Skip to main content
sharethis

รัฐบาลบังกลาเทศเปิดเผยว่าในร่างกฎหมาย "บัญญัติความมั่นคงไซเบอร์แห่งปี 2566" ของพวกเขาจะนำมาใช้แทนที่กฎหมายความมั่นคงดิจิทัลฉบับเดิม หลังถูกวิจารณ์เรื่องการลิดรอนเสรีภาพสื่อ แต่ทว่าก็มีข้อกังขาว่ากฎหมายใหม่จะดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะรัฐบาลเปิดเผยเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้น้อยมาก


ที่มาภาพประกอบ: Yuri Samoilov (CC BY 2.0)

17 ส.ค. 2566 ทางการบังกลาเทศประกาศว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล (DSA) ให้มีการ "ปิดกั้นเสรีภาพ" น้อยลง แล้วเปลี่ยนเป็นกฎหมายที่ชื่อ "บัญญัติความมั่นคงไซเบอร์แห่งปี 2566" แทน

ในการประชุมแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของบังกลาเทศ อินซุล ฮัค ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ที่น่าจะยังคงมีเนื้อหาจากกฎหมายฉบับเดิมคือ DSA อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็จะมีการตัดบางวรรคออกไป คือวรรคที่มองว่าน่าจะถูก "นำไปใช้ในทางที่ผิด" ได้

การแถลงของ ฮัค มีขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาสินา เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีการมติว่าจะลดส่วนที่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในกฎหมายฉฉบับเดิมให้น้อยลง

บังกลาเทศเคยออกกฎหมาย DSA มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิฯ เรียกมันว่าเป็น "บัญญัติทมิฬ" มานานแล้ว จากการที่มันถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยรัฐบาลเพื่อปิดกั้นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในช่วงที่มีแรงกดดันให้ยกเลิกกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้เรียกร้องให้บังกลาเทศ "ประกาศระงับการบังคับใช้กฎหมายชั่วคราว" และ "ให้มีการปฏิรูปเนื้อหากฎหมายอย่างครอบคลุม ให้อยู่ในขอบเขตข้อกำหนดของกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ"

ฮัค กล่าวว่าทางรัฐบาลบังกลาเทศที่นำโดยฮาสินาได้ยอมรับคำเรียกร้องและตัดสินใจที่จะแก้ไขกฎหมาย DSA แต่ก็บอกว่าพวกเขา "ต้องการกฎและข้อกำกับบางอย่าง" ต่อโลกดิจิทัลและไซเบอร์สเปซที่กำลังเติบโตขึ้น ทำให้พวกเขาต้องร่างกฎหมายใหม่มาแทนคือบัญญัติความมั่นคงไซเบอร์

ฮัคกล่าวว่า บัญญัติดังกล่าวนี้จะเป็นเสมือนกฎหมาย DSA ที่นำมา "ปรับให้ทันยุคทันสมัย" มากขึ้น และจะตัดส่วนที่เสี่ยงต่อการถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดออกไป โดยที่กฎหมายใหม่จะระบุวิธีการลงโทษเป็นการ "ปรับเงิน" แทน "การจำคุก" สำหรับนักข่าวที่ถูกตัดสินในคดีหมิ่นประมาท

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักข่าวถือเป็นคนที่ถูกเล่นงานจากกฎหมาย DSA ของบัลกลาเทศหนักที่สุด กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยแถลงข่าวสั้นๆ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาระบุว่ากฎหมาย DSA ของบังกลาเทศเป็น "หนึ่งในกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพหนักที่สุดสำหรับนักข่าว"

ฮัคบอกว่าในกฎหมายใหม่จะมีการลดเพดานการสั่งปรับลงจาก 92,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.25 ล้านบาท) เหลือ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 813,000 บาท) อย่างไรก็ตามถ้าไม่จ่ายค่าปรับก็อาจจะถูกสั่งจำคุก 3-6 เดือนได้

แก้ไขแล้ว แต่ก็ยังเสี่ยงจะถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง

อย่างไรก็ตามทนายความศาลสูงสุดของบังกลาเทศ โจตอโมย บารัว กล่าวว่าการร่างกฎหมายชื่อใหม่มาแทนที่ DSA ยังไม่เพียงพอ ในฐานะที่เขาเป็นทนายความให้กับคดีจำนวนมากที่มีการร้องเรียนโดยใช้กฎหมาย DSA บารัวมองว่ากฎหมายใหม่ที่มาแทนที่ DSA ยังคงมีเป้าประสงค์เดิมในการจำกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านรัฐบาล บารัวบอกว่านักสิทธิมนุษยชนต้องการให้มีการยกเลิก DSA โดยสิ้นเชิงไม่ใช่เอากฎหมายใหม่มาแทนที่

มาห์ฟัซ อานัม ประธานสภาบรรณาธิการแห่งบังกลาเทศและบรรณาธิการสื่อเดลีสตาร์ กล่าวว่า การตัดสินใจ "ปฏิรูป" และทำให้ DSA "เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น" นั้น เกิดขึ้นหลายปีหลังจากที่มีการประท้วงในเรื่องนี้ และมีนักข่าวต้องเผชิญความทุกข์ร้อนจากกฎหมายนี้

อานัมยังได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ร่างกฎหมายใหม่มาแทน DSA และมองเรื่องนี้อย่างมีความหวังอย่างระมัดระวังเพราะพวกเขายังไม่รู้ว่าเนื้อหาของกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่เป็นอย่างไร จะมีการลิดรอนเสรีภาพสื่อในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือไม่

อานัม กล่าวว่า ในตอนที่รัฐบาลบังกลาเทศเปลี่ยนแปลงกฎหมายไอซีทีและประกาศใช้ DSA มันกลายเป็นกฎหมายที่เลวร้ายลงกว่าเดิม และถูกนำมาใช้ลิดรอนเสรีภาพมากกว่าเดิม พวกเขาถึงหวังว่าบังกลาเทศจะมีสภาพการณ์ในเรื่องกฎหมายที่เอื้อต่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

ซาเฮ็ด เออร์ รอห์มัน นักวิเคราะห์การเมืองในบังกลาเทศกล่าวว่ารัฐบาลทำการแก้ไขกฎหมาย DSA เพราะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น รวมถึงมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ และองค์กรด้านสิทธิฯ จากนานาชาติ ทำการกดดันรัฐบาลบังกลาเทศอย่างหนักให้ยกเลิกกฎหมายนี้

รอห์มันกล่าวว่า กฎหมายไอซีทีของบังกลาเทศเคยถูกใช้กลั่นแกล้งนักกิจกรรมฝ่ายค้านและผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ส่งผลให้กฎหมายนี้เผชิญการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาชน ภาคประชาสังคม และ องค์กร์สิทธิมนุษยชน จากนั้นรัฐบาลบังกลาเทศก็ยกเลิกกฎหมายไอซีที แล้วหันมาประกาศใช้กฎหมาย DSA ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2561

รอห์มันประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งถัดไป รัฐบาลบังกลาเทศก็อาจจะทำแบบเดียวกัน เขาเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะยังคงอ้างใช้กฎหมายไอทีในการกลั่นแกล้งปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์หรือนักกิจกรรมฝ่ายค้านทางการเมือง

การเลือกตั้งครั้งถัดไปในบังกลาเทศจะมีขึ้นในเดือน ม.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งรัฐบาลฮาสินาก็เคยถูกกล่าวหาไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ได้ทำการปราบปรามพรรคการเมืองฝ่ายค้านก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง

ซาฮีร์ อุดดิน สวาพัน จากพรรคฝ่ายค้านพรรคหลักคือพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (BNP) กล่าวว่า การที่รัฐบาลทำการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากกฎหมาย DSA เป็นกฎหมายใหม่ตามแรงกดดันจากยูเอ็นและจากกลุ่มเฝ้าจับตามองทั่วโลก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ยอมรับว่าพวกเขาออกกฎหมายที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง

อย่างไรก็ตามสวาพันบอกว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการกฎหมายใหม่มาแทนที่ พวกเขาต้องการให้มีการยกเลิกกฎหมายแบบนี้โดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาของกฎหมายใหม่ออกมานากนัก ทำให้พวกเขาสงสัยว่าแม้แต่กฎหมายใหม่นี้ก็จะยังคงมีโอกาสจะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอยู่หรือไม่


เรียบเรียงจาก
Bangladesh to tone down ‘draconian’ digital security law, Aljazeera, 07-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net