด์" ส่งท้ายเดือนไพรด์มีทั้งเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ พม.จังหวัดเข้าร่วมด้วย ในขบวนมีทั้งกันตรึม รถแห่ มีการรณรงค์ประเด็นกฎหมายเพิ่มสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

1 ก.ค. 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ มีการจัดงาน "ซะเร็นไพรด์ (Surin Pride)" พื้นที่ของชาวสุรินทร์ผู้เชื่อในความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยชุมชน LGBTQ+ ในสุรินทร์ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว

ฮาเล่ย์ เบญจมินทร์ ปันสน ประธานผู้จัดงานซะเร็นไพรด์ให้เหตุผลว่า งานนี้จัดเพื่อเป็นการส่งท้ายเดือนไพรด์ในเดือนมิ.ย.อย่างยิ่งใหญ่และตรงกับวันเสาร์ที่สะดวกต่อทั้งประชาชนทั้งนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน ข้าราชการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานได้

ประธานจัดงานระบุว่างานในปีที่ 2 นี้ถือได้ว่าซะเร็นไพรด์ได้ขยายพันธมิตรกว้างมากขึ้น เพราะแต่เดิมได้รับการสนับสนุนเพียงภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการ ห้างร้าน ภาคเอกชน แต่ครั้งนี้ทำงานร่วมกับภาคราชการ ได้แก่ เทศบาลเมืองสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) พรรคก้าวไกลจังหวัดสุรินทร์ และพรรคสามัญชนจังหวัดสุรินทร์

ความน่าสนใจงานซะเร็นไพรด์ คือ นอกจะสร้างความตระหนักรู้ในสังคมถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทุกคน ยังสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวในสุรินทร์อีกด้วย และสิ่งที่เราต้องการอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การผลักดันและสนับสนุนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ได้แก่

  1. กฎหมายสมรสเท่าเทียม คือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมายจากคำนามระบุเพศ เช่น ชายหญิง สามีภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้น คู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ

  2. กฎหมาย พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ คือการปรับโครงสร้างรัฐให้รับรองทุกสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงโดยไม่ต้องผ่านการรับรองทางการแพทย์ คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้าตามให้ตรงกับเพศสภาพ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น นาม) สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล)

  3. พ.ร.บ. ค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ ฉบับใหม่ เพื่อควบคุมการค้าประเวณี ให้ผู้ให้บริการทางเพศได้รับการคุ้มครองการทำงาน และมีอำนาจต่อรองกับเจ้าของสถานบริการ

ทุกกิจกรรมของงานสะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของคณะผู้จัดงานไว้อย่างลงตัว ตัวอย่างเช่น การแสดงชุด "Sex Worker ถูกกฎหมาย" ณ วงเวียนน้ำพุ เทศบาลเมืองสุรินทร์ นำโดย เหล่านักเต้นจาก ร้านตะวันแดง มหาซน ณ สุรินทร์ ที่เลือกใช้เพลง Super Freaky Girl - Nicki Minaj ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบวงเวียนน้ำพุดังกล่าวเป็นย่านค้าบริการทางเพศที่มีมายาวนานของเมืองสุรินทร์ เป็นสิ่งที่ผู้คนในสุรินทร์รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา แต่อาชีพดังกล่าวไม่เคยได้รับการยอมรับจากสังคมและกฎหมายด้วยเช่นกัน การแสดงดำเนินควบคู่กับการปราศรัยนโยบายอาชีพค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย นำโดย รวิสรา มาวงศ์ หรือรีวิวและแคนแคน นายิกา ศรีเนียน ซึ่งทั้งสองเป็นคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคก้าวไกล

“การทำงานอย่างสุจริตด้วยแรงกายเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย มันจะถึงเวลาหรือยังที่กฎหมาที่บิดเบี้ยวจะถูกทำให้มันตรงเสียที” รีวิวและแคนแคนกล่าวบนวงเวียนน้ำพุ

ความน่าสนใจนอกจากนั้น คือ รูปแบบการจัดขบวนพาเหรดซะเร็นไพรด์ที่แฝงแนวคิดต่าง ๆ ขบวนประกอบไปด้วย 3 ขบวนย่อย ได้แก่:

ขบวนที่ 1 “ทุ่งฝันวันใหม่” ซึ่งปกติขบวนพาเหรดทั่วไปเลือกใช้วงโยธวาธิตนำขบวนพาเหรด แต่ฮาเล่ย์ (ประธานจัดงาน) เลือกวงกันตรึมเยาวชนจากหมู่บ้านวัฒนธรรมดงมัน ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์นำขบวน โดยมีเจ้าขุนทอง หรือนายขุนทอง บุญทุ้ม ขับร้องเพลงอีสานผสมภาษาเขมรโดยที่เนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนของ LGBTQ+ สุรินทร์และสิทธิที่ถูกพรากไปจากการที่กฎหมายไม่รองรับ

ขบวนที่ 2 “ชีวิตแบบใดห์ ที่เราฝันใฝ่” ขบวนนี้นำโดย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ และมีขบวนป้ายรณรงค์และริ้วธง นำโดย เด็กและเยาวชนที่อาสาสมัครมาร่วมแสดงออกและสื่อสารกับสังคมว่า “ชีวิตแบบใดที่พวกเขาฝันใฝ่”

ขบวนที่ 3 “ตีให้ตายก็ไม่โป๊ะ” นำโดย มวลชน LGBTQIAN+ และรถแห่เครื่องเสียงเต็มระบบที่เปิดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

ภายในที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ (สถานที่จัดงานหลัก) ยังมีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ได้แก่:

1. การแสดง Cover Dance “ความฝันที่เรียบง่าย” โดย เยาวชนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในหลายๆ อำเภอทั่วจังหวัดสุรินทร์ เช่น อำเภอจอมพระ อำเภอลำดวน

2. กิจกรรมเดินแบบ “จงภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวเอง” โดย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนผู้เข้าร่วมงานทุกคน ซึ่งกิจกรรมนี้ผู้จัดงานซะเร็นไพรด์ใช้เพลงประกอบการเดินแบบจาก วงดนตรี SUNITY THAILAND เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และความสามารถจากเยาวชนจังหวัดสุรินทร์

3. Free Speech “คนเท่ากัน เพศเท่าเทียม” นำโดย คณาสิต พ่วงอำไพ หรือคิวเบเล่ย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ หรืออัสรี่ หญิงมุสลิมข้ามเพศที่ถูกตีตราว่าเป็นคนบาปหนัก

“โลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบ 2 เพศ อย่างที่ถูกยัดเยียดให้เข้าใจ เพศวิถีอื่น ๆ LGBTQ+ เป็นเพศซึ่งมีเป็นปกติแต่ไม่เคยได้รับความชอบธรรมจากกฎหมาย การแก้ไขในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเพียงแต่เป็นการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายไม่ควรใช้เหตุเเห่งความแตกต่างหลากหลายนี้ในกฎหมาย เช่นนั้น มาตรา 1448 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ การร่วมผลักดันของพวกเราจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” คณาสิตและอิชย์อาณิคม์ยืนกล่าวบนผืนธงสีรุ้งความยาวขนาด 20 เมตร

4. พิธีจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการถูกทำร้าย บาดเจ็บ ถูกประณามอย่างรุนแรง และถูกขับไล่ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทุกคนภายในงานร่วมจุดเทียนรำลึกถึงผู้ที่เสียสละเพื่อความรักทั้งหลาย เพื่อรำลึกถึงผู้กล้าที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นสังคมที่ดีกว่าเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net