Skip to main content
sharethis

หยกปฏิเสธการเรียนวิชาจริยธรรม “เพราะมองว่าใช้ไม่ได้จริง” แต่วิชาจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ (ethics) ที่สอนในโรงเรียนเป็นจริยศาสตร์ ‘จริงๆ’ หรือไม่ เราควรสอนจริยศาสตร์ ‘จริงๆ’ แทนวิชาศาสนาหรือเปล่า สิ่งหนึ่งอาศัยเหตุผลไตร่ตรอง อีกสิ่งอาศัยศรัทธานำทาง เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนวิธีสอนศาสนา และสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้จริยศาสตร์ได้ใช้เป็นพื้นที่ไตร่ตรองทุกๆ คุณค่าโดยไม่มีคุณค่าใดได้รับอภิสิทธิ์

  • สิ่งที่แยกระหว่างศาสนากับจริยศาสตร์คือจริยศาสตร์มีการไตร่ตรอง (deliberate) หรือการใช้เหตุผลทางจริยธรรม (ethical reasoning) เกี่ยวกับการกระทำที่ผิดและถูกของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง
  • ในโลกสมัยใหม่ที่มีศาสนาและความเชื่อหลากหลาย จริยศาสตร์จะเป็นพื้นที่ตรงกลางให้แต่ละชุดคุณค่าได้ถกเถียงแลกเปลี่ยน
  • การศึกษาศาสนายังจำเป็นในฐานะความเชื่อหนึ่ง แต่ต้องเป็นการศึกษาเชิงวิชาการในลักษณะศาสนาเปรียบเทียบ เพื่อเข้าใจและเห็นคุณงามความดีในศาสนาที่ผู้อื่นนับถือมากกว่าเป็นการนำมาใช้แก้ปัญหา อีกทั้งยังสามารถใช้เหตุผลกับศาสนาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการหาคำตอบได้เช่นกัน
  • ในจริยศาสตร์ไม่มีชุดความคิด ความเชื่อ หรือคุณค่าใดมีอภิสิทธิ์จากการถูกตรวจสอบ และดังนั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของจริยศาสตร์

กรณีของหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย สร้างข้อถกเถียงชนิดถึงพริกถึงขิงอย่างกว้างขวาง นอกจากประเด็นหลักอย่างเรื่องเสรีภาพในร่างกายแล้วยังมีเรื่องยิบย่อยว่าเธอไม่เข้าเรียนวิชาจริยธรรมด้วยเหตุผลว่า “เพราะมองว่าใช้ไม่ได้จริง” ใช้ได้จริงหรือไม่เป็นคำถามใหญ่ข้อหนึ่งของการสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาไทย

คำถามใหญ่พอกันคือ ‘วิชาจริยธรรม’ หรือ ethics ในภาษาอังกฤษ ของระบบการศึกษาไทยเป็นวิชาจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาหลักสาขาหนึ่งของปรัชญาหรือไม่ หรือเป็นแค่วิชาว่าด้วยคุณความดีแบบศาสนาและอุดมการณ์เฉพาะเรื่องที่รัฐต้องการกล่อมเกลาผู้เรียน

วิชาศีลธรรมที่แอบอิงกับศาสนายึดคำสอนทางศาสนาเป็นศูนย์กลาง เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงชุดคุณค่าหนึ่งท่ามกลางชุดคุณค่าอันหลากหลายบนโลก ทำให้ระยะหลังมีการเรียกร้องให้มีการเรียนการสอนวิชาจริยศาสตร์ ‘จริงๆ’ ในโรงเรียน โดยรวมเอาศีลธรรมทางศาสนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และใช้เหตุผล การถกเถียง แลกเปลี่ยน การยกกรณีตัวอย่างต่อการทำความเข้าใจความถูก-ผิดและชุดคุณค่าอื่นๆ

จริยศาสตร์จริงๆ เป็นอย่างไร? แตกต่างกับศาสนาอย่างไร? ปิยฤดี ไชยพร จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพาเราไปทำความเข้าใจ

ปิยฤดี ไชยพร (แฟ้มภาพ)

แต่ถ้าตอบให้สั้นที่สุดจริยศาสตร์คือ ‘การไตร่ตรอง’ หรือ ‘การใช้เหตุผลทางจริยศาสตร์’ ซึ่งคุณค่าทุกอย่างล้วนถูกตรวจสอบได้ด้วยเหตุผลไม่เว้นกระทั่งศาสนาหรือแม้แต่ตัวแนวคิดทางจริยศาสตร์เอง กล่าวคือไม่มีชุดคุณค่าใดที่ได้รับอภิสิทธิ์จนตรวจสอบไม่ได้

ทักษะในการใช้เหตุผลทางจริยศาสตร์

จะด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ เวลาพูดถึง ‘จริยศาสตร์’ ในสังคมไทยมันมักถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องศีลธรรมทางศาสนา ปิยฤดีบอกว่าแม้จะไม่ถึงกับพลาดเป้า แต่ก็แคบเกินไป เพราะจริยศาสตร์มีมากกว่าเรื่องถูก-ผิด อีกทั้งคำสอนเรื่องถูกผิดดีชั่วทางศาสนาก็ถูกจัดเป็นคุณค่าหนึ่งที่จริยศาสตร์นำมาพิจารณา

ปิยฤดีอธิบายว่าสิ่งที่แยกระหว่างศาสนากับจริยศาสตร์คือจริยศาสตร์มีการไตร่ตรอง (deliberate) เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง เธอยกตัวอย่างนักศึกษาสายมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในอเมริกาต้องถูกประเมินการใช้เหตุผลทางจริยธรรม (ethical reasoning) ก่อนจบการศึกษา ที่ออกโดยสมาพันธ์วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแห่งสหรัฐอเมริกา

“การใช้เหตุผลทางจริยธรรมหมายถึงการใช้เหตุผลเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดและถูกของมนุษย์ อันนี้อาจจะคล้ายศาสนาเหมือนกัน ที่ผู้เรียนต้องประเมินคุณค่าทางจริยธรรมที่ตนเองยึดถือ ต้องประเมินความเชื่อหลักของตัวเองที่มีอิทธิพลต่อการคิดและพฤติกรรมของตัวเอง แล้วต้องประเมินบริบททางสังคมของปัญหาทางจริยธรรมด้วย

“อย่างปัญหาการทำแท้งจะต้องดูบริบททางสังคมด้วยในการตอบคำถามว่าการตัดสินใจของผู้หญิงที่จะทำแท้ง อะไรคือคำตอบ อะไรที่จริยศาสตร์อนุญาตให้ทำได้ ต้องประเมินว่าความเชื่อของตัวเองถูกหรือเปล่าในบริบทนี้ มันยังเหมาะสมหรือเปล่า และต้องตระหนักจำประเด็นทางจริยธรรมได้เมื่อไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างกัน แล้วสามารถคิดได้ว่ามุมมองทางจริยธรรมที่ต่างกันจะเอามาใช้แก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในสถานการณ์เฉพาะนี้ มันจะให้ผลลัพธ์ยังไง นัยของมันคืออะไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลลัพธ์ที่ยอมรับได้ไหม”

นอกจากนี้ ปิยฤดีคิดว่าจริยศาสตร์คือทักษะ ซึ่งก็คล้ายกับศาสนา เธอเล่าว่าเพื่อนที่ชอบปฏิบัติธรรมเล่าให้ฟังว่าพระอาจารย์บอกว่าคนเราต้องสะสมเสบียงสำหรับเดินทางไกลคือไปนิพพาน หมายถึงการฝึกความคิด ฝึกจิตของตัวเองให้อยู่ในลู่ในทาง จริยศาสตร์เองก็เป็นการสะสมของแบบนี้ เพียงแต่เป็นการสะสมนิสัยในการไตร่ตรอง แม้จะอยากประยุกต์ใช้หลักการบางอย่างทันที แต่จริยศาสตร์จะบอกว่ามันยังมีวิธีอื่น คุณต้องไปเป็นขั้นเป็นตอน ต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์และคิดถึงสถานการณ์

จริยศาสตร์คือพื้นที่กลาง

จริยศาสตร์ต้องการการไตร่ตรองตัวแปรหลากหลายมิติ ขณะที่ศาสนาใช้ศรัทธาเป็นแสงนำทางโดยให้คำสอนเป็นคำตอบสำหรับการปฏิบัติตนโดยอาจนำแบบอย่างการประพฤติของศาสดามาเป็นแบบอย่าง ซึ่งก็คล้ายคลึงกับแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรมที่แทนที่จะค้นหาคำตอบที่ถูกก็ไปหาคนที่มีคุณธรรมแทน แล้วปฏิบัติตามคนผู้นั้น ในแง่นี้คำสอนของศาสนาจึงไม่ถึงกับหลุดประเด็น

“เวลาเรานับถือศาสดา ลึกๆ เราถ่อมตัวว่ารู้ไม่เท่าท่าน (ศาสดา) ท่านค้นคำตอบมาแล้วและนำคำตอบมาให้เรา แต่ถ้าเป็นจริยศาสตร์เราจะพบว่าไม่มีใครได้รับการปฏิบัติอย่างศาสดา ต่อให้เป็นคนที่เรารู้สึกว่าเขามีปัญญาล้ำหน้ามนุษย์ทั่วไป แต่เขาก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกโต้แย้ง ตั้งคำถามที่นำไปสู่อะไรใหม่ๆ แต่ในศาสนาถ้าเรามีทัศนคติแบบนี้คล้ายว่ามันจะไปกันได้ยากกว่าความเป็นผู้ศรัทธา ศรัทธาคือเราถ่อมตัว เราไม่รู้เท่าศาสดา เราไม่มีสิทธิ์ไปถาม”

นักปรัชญาที่ใส่ใจเรื่องศีลธรรมทางโลกและศีลธรรมทางศาสนาระบุว่าศีลธรรมทางศาสนามีลักษณะ comprehensive หรือครอบคลุมเบ็ดเสร็จ เช่นสถานการณ์ทางศีลธรรมของชาวคริสต์ย่อมต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ แต่ในโลกไม่ได้มีแค่ชาวคริสต์ นักจริยศาสตร์จึงตีกรอบจริยศาสตร์ให้แคบลง อย่างจอห์น รอลส์มีความยุติธรรมอยู่ตรงใจกลางของการคิด คือมนุษย์คนอื่นมีศักดิ์ศรี มีสถานะเท่าเทียม มีเสรีภาพในการคิด และมีเป้าหมายชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับเราแต่เป็นคนละเป้าหมายกัน เพราะฉะนั้นจริยธรรมต้องโอบรับทุกเป้าหมายของชีวิตที่ดีได้

“หรือนักปรัชญาที่ตัวเองทำธีสิสก็คือ T. M. Scanlon เสนอจริยธรรมแบบกว้าง เช่นพันท้ายนรสิงห์ก็จะอยู่ในจริยธรรมแบบกว้าง เวลาคนชื่นชมพันท้ายนรสิงห์ก็เพราะเขาเป็นคนรักษาคำสัตย์หรือความกตัญญู พวกนี้เป็นจริยธรรมในความหมายกว้าง แต่ไม่ใช่ทุกระบบคิด ทุกระบบความเชื่อหรือคุณค่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ในความหมายกว้างนี้เหมือนกัน เขาเลยตีกรอบว่าจริยธรรมที่เราควรจะสนใจเป็นแค่เรื่องของหน้าที่ที่เรามีต่อกันและกันเรียกว่า what we owe each other”

กล่าวได้ว่าในสังคมที่มีความเชื่อ มีวิธีคิดหลากหลาย และทุกคนต่างสัมพันธ์กัน จริยศาสตร์สมัยใหม่ก็เปรียบเสมือนพื้นที่ตรงกลางให้ทุกความคิดความเชื่อได้ปะทะถกเถียงและให้เหตุผลต่อการกระทำของตน

ผิดและถูก ดีและชั่ว

ปิยฤดีอธิบายต่อว่าในจริยศาสตร์มักจะไม่ใช้คำว่า ดี-ชั่ว เพราะเป็นคำที่มีปัญหา การศึกษาประเด็นนี้จึงตกเป็นภาระของ metaethics หรืออภิจริยศาสตร์แทน ส่วนที่ว่าด้วยการกระทำที่ถูกหรือผิดอยู่ในสาขา normative ethics หมายความว่ามีมาตรฐานบางอย่างอยู่แล้วการกระทำหนึ่งจะถูกต้องเมื่อความเชื่อของเราต่อการกระทำนั้นตอบมาตรฐานดังกล่าว

เหตุนี้เวลาศาสนาพูดถึงการกระทำที่ดีและชั่วจึงเป็นการอ้างที่ใหญ่กว่าจริยศาสตร์มาก ขณะที่จริยศาสตร์เรียกร้องการไตร่ตรองเงื่อนไขปัจจัยหลากหลายว่าการกระทำหนึ่งๆ เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ ซึ่งอาจไม่เอื้อให้ทุกคนทำได้ ศาสนาจึงทำหน้าที่เป็นสูตรสำเร็จเสมือนสิ่งที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วโดยศาสดา และรับประกันว่าคุณจะไม่ทำผิดถ้าทำตามคำสอน

“จากการทำวิจัยและใช้เวลาคิดกับมันพอสมควร จริยศาสตร์คือการใช้เหตุผลเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำ หัวใจของจริยศาสตร์คือการคิดถึงกัน ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง แต่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น มันต้องมีเรื่องของการใช้เหตุผลเพราะต้องไตร่ตรอง คิดหาคำตอบ ไม่ใช่ว่าจะมีคำตอบสำเร็จรูป และส่วนที่ว่าต้องคิดถึงคนอื่น อันนี้มาจาก metaethics เพราะว่าในจริยศาสตร์ระดับ normative ethics บางอย่างก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นอย่างนี้

“เช่นเวลาพูดถึงจริยศาสตร์คุณธรรมมันมีคนอื่นแหละ แต่คล้ายๆ ว่าความสนใจลึกที่สุดอยู่ที่ตัวเอง เราต้องทำสิ่งที่เป็นคุณธรรมเพราะว่ามันสำคัญสำหรับชีวิตที่ดีของเรา เราอยากเป็นผู้มีคุณธรรม มันไม่ได้ทำออกมาจากความรู้สึกว่าถ้าฉันทำอันนี้แล้ว ฉันอาจไม่ได้เป็นผู้มีคุณธรรมมากขึ้นเลย แต่เป็นหน้าที่ที่เรามีต่อคนอื่น หรือถ้าเราทำการกระทำนี้มันตอบสนองเราคนเดียว แต่มันกระทบคนอื่น ก็เลยคิดว่าถ้าตอบใน normative ethics ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าประเด็นของจริยศาสตร์คืออะไร

“ประเด็นของจริยศาสตร์คือการนึกถึงคนอื่น อย่างแนวโน้มปัจจุบันไม่หลุดไปจากนี้ ถ้าพูดถึงจริยศาสตร์ยังไงก็ต้องมีความหมายนี้ อะไรก็ตามที่คุณทำแล้วกระทบคนอื่นคุณต้องอธิบายได้ ให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำนั้นได้ มันมีคนอื่นเข้ามาอยู่ในการคิดของเรา”

สอนศาสนาได้ แต่ต้องสอนเพื่อเข้าใจผู้อื่น

สังคมพุทธในไทยคุ้นเคยกับความคิดว่าปรัชญาเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้นต่างจากศาสนาที่มีแนวทางคำสอนชัดเจนให้นำไปปฏิบัติเพื่อเข้าถึงแก่นหลักได้ ในทางกลับกัน จริยศาสตร์กลับถูกมองว่าเป็นเพียงการถกเถียงที่ไม่นำไปสู่ข้อสรุปใดๆ จึงไร้ประโยชน์

ปิยฤดียอมรับว่าการคิดทางจริยศาสตร์ยากแต่ไม่ใช่ความยากที่ลี้ลับเข้าถึงไม่ได้ เพียงแต่มีตัวแปรจำนวนมาก มีความสลับซับซ้อนว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ในกรณีหนึ่งๆ คุณค่าไหนสำคัญ จริยศาสตร์สมัยใหม่จึงตั้งคำถามว่า what matter หรืออะไรที่เป็นคุณค่าหลัก เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเดิมพันของกรณีนั้นๆ ต้องเลือกอะไรและสละอะไร

กับคำถามที่ว่าควรสอนจริยศาสตร์แทนศาสนาหรือไม่ ปิยฤดีอ้างถึงงานวิจัยที่อยู่ในโครงการเดียวกันของปกรณ์ สิงห์สุริยา จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่าการศึกษาศาสนายังจำเป็นในฐานะความเชื่อหนึ่ง แต่ต้องเป็นการศึกษาเชิงวิชาการ ศึกษาในลักษณะศาสนาเปรียบเทียบ หรือแม้แต่กับผู้ที่เลือกไม่นับถือศาสนา เพราะถึงที่สุดแล้วศาสนายังเป็นที่มาของความเชื่อหลักที่คนมี หากศาสนาจะอยู่กับมนุษย์อย่างยั่งยืนในโลกสมัยใหม่ที่คนตริตรองสะท้อนคิด (reflect) มากขึ้น ซึ่งการศึกษาในทำนองนี้ก็ไปกันได้ดีกับจริยศาสตร์

“สิ่งที่ถูกต้องก็จะอยู่อย่างมีเหตุผลสนับสนุนที่มาจากการคิดของเรา แต่สิ่งที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน เราก็ถามได้ว่าจะมีต่อไปทำไม จริยศาสตร์ก็จะเป็นเครื่องมือในการ reflect ให้ มีนักการศึกษาชื่อ Robert J. Sternberg บอกว่าโลกปัจจุบันเราต้องการสิ่งที่เรียกว่า transformational creativity คือความคิดสร้างสรรค์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นและยั่งยืน และเขาบอกว่าการใช้เหตุผลทางจริยธรรมตอบโจทย์นี้ได้ เขามองว่า transformational creativity ต้องมาคานกันกับ transactional creativity ที่เป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยไม่แคร์ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงกับโลก กับมนุษย์”

ปิยฤดีกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถใช้เหตุผลกับศาสนาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการหาคำตอบได้เช่นกัน เพราะศาสนาก็มีแง่คิดที่มีประโยชน์อยู่มากมาย

เธอวกกลับไปที่ปกรณ์ว่าจุดประสงค์ของการเรียนศาสนาคือให้เราเข้าใจคนที่นับถือศาสนาอื่นมากกว่าเป็นการนำมาใช้แก้ปัญหา จะทำให้เราเห็นคุณงามความดีในสิ่งที่ผู้อื่นเชื่อได้ ซึ่งในที่สุดอาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการคิดของเราเพราะการเรียนศาสนาค่อนข้างความละมุนละม่อมกว่าจริยศาสตร์ เนื่องจากจริยศาสตร์สมัยใหม่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของการถกเถียง การตั้งคำถาม และมีสิทธิ์จะไป offend ผู้อื่น

หิมะและหางหมา

เพราะการใช้เหตุผลทางจริยธรรมคือการไตร่ตรอง ถ้าพบข้อดีต่อให้รัฐไม่ต้องมาผลักดันสิ่งนั้นก็จะยังอยู่ แต่ถ้าไตร่ตรองแล้วไม่มีเหตุผลเลยหรือไม่ควรจะสำคัญขนาดนี้หรือควรจะปรับได้แล้ว มันก็จะถูกปรับเปลี่ยน จริยศาสตร์จึงเป็นการหาเหตุผลสนับสนุนให้กับสิ่งต่างๆ ว่ายังควรมีอยู่หรือไม่

ถ้ามองในมุมที่ปิยฤดีกล่าว การสอนจริยศาสตร์ก็อาจเป็นสิ่งที่รัฐไม่เห็นด้วย แล้วเราจะสามารถปลูกฝังการไตร่ตรองทางจริยศาสตร์ได้เองโดยไม่ต้องผ่านการศึกษาในระบบหรือไม่ ปิยฤดีกล่าวว่าทั้งง่ายและยาก ง่ายเพราะในแง่หนึ่งจริยศาสตร์ไม่ใช่ความรู้ชั้นสูง เป็นความรู้ที่เราสามารถรู้ได้ ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกว่าเป็น metacognition หรืออภิปริฌานแบบหนึ่ง กล่าวคือเป็นการคิดระดับที่สอง คือถอยออกมาดูว่าเราคิดอย่างไร เป็นการสะท้อนตัวเอง

แต่ปัญหาหนึ่งที่เธอเจอในการเรียนการสอนจริยศาสตร์จนถึงปัจจุบันคือเรามักจะคิดกับจริยศาสตร์คล้ายกับที่คิดกับศาสนา ในแง่ว่ามีบางเรื่องเป็นอภิสิทธิ์ (privilege) เช่นเรื่องสิทธิ ถ้าเป็นค้านท์ก็อย่างการไม่ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ หมายความว่าอย่างอื่นผิดได้หมด แต่อภิสิทธิ์นี้ผิดไม่ได้ เพราะมันเป็นความเชื่อหลักที่ต่อรองไม่ได้

“แต่ในจริยศาสตร์ที่เป็น metaethics เขาเอา normative ethics มาดูเป็นเรื่องๆ แล้วเขาก็พบว่า ไม่ ความเชื่อทุกอันมันผิดได้ ไม่ได้หมายความว่ามันผิด แต่มันสามารถผิดได้ ดังนั้น ความเชื่อทุกเรื่องต้องถูกตรวจสอบ”

เธออธิบายต่อว่าเวลารับจริยศาสตร์ตะวันตกเข้ามา เช่น ต้องปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ต้องไม่ใช่คนเป็นเครื่องมือ ปัญหาของผู้เรียนคือคิดว่าตัวเองรู้แล้ว ถูกต้องแล้ว ก็จะยึดเป็นสรณะ แต่ถ้าคิดดูจริงๆ ข้อความประเภทว่าทุกคนมีสิทธิ ศักดิ์ศรีเท่ากัน หรือว่าต้องไม่ปฏิบัติต่อคนอื่นเป็นเครื่องมือ มันมีความเป็นนามธรรมทำให้พูดอย่างไรก็จริงเสมอ แต่ในเชิงปฏิบัติกลับมีเนื้อหาน้อย

เคยมีนักจิตวิทยาศึกษาเด็กอายุ 16 เดือนกับการใช้คอนเซ็ปต์เรื่องหิมะ เมื่อเด็กเรียนรู้คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับหิมะแล้ว หลังจากนั้นเวลาที่เด็กเห็นสิ่งที่มีสีขาวก็จะเรียกสิ่งนั้นว่าหิมะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวหิมะเองหรือหางของสุนัขที่มีสีขาว

กระบวนการที่ในที่สุดทำให้เด็กคนนี้เรียนรู้ว่าหิมะหมายถึงหิมะเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทุกอย่างที่เป็นสีขาวเป็นกระบวนการแบบอุปนัย เป็นกระบวนการที่คุณต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คุณเจอของเยอะแยะและมีทั้งตัวอย่างที่ใช่หิมะและตัวอย่างที่ไม่ใช่

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพื้นที่สำคัญของจริยศาสตร์

“ถ้าเราศึกษาจริยศาสตร์โดยที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในการถกเถียงกับคนอื่น มันเป็นไปได้ที่เราจะคิดว่าอะไรที่พอจะเข้าเค้า มันคือเรื่องนี้หมด เหมือนกับว่าทุกอย่างเป็นหิมะหมด เหมือนทุกอย่างเป็นสิทธิหมด ทุกอย่างเป็นการไม่ใช่คนอื่นเป็นเครื่องมือหมด เรารู้ได้ยังไงว่าเราไม่ได้กำลังใช้คำพวกนี้เหมือนกับที่เด็กอายุ 16 เดือนใช้หิมะเรียกหางสุนัขสีขาว ดังนั้น การเรียนรู้จริยศาสตร์จึงต้องอยู่กับบริบทเยอะ ต้องคิดถึงในสถานการณ์เฉพาะ เพื่อทำให้ความเชื่อเหล่านี้ สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน มันเป็นรูปธรรมขึ้นมาว่าคืออะไร เรียกร้องให้เราทำอะไรในสถานการณ์นี้”

สถานการณ์ ‘หิมะ’ ทำให้เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องฝึกเพราะรู้และใช้คำพวกนี้เป็นอยู่แล้วว่านี่คือหัวใจของจริยศาสตร์ แล้วก็นำมันไปใช้ แต่ถ้าคิดอย่างไตร่ตรองจริงๆ ต้องถามตัวเองด้วยว่ามันหมายความอย่างที่คิดตอนแรกหรือเปล่า วิชาการใช้เหตุผลในจริยศาสตร์จึงมีคำว่า prima facie หมายถึงมองในเบื้องต้นแล้วใช่ แต่เมื่อไตร่ตรองต่อสิ่งนั้นมากขึ้นๆ จะยังใช่อยู่หรือไม่

“คนที่เป็นนักจริยศาสตร์ที่กระดูกแข็ง เก่งๆ เขาก็จะไปพูดในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะว่ามันเป็นบริบทที่จำเป็นสำหรับคิดเรื่องพวกนี้ที่เกี่ยวกับจริยศาสตร์ เราต้องการที่ที่เราจะพูดได้ แต่ว่าเงื่อนไขมันจะไปสู่คำถามอื่นว่าพูดได้แค่ไหน พูดจาบั่นทอนความเป็นปึกแผ่นของสังคมให้พูดหรือเปล่า มันก็จะไปดีลกับคำถามพวกนั้นแทน

“แต่พื้นที่ที่เราจะคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างปลอดภัยมันก็สำคัญ มันจะทำให้เราใช้จริยศาสตร์ได้แบบบังเกิดผลจริงๆ ไม่ใช่ dogma ไม่ใช่คุณปรารถนาดีแต่ลงเอยเป็น dogma กลายเป็นเชื่อจริยศาสตร์ฝังหัวเพราะคุณดันไปคิดเสียก่อนว่ามันมีความเชื่อบางอย่างที่มีอภิสิทธิ์ เราต้องการคนที่มีความคิดแตกต่างและมี tolerance กับความกำกวมในโลกนี้และต้องยอมรับว่าบางเรื่องมันไม่มีคำตอบที่ถูกจริงอยู่ แต่ส่วนใหญ่มี ดังนั้น การเรียนจริยศาสตร์ต้องการสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง”

เมื่อถามว่าสังคมไทยเวลานี้เอื้อให้เกิดการถกเถียงทางจริยศาสตร์หรือไม่ ปิยฤดีตอบว่า คนในสังคมเราไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ามีความจำเป็นต้องถกเถียงเรื่องจริยศาสตร์หรือเถียงเรื่องอื่นและมุ่งเอาชนะคะคานแทนมากกว่าซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่ยกระดับจริยธรรมของคนในสังคม

หมายเหตุ : 14.38 น. วันที่ 27 มิ.ย.2566 กองบรรณาธิการข่าวดำเนินการปรับแก้บางคำในเนื้อให้กระจ่างขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net