Skip to main content
sharethis

กลุ่มคณะทำงานสังเกตการณ์สื่อ ตั้งข้อสังเกตการโฆษณาชวนเชื่อจากเผด็จการทหารพม่า ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และระบบการศึกษา รวมถึงมีการใส่ร้ายป้ายสี และอ้างอุดมการณ์ชาตินิยมพุทธสุดโต่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม

 

9 ก.ค. 2565 เว็บไซต์ ‘โกลบอล วอยซ์’ รายงานเมื่อ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังรัฐประหารพม่าเมื่อ ก.พ. 2564 ไม่นาน กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมาเข้าร่วมหยุดงานประท้วง และจัดตั้งขบวนการอารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience Movement - CDM เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า ครูบาอาจารย์จากโรงเรียนรัฐบาลในทุกชั้นเรียน และในระดับอุดมศึกษา ต่างเข้าร่วมการประท้วงดังกล่าว กลุ่มทำงานแพทย์และพยาบาลถือเป็นกลุ่มวิชาชีพแรกๆ ที่เข้าร่วมการประท้วงหยุดงาน จนทำให้เผด็จการพม่าต้องทำการปราบปราม และจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ที่ดำเนินการเคลื่อนไหวเช่นนี้   

ภาพบรรยากาศการประท้วงหยุดงานของแพทย์ และพยาบาล เมื่อ 3 ก.พ. 2564

ในช่วงเวลานั้นมีการปิดโรงเรียนในพม่าเป็นเวลา 15 เดือน เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนัก ซึ่งบางแห่งปิดการเรียนการสอนทั้งหมด บางแห่งหยุดการเรียนการสอนบางส่วน โรงเรียนไหนที่ยังคงมีการเรียนการสอนก็จะกลายเป็นสถานที่ที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่า และกลุ่มติดอาวุธฝ่ายพลเรือน รายงานจากองค์กรด้านสวัสดิภาพเด็ก “Save the Children” ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564-เม.ย. 2565 มีเหตุการณ์โจมตีใส่อาคารของโรงเรียนอย่างน้อย 260 กรณีเกิดขึ้นในพม่า และมักจะมีอาวุธระเบิดอยู่ในการโจมตีกรณีเหล่านี้ด้วย

จนกระทั่งเดือน มิ.ย. 2565 เมื่อระบบการศึกษาในพม่ากลับมาเปิดปีการศึกษาใหม่อีกครั้ง โรงเรียนต่างๆ ก็มีคณะทำงานไม่เพียงพอ แม้ว่ากองทัพพม่าจะข่มขู่ให้ครูอาจารย์กลับเข้าไปทำการเรียนการสอนในชั้นเรียนก่อนหน้านี้ก็ตาม ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ปกครองจำนวนมากที่ตัดสินใจไม่ส่งลูกหลานของตัวเองกลับเข้าโรงเรียน เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์โจมตีในโรงเรียน และหวั่นใจต่อระบบการศึกษาภายใต้เผด็จการทหารที่ดูใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านี้ยังเป็นเด็ก หรือเมื่อราว 50-60 ปีที่แล้ว

ทีมทำงานสังเกตการณ์สื่อ Civic Media Observatory ได้ทำการอธิบายว่ากลุ่มเผด็จการทหารพม่าและผู้สนับสนุนเผด็จการ พยายามสร้างโฆษณาชวนเชื่อปั่นกระแสสร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศพม่าไว้อย่างไรบ้าง

โดยที่เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะเรื่องระบบการศึกษากำลังเป็นประเด็นร้อนในพม่า จากการที่กลุ่มสนับสนุนเผด็จการทหารพยายามจะทำให้พม่ามีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถดำเนินการต่อไปได้หลังการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ในพม่ายังคงไม่มีเสถียรภาพ อาคารของโรงเรียนตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจควบคุมของฝ่ายเผด็จการทหาร ในตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีเด็กกลับเข้าไปเรียนในห้องเรียนมากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาในพม่าอาจจะส่งผลพวงตามมากระทบต่ออนาคตในการพัฒนาประเทศพม่าเองได้

ทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าต่างก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องระบบการศึกษาหลังการรัฐประหารลงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการเช่นกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ชื่อ "ศูนย์รวมของคนรักกองทัพ" เคยโพสต์อ้างว่า เผด็จการทหารจะนำเด็กๆ แห่งอนาคต "ไปสู่แสงสว่างอันเรืองรองของพม่าแบบอนุรักษ์นิยมและพุทธนิยม" กลุ่มนี้อ้างว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD นั้น เป็นผู้ที่รบกวนความคิดของเด็กๆ

การกล่าวหาพรรค NLD แบบนี้เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาก่อน ในสมัยที่ NLD ยังเป็นรัฐบาลพลเรือน เมื่อกระทรวงศึกษาธิการในยุคนั้นประกาศว่า พวกเขาจะจัดให้มีการสอนเพศศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคต ทำให้บางกลุ่มไม่พอใจ และเรื่องนี้ถูกผู้สนับสนุนเผด็จการทหารนำมาอ้างใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็น "การล้างสมองแบบพวกก้าวหน้า"

องค์กร ‘Civic Media Observatory’ ระบุว่า สามารถแจกแจงการสร้างวาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายเผด็จการทหารพม่าออกเป็น 4 แบบ ดังนี้

วาทกรรมแบบที่ 1 "รัฐบาลพลเรือนไม่เหมาะสมกับค่านิยมพุทธชาตินิยมของพม่า"

กลุ่มหลักๆ ที่ต่อต้านรัฐบาล NLD สมัยที่พม่ายังอยู่ในรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย มองว่าพรรค NLD มีมุมมองในเรื่องศาสนาและรัฐชาติในแบบ "ก้าวหน้า" ผู้สนับสนุนกองทัพพม่ามักจะชื่นชอบพรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนอำนาจฝ่ายทหารพม่า เนื่องจากพรรคนี้มีแนวทางแบบชาตินิยมสุดโต่ง และอนุรักษ์นิยม

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกโค่นล้มได้จัดตั้งกลุ่มรัฐบาลเงาของตัวเองขึ้นในนาม "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (NUG) และมีผู้ประท้วงบางส่วนที่หันไปจับอาวุธสู้รบต่อต้านเผด็จการทหาร ฝ่ายผู้สนับสนุนกองทัพพม่าก็เริ่มแสดงทัศนคติในเชิงต้องการปกป้องค่านิยมประเพณีแบบชาตินิยมจัด และอนุรักษ์นิยมอีกครั้ง วาทกรรมหลักๆ ที่พวกเขาใช้คือการอ้างว่า รัฐบาลพลเรือนรัฐบาลใดก็ตามจะทำลายค่านิยมในแบบที่พวกเขายึดถือ

ในทางตรงกันข้าม มีกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยบางคนที่เล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวที่พวกเขาเคยเผชิญมาในอดีตในช่วงที่ได้รับการศึกษาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ยุคเผด็จการทหารยุคก่อนหน้านี้ของพม่านับตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนในแบบที่ส่งเสริมเชิดชูอุดมการณ์รัฐบาลเผด็จการทหาร (เช่น การชูลัทธิชาตินิยม และพุทธศาสนา) การเรียนการสอนแบบเก่าเช่นนี้ยังช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับความมีอภิสิทธิ์ของชาวเชื้อชาติพม่า และลบเลือนประวัติศาสตร์กับการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์

วาทกรรมแบบที่ 2 "มีเพียงผู้สนับสนุนกองทัพพม่าเท่านั้นที่ให้คุณค่าต่อพุทธศาสนาและเอาใจใส่ประเทศชาติ"

นี่ก็เป็นอีกวาทกรรมหนึ่งที่นำเอาพุทธศาสนามาผูกติดกับข้ออ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลเผด็จการ แนวคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งพ่วงพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่กลุ่มสนับสนุนกองทัพพม่าชูให้เป็นค่านิยมหลักมาโดยตลอด แล้วพวกเขาก็อ้างว่าพรรค NLD และรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้ที่ทำลายค่านิยมเช่นนี้

พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และผู้นำคณะรัฐประหาร

มีหนึ่งในโพสต์ของเฟซบุ๊กจากฝ่ายสนับสนุนทหารที่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีและให้ข้อมูลแบบผิดๆ โพสต์นั้นระบุว่าอดีตรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD เคยพยายาม "ล้างสมองเด็ก" ด้วยการสอนว่าศาสนาอิสลาม เริ่มมีมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล แทนที่จะเป็นช่วงคริสตศตวรรษที่ 7

นอกจากนี้ ผู้เขียนวาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนเผด็จการยังอ้างใส่ร้ายฝ่ายประชาธิปไตยโดยใช้วลีว่า พวกเขาทำ "การศึกษาแบบทาส" ซึ่งเป็นวลีในช่วงยุคสมัยที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในยุคนั้นกลุ่มสนับสนุนเอกราชของพม่าเคยนำวลีใกล้เคียงกันนี้คือคำว่า "ความคิดแบบทาส" มาใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์คนที่เข้ารับการเรียนการสอนแบบที่เน้นใช้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งกลุ่มสนับสนุนกองทัพยังอ้างว่า การที่รัฐบาลพลเรือนต้องการนำเรื่องเพศศึกษาบรรจุเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ถือเป็นเรื่องการสอนค่านิยมแบบ "เสื่อมศีลธรรม" ให้กับนักเรียน

อีกเรื่องหนึ่งที่กลุ่มสนับสนุนเผด็จการทหารพม่ากุขึ้น เพื่อโฆษณาชวนเชื่อคือเรื่องการปลอมแปลงตัวเลขของเด็กนักเรียนที่กลับเข้าชั้นเรียน โดยมีการกุตัวเลขให้สูงกว่าความเป็นจริง ที่ทำเช่นนี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วกองทัพเผด็จการพม่าจะเป็นผู้ช่วยเหลือทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ถึงแม้ว่าทหารจะยังคงก่อเหตุโจมตีสถานศึกษาต่างๆ อยู่ก็ตาม

วาทกรรม แบบที่ 3 "สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนคือกองทัพพม่าไม่ใช่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ"

นับตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารก่อนหน้านี้ กลุ่มสนับสนุนกองทัพพม่ามักอ้างว่า พวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือไม่เช่นนั้นก็อ้างว่าเป็น "กลุ่มคนที่ดีกว่า" พวกเขาอ้างใช้วาทกรรมเช่นนี้ในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารโดยกองทัพ ระบุว่ามันเป็นการแก้ไขปัญหาการโกงการเลือกตั้ง กลุ่มสนับสนุนกองทัพยังอ้างอีกว่าพรรค NLD ไม่ได้มีคะแนนจากเสียงข้างมากในการเลือกตั้งปี 2563 ทั้งๆ ที่พรรค NLD ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 82 จากทั้งหมด

วาทกรรม แบบที่ 4 "พลเรือนชาวพม่าควรจะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตภายใต้การปกครองของกองทัพ"

จากการที่เศรษฐกิจของพม่าแย่ลงและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของประชาชนก็แย่ลงในช่วงหลังรัฐประหาร กลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการทหารก็เริ่มพยายามจะอ้างว่าประเทศไม่ได้แย่อย่างที่คิดขนาดนั้น พวกเขายังอ้างอีกว่าก็เสถียรภาพของประเทศจะกลับคืนมาถ้าหากปล่อยให้กองทัพจัดการสิ่งต่างๆ แล้วให้ประชาชนทำตามกฎของรัฐบาล

นอกจากวาทกรรมเหล่านี้แล้ว Civic Media Observatory ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า กลุ่มสนับสนุนกองทัพพม่ามักจะอ้างตัวเลขอย่างไม่มีที่มาที่ไป และมีการเรียกกลุ่มติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ด้วย

 


เรียบเรียงจาก

Myanmar's military propaganda about schools rampant on social media, Global Voices, 07-07-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net