Skip to main content
sharethis

รายงานจากสื่ออิระวดีระบุถึงเรื่องที่เผด็จการทหารพม่า ใช้การสอดแนมผู้คนเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐบาลในโลกออนไลน์ กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการปิดกั้นขบวนการต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสนับสนุนเผด็จการคอยเสียบประจานผู้คนในโลกออนไลน์จนเกิดการจับกุมในโลกภายนอกตามมาด้วย

สำหรับเผด็จการทหารพม่าที่เหี้ยมโหดนั้น แค่การไล่สังหารประชาชนก็ยังไม่เพียงพอที่จะปิดกั้นขบวนการต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ และไม่สามารถปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นนอกจากการใช้ความรุนแรง รัฐบาลพม่ายังเพิ่มการสอดแนมประชาชนในโลกออนไลน์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะตรวจจับข้อความการสื่อสารของประชาชนว่ามีข้อความที่ต่อต้านเผด็จการแบบอ้อมๆ แอบซ่อนอยู่หรือไม่

เผด็จการทหารพม่าสังหารคนที่ต่อต้านไปแล้วมากกว่า 3,600 ราย และจับกุมผู้คนไปกว่าหลายหมื่นรายนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2564 ในขณะเดียวกันเผด็จการพม่าก็ใช้มาตรการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ต่างๆ การปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก การปิดกั้นการใช้งาน VPNs ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้หลบเลี่ยงการเซนเซอร์บนอินเทอร์เน็ต

การสอดแนมของเผด็จการทหารพม่ายังส่งผลให้มีผู้คนถูกคุมขังมากขึ้น บ้างก็ถูกหมายจับ สูญเสียทรัพย์สินของตนเอง บ้างก็ตกเป็นเป้าหมายในการลงโทษปราบปราม และบ้างก็ต้องหนีออกจากบ้านตัวเอง

Ma Zin (นามสมมติ) ผู้อาศัยในเมืองย่างกุ้งกล่าวว่าการสอดแนมออนไลน์เช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกถูกคุกคาม "พวกเรารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นอะไรบนโซเชียลมีเดียไม่เหมือนกับแต่ก่อน (ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนซึ่งถูกโค่นล้ม)"

Ma Zin ใช้โซเชียลมีเดียเช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กซึ่งเป็นโซเชียลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพม่า ซึ่งเธอใช้มันในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพพม่าที่ทำการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในเดือน ก.พ. 2564 และในอีกหลายเดือนถัดมาก็มีการสังหารผู้ประท้วงที่ทำการประท้วงอย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม Ma Zin บอกว่าเธอเลิกใช้โซเชียลในช่วงปลายปี 2564 เพราะกลัวว่าจะถูกคุมขังหลังจากที่เผด็จการพม่าทำการสอดส่องโพสต์ในโซเชียลมีเดียและทำการจับกุมผู้คน Ma Zin บอกว่าแม้กระทั่งการพูดถึงเหตุการณ์ไฟดับที่กำลังเกิดขึ้นก็ทำให้เผด็จการพม่าจับกุมได้ เช่นที่เกิดขึ้นกับแร๊พเปอร์ที่ชื่อ Byuhar เรื่องนี้ทำให้ผู้คนไม่กล้าพูดอะไร

กรณีของแร๊พเปอร์ Byuhar นั้น เป็นกรณีคนดังรายล่าสุดที่ตกเป็นเหยื่อการปราบปรามของเผด็จการทหาร เขาถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาที่กรุงย่างกุ้งหลังจากที่เขาโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การที่รัฐบาลเผด็จการทหารจัดการปัญหาไฟดับ

นอกจาก Ma Zin แล้วคนอื่นๆ ในพม่าก็รู้สึกถูกคุกคามจากการที่กองทัพพม่าคอยสอดส่องสอดแนมโซเชียลมีเดียเช่นกัน อย่างในกรณีของ Ko Thant Zin (นามสมมติ) จากย่างกุ้ง เขาบอกว่าหลังจากเกิดรัฐประหารปี 2564 เขาไม่เพียงแค่เลิกโพสต์เฟซบุ๊กเท่านั้น แต่ยังลบโพสต์เก่าที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย

ช่องTelegram(ห้องแชทรวมที่เจ้าของช่องตั้งไว้กระจายข่าวสาร) ของกลุ่มสนับสนุนเผด็จการยังมีการขุดโพสต์เก่าและโพสต์อันใหม่ของคนที่วิจารณ์กองทัพพม่ามาประจาน รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเหล่านี้เพื่อให้กองทัพพม่าทำการจับกุมพวกเขาด้วย

Ko Thant Zin บอกว่าเรื่องแบบนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนมีเงาแห่งการคุกคามทับซ้อนชีวิตประจำวัน มีเพื่อนของเขาบางคนถูกเล่นงานในเทเลแกรมสนับสนุนเผด็จการ Ko บอกว่ามีบางคนถูกจับกุมเพียงเพราะโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องระเบิดที่เกิดขึ้นใกล้กับละแวกบ้านของเธอ Ko บอกว่าพวกเขาไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือในโลกออฟไลน์ก็ตาม

ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการใช้วิธีการประจานข้อมูลส่วนตัวที่เรียกว่า 'ด็อกซิง'

ทั้งฝ่ายเผด็จการทหารและผู้สนับสนุนเผด็จการทหารอาศัยวิธีการด็อกซิงเป็นเครื่องมือในการคุกคามฝ่ายต่อต้านพวกเขา ด็อกซิ่งหมายถึงการเผยแพร่หรือประจานข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอม เทียบได้กับเป็นการเสียบประจาน

บัญชีผู้ใช้งานเทเลแกรมสายสนับสนุนเผด็จการทหารอย่าง Han Nyein Oo, Ba Nyunt, Kyaw Swar and Thazin Oo มักจะคอยประจานบุคคลที่พวกเขามองว่าวิพากษ์วิจารณ์หรือท้าทายเผด็จการทหารอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหรือนักข่าวฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

คนพวกนี้จะพากันเสียบประจานข้อมูลส่วนตัวบุคคลทางช่องเทเลแกรม ไม่ว่าจะเป็นชื่อ, ที่อยู่, ข้อมูลของครอบครัว รวมไปถึงการแค็บหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่พวกเขามองว่าเป็นการวิจารณ์เผด็จการทหาร คนกลุ่มนี้ยังมักจะปลุกระดมให้มีการโจมตีบุคคลที่เป็นเป้าหมายเสียบประจานของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้เผด็จการพม่าจับกุมคุมขังพวกเขาและยึดทรัพย์สินของพวกเขา ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการประหารชีวิต หรือทำการล่วงละเมิดทางเพศกรณีที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้หญิง การเสียบประจานมักจะนำไปสู่การจับกุมและลงโทษจากเผด็จการทหาร หรือกระทั่งการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจริงในโลกภายนอก

แม้ว่าช่องเทเลแกรมบางส่วนของกลุ่มเสียบประจานจะถูกลบออกเพราะละเมิดกฎของเทเลแกรม แต่พวกสนับสนุนเผด็จการทหารก็แค่สร้างช่องเทเลแกรมช่องใหม่ขึ้นมาแทนไม่นานหลังจากนั้น

Ma Wai Phyo Myint นักกิจกรรมด้านสิทธิดิจิทัลและนักวิเคราะห์นโยบายเอเชียแปซิฟิกของ Access Now ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมสิทธิดิจิทัลทั่วโลกกล่าวว่า เผด็จการทหารใช้วิธีการด็อกซิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดผวาและป้องปรามไม่ให้พลเมืองไปทำกิจกรรมในเชิงปฏิวัติต่อต้านรัฐบาล และนับเป็นยุทธวิธีที่ระบอบเผด็จการใช้ในการควบคุมพื้นที่พลเมืองในโลกออนไลน์ด้วย

Ma บอกว่าในตอนแรกกลุ่มสนับสนุนเผด็จการพม่าเน้นเสียบประจานกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายประชาธิปไตยตั้งขึ้นมาเพื่อคัดง้างกับเผด็จการ และกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เป็นฝ่ายกองทัพของ NUG รวมถึงกลุ่มแกนนำการประท้วง แต่ต่อมาพวกสนับสนุนเผด็จการก็เริ่มตั้งเป้าหมายโจมตีใครก็ตามที่ถูกมองว่าสนับสนุนขบวนการต่อต้านเผด็จการในโลกออนไลน์

ในช่วงไม่นานนี้มียังมีคนดังอีกรายหนึ่งตกเป็นเหยื่อการถูกลงโทษจากเผด็จการทหารคือ May Panche เธอถูกลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากเธอโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นใจต่อเหยื่อการโจมตีทางอากาศโดยเผด็จการทหาร ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการโจมตีทางอากาศโดยเผด็จการพม่าครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 160 ราย เหตุการณ์เกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Pazi Gyi ในภูมิภาคซะไกง์ เมื่อเดือน เม.ย. 2566

หลังจากที่ May ประกาศว่าเธอจะเลื่อนการขายอัญมณีออนไลน์ในวันเดียวกับที่มีการโจมตีทางอากาศโดยเผด็จการทหาร ช่องสนับสนุนเผด็จการทหารในเทเลแกรมก็โพสต์รูปเก่าที่แสดงให้เห็นว่า May เคยเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการคุมขังเธอ ทำให้ในวันเดียวกันนั้นเองมีคนหลายสิบคนร่วมประณามการโจมตีทางอากาศผ่านเฟซบุ๊กหรือไม่ก็เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของพวกเขาเป็นสีดำเพื่อแสดงความเห็นใจต่อเหยื่อที่ถูกจับกุมทั่วพม่า

นอกจากโพสต์ต่างๆ แล้ว พวกฝ่ายสนับสนุนเผด็จการยังเสียบประจานคนที่ไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของนักกิจกรรมต่อต้านเผด็จการที่มีชื่อเสียงหรือโพสต์ของสื่อต่างๆ และเรียกร้องให้เผด็จการทหารจับกุมพวกเขาด้วย

นักประพันธ์เพลงที่ชื่อ Aung Naing San ถูกจับกุมหลังจากแสดงความคิดเห็นใต้เนื้อหาข่าวที่พูดถึง Lily Naing Kyaw ผู้สนับสนุนเผด็จการตัวยงถูกยิงเสียชีวิต

Ma Sein นักกิจกรรมด้านสิทธิดิจิทัลกล่าวว่า "คุณอาจจะถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา เผด็จการทหารอยากจะทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้น" เธอบอกว่าการปราบปรามในโลกออนไลน์เช่นนี้ถือเป็นการที่เผด็จการทหารละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวพม่า เช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมด้านสิทธิดิจิทัลก็บอกว่า ถึงแม้จะมียุทธการสอดแนมและปราบปรามแต่ประชาชนก็พยายามหาทางโต้ตอบได้ เช่นการใช้เครื่องมือการสื่อสารแบบเข้ารหัสและการแชร์ข้อมูลอย่างปลอดภัย แต่ Ma Sein ก็ยังขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัลและไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต

Ma Sein กล่าวว่าเผด็จการทหารยังพยายามออกกฎหมายให้ความชอบธรรมกับการปราบปรามนักวิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ต ด้วยการร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่และเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งกลายเป็นใบเบิกทางให้เผด็จการพม่าดักฟังผู้ต้องสงสัย สอดส่องสอดแนมกิจกรรมออนไลน์ และเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มการควบคุมเข้มงวดมากขึ้นต่อพื้นที่ดิจิทัล

นักสิทธิดิจิทัลและกลุ่มนักเคลื่อนไหวเคยเตือนว่าเผด็จการพม่าพยายามจะสร้างรัฐสอดแนมและเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติกับบริษัทไอทียืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่าและทำการต่อต้านการรัฐประหารในพม่า ทั้งในโลกภายนอกและในโลกดิจิทัล


 

เรียบเรียงจาก

Myanmar Junta Steps Up Efforts to Monitor, Silence Perceived Online Critics, The Irrawaddy, 14-06-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net