Skip to main content
sharethis

เสวนาเนื่องในวาระคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยงานวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 14 มิ.ย. ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร โดย รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สุขุม นวลสกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เลือกตั้ง 66 สะท้อนอะไร

ศ.ดร.สิริพรรณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนชี้ประเด็น การเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมาอีกว่า การเลือกตั้ง สะท้อนอะไรบ้างนั้น 1. ผลการเลือกตั้ง ที่เราเห็นแน่ๆคือชัยชนะของก้าวไกล ชนบทเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากงานวิจัยที่เคยบอกว่า รับเงินมา กาบางพรรค ครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่า เมื่อชนบทเปลี่ยนไป เงินไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก ในที่ที่เราคิดว่าเป็นชนบท เกิดเมืองขึ้นมาเป็นหย่อมๆ ชุมชนเมือง วิธีคิดที่เป็นเมือง เกิดขึ้นแทบทุกชนบทของไทย และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากภาคเกษตรกรรม สู่ชุมชนเมือง และทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของความคิด ประสบการณ์ ความคาดหวัง และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของประชาชนและตัวแทน แต่ไม่ใช่ว่าทุกเขตเลือกตั้ง หรือทุกจังหวัดเปลี่ยนสิ้นเชิง บ้านใหญ่ยังอยู่ อย่างใน บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี แต่สิ่งนี้จะเปลี่ยนไปเร็วขึ้น ต่อจากนี้ ความคาดหวัง และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทน กับพรรคการเมือง ประชาชนกับตัวแทน และตัวแทนกับพรรคการเมือง จะเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า 2. นโยบาย ในช่วงการเลือกตั้งอาจจะแยกความแตกต่างได้ยากมาก ไม่ชัดนัก แต่สิ่งที่พูดได้คือนโยบายที่ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ต้องเป็นนโยบายที่ขายพ่วงกับจุดยืนประชาธิปไตย มี value added กับจุดยืนประชาธิปไตยไปด้วย อย่างภูมิใจไทย นโยบายน่าสนใจ แต่ขายไม่ค่อยได้ เพราะคนไม่รู้สึกถึงการเชื่อมภูมิใจไทยกับความเป็นประชาธิปไตย จุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจ อีกประเด็นคือ เดิมเราคิดว่านโยบายมาช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่เลือกตั้งครั้งนี้ พิสูจน์ได้ว่า นโยบายมันสามารถมาผ่านนิติบัญญัติ มันสามารถมาพร้อมกับกระบวนการทำงานในสภา ในการเสนอกฎหมาย เป็นเหมือนการเชื่อมต่อระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร คุณไม่จำเป็นต้องเป็นพรรครัฐบาลที่จะเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม ที่จับใจ ของผู้เลือกตั้ง กระบวนการที่เห็น 4 ปีที่ผ่านมา มันเริ่มจากกระบวนการในนิติบัญญัติ อย่าง สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นพลวัตใหม่

คนไทย 70-80% อยากเห็นเสรีประชาธิปไตย

ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า 3.ระบบนิเวศของพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และ จะดำเนินอีกสักระยะหนึ่ง จากงานวิจัยของต่างประเทศที่ทำเกี่ยวกับการเมืองไทย จะบอกว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ในไทยเป็นพรรคกลางขวา และค่อนไปทางขวา แต่รอบนี้มีพรรคก้าวไกล ขยับไปทางซ้ายนิดหนึ่ง เราแปลกใจว่า สังคมไทย มองกว้างๆนั้นเป็นอนุรักษนิยม แต่พรรคที่ดีดตัวเองไปทางซ้ายพรรคเดียวกลับได้รับชัยชนะ ขณะที่เพื่อไทย เดิมเป็นพรรคกลางขวา พอเพื่อไทยเจอพรรคที่ซ้าย เพื่อไทยก็ขยับมาทางซ้ายนิดหนึ่ง และมีพรรคขวามากๆ ชัดเจน อย่างรวมไทยสร้างชาติ และ ไทยภักดี ซึ่งไทยภักดีได้บัญชีรายชื่อเป็นแสน แสดงว่ามีลูกค้าประจำ

“หากมองในรายละเอียด จริงๆแล้วแกนของความคิดในสังคมซับซ้อนกว่านั้น เราอาจจะเห็น ทุนนิยม หรือ ทุนนิยมแบบมีหัวใจ และสวัสดิการ ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อนในแง่สังคม จะเห็นแกนที่เป็นกลุ่มฐานเสียงที่อยากให้ประเทศเทศเดินไปข้างหน้า กับพรรคที่อยากกริ่งเกรงความเปลี่ยนแปลง แกนที่น่าสนใจ คือ เราเห็นแกนของระบอบที่อยากเห็นทหารเป็นผู้พิทักษ์ ยังอยากเห็นทหาร ปกป้องประเทศจากภัยอะไรก็แล้วแต่ ที่สังคมมองว่ามีอยู่ กับขั้วตรงข้าม คือ ให้พลเรือนอยู่เหนือทหาร ในแก่นแกนนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีทหาร ภายใต้แก่นแกนนี้ หากมองสมรภูมิการเลือกตั้ง สะท้อนว่าพรรคทหาร คือพรรคที่สนับสนุนนายพล 2 ท่าน ได้แค่ 66 ที่นั่ง จากเดิม 116 ที่นั่ง แต่หากการรวมของก้าวไกล 312 คือต่างกันมาก สอดคล้องกับจากงานวิจัยที่ทำ กลุ่มประชากรที่สนับสนุนทหาร มีอยู่ประมาณ 13-15% ตัวเลขนี้ล้อไปด้วยกัน มากกว่า 70-80% ของคนในสังคมนี้ อยากเห็นเสรีประชาธิปไตยมากกว่า”

สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังรัฐประหาร 2557 อยากเรียกว่ามันเป็น “ร่างไฮเปอร์ของทหาร” ทหารได้เรียนรู้ประสบการณ์ และ สะสมพลัง ปรับตัวมากพอสมควร จะเห็นว่าเป็นครั้งแรกของทหาร ทำให้ทหารจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าโดยการดูดนักการเมือง การเอานักวิชาการ มาเป็นประกายความคิดร่วมกับกลุ่มทุน และทำให้ทหารอยู่ครบเทอม และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

“เรียกได้ว่า ทหารได้ปรับตัวแล้ว เป็นร่างไฮเปอร์ ผ่านรธน. 2560 มองอีกด้าน อาจจะกลายเป็นทุกขลาภของทหาร การที่ท่านอยู่นาน การที่ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศแล้วอยู่นาน ทำให้ความชอบธรรมของระบอบทหารผู้พิทักษ์มันลดลง ไม่แน่ใจว่าหากเทียบกับ พฤษภา 2535 จุดไหนจะต่ำกว่ากัน รอบนี้อาจจะยังไม่เห็นทหารไปเดินตลาดแล้วโดนไล่ แต่ถ้าผลเลือกตั้งออกมาแบบนี้ 66 จาก 500 เป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ ว่าความนิยมทหารตกต่ำ แม้จะพูดว่ามาจากการขัดแย้งกันเอง แต่ส่วนหนึ่งคือความไร้ประสิทธิภาพ และการอยู่นาน”

รัฐธรรมนูญ 60 อาวุธร้ายแรง ร่างทหารไฮเปอร์
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า ระบอบทหารจำแลง ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่เรายังประมาทไม่ได้ คือ ร่างไฮเปอร์ที่สุดแล้วของระบอบนี้ ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นอาวุธที่ยังมีความแหลมคม และยังจะถูกใช้ กำกับในการได้มาของนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อยู่ และก็เชื่อว่าการออกอาวุธครั้งสำคัญ กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหลังเลือกตั้ง มันยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ เราจะเริ่มเห็นปฏิบัติการของการใช้อาวุธของรธน. 60 ในเร็ววันนี้

อาจารย์สิริพรรณ อธิบายต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องมาจากพรรคที่ได้อย่างน้อย 5% คือ 25 ที่นั่ง ซึ่งตอนนี้ก็มี 6 พรรค และในกระบวนการเสนอต้องมีส.ส. รับรอง 50 คน ซึ่งรธน.ให้เวลากกต. 60 วัน ในการรับรองสถานะส.ส. หากดูไทม์ไลน์ก่อนหน้านี้ คงประมาณ 15 กรกฎาคม จะประกาศและเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ แต่หากตามข่าวล่าสุด กกต.เร่งประกาศรับรองผล ได้ยินแว่วๆ และคิดว่า กกต. น่าจะพยายามประกาศผลภายในวันที่ 23 หรือ 26 มิถุนายนตามข่าว เพราะกกต.จะเกษียณ ครั้งนี้ถ้าให้เดาใจ กกต. น่าจะรับรอง 100% แล้วค่อยไปสอยทีหลัง ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกรณี ส.ส.เชียงใหม่ ที่โดนใบส้ม

และว่า ตาม รธน. หลัง กกต.ประกาศรับรองส.ส.อย่างเป็นทางการ ภายใน 15 วัน ต้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานรัฐสภา จะเป็นวันที่ส.ส.ใหม่ ปฏิญาณตน เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว พอกกต.รับรอง 8 พฤษภาคม ประชุมสภา 25 พฤษภาคม 4 ปีที่แล้ว 16 พฤษภาคม กกต.มีคำร้องไปยังศาลรธน. ว่าด้วยคุณสมบัติของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แสดงว่ามีคนไปยื่นทันเวลาที่กกต.ยื่นศาลรธน.ได้ แต่ครั้งนี้ คนที่ไปยื่นให้ตรวจสอบยื่นหลัง 7 วัน กกต.เลยปัดตกคดีนี้ แต่ด้วยกกต.เห็นว่า ความปรากฏแล้ว กกต.เลยยื่นให้ตรวจสอบคุณพิธา ตามม.151 ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบในศาลอาญา จะใช้เวลานานมาก ตรงนี้จะยังไม่ถูกนำมาเป็นตัวแปรโหวตคุณพิธา ยกเว้นถูกนำมาใช้เป็นเหตุผล

ฉากทัศน์ หลังรับรองสถานะ ส.ส. พิธา
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า หากลองมาดูกระบวนการที่เหลือนับจากนี้ เมื่อกกต. รับรองสถานะ ส.ส.แล้ว สมมุติ 475 คน เมื่อพิธาได้รับรองเป็นส.ส.แล้ว สถานภาพของการเป็นส.ส.จะอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.หรือสมาชิกสภาที่ตัวเองสังกัด จำนวน 1 ใน 10 คือ 50 คน สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพิธาได้ กระบวนการนี้ทำตอนนี้ไม่ได้ เพราะพิธายังไม่ได้มีสถานภาพเป็นส.ส. จึงต้องรอให้ กกต. รับรองสถานภาพพิธาก่อน เมื่อกกต.รับรองแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะรอให้มีการเรียกประชุมสภาหรือเปล่า คือปฏิญาณตนแล้ว หรือมีคนใจร้อน จะเห็นว่า กกต.ยื่นคำร้อง ในกรณีธนาธร วันที่ 16 พฤษภาคม ศาลรับคำร้อง ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 23 พฤษภาคม คือใช้เวลา 1 อาทิตย์ 7 วัน ก่อนมีการโหวตนายกฯ

อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า จุดที่ต่างกันคือ สิ่งที่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งนายกฯครั้งนี้ เมื่อพิธาได้รับการรับรองจาก กกต.แล้ว เป็นวันที่ 26 มิถุนายน และเรียกประชุม สภาราววันที่ 8-13 กรกฎาคม และวันนั้นตอนเช้า ปกติจะมีการปฏิญาณตนของส.ส.ใหม่ บ่ายเลือกประธานรัฐสภา ในระหว่างช่วงเวลานี้เอง จะเกิด 2 ช่องทาง 1. ส.ส. 1 ใน 1 หรือ 50 ไปยื่นศาลรธน.วินิจฉัย หรือ กกต. เองก็ทำได้ ก็คิดว่าช่องทางนี้จะเกิดขึ้น ครั้งที่แล้วเราจะเห็นว่าเมื่อมีการประชุมสภา เลือกประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นนายชวน หลีกภัย ครั้งนั้นใช้เวลา 10 ชั่วโมง และเป็นการโหวตโดยลับ ครั้งนี้หากให้ประเมิน อาจจะเป็นไปได้ว่า จะใช้เวลานานกว่านั้นมาก แต่ประเด็นที่เป็นคำถามใหญ่คือ เมื่อธนาธรถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ชื่อธนาธร ถูกเสนอเข้าไปแข่ง นายกฯ ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นคือ 2 วันก่อน อาจารย์วิษณุ บอกว่า หากศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ชื่อจะถูกนำมาพิจารณาไม่ได้ เป็นคำถามใหญ่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นี่คือความต่างกัน

จะเกิดอะไรบ้าง หากส.ว. ไม่โหวตเลือกนายกฯ
อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า หากพูดให้เร็วๆว่า จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง กรณีแรก ชื่อพิธา ไม่มีปัญหาในการถูกนำมาพิจารณา ระหว่างการประชุมของ 2 สภา วุฒิสภาโหวตให้มากพอ เราได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นพลเรือน แต่ถ้าสมมุติ มี ส.ว.บางคน บอกว่า คดีพิธา ยังไม่สิ้นสุด เป็นเหตุผลค้างไว้ เราไม่โหวต หรือ ชื่อพิธาไม่ถูกหยิบมาพิจารณาเลย เพราะอาจารย์ วิษณุ hint ไว้ว่าไม่สามารถหยิบมาเสนอในที่ประชุมได้ จะเกิดอะไรขึ้น กรณีนี้ เชื่อว่าตอนยื่นศาลรธน.ให้วินิจฉัย น่าจะต้องมีคำถามไปด้วยว่า ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ชื่อนี้จะถูกนำมาพิจารณาเป็นนายกฯได้หรือเปล่า เพราะถ้าแบบนี้ ในที่สุดแล้วคดีถือหุ้นของพิธา หากไม่ผิดจะถือว่าเป็นการตัดสิทธิในฐานะที่จะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นนายกฯหรือไม่

ทั้งยังระบุด้วยว่า หากสมมุติว่าทางที่ 1 ไม่เกิดขึ้น คือ ส.ว.ไม่โหวตให้พิธา หรือ ชื่อพิธา ไม่ถูกเสนอ จะเป็นทางที่ 2 ว่า โหวตพิธา มา 2 ครั้ง 3 รอบแล้ว ยังไม่ได้ 376 จะเกิดอะไรขึ้น คิดว่าจะนำไปสู่ก้าวไกล บอกว่าเราจัดไม่ได้แล้ว จะโยนไม้ต่อให้เพื่อไทย คำถามคือ ถ้าเพื่อไทยจัดรัฐบาลได้ ใครจะเป็นนายกฯ ระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร หรือเศรษฐา ทวีสิน ประเด็นหลักคือ ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.จะโหวตให้เพื่อไทยถึง 376 ไหม หรือเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำ จะรวบรวมคะแนนเสียงถึง 376 หรือไม่ ถ้าเกิดได้จะเป็นรัฐบาลเพื่อไทย-ก้าวไกล แต่ถ้าไม่ได้หละ จะเกิดอะไรขึ้น โหวตไปอีก 2 รอบ ตั้งแต่กลางกรกฎาคม ไปสิงหาคมแล้วก็ยังไม่ได้ กันยายนก็ไม่ได้ เพราะรธน.ไม่กำหนดว่าถึงเมื่อไหร่ ถึงที่สุดหากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน ทางที่จะเป็นไปได้คือ 1.เพื่อไทยไปดึงพรรคอื่นมาร่วมด้วย เพราะส.ว.ไม่โหวต หรือ เพื่อไทยบอกว่าไม่จัดรัฐบาล ใครจัดก็ได้ แต่ไม่ปฏิเสธที่จะไม่ร่วม นี่คือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น จึงไม่อยากฟันธง

ศ.ดร.สิริพรรณ ทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าจะได้นายกฯคนที่ 30 แน่นอน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นทหาร หรือพลเรือน แต่มั่นใจว่าถ้าเป็นทหาร จะไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ ดูจากท่าทีแล้ว ก็คิดว่าน่าจะจบแค่นั้น นี่เป็นวิบากกรรมคนไทย ว่ากว่าจะได้นายกฯคนที่ 30

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net